People

ถนนดนตรีของ พล วงแคลช
เส้นทางนักบริหารและนักสร้างศิลปะตัวโน้ต

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 15 Aug 2022
Views: 737

จาก “พล วงแคลช” ก้าวมาเป็น “พี่ใหญ่” นั่งแท่นบริหารค่ายเพลง Boxx Music เมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่เขาแจ้งเกิดจากการเป็นมือกีตาร์ร็อกวงดังช่วงต้นยุค 2000 ความรุ่งเรืองขีดสุดที่เกิดขึ้นเวลานั้น เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของวง “แคลช” โดยเฉพาะกลุ่มคนฟังที่เป็นวัยรุ่นสายร็อก หลังออกสตาร์ตเส้นทางดนตรีกับวง  “แคลช”  ร่วมกัน ตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงอัลบั้มที่ 8 สมาชิกทั้ง 5 ก็ประกาศพักวง ด้วยต่างคนต่างมีเป้าหมายอยากไปสร้างฝันตามโปรเจกต์ที่ตัวเองตั้งใจไว้

ชีวิตฉากใหม่ของ พล – คชภัค ผลธนโชติ หรือที่ใครๆ ก็รู้จักในชื่อ “พล วงแคลช” จึงเดินเข้าสู่วิถีคนเบื้องหลังในฐานะ Music Producer อย่างเต็มตัวในวันนั้น ไม่นาน..วันเวลาที่พอกพูนด้วยประสบการณ์ ก็พาเขาไต่เพดานขึ้นสู่การเป็น Executive Producer ให้กับค่าย Boxx Music ในเครือ Muzik Move ปัจจุบันพลเดินหน้าบริหารค่าย Boxx Music เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว

 “ผมเรียนรู้แล้วว่าความสำเร็จไม่ได้ยั่งยืน…เมื่ออิ่มตัวแล้ว เลยอยากหาความสำเร็จในหน้าต่างบานใหม่…จนวันหนึ่งเริ่มทะลุกำแพงตัวเอง ก็ต้องหาโมเดลใหม่ เลยคิดแค่ความสุขในการทำงานที่เกิดขึ้นกับทีมงานและศิลปิน เป็นสิ่งที่ผมโฟกัส”

พล – คชภัค ผลธนโชติ
ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music และ Zircle Muzik ในเครือ Muzik Move

 

บ่ายหนึ่ง ที่ห้องซ้อมดนตรีย่านอุดมสุข เรามีโอกาสได้แวะไปคุยกับเขาพักใหญ่ ก่อนที่เจ้าตัวจะบินไปเล่นคอนเสิร์ตกับวงแคลชที่ลอนดอน ด้วยเหล่าสมาชิกแคลช ได้หวนกลับมารวมวงกันอีกครั้งเมื่อหลายปีก่อน และพวกเขาก็ยังออกทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

วันนี้สถานะของพลจึงเป็นการสวมหมวกทั้งในอาชีพของศิลปิน และเป็นผู้บริหารค่าย Boxx Musicควบคู่กันไปอย่างสนุกสนาน การเจอกันในวันนั้น เราย้อนถามถึงวิถีในวันที่พลิกบทชีวิตจากศิลปิน ไปสู่เส้นทางของนักบริหารค่ายเพลงที่ประสบความสำเร็จ

พลเปิดเรื่องเล่าของเขาด้วยรอยยิ้มกว้าง “ชีวิตพอเดินไปถึงจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า แต่ละคนมีเวย์ของตัวเอง ผมน่ะ เลือกเวย์ที่เป็น Music Production เพราะชอบมาก ผมชอบอยู่สตูดิโอ มีความสุขกับการทำเพลง มาเป็นผู้บริหารเนี่ย จริงๆ แล้วจับพลัดจับผลูนิดหนึ่ง เพราะเราไม่ได้มีหัวธุรกิจขนาดนั้น แต่ได้รับโอกาสจาก    พี่จุ๊บ คุณวุฒินันต์ ภิรมย์ภักดี น่ะครับ พอรีแบรนด์จากสหภาพดนตรีไปเป็น Muzik Move ผมก็ได้พื้นที่ในการทำศิลปินวัยรุ่นมา ตรงนั้นแหละถึงได้จับตำแหน่งของการเป็นผู้บริหาร…

…แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่ผู้บริหาร (หัวเราะ) ความฝันของผมคือ อยู่กับน้องๆ ในค่ายเพลงที่มีความชอบ มีความสนุกร่วมกัน ผมอาจอยู่ในมุมพี่ใหญ่เวลาอยู่ในบริษัท ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมเป็นผู้บริหาร เดินเข้าไปแล้วใส่สูท ผูกเนกไทเลย ผมก็อย่างนี้ (เขาชี้ตัวเองที่กำลังอยู่ในท่วงท่าสบายๆ เป็นกันเองระหว่างสนทนา พร้อมหัวเราะ)

 

✓ ใช้หลักการบริหารที่ไม่ใช่ผู้บริหาร

ใช้ความชอบและความสนุกในการทำเพลงร่วมกัน

 

TP : พอรับค่ายมาดูแล ต้องมาเริ่มจัดระเบียบความคิดและการทำงานของตัวเองยังไงบ้าง?

พล : Boxx Music ในวันแรก มันคือศูนย์เลย แต่เรารู้แล้วแหละว่าการที่จะนำ Boxx Music ไปสู่เส้นทางนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ผมจะมีพาร์ตเนอร์คือ พี่ตัฐ – พงษ์ฉัตร มุสิเกตุ ซึ่งเป็นโปรโมเตอร์ของค่าย พี่ตัฐก็จะมานั่งคุยกับผมในมุมตัวเลข ทิศทางของค่าย จะไปยังไง มันมีเรื่องของแอ็กชัน แพลนต่างๆ อันนี้มันเป็นจุดที่ได้เรียนรู้ ทีนี้แหละความเป็นธุรกิจจะเริ่มแทรกซึมเข้ามาในตัวมากขึ้น จนกลายเป็นว่าวันนี้เวลาผมเห็นสักหนึ่งโปรดักต์ ผมก็จะเห็นหลายมิติมากนอกจากเพลง ก็จะเห็นโกลของโปรดักต์นี้ว่าคืออะไร แอ็กชัน แพลนไปยังไงล่ะ มีโอกาส…มีจุดเด่นตรงไหน มีจุดด้อยตรงไหนที่ไม่ควรจะโชว์ เรื่องนี้กลายเป็นออโต้ไปเลย

TP : แสดงว่าเริ่มคิดแบบผู้บริหาร ซึ่งมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ?

พล : อัตโนมัติครับ แล้วผมก็คอมแพร์กับสิ่งที่พี่ตี่ พี่กริช ทอมมัส เคยสอนไว้ตั้งแต่ตอนอยู่แกรมมี่ฯ “เฮ้ย หลักบริหารนะพล มันง่ายนิดเดียว เราต้องคิดแบบอะเรนจ์เมนต์ โครงสร้างเพลงมีอะไรล่ะ” ตอนแรกผมก็ยังไม่เก็ต จนวันนี้เริ่มเก็ตแล้ว แบบว่า อ๋อ…

 

TP : ตอนช่วง Boxx Music เริ่มเปิดค่าย มันก็มีค่ายอินดี้ที่แตกแขนงออกมา ซึ่งค่ายใหญ่มันถูกลดบทบาทลง แต่ค่ายเล็กๆ กลับมีเพาเวอร์กับคนฟังมากขึ้น ตอนนั้นวางแผนไว้ยังไงบ้างคะ ที่จะทำให้ค่ายเราแตกต่างและอยู่รอด?

พล : นี่เป็นจุดหนึ่งที่เห็น ซึ่งผมว่ามันต่างด้วยดีเอ็นเอคนทำงาน อย่างน้องๆ ในทีมที่เป็นฝั่งออฟฟิศหรือฝั่งโปรดักชัน ทุกคนจะคล้ายๆ กันกับผม คิดบวก สนุก ชอบคิดอะไรที่สนุกๆ ไม่ทำอะไรที่เราฝืนใจ ซึ่งผมว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพของบ็อกซ์ มิวสิคออกมาในเวย์นี้…สว่าง สนุก แล้วมันก็พาไปถึงการที่เรารีครูซศิลปินว่าศิลปินที่เราคุยแล้วเราสนุกด้วย บ็อกซ์ มิวสิคเลยมีภาพของความเป็นเด็กหน้าห้องหมดเลย ซึ่งจริงๆ แล้วผมเป็นเด็กหลังห้องที่ชอบความถูกต้อง ชอบช่วยเหลือ แล้วดีเอ็นเออย่างนี้ เวลาเราสกรีนกันมา มันก็จะเป็นหมู่มวลของคนแบบนี้ พอเราทำภาพทำอะไรต่างๆ ออกไป คนที่อยู่ข้างนอกพอมองเข้ามา เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย บ็อกซ์ มิวสิค …เด็กหน้าห้อง

TP : เอาเป็นว่า ศิลปินที่มาคุยกับทางค่าย อย่างน้อยๆ ต้องมีการสกรีนกันมาก่อน ไม่ใช่ว่ามาแบบติสต์ๆ แล้วเดินมาขอร่วมงานได้เลย

พล : ต้องสกรีนก่อน (หัวเราะ) เคยมีนะ แบบสายติสต์มากๆ แล้วเดินมาคุยกับเรา คือเราเข้าใจเขานะ แต่คิดว่าเราทำอัลบั้มให้เขาไม่ได้น่ะ เขาจะไม่สำเร็จในเวย์ที่เขาต้องการ อาจจะต้องใช้คำว่าเราป็อปเกินไปสำหรับเขา…แมสเกินไปสำหรับเขา แล้วภาพตรงนี้ของเราก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเรามีประสบการณ์ในการทำศิลปินมานาน ก็จะรู้ว่ากรอบของบ็อกซ์ มิวสิค จะประมาณนี้

TP : ส่วนหนึ่งก็มองว่า มันน่าจะเป็นการต่อสู้กับตัวเองค่อนข้างเยอะ กว่าจะมาถึงความสำเร็จในจุดนี้

พล : ใช่ครับ ช่วงแรกๆ ตีกับตัวเองด้วย ตีกับตัวเลขด้วย ตีกับศิลปินด้วย ในมุมที่ว่าสุดท้ายแล้วเราพาเขาขึ้นเรือ แล้วจะหันหัวเรือไปทางไหนที่จะไปถึงเกาะที่เราจะสร้างเมือง ก็จะมีความถกเถียงกันด้วย สุดท้ายผมต้องบอกว่า มันเป็นจังหวะที่ต้องเรียนรู้แหละ ซึ่งก็มีที่เราเลี้ยวซ้ายผิด เลี้ยวขวาแล้ววืดมันก็มี ก็ต้องเรียนรู้จากผิดพลาด พอเราเลี้ยวถูกสักทีหนึ่งแบบ “อ๋อ ถ้าเลี้ยวทางนี้แล้วลมมันจะส่งเรือเราเว้ย” ก็จะเก็บสถิตินี้ไว้เรียนรู้…เอามาเป็นข้อมูลในการที่จะตัดสินใจเดินทางครั้งต่อไป

 

วางเป้าหมาย ใช้แอ็กชัน แพลน

แล้วเดินหน้าไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

 

TP : จากศิลปินที่กำลังประสบความสำเร็จ พอโดดมาทำค่ายเป็นของตัวเอง มีความกดดันในเรื่องของความคาดหวังของคนที่เคยติดตามงานเราบ้างหรือเปล่า?

พล : อาจจะมีเรื่องความคาดหวังของพี่ๆ มากกว่าครับ  สำหรับตัวผมเอง ผมปลดตรงนั้นทิ้งไปนานมากแล้วตั้งแต่วันที่แคลชเลิกวงเลยดีกว่า ผมเรียนรู้แล้วว่าความสำเร็จไม่ได้ยั่งยืน คนเรามีขึ้นมีลง มันไปถึงจุดที่แบบ “อยู่ดีๆ ก็เลิก” ทุกคนยังมาถาม “เลิกทำไม กำลังพีค ฝีไม้ลายมือในการเพอร์ฟอร์มกำลังไปได้ดี” แต่ผมรู้สึกว่ามันอิ่มตัวแล้ว อยากหาความสำเร็จในหน้าต่างบานใหม่ในวันข้างหน้า

แล้วผมคิดว่า แต่ละคนมีวันเวลาของเขา ผม “ทำศิลปิน” อิ้งค์ วรันธร ตั้งแต่วันเริ่มต้น เราก็ไม่รู้หรอกว่า อิ้งค์เขาจะเดินมาไกลถึงขนาดนี้ ถ้าถามถึงวันแรกๆ ผมเห็นอิ้งค์เป็นขนาดนี้ไหม ไม่เลย ผมเห็นอิ้งค์เป็นแค่เจ้าแม่ซินธ์ป็อปอยู่ในกลุ่มอินดี้ จนวันหนึ่งเริ่มทะลุกำแพงตัวเอง ผมก็ต้องหาโมเดลใหม่แล้ว ฉะนั้นความกดดันในเรื่องความสำเร็จจึงมีน้อย เลยคิดแค่ความสุขในการทำงานที่เกิดขึ้นกับทีมงานและศิลปิน ผมว่าอันนี้แหละเป็นสิ่งที่ผมโฟกัส

 

TP : มีหลักเกณฑ์ในการวางรูปแบบของศิลปินที่จะออกผลงานกับค่ายไว้อย่างไรบ้าง?

พล : อันดับแรกก็ต้องเหมือนแฟนกันครับ (หัวเราะ) เราต้องชอบพอกันก่อน แล้วจะคุยกันง่าย เราจะรู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร อยากได้เพลงแบบไหน อยากทำอะไร จากนี้มันก็จะพุ่งไปหาความสำเร็จได้ ซึ่งเป็นความสำเร็จในรูปแบบของเขานะ เพราะนั่นทำให้เห็นรูปแบบของศิลปินคนนี้ได้ง่ายขึ้น

ผมไม่ได้กำหนดว่าทุกศิลปินจะต้องสำเร็จเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเวย์ของแต่ละคน ทุกศิลปินที่มาคุยกับผม ผมก็จะถามเขา “เป้าหมายในชีวิตของการเป็นศิลปินของคุณ เห็นภาพตัวเองเป็นอะไร” บางคนบอก “พี่ผมเห็นตัวเองเล่นคอนเสิร์ตที่ อิมแพคฯ” ซึ่งผมก็ดีใจนะ เพราะเขามีเป้าหมายที่สูง แต่เขามีแอ็กชัน แพลนที่จะเดินทางไปถึงอิมแพคอย่างไร อันนี้ก็ต้องมาคุยกัน ถ้าบอกว่าผมอยากเล่นที่อิมแพคฯ แต่ทำเพลงลึกมากๆ เลย ก็ไม่ตอบโจทย์ในการที่จะมีคน 14,000 คนมาดู แต่ถ้ามาแบบ “พี่ผมอยากเล่นไลฟ์เฮาส์ 200 กว่าคน” แล้วเขาก็ทำเพลงเท่ๆ ของตัวเองมา ก็จะ “เฮ้ย อันนี้ทำให้ได้” แสดงว่าเป้าหมายมันตรงกัน ผมก็ใช้วิธีประมาณนี้ครับ

TP : ทัศนคติการทำงานของตัวเองเปลี่ยนไปเยอะไหม?

พล : เปลี่ยนไปเลยครับ จนผมกลัวตัวเองเลย (หัวเราะ) บางทีเวลาทำเพลงกับที่วง เราต้องเบรกตัวเองออกมา “เฮ้ย คิดกับวงแคลช ไม่ใช่วิธีนี้ วงแคลชมันต้องคิดแบบอาร์ติสต์” ทำค่ายก็ต้องคิดแบบบริหารค่าย บริหารศิลปิน บริหารเพลง บริหารเงิน บริหารเวลา อะไรก็แล้วแต่ อันนี้ผมเลยต้องพยายามแยกให้เป็น 2 ส่วน

 

TP : แสดงว่าการพยายามบาลานซ์ตัวเอง ระหว่างการเป็นศิลปินกับนักบริหารมันก็ยาก

พล : ระยะแรกๆ ก็ยาก บางทีก็เผลอ อย่างแคลชทำเพลงคือใช้ฟีลลิ่งน่ะ ฉะนั้นเวลาทำงานกับแคลช ผมก็จะไม่แอ็กชัน จะไม่คิดมากขนาดนั้น จะดูแลในพาร์ตกีตาร์ของตัวเอง ก็จะมาฟอลโลว์การเป็นกีต้าร์เพลย์เยอร์เท่านั้น

 

✓ เรียนรู้จากข้อผิดพลาด เก็บไว้เป็นข้อมูลในการทำงานต่อไป

 

TP : พออยู่ในโหมดของศิลปิน มันคือข้อดีที่ทำให้เรายังยั้งตัวเองได้

พล : เป็นเรื่องดีนะ เพราะผมได้เรียนรู้ตัวเอง ผมรู้สึกว่าพลในวันนี้เก่งกว่าพลเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากๆ เลย เพราะเราเจออุปสรรคมา…ไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นนะ เทียบกับตัวเอง ในวันที่เราเป็นอาร์ติสต์ เราไม่ค่อยฟังใครหรอก เราเอาแต่ใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมดีใจว่า วันนี้เราเปิดมายด์เซ็ตของตัวเอง เรียนรู้จากน้องๆ เรียนรู้จากทุกคน เรียนรู้จากหลายๆ ด้าน รับฟังให้มาก แล้วรวบรวมความคิดของทุกคนมาทำให้เกิดประโยชน์ครับ

 

TP : สมมติถ้าไม่ได้มาทำค่ายตรงนี้ แต่ยังเป็นพลมือกีตาร์วงแคลช ที่เป็นศิลปินเพียวๆ คิดว่าชีวิตน่าจะเป็นอย่างไร?

พล : (หัวเราะ) ป่านนี้น่าจะนั่งกินเหล้า แล้วก็ยังไม่มีลูกไม่มีเมีย วันๆ ก็หยิบกีตาร์มาเล่น สูบบุหรี่ (หัวเราะ) คงอยู่กับดนตรี ไม่มีมิติอื่นในชีวิต พอแคลชหยุด ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนด้วยแหละ ทำให้ชีวิตเรา survive ด้วยการมาอยู่เป็นเบื้องหลัง ทำงานจริงจัง ตรงต่อเวลา แล้วก็ทำงานร่วมกับคนเบื้องหลัง คือเมื่อก่อนเราก็ให้เกียรติคนเบื้องหลังแหละ แต่เห็นมูลค่าเขาไม่เยอะ เพราะความสำคัญมาอยู่ที่ตัวเราตอนเราเป็นอาร์ติสต์ พอวันนี้เรียนรู้การอยู่เป็นเบื้องหลัง ถึงรู้ว่า เรานี่ทำนิสัยไม่ดีกับพี่เขามาเยอะ (หัวเราะ) เอาแต่ใจ เขาจะให้ทำอะไรเราก็ไม่ยอม (หัวเราะ)

 

✓ มีความรับผิดชอบสูง มีวินัยสูง แต่ไม่ลืมเรื่องของการใช้ฟีลลิ่งด้วย

 

TP : คิดอย่างไรกับยุคของตัวเอง ที่เติบโตมากับดนตรีร็อกแต่วันนี้วิถีของนักดนตรีร็อกเริ่มหายไป มีแนวดนตรีอื่นๆอย่างเช่นฮิปฮอปเข้ามาเฟื่องฟูแทน

พล : ผมว่ามันเป็น circle เหมือนย้อนกลับไปในวันที่ผมเป็นเด็กๆ ผมโตมากับเพลงแบบ ทาทา ยัง ซึ่งเป็นยุคของศิลปินเดี่ยวในยุคนั้น แล้วสักพักหนึ่งเริ่มมีวงร็อกก็ค่อยๆ เกิดขึ้น พอยุคหลังนั้นจะเป็นวงแบบบอยแบนด์มั้ง แล้วสักพักก็จะมีวงร็อกแทรกเข้ามา ซึ่งครองตลาดมาในระดับหนึ่ง จนมีช่วงที่ฮิปฮอปเข้ามาสวม แล้วก็เฟดไปอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ร็อกก็ยังอยู่ แล้วก็มีป็อปเข้ามา วันนี้เด็กอาจจะเบื่อ แล้วเทรนด์ของการเสพงาน แฟชั่นต่างๆ เปลี่ยนไป แต่ผมว่าร็อกมันไม่ได้ตายหรอก แค่ไม่ได้อยู่ในการฟังเพลงแบบมาสเตอร์และเปลี่ยนวิธีการของมัน ผมเลยไม่ได้กังวลตรงนี้ครับ

TP : ทราบว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการในงานประกวดดนตรี THE POWER BAND ด้วย เห็นการเล่นดนตรีของน้องๆ ในยุคนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

พล : เด็กทุกวันนี้เก่งมาก แนวคิดก็ดี การเปิดรับก็ดี ความมีตัวตนในวงตัวเองชัดกว่ารุ่นผมเยอะเลย รุ่นผมมันแบบเหมือน in put น้อยน่ะ แต่วันนี้ in put มีเยอะ เขาก็พยายามหาสิ่งที่เขาอยากเป็นได้ชัดเจน อย่างโครงการ THE POWER BAND ปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่า โอ้โห วงที่ได้ที่หนึ่ง Class F วง Sixth Floor น่ะเก่งเหลือเกิน มือกีตาร์ได้ไปขึ้นเล่นกับวง PolyCat ด้วย (บนเวทีแถลงข่าวโครงการฯ  Season 2 ของปีนี้) เด็กเขาไม่กลัวศิลปินไม่ตื่นเวทีด้วยนะ ทำให้เห็นเลยเห็นว่าเด็กเดี๋ยวนี้เก่งมาก มาตรฐานของการเล่นดนตรีของน้องๆ สูงขึ้นมาก นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราเองหรือค่ายเพลงวิ่งไม่ทันว่ะ (หัวเราะ) เราต้องตามให้ทันเด็ก ไม่งั้นเราจะกลายเป็นค่ายเพลงโบราณ (หัวเราะ)

 

TP : แสดงว่าเรื่องความยากในการตัดสินไม่ได้อยู่ที่เด็กแล้ว แต่อยู่ที่กรรมการ

พล : ใช่ๆ (หัวเราะ) แล้วการประกวดที่กำลังจะจัดในปีนี้เป็นแบบเปิด open เลยด้วยนะ แบบว่าไม่ต้องมีผสมเครื่องเป่าแล้ว ซึ่งนี่มันคือความแบบ…เอาแล้ว อาจจะมีวงที่ผสมฮิปฮอปมา หรือมีความเป็นฮิปฮอปไปเลยก็ได้ การประกวดของปีนี้จะยิ่งขั้นกว่า ซึ่งผมเองนี่ตั้งตารอเลย แล้วยังเป็นปีที่มีแยกออกไปแข่ง 5 สนามทั่วประเทศ ผมว่าเราน่าจะได้เจอเด็กที่มีมิติเฟี้ยวๆ หรือช้างเผือกจากต่างจังหวัดด้วย ผมเชื่อว่ามีเยอะเลยนะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จาก THE POWER BAND ไปลงพื้นที่ ผมว่าสนุกแน่นอน

 

TP : ความสุขในการใช้ชีวิตของพลทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

พล : ความสุขของผมคือการได้ทำงาน ได้ดูแลครอบครัว ชีวิตผมเปลี่ยนไปเยอะ ผมไม่ใช่พลแบบเมื่อก่อน คิดว่าตัวเองมีความรับผิดชอบสูงมากในวันนี้ ผมเป็นคนมีวินัยสูงมากในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เพราะรู้สึกว่าชีวิตมันสั้น วันนี้ผมอายุ 41 แล้ว รู้แล้วว่าชีวิตเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมามันเร็วมาก แป๊บเดียวเอง เราก็เดินมาถึงตรงนี้แล้ว ครึ่งคนแล้ว ผมคุยกับที่วง “อยู่กันถึงอายุ 80 นี่ก็กำไรแล้ว ถ้าอย่างแย่ก็ 75 ก็เจอกันตามวัด” (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองต้องมีวินัยกับเวลามาก คนเรามีเวลาเท่ากันจะรวยจะจนเรามีเวลาเท่ากัน ทำทุกๆ 1 นาทีหรือ 1 วินาทีของเราให้มันมีคุณค่า นอกจากเรื่องเบสิกหรือว่าสิ่งที่เราจะต้องทำอยู่แล้ว เช่น ดูแลครอบครัว ดูแลงานบริษัทของเรา ดูแลน้องๆ ศิลปินของเรา ที่เหลือก็คือการหาความรู้รอบๆ ตัวครับ

 

หลักบริหารชีวิตและงานของเขา

✓ ใช้หลักการบริหารที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ใช้ความชอบและความสนุกในการทำเพลงร่วมกัน

✓ เรียนรู้จากข้อผิดพลาด เก็บไว้เป็นข้อมูลในการทำงานต่อไป

✓ วางเป้าหมาย ใช้แอ็กชัน แพลน แล้วเดินหน้าไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

✓ มีความรับผิดชอบสูง มีวินัยสูง แต่ไม่ลืมเรื่องของการใช้ฟีลลิ่งด้วย

 

บางเรื่องของพลที่ยังไม่ได้เล่า

  • หลังพักการทำงานกับแคลช เมื่อปี 2553 ช่วงระยะเวลา 7 ปี ก่อนจะกลับมารวมวงอีกครั้งในปี 2561 พลได้ก้าวเข้าสู่อาชีพโปรดิวเซอร์ เป็นเบื้องหลังความสำเร็จให้กับศิลปินหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เก็ทสึโนว่า, ฟีฟี่ เบลค, ศรัญ แอนนิ่ง
  • ปี 2558 ได้รับชักชวนจาก วุฒินันท์ ภิรมย์ภักดี ให้ไปร่วมงานกับค่าย สหภาพดนตรี ในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ ซึ่งศิลปินที่เขาโปรดิวซ์ผลงานให้เป็นคนแรกในค่าย คือ บอย – พิษณุ นิ่มสกุล

  • หลังจาก สหภาพดนตรี เปลี่ยนชื่อเป็น Muzik Move พลได้รับมอบหมายให้ขึ้นเป็นผู้บริหารค่าย Boxx Music มีจุดยืนในการผลิตเพลงในทาง Urban Pop โดยเน้นปั้นศิลปินวัยรุ่นที่สร้างงานเพลงเองได้
  • ในปี 2565 พลเปิดค่ายเพลงขึ้นมาอีกหนึ่งค่ายชื่อ Zircle Muzik เพื่อเฟ้นหาศิลปินมาร่วมทำเพลงกับค่าย ในรูปวงดนตรี ขอแค่มีฝีไม้ลายมือและมีทัศนคติในการทำเพลงร่วมกันแบบ “มองตาก็รู้ใจ” การเป็นศิลปินหน้าใหม่ในค่าย Zircle Muzik ก็อยู่ใกล้แค่ปากซอย

 

“กล้าฝัน! กล้าทำ!” การประกวด THE POWER BAND 2022 เริ่มต้นแล้ว

และในปีที่ 2 ของโครงการฯ นี้ มีแข่งขันรอบคัดเลือก 5 สนามแข่งด้วยกัน คือ สนามขอนแก่นและชลบุรีประกาศผู้ผ่านเข้ารอบแล้ว ยังคงเหลือสนามเชียงใหม่ สงขลา และกรุงเทพมหานคร ที่เปิดรับสมัครอยู่ สนใจรายละเอียดคลิก : THE POWER BAND 2022

 

ติดตามผลงานของ Boxx Music ได้ที่

คลิก : BOXX MUSIC และทางยูทูบยังมีอะไรสนุกๆ น่าสนใจอีกเพียบ คลิก : BOXX MUSIC

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ