Passion

เจสัน วงเตรียมฯ รางวัล Outstanding
‘หลับตา เปิดหู ใช้ใจ’
…แล้วดนตรีไทยจะเปลี่ยนแปลง

ภัทราภรณ์ เตชะธรรมวงศ์ 11 Oct 2023
Views: 1,269

Summary

ปี 2566 ถือว่าเป็นปีทองของ เจสัน – ปัณณทัต นราแก้ว เพราะนอกจากกวาดรางวัลมากมายในรายการประกวดดนตรีไทยต่างๆ แล้ว ล่าสุดยังได้รับรางวัลใหญ่ระดับประเทศ รางวัลชนะเลิศเหรียญทองการแข่งขันเดี่ยวซออู้ ระดับมัธยมศึกษา ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70 ด้วยเพลงไทยเดิม สุดสงวน 3 ชั้น ดีกรีของ “เทพซอ” ที่เพื่อนเรียก…ไม่ธรรมดา และล่าสุดยังได้รับรางวัล Outstanding จาก THE POWER BAND SEASON 3 ด้วย

“เหมือนไวโอลินเลย”

“เอาจริง! นี่ไม่ใช่ดนตรีไทยแล้ว”

“เพราะมากกก เรียบเนียนกริ๊บ”

“นี่ถ้าหลับตาฟัง ไม่รู้เลยนะว่าเป็นเสียงซอด้วง”

แค่ช่วงอินโทรก็เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วทั้งฮอลล์ เมื่อวง ‘เตรียมอุดมศึกษา’ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เริ่มบรรเลงเพลง ‘ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง’ ของ เจฟ ซาเตอร์

เปิดตัวด้วยเสียงสูงจากระนาดเอก สอดรับกับเครื่องเป่าทองเหลือง ตามด้วยเสียงซอด้วงคลอเบาๆ เคล้าบรรยากาศ สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ชมได้รู้สึก อึ้ง! ทึ่ง! ตะลึง! ในความไพเราะของเครื่องดนตรีไทยที่ผสานกับเครื่องดนตรีสากลได้ลงตัว บวกกับฝีมืออันโดดเด่นในท่อนโซโลของซอด้วง ที่เปลี่ยนเสียงเครื่องดนตรีไทยแบบที่เราคุ้นเคยให้กลายเป็นประหนึ่งเสียงเครื่องสายสากลได้ในพริบตา ส่งผลให้ เจสัน – ปัณณทัต นราแก้ว สมาชิกวงเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คว้ารางวัล Outstanding นักร้อง/นักดนตรียอดเยี่ยม ใน Class A (รุ่นมัธยมศึกษา) บนเวที THE POWER BAND 2023 SEASON 3 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

 “ผมว่าการฝึกซ้อมคือปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ 
ถึงจะมีพรสวรรค์ แต่ถ้าขาดการฝึกซ้อม ก็ยากที่จะเป็นไปได้ครับ”

เจสัน ตำแหน่งซอ วง เตรียมอุดมศึกษา
รางวัล Outstanding (Class A) เวที THE POWER BAND 2023

 

ความจำของกล้ามเนื้อ

“เอาจริงๆ ผมไม่คาดคิดเลยครับ” เจสันแสดงความรู้สึกเป็นครั้งแรก หลังจากได้รับรางวัลที่มอบให้กับนักดนตรีที่มีความสามารถโดดเด่น “ด้วยความที่ผมเล่นดนตรีไทย แต่นี่คือรายการประกวดดนตรีสากลที่ใหญ่ระดับประเทศ ก็เลยคิดว่ามาสนุกบนเวที มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์แทนละกัน”

เหตุผลที่เจสันไม่คาดคิดว่าเขาจะได้รางวัล หนึ่งในนั้นคือปัญหาที่เกิดช่วงซาวนด์เช็ก “ตอนซ้อมแบบครบวงเต็มรูปแบบ ผมคิดว่าปรับสายตรงแล้ว แต่พอมาเช็กกับจูนเนอร์อีกรอบปรากฎเสียงมันยังเพี้ยนอยู่หน่อยๆ ซึ่งตอนนั้นเหลือเวลาไม่มากแล้วเพราะกีตาร์ของวงก็มีปัญหาอยู่ ผมก็เลยนั่งปรับสายไป สีไปเรื่อยๆ จนพี่โบ (ธนากร ชินกูล) พิธีกรของการประกวดขึ้นมาบนเวที ก็ยังจูนไม่ตรงซะทีเดียว แต่ ณ จุดนั้นก็ต้องเล่นแล้วครับ ตรงไม่ตรงค่อยว่ากันอีกที คิดกับตัวเองว่าเดี๋ยวปรับนิ้วเวลาเล่นเอาแล้วกัน”

เหตุผลถัดมาที่ทำให้ใจแป้วคิดว่าปิ๋วแล้วงานนี้ คือปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดง “มอนิเตอร์บนเวทีเสียงออกเบามากครับ ทำให้ไม่ได้ยินเสียงซอของตัวเองเวลาเล่น และซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีแบบ fretless ไม่มีเฟร็ตคั่น ต้องใช้หูเราฟังโน้ตที่เล่นออกมาว่าถูกต้องหรือเปล่า ตอนนั้นก็กังวลอยู่เหมือนกันเพราะกำลังแข่งจริงไม่มีเทคสอง” เจสันเล่าไปยิ้มไปแบบคนอารมณ์ดี จนเราที่เป็นคนสัมภาษณ์ต้องขมวดคิ้วแทนว่าเล่นไปได้ยังไง

“ผมขอใช้คำว่าความทรงจำของกล้ามเนื้อเลยครับ เป็นสัญชาตญาณล้วนๆ น่าจะเป็นเพราะผมซ้อมซ้ำๆ บ่อยๆ จนสมองจำได้ เลยอาจจะเล่นออกมาแบบไม่รู้ตัว เพราะตอนนั้นคือได้ยินเสียงซอบางๆ แบบบางมากจริงๆ ครับ (หัวเราะ)” หลังจากฟังเจสันเล่าเบื้องหลังจบ ต้องรีบยกมือขึ้นซูฮกให้ความ ‘หูทิพย์ หูเทพ’ และการฝึกซ้อมอย่างหนักของเขา เพราะเราในฐานะคนฟังแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรแบบนี้ขึ้นบนเวที

“บนเวทีตอนนั้นก็เกือบถอดใจไปแล้วเหมือนกัน รู้สึกทำไมปัญหาเยอะจัง แต่ผมและพวกเราก็พยายามทำเต็มที่ เลยรู้สึกดีใจมากๆ ที่นอกจากตัวเองจะได้รางวัล Outstanding แล้ว เพื่อนๆ ทุกคนในวงเตรียมอุดมศึกษายังได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัล Best Creative Award อีกด้วย ดีใจแบบ 3 ชั้น เหมือนชื่อเพลงไทยเดิมเลยครับ (ยิ้ม)”  (คลิกอ่านเรื่องวงเตรียมอุดมฯ)

เดี่ยวซอด้วงของเรา เปรียบเหมือนอาหารอะไร?

พิซซาหน้าต้มยำกุ้ง…เป็นอาหารฟิวชัน East Meets West

คลิกอ่านความเห็นต้นฉบับเรื่องนี้ของคุณพล คชภัค กรรมการ ใต้รูปถ้วยรางวัลในเรื่อง

“ศิษย์มีอาจารย์”
คลิกฟังเสียงซออู้ผลงานของอาจารย์เลอเกียรติในหนังโหมโรง

ภาพกับอาจารย์เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี และอาจารย์วรยศ ศุขสายชล

 

สีซอให้ ค…คนฟัง 
(ฮาวทู: สีซอยังไงให้เป็นดาว)

การทำงานด้วยความสามารถที่หลากหลาย เรียกว่า Multi-Tasking เทียบกับนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลาย ก็คือ Multi-Instrumentalist นั่นเอง เช่นเดียวกับเส้นทางดนตรีของ ‘เจสัน’ ที่เรียกว่าไม่ธรรมดา เพราะด้วยความซนบวกกับความสนใจใคร่รู้ ไม่ว่าเจอเครื่องดนตรีชนิดไหนก็ขอจับมาเล่นมาลองสักหน่อย กะเล่นแบบขำๆ อ้าว…เล่นได้ซะงั้น

“ความจริงผมก็เล่นเครื่องดนตรีมาหลายอย่าง แต่รู้สึกว่าเล่นซอได้ดีที่สุด” เจสันเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของเขากับ ‘ซอ’ เครื่องดนตรีไทยคู่ใจ “ประมาณ ป.6 ผมกลับไปเที่ยวบ้านลุงที่ภาคใต้ บนหลังตู้มีซออู้หรือซอด้วงนี่แหละวางอยู่ ลุงเห็นผมสนใจก็เลยเล่นให้ดู ตอนที่ฟังลุงสีซอ ผมรู้สึกว่านี่คือเครื่องดนตรีที่น่าสนใจมาก” เพียงครั้งแรกที่ได้จับซอ เจสันก็เกือบเล่นเป็นเพลงได้แล้ว “ตอนนั้นรู้สึกเป็นอะไรที่แปลกมาก พอกลับมากรุงเทพฯ พ่อก็พาไปซื้อซอตัวแรกที่ศึกษาภัณฑ์ในราคา 3,200 บาท ผมจำได้แม่นเลยครับ” เจสันทิ้งระนาดทุ้มที่เล่นอยู่ในตอนนั้น หันไปเรียนซออย่างจริงจังแทนเพราะรู้สึกเล่นได้เข้ามือมากกว่า

“ผมเรียนซอกับอาจารย์ 3 ท่าน คือ อาจารย์วรยศ ศุขสายชล ได้เรียนกับอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่งตอนมัธยมต้น อาจารย์เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี ปัจจุบันผมก็ยังเรียนกับอาจารย์อยู่ และอาจารย์ชัยภัค ภัทรจินดา โพรดิวเซอร์ของวงเตรียมอุดมในการประกวดครั้งนี้ พาร์ตของซอด้วงโซโลที่ผมเล่น และเครื่องเป่าทองเหลือง อาจารย์เป็นคนคิดสกอร์ทั้งหมดครับ”

(ภาพขวา) รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง การแข่งขันเดี่ยวซออู้ระดับมัธยมศึกษา

(งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70)

“ผมคิดว่าการที่เรามีพื้นฐานทางดนตรีจากเปียโนอยู่ก่อนแล้ว พอไปเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ทำให้เราเล่นได้เร็วมากกว่าคนที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านดนตรีเลยเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนเก่งกาจอะไร แม้จะเล่นซอเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วผมชอบดนตรีแจ๊ส เคยพยายามจะสีซอให้มีกลิ่นอายความเป็นแจ๊สอยู่ครับ แต่ยังไม่สำเร็จ (หัวเราะ)” ไม่แน่ในวันข้างหน้าเราอาจได้ร่วมเป็นสักขีพยานในความแปลกใหม่ของดนตรีไทยก็เป็นได้ อะ…ต้องรอติดตามชม

 “มิตรภาพ โอกาส ความสำเร็จเกิดขึ้นได้
เพราะเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ ผมว่ามันน่าทึ่งมากเลยครับ”

 

 

In The Mood for Sorrow กับช่วง ‘ซอด้วง’ โซโล

“อาจารย์ชัยภัคบรีฟมาว่า อยากได้ความเป็นสากล เป็นดนตรีไทยประยุกต์ มีกลิ่นอายเครื่องดนตรีสากลหน่อยๆ อยากให้ซอเป็นเหมือนไวโอลิน ขลุ่ยเป็นเหมือนฟลูต ระนาดเอกเป็นเหมือนมาริมบา ก็เลยต้องฝึกเทคนิคใหม่ทั้งหมดจากการสีซอปกติ มาเป็นเทคนิคการสั่นนิ้ว หรือ vibrato เหมือนไวโอลินเลยครับ ใช้ปลายนิ้วสั่นเส้นเสียง”

“ตอนที่ได้รับสกอร์มาก็คิดว่าไม่น่าจะยากสักเท่าไร แต่พอลองเล่นจริงแล้วคนละเรื่องเลย ยากมาก เพราะในดนตรีไทยจะไม่มีตัวชาร์ปหรือแฟลต ในเพลงลืมไปแล้วว่าลืมยังไง ผมต้องเล่นลงไปถึงโพสิชัน 3 คือใกล้ๆ กับตัวกระบอกของซอด้วงแล้วครับ เพื่อให้ได้คีย์สูง” เราลองนึกภาพตามที่เจสันเล่า คงเหมือนกับช่วงกีตาร์โซโล ที่นักดนตรีต้องเล่นลงไปใกล้บริเวณบอดี้ของกีตาร์เพื่อให้ได้เสียงสูงอย่างไรอย่างนั้น

“พาร์ตโซโลเลยเป็นอะไรที่ท้าทายมากแต่ก็ภูมิใจมากด้วย เพราะผมตั้งสายแบบเดิม ที่เหลือคือเปลี่ยนนิ้วเพื่อเปลี่ยนคีย์ออกมาเป็น 3 คีย์ด้วยตัวเอง ตอนโซโลมีแค่ผมกับเปียโนของ วินเทอร์ – วชิรวินท์  เจตนาเจริญชัย เท่านั้น เป็นช่วงเงียบที่ทุกคนเหมือนพร้อมใจกลั้นหายใจเพื่อฟังเสียงซอของเรา ตื่นเต้นมากๆ ครับ” ภาพที่เจสันเดี่ยวซอด้วงในวันนั้น บวกกับเสียงเครื่องสายที่คล้ายไวโอลินในสำเนียงเศร้าปนอยู่นิดๆ กลายเป็นเสน่ห์ของดนตรีไทยในรูปแบบใหม่ที่เชื่อว่าใครได้ฟังก็ต้องร้องว้าว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสีซอได้ดีแบบนี้ ต้องอาศัยการฝึกประสาทการฟังที่ดีมากๆ เพื่อจับตัวโน้ตแต่ละตัวให้ถูกต้อง

 

ไต่บันไดเสียง เพื่อบันไดฝัน

การทำตามฝันอันยิ่งใหญ่ คือ การปักหมุดหมายเอาไว้แล้วมุ่งหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง หยิบจินตนาการมาสร้างผลงานไร้ขอบเขต เพื่อเสียงดนตรีในแบบของตนเองให้เป็นที่รู้จัก เหมือนฝึกไล่บันไดเสียงขึ้นไปทีละขั้น เพื่อเข้าใกล้ความฝันจนกว่าจะถึงวันที่ฝันนั้นกลายเป็นจริง

เมื่อถามถึงความฝันของเขา เจสันตอบด้วยน้ำเสียงขรึมๆ ตามสไตล์ว่า “ผมเชื่อว่าดนตรีสมัยนี้พัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้มีแนวดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ผมก็ชอบฟังเพลงทุกแนวอยู่แล้ว เลยคิดว่าในอนาคตอยากจะเป็น Sound Engineer ไม่ก็ Music Composer หรือ Producer ผมเชื่อว่าดนตรีที่เราเล่นอยู่ทุกวันนี้ สามารถพาเราไปถึงจุดๆ นั้นได้ครับ”

“เรื่องดนตรีนอกจากมีพรสวรรค์ติดตัวแล้ว ผมว่าการซ้อมคือสิ่งสำคัญ แม้เราจะมีพรสวรรค์ แต่ถ้าไม่ฝึกซ้อมก็คือ จบครับ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเก่งขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน การซ้อมและเก็บประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดต่างหากที่จะช่วยให้เราไปถึงฝันที่ตั้งไว้” ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยว่าเจสันมีความตั้งใจและความทุ่มเทเป็นอย่างมาก ก็คือ การเข้าค่าย The Power Band Music Camp แม้จะไม่มีคลาสการติวเข้มดนตรีไทย แต่เจสันก็แบกกีตาร์ไปเวิร์กช็อปกับเพื่อนๆ มือกีตาร์จากวงอื่นๆ ด้วย เปิดรับสิ่งใหม่โดยไม่ปิดกั้น ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ แถมได้มิตรภาพดีๆ จากการเล่นดนตรีระหว่างทาง “ผมได้รับความรู้จากค่ายเยอะมากครับ ทั้งการเรียบเรียงเพลง การแต่งเพลง เทคนิคกีตาร์ต่างๆ ต้องขอบคุณ THE POWER BAND SEASON 3 มากครับ ที่ทำให้พวกเราจากแต่ละวงสนิทกันมากขึ้น และได้พัฒนาตัวเองในเวลาสั้นๆ ด้วยครับ”

 

Author

ภัทราภรณ์ เตชะธรรมวงศ์

Author

เด็กวิทย์หัวใจศิลป์ | คิดนอกกรอบแต่ตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ | ทาสแมวที่ไม่เลี้ยงแมว | เมื่อทุนนิยมเอาความจริงฟาดหน้า เลยชอบหาเวลาอยู่กับตัวเอง | เป็น Introvert ที่ชอบ Extrovert | มนุษย์ดองหนังสือ ชอบซื้อแต่ไม่มีเวลาอ่าน | ยกคาเฟ่มาไว้ที่บ้าน เปิด Slow Bar จิบกาแฟยามเช้าทุกวัน

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ