Passion

The Bugle Band
ขอฝันใฝ่ในฝัน…สีชมพู

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 14 Dec 2021
Views: 509

The Bugle Band ทัพนักเรียนดุริยางค์ทหารบก ยกพลขึ้นบุกเวที THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่าประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย อัดความเอนเตอร์เทนมาโจมตีระลอกแรกบนเวที ก่อนจะกระหน่ำด้วยเมโลดี้สุดหนักแน่นของดนตรีสไตล์ ฟังก์ โซล และบลูส์ แล้วรุกฆาตด้วยลีลาและเสียงร้องของคู่นักร้องนำชาย-หญิง

หนึ่งในสองเพลงตามโจทย์ของการประกวด วงเลือกเพลง Sticker (ศิลปิน Bodyslam) เรียบเรียงดนตรีในแบบของพวกเขาแล้วนำมาแสดงบนเวที  “…ให้มันเป็นสีชมพู แค่ให้หัวใจของเราได้รู้ ว่าโลกใบนี้เป็นสีชมพู…” เนื้อเพลงพูดถึงสีชมพู-สติกเกอร์-โลกใบนี้ ส่วนเสียงร้องและสำเนียงดนตรีใน “สไตล์บลูส์” ไม่ต้องพยายามเรียกร้องให้คนฟังขยับตัวตามจังหวะสนุกๆ ของเพลงเลย

ถึงวงจะประกาศว่า “มาเพื่อขอแค่โอกาสขึ้นเวทีประกวด” แต่ผลงานเพลงที่สร้างสรรค์อย่างเป็นตัวของตัวเองและลงลายเซ็นชัดเจนของพวกเขา ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมและคณะกรรมการจนคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มาครอง

เราอยากชวนมาทำความรู้จักวงดนตรี “ว่าที่รั้วของชาติ” ผ่าน 4 สมาชิกตัวแทนวง The Bugle Band ซึ่งคำในชื่อของวงมีความหมายถึง “แตรทหาร” สะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขาได้ใกล้ที่สุดแล้ว ได้แก่ มิน – ภูมินทร์ อนุชน…มือเบส นก – ภูตะวัน ศิริชาติ…มือกีตาร์ อาร์ท – พันธวัช แก้วจรูญ…ทรอมโบน และ กีตาร์ – ณิชชาพันธุ์ ขุ้มดวง…นักร้องนำหญิง ที่จะมาบอกเล่าถึงทุกเรื่องราวของคนช่างฝันทั้งหมด 11 คน

 

The Bugle Band: การรวมตัวกันของคนช่างฝันตัวจริง!

ชวนอ่านข้อมูลสั้นๆ ประจำตำแหน่งเครื่องดนตรี… ก่อนไปพบเรื่องราวเต็มๆ ของวงที่ด้านล่าง

🎤นักร้องนำหญิง ผู้หญิงหนึ่งเดียวของวงทุ่มสุดพลังฝึกฝนดนตรีอย่างเข้มข้นในโค้งสุดท้ายเพียง 6 เดือนก่อนสอบเข้าที่นี่ได้และมาเป็นสมาชิกวง เธอมุ่งหน้าจากบ้านที่อุบลราชธานี มาสอบเข้าโรงเรียนดุริยางค์ทหารบก โดยมีโอกาสครั้งเดียวที่จะได้เรียนในสิ่งที่รักเป็นเดิมพัน

🎸มือเบส ใช้เวลาสอบเพื่อเข้าโรงเรียนดุริยางค์ทหารบกนี้ นานถึง 3 ปี

กว่าจะสอบผ่านเข้ามาเป็นนักเรียนของโรงเรียนอย่างที่ใฝ่ฝัน

🎸มือกีตาร์ ต้องลงสนามสอบถึง 3 ครั้ง และสอบทั้ง 3 เหล่าทัพ

ถึงสามารถคว้าโอกาสเข้าเรียนครั้งสุดท้ายได้สำเร็จ

🎷ตำแหน่งทรอมโบน เขามาพร้อมหมุดหมายในชีวิตที่ต่างไปทุกคน

คือมาเพื่อสานฝันและสร้างความภาคภูมิใจให้ครอบครัว

เสียงแตรส่งสัญญาณระดมพลคนช่างฝัน

วงนี้สมาชิกมาจากคนละทิศ แต่ละชีวิตของพวกเขาต่างมีเสียงดนตรีผูกเข้าไว้ด้วยกัน กีตาร์-ณิชชาพันธุ์ ขุ่มด้วง… “กีตาร์” ที่ไม่ได้หมายถึงเครื่องดนตรี แต่เป็นชื่อของสมาชิกวงคนแรกที่เริ่มเล่าถึง The Bugle Band วงของพวกเขาให้เราได้รู้จัก ตัวเธอเองรู้ดีว่ารักการร้อง (แม้จะเริ่มต้นเส้นทางสายนี้…จากการหัดเล่นกีตาร์) ความพยายามและตั้งใจจะเข้าใกล้สิ่งที่เธอรัก ไม่เท่าชีวิตที่ต้องดิ้นรน

“ตั้งแต่เด็กพ่อหนูชอบเล่นกีตาร์ให้ฟัง เปิดเพลงให้ฟัง สอนหนูร้องเพลง หนูเลยชอบทั้งฟังและร้องเพลง และชอบมาก หนูต้องพยายามมากเพื่อเข้าเรียนที่ดุริยางค์ทหารบก ด้วยความที่บ้านยากจนมากๆ แล้วน้องชายมีโรคประจำตัว (เพิ่งเสียชีวิตไปหลังจากพี่สาวคนเดียวนี้ได้ขึ้นเวทีแข่งขันแรกได้ไม่กี่วัน)

หนูต้องสอบให้ติดที่นี่เพื่อให้ได้เรียนในสิ่งที่ตอบโจทย์เรา ทั้งความชอบและความรอด แม่บอกว่าถ้าสอบไม่ติดที่นี่แม่ก็ไม่รู้จะส่งเรียนได้ยังไงแล้ว คงไม่มีเงินที่จะส่งให้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย

หนูบอกกับตัวเองว่าต้องสอบให้ติดให้ได้ แม่เลยส่งเรียนดนตรีเพิ่ม จากที่เล่นกีตาร์เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว หนูก็ไม่ได้เล่นเก่งอะไร จับคอร์ดทั่วไปธรรมดา หนูเพิ่งมาเริ่มเล่นดนตรีจริงจัง 6 เดือนก่อนมาสอบเข้าที่นี่ หนูต้องฝึกหนักมาก ต้องเรียนดนตรี เรียนทฤษฎีและเรียนอีกหลายอย่าง ยากอย่างไรก็ต้องทำให้ได้ พอมาสอบติดที่นี่ก็รู้สึกคุ้มมาก”

ในที่สุด กีตาร์ไม่ได้เลือกเล่นกีตาร์ และนี่คือเส้นทางของนักร้องนำหญิงของวง และยังเป็นสมาชิกหญิง…หนึ่งเดียวของวงด้วย เล่าอย่างคนอายุน้อยที่ผ่านชีวิตมาไม่น้อย

ในขณะที่ มิน-ภูมินทร์ อนุชน มือเบสผู้ผ่านสมรภูมิชีวิตมาอย่างมาราธอนก่อนหน้าจะได้เข้ามาอยู่โรงเรียนดุริยางค์เริ่มเล่าบ้าง

“ตอนอยู่โรงเรียนเก่า ผมเป่าทรอมโบนมาก่อน แต่พอมาเห็นรุ่นพี่เล่นกีตาร์เบส ก็รู้สึกว่าเท่จัง…

ผมชอบในเสียง…ในสำเนียงของเบส เลยหัดเล่นตั้งแต่ประมาณ ป. 4 พอโตขึ้นผมก็อยากเป็นทหารด้วย อยากรับราชการและอยากเล่นดนตรี ด้วยความที่พ่อแม่ก็อายุมากแล้ว ฐานะที่บ้านก็ไม่ค่อยดี เลยคิดว่าเรียนทหารก็ดี จบไปเราก็ยังมีโอกาสที่จะเรียนต่อได้อีก และยังได้รับราชการด้วย ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ ผมใช้เวลาสอบมา 3 ปีครับ เพิ่งมาติดปีสุดท้าย”

“หนูชอบทั้งฟังและร้องเพลง และต้องพยายามมากเพื่อเข้าเรียนที่ดุริยางค์ทหารบก ด้วยความที่บ้านยากจนมากๆ หนูต้องสอบให้ติดที่นี่เพื่อให้ได้เรียนในสิ่งที่ตอบโจทย์เรา ทั้งความชอบและความรอด”

กีตาร์ – ณิชชาพันธุ์ ขุ้มดวง
วง The Bugle Band (นักร้องนำหญิง)

 

ส่วน นกภูตะวัน ศิริชาติ มือกีตาร์ฝีมือจัดจ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งสมาชิกของวง “ผู้เข้าแข่งขันในเส้นทางชีวิตสายวิบาก” มาก่อนหน้าจะได้เรียนดนตรีที่เขารัก เขาใช้การเล่นดนตรีเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีวิต

“ปกติผมเล่นดนตรีอยู่แล้ว ตอนอยู่โรงเรียนเก่าผมเป่าทรอมโบนมาก่อน แล้วผมก็เห็นรุ่นพี่เล่นกีตาร์ รู้สึกว่าเท่ครับ ผมก็เลยเลิกเป่าทรอมโบนมาเล่นกีตาร์แทน มาซ้อมกีตาร์ตั้งแต่ ม.2 ฝึกมา 2 ปีแล้วครับ

…ผมเล่นดนตรีกลางคืนมาก่อน…ทั้งเล่นทั้งร้องในวงโฟล์กซอง ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะไปสอบที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ติดขัดด้วยเรื่องความพร้อมบางประการ เลยลองมาสอบทหารครับ สอบทั้ง 3 เหล่าทัพเลย เคยสอบทหารเรือและทหารอากาศมาก่อน แต่สอบไม่ติด พอมาสอบของทหารบกได้ ตอนสอบไม่ได้หวังเลยครับ แต่พอสอบได้ก็ดีใจมากครับ จากนั้นก็เป็นจุดที่ผมเดินทางมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ผมอยู่ปี 3 ครับ”

“ผมเป่าทรอมโบนมาตั้งแต่ ป.4” อาร์ท-พันธวัช แก้วจรูญ ผู้เข้าแข่งขันอีกคนที่แบกความภาคภูมิใจของครอบครัวไว้บนบ่าเล่าบ้าง “พอขึ้น ม. 4 ผมต้องคิดเรื่องเรียนมหาวิทยาลัย ว่าจะไปที่ไหนดี ทหารก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง เพราะเห็นว่าพ่อแม่ก็อายุเยอะแล้ว อยากมีอะไรที่ทำเป็นชิ้นเป็นอันให้พ่อแม่ภูมิใจ พอดีผมมีเพื่อนที่มาสอบเข้าที่นี่ก่อนผมปีหนึ่ง เขาก็แนะนำมา ผมก็เลยลองสมัครมาสอบที่นี่ เลยได้มาอยู่ที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก ตอนนี้ก็ยังเล่นทรอมโบนอยู่ครับ เสียงมันมีเสน่ห์ เสียงสไลด์ของมันไม่เหมือนเครื่องดนตรีอื่น นั่นคือเสน่ห์ที่ผมชอบ”

“ทุกคนมาจากหลายที่หลายจังหวัดมาก ต่างก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันเป็นของตัวเอง มีจุดมุ่งหมายในชีวิต ทุกคนก็มองหาตัวเลือกที่ดีในอนาคต ที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก ก็คิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี” กีตาร์รับหน้าที่เป็นตัวแทนสรุปความในใจของทุกคนในวงสำหรับที่มาในการรวมตัวกันครั้งนี้

ในขณะที่สิ่งที่มินกำลังจะเล่าต่อไป ทำให้เราได้ย้อนกลับไปเห็นภาพวันแรกที่ The Bugle Band เริ่มต้นขึ้น

“พวกเรามีสมาชิก 11 คน จาก 3 ชั้นปีมารวมกัน เป็นพี่น้องกันครับ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในโรงเรียนกินนอน ชีวิตทหารจะอยู่กันเป็นครอบครัว เราสนิทกันมาก ปกติรวมตัวกันเล่นดนตรีแนวฟังก์ โซล ป็อป ส่วนใหญ่เราก็ไปเล่นงานหลวงตามภารกิจที่ผู้บังคับบัญชาให้มา แต่เรามีฝันที่อยากจะหาเวทีเล่นกัน ก็เลยมาฟอร์มวงกันเพื่อรายการนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเองครับ ก่อนหน้านี้พวกเราไม่เคยประกวดเวทีไหนเลย เราไม่ได้มาเพื่อชัยชนะ ขอแค่โอกาสขึ้นเวที”

“ผมเป่าทรอมโบนมาตั้งแต่ ป.4…

เสียงมันมีเสน่ห์ ไม่เหมือนเครื่องดนตรีอื่น

นั่นคือเสน่ห์ที่ผมชอบ”

อาร์ท – พันธวัช แก้วจรูญ วง
The Bugle Band (มือทรอมโบน)

ระดมพลังทางดนตรี

เบื้องหลังของการเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับวงนี้เราเกือบจะไม่ได้ชมการแสดงแสนจับใจของ The Bugle Band แล้ว เมื่อโรคระบาดจู่โจมทำให้การแข่งขันเลื่อนเวลาออกไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ 7 สมาชิกของวงผ่านเวลาของปีจบการศึกษา ก้าวสู่การเป็นทหารและกระจายกำลังไปประจำในกองดุริยางค์ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี เสียงดนตรีเป็นความฝันร่วมกันของพวกเขา คือสิ่งที่ทำให้ผลงานของวงเกิดขึ้นได้ในที่สุด กีตาร์กับมินช่วยกันเล่าให้เราฟังถึงเรื่องนี้

“พอมารวมกันเป็นวง สิ่งที่ชอบที่สุดคือความเป็นทีมเวิร์ก เรามีความฝันที่ตรงกัน สิ่งที่อยากทำในการประกวดที่ตรงกัน มีความสามัคคี ความเป็นทหารทำให้เรามีข้อได้เปรียบ คือความมีระเบียบวินัย ขึ้นชื่อว่าทหาร เราจะมีระเบียบวินัยสูง มีความรับผิดชอบ มีการวางแผนทุกขั้นตอน และต้องทำอะไรอย่างจริงจัง แต่ก็มีความยากลำบากในการซ้อม”

ในช่วงที่การแข่งขันเลื่อน พี่ๆ หลายคนเรียนจบ ติดยศสิบตรีไปประจำอยู่ในหน่วยต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคแล้ว พี่ตัง (สิปปวิชญ์ สังกรแก้ว เครื่องเอกเปียโน) สมาชิกวงที่เล่นคีย์บอร์ดให้เรา พี่เขาก็ติดการฝึกโดดร่มของหน่วยรบพิเศษ ซึ่งเป็นหลักสูตรสำคัญมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะกลับมาแข่งกันได้ แต่โชคดีที่เราได้ผู้บังคับบัญชา (พลตรี สรรค์พร ณ สงขลา เจ้ากรมดุริยางค์ทหารบก และ พันเอก สราญ มังคละโยธา รองผู้บังคับบัญชาการโรงเรียนดุริยางค์ทหารบก) ที่เห็นความฝันของพวกเรามีค่า ท่านเลยทำจดหมายขออนุญาตลาเป็นการพิเศษให้พี่เขาออกมาเพื่อรายการนี้

พวกผมก็ไม่มีเวลาซ้อมร่วมกัน เลยต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้ เริ่มจากแต่ละคนต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ต้องมีวินัยว่าเราต้องซ้อม ต้องทำรายละเอียด เพื่อเวลาที่เรามาเจอกันมันจะได้ใช้เวลาน้อยลง

ย้อนไปก่อนที่โรคระบาดรอบใหม่จะมา เราได้ซ้อมได้วางแผนคร่าวๆ ไว้ก่อนแล้ว เริ่มทำสกอร์ ทำโน้ตออกมา เหลือแค่รายละเอียดเล็กน้อย ที่ยังไม่ค่อยโอเค เราก็มาคุยกันครับว่าต้องแก้ ต้องปรับตรงนี้ ใช้เวลามารวมกันซ้อมแค่ 3 วันก่อนแข่ง พวกเราได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามาก ถ้าเราไม่มีความรับผิดชอบตัวเอง เราไม่มีทางมาเป็นวงแบบนี้ได้เลย และถ้าเราไม่มีความสามัคคีกันในวง ก็คงไม่มี The Bugle Band ในวันนี้” มินให้รายละเอียดในสิ่งหนึ่งที่เป็นความพร้อมเพรียงของสมาชิกในวง ก่อนที่กีตาร์จะช่วยเสริมบ้าง

“ถ้าเราไม่รับผิดชอบในสิ่งที่เราต้องทำพอมารวมกันมันจะยากขึ้น แต่ถ้าซ้อมของแต่ละคนมา พอเอามารวมกันมันก็มาปรับกันนิดหนึ่งบ้าง แต่ถ้าไม่ทำการบ้านมาเลย ทุกคนจะงงกับตัวเอง พอมารวมกันก็ยิ่งงงจะไม่รู้ว่าต้องปรับอะไรตรงไหน”

“เราฟอร์มวงกันเพื่อรายการนี้

เป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเองครับ

ก่อนหน้านี้พวกเราไม่เคยประกวดเวทีไหนเลย

เราไม่ได้มาเพื่อชัยชนะ ขอแค่โอกาสขึ้นเวที”

มิน – ภูมินทร์ อนุชน
The Bugle Band (มือเบส)

 

ทั้งนี้ ทั้ง 2 เพลงที่พวกเขาใช้แสดงในวันนั้น สมาชิกวงตีโจทย์จากความเป็น The Bugle Band เป็นตัวตั้ง ก่อนจะช่วยกันถอดสมการเป็นโชว์สุดพลังบนเวที

“เพลงรางวัลแด่คนช่างฝันเราเลือกทำในสไตล์บลูส์ เพื่อจะสื่อว่าถึงแม้ตัวเราจะท้อแท้ จะหม่นหมองขนาดไหน เราก็พร้อมที่จะให้กำลังใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ส่วนอีกเพลง ตอนแรกเลือกไว้หลายเพลงครับ แต่พอมาตีความหมายของเนื้อเพลง Sticker เลยสรุปเลือกใช้เพลงนี้” มินเป็นคนอธิบาย แล้วโยนให้อีกหนึ่งความภูมิใจของวงคือกีตาร์ หญิงสาวผู้ไม่เคยทิ้งคำว่าพยายามช่วยเล่าต่อ

“ความฝันของทุกคน เราก็คิดว่าน่าจะเป็นสีชมพู เป็นอะไรที่สดใสนะคะ เราก็เลยเลือกเพลงนี้เพราะมันมีคำว่าสีชมพูอยู่เกือบทั้งเพลง แต่ก็เป็นเพลงที่หนูมีจุดบกพร่องในการร้อง เพราะคีย์เพลงเป็นคีย์เสียงร้องของผู้ชาย

ที่เราวางแผนกันไว้แต่แรกคือจะให้พี่อาร์ม (ธีรเทพ เล็บขาว ) พี่นักร้องนำฝ่ายชายเป็นคนร้อง แล้วหนูเป็นคอรัสอย่างเดียว แต่พอมาซ้อมรวมวงกัน ครู (ครูนิสันต์ ยกสวัสดิ์ ผู้ควบคุมวง) เขาอยากให้หนูมีบทบาทโดยให้มีท่อนร้อง เลยให้ลองร้องท่อนฮุกดู ต้องร้องในคีย์ผู้ชายสำหรับหนูยากมาก ปกติหนูร้องเพลงไม่ชอบกดเสียงลงต่ำ ตอนนั้นเหลือเวลาฝึกแค่ 3 วันก็ต้องพยายามทำให้ได้ กดดันนิดหน่อย แต่พอทำได้แล้วมันผ่านไปได้ก็โอเคค่ะ ทุกอย่างมันสุดๆ แล้ว บนเวทีนี้คือจุดสูงสุดของการเป็นนักร้องของหนูแล้ว”

“ดนตรีคือชีวิต เวลาผมเศร้า

ฟังเพลงแล้วก็หายเศร้า

มันคือชีวิตที่ผมชอบจริงๆ”

นก-ภูตะวัน ศิริชาติ
The Bugle Band (มือกีตาร์)

เสียงแตรระดมพลครั้งใหม่กำลังจะเริ่ม

เมื่อดนตรีคือกองบัญชาการสูงสุด The Bugle Band จึงไม่หยุดแค่วันนี้ 4 สมาชิกของวงต่างก็ช่วยกันให้มุมมองถึงการเล่นดนตรีที่พวกเขาผูกพัน สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือความเปลี่ยนผ่าน จะทำอย่างไรได้ ก็ในเมื่อพวกเขาแต่ละคนต่างมีเวลาอยู่ในรั้ว “โรงเรียนดนตรี” อย่างจำกัด ก่อนที่จะต้องแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ตามสังกัดราชการในอนาคตเมื่อเรียนจบ…แต่วงยังต้องคงอยู่

มิน:  “สำหรับผม ดนตรีคือธรรมชาติ ชีวิตคนเราขาดเสียงดนตรีไม่ได้ มันเป็นทุกอย่างในอารมณ์ของเรา ทุกสถานการณ์ ทุกกิจกรรม เราขาดดนตรีไม่ได้ สมมติว่าถ้าโลกนี้ไม่มีดนตรีชีวิตเราก็จะไม่มีสีสันเลยครับ ดนตรีเปรียบเสมือนความรู้สึก ที่ช่วยเติมเต็มและสะท้อนออกมา”

นก: “สำหรับผมคล้ายกับมินนะครับ ดนตรีคือชีวิต เวลาผมเศร้า ฟังเพลงแล้วก็หายเศร้า มันคือชีวิตที่ผมชอบจริงๆ”

อาร์ท: “ผมฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก มันช่วยให้เราสดใส พอเริ่มมาเล่นดนตรี เริ่มประกวด ดนตรีก็ช่วยเยียวยาจิตใจ”

กีตาร์: “ดนตรีถ้าไม่ดีจริง มันคงสูญหายไปตั้งนานแล้ว เหมือนที่พี่ๆ พูดมา ดนตรีคือชีวิต คือจิตวิญญาณของมนุษย์ ทุกช่วงเวลาของชีวิตก็จะมีดนตรีมาเกี่ยวข้องในทุกช่วงเวลา ในทุกเทศกาล ในทุกๆ อย่าง ทุกวันนี้ทำอะไรก็เปิดเพลงฟัง เศร้าก็ฟัง ดีใจก็ฟัง อาบน้ำ…กวาดบ้านก็ฟัง อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนี้กันทุกคน แต่สำหรับนักดนตรีคิดว่าเป็นแบบนี้ทุกคน เราขาดเสียงดนตรีไม่ได้ นอกจากตอนนอน ซึ่งบางทีก็เปิดเพลงค้างไว้แล้วก็หลับ หลับไปพร้อมเสียงดนตรี ตื่นมาก็ยังฟังดนตรี”

มิน: “การแข่งครั้งนี้เราได้คอมเมนต์จากกรรมการเยอะเลย ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรานำเสนออย่างเป็นตัวของตัวเราเองนั้น ในมุมของคนอื่นจะตอบโจทย์ขนาดไหน เรายังได้รู้จุดบกพร่องของตัวเราเองและของแต่ละคนอีกด้วย แล้วนำไปปรับปรุง ตอนที่เข้าแข่งขันเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อชัยชนะ แค่ได้ขึ้นเวทีก็ดีใจมากแล้ว”

มินยังย้ำความตั้งใจเดิม แต่เพิ่มเติมเป้าหมายครั้งใหม่เป็นการทิ้งท้าย

“ตอนนี้สมาชิกในวงเหลือกัน 4 คน (เพราะรุ่นพี่ต่างเรียนจบกันออกไปแล้ว) แต่จะชวนคนอื่นๆ มาร่วมวงอีกแน่นอน The Bugle Band รุ่น 2 เราเริ่มฟอร์มวงแล้ว หลังจากนี้ผมเองก็เตรียมตัวเป็นนักดนตรีอาชีพ รอติดยศ เริ่มทำงานในดุริยางค์ของกองทัพ โอกาสที่ได้รับจากเวทีนี้ อย่างแรกก็คือ ประสบการณ์จากการทำงานจริง ที่เราเก็บเกี่ยวระหว่างที่เรียนมา บทเรียนที่เราสะสมมากำลังจะได้นำไปใช้จริง และยังมีเวทีที่รอคอยสำหรับพวกเราเหล่าดุริยางค์ทหารบก คือ THE POWER BAND ปีหน้า”

 

ตามระเบียบ…พัก

กับเรื่องราวเพิ่มเติมของสมาชิกวง The Bugle Band

🎷 อาร์ท…

เด็กน้อยตัวจ้อยเริ่มต้นจับฟลูตเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก แต่เป่ายังไงก็ไม่มีเสียง เขาเลยต้องย้ายมาเป่าทรอมโบน

🎷 อาร์ม…

นักร้องนำชายลีลาสุดจี๊ด ไม่ได้เรียนร้องเพลงหรือมีตำแหน่งเป็นนักร้อง แต่เครื่องเอกในชั้นเรียนดนตรีของเขาคือทรอมโบนต่างหาก

🎷 กีตาร์…

สาวน้อยคนเดียวในวง ก็เป็นนักร้องน้องใหม่ เพราะที่จริงเธอมีวิโอลาเป็นเครื่องเอก

🎷 ตัง…

มือคีย์บอร์ดของวง ได้รับอนุญาตให้ลาเป็นการพิเศษแค่ 2 วันเท่านั้น คือ ซ้อม 1 วัน และไปแข่งอีก 1 วัน ก่อนจะต้องกลับไปกักตัวต่ออีก 14 วัน ถึงจะกลับเข้าไปฝึกต่อได้

🎷หนึ่งในกิจกรรม…

ผูกสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในวงดนตรีของพวกเขาคือ การลอกท่อน้ำไปจนถึงตัดต้นไม้

 

พบกับหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดสำหรับเพลง Sticker ของวง Bodyslam

ในเวอร์ชันของ The Bugle Band

ได้ที่ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ