People

ณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี
สานต่อหัตถกรรมป่านศรนารายณ์เพื่อแผ่นดิน

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 8 Aug 2022
Views: 609

จากที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาสานต่องานคุณแม่ในการผลิตศิลปหัตถกรรมด้วยป่านศรนารายณ์ จนสามารถเลี้ยงดูปูเสื่อทั้ง ณัฐณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี และชุมชนในหมู่บ้านแถวหุบกะพง ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี แต่วันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำต่อด้วยใจรัก พร้อมตั้งเป้าหมายแน่ชัดว่าจะช่วยสานต่องานหัตถศิลป์ของแผ่นดินนี้ให้สืบสานไปนานเท่านาน

 

คุณค่าทางใจที่มากกว่าการเป็นทายาทครูช่างศิลป์

ด้วยสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินตั้งแต่เด็ก เห็นและมีโอกาสช่วยงานคุณแม่อารยา เจ้าของแบรนด์สินค้าป่านศรนารายณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม พอโตมาคุณณัฐระวีรับหน้าที่ดูแลเรื่องการตอบอีเมลและเอกสารส่งสินค้าส่งออกไปต่างประเทศจากคนกลางที่นำสินค้าไปขาย โดยไม่ได้ทำเต็มตัวเนื่องจากมีงานประจำหลังจบการศึกษาปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และมีการเรียนด้านการสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่มเติม

แต่เริ่มกลับมาช่วยทางบ้านจริงจังเมื่อคุณแม่อารยาป่วยเป็นมะเร็งและเสียชีวิต เธอจึงตัดสินใจลาออกมาสานต่องานที่คุณแม่สร้างไว้ด้วย 2 เหตุผลหลักคือ เพราะเป็นการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มสตรีในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว ประกอบกับที่คุณแม่เป็นครูช่างศิลป์ทางด้านนี้ เธอจึงไม่อยากให้ศิลปวัฒนธรรมที่ทำกันมาหลายช่วงอายุคนเหล่านี้หายไป เพราะเบื้องหลังงานหัตถศิลป์นี้มีเรื่องราวที่ทรงคุณค่าทางใจต่อผืนแผ่นดินนี้ไม่น้อย

“เราอย่าลืมรากของตัวเอง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้ที่ดินทำกิน พระราชินีของพระองค์ให้อาชีพ

ที่พวกเราพอจะทำได้คือรักษาและสานต่อศิลปหัตถกรรมนี้จากรุ่นไปสู่รุ่น

โดยไม่ลืมปรับกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันด้วย”

ณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี แบรนด์ ARAYA

 

“แม่เล่าให้ฟังตลอดว่า เราต้องไม่ลืมที่เรามีที่ดินทำมาหากินได้จนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานที่ดินแห่งนี้ให้กับชาวบ้าน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้ให้อาชีพใหม่กับชาวบ้านที่เดิมปลูกสับปะรดและหน่อไม้ฝรั่ง เนื่องจากพระองค์เห็นว่าป่านศรนารายณ์ชนิดนี้มีความเหนียวเพราะสามารถนำมาผูกกับสมอเรือ ซึ่งน่าจะไปทำเป็นงานหัตถกรรมที่คงทนได้และสวยงามได้ ซึ่งจากที่ทำเป็นเพียงอาชีพเสริมในช่วงนั้น กลายเป็นอาชีพหลักให้กับหลายครัวเรือนในปัจจุบัน และมีไม่กี่อาชีพที่พระองค์ได้พระราชทานมาให้ จึงอยากรักษาและสืบสานต่อไป”

 

สร้างจุดแข็งพื้นที่และสินค้าให้ชัดเจน

เมื่อที่นี่เป็นแหล่งปลูกป่านศรนารายณ์แห่งแรกๆ ของประเทศ ซึ่งทนต่อสภาพภูมิอากาศทั้ง แดด ฝน และน้ำท่วมเป็นอย่างดี ตลอด 30 กว่าปีที่รุ่นแม่ได้ทำสิ่งนี้อย่างต่อเนื่องมาก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้ว ป่านศรนารายณ์ช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชนในหมู่บ้านแถวหุบกะพงนี้ได้ และคุณณัฐระวีได้สานต่อวิชาชีพนี้มาแล้วกว่า 10 ปี โดยเธอกลายเป็นหนึ่งในทายาทครูช่างศิลป์ที่ได้รับคัดเลือกเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 จากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เพราะพร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบนี้ต่อไป

“เราผลิตศิลปหัตถกรรมจากป่านศรนารายณ์ที่ทำกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นป่านศรนารายณ์ ที่ต้นหนึ่งใช้ได้นานถึง 5-6 ปี โดยกระจายไปยังคนชุมชนช่วยกันปลูกจนตอนนี้รวมกันมากกว่า 20 ไร่ เมื่อต้นที่พร้อมใช้หลังจากปลูกแล้ว ประมาณ 2 ปี ใช้ค้อนทุบให้แบนก่อนนำไปขูดและดึงด้วยไม้ไผ่ ต่อไปจะมานำมาถักเป็นเปียแล้วชุบสีเพื่อส่งต่อไปผลิตเป็นชิ้นงานแฮนด์เมดสู่ลูกค้าทั้งในเมืองไทยและไปไกลถึงต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”

แม้ที่อื่นจะมีการผลิตป่านศรนารายณ์บ้าง ทั้งจากการมารับซื้อป่านจากที่นี่ไป หรือมีการเริ่มนำไปปลูกที่อื่นบ้างแล้วก็ตาม แต่ถือว่าที่หมู่บ้านแถวหุบกะพงนี้ ยังเป็นแหล่งใหญ่ที่มีการปลูกและการแปรรูปที่ครบวงจรและมีรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องจากต้องมีการบริหารพื้นที่ในการปลูกและแปรรูปเพื่อให้สามารถมีผลิตให้ลูกค้าได้ตลอดเวลา เพราะช่วงฤดูฝนไม่สามารถเก็บมาแปรรูปได้เป็นเส้นได้เนื่องจากมีความชื้นในเส้นด้ายสูง และหากนำมาแปรรูปจะทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย

 

✓ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีน้ำใจต่อกัน

และไม่ใช้อารมณ์ตัดสินระหว่างทำงานร่วมกัน

 

สำหรับการต่อยอดของสินค้า เธอย้อนเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่สมัยที่คุณแม่อยู่ได้มีการพูดกับแม่ตรงๆ ว่า ถ้าเราผลิตสินค้าแบบเดิมๆ อาจไม่ได้รับความสนใจจากวัยรุ่น เพราะไม่สามารถตอบโจทย์การใช้ในทุกวัยหรือทุกโอกาสได้ จึงให้แม่ออกแบบและผลิตในสไตล์ผู้ใหญ่ไป ส่วนเธอขอเริ่มสร้างสีสันสดใสบนกระเป๋า หมวก เพื่อกระชากใจวัยรุ่นให้หันมาสนใจกระเป๋าจากป่านศรนารายณ์มากขึ้น แบบไม่ว่าจะวันไหนก็สามารถใช้เป็นแฟชั่นได้เหมือนกัน และในที่สุดก็สามารถใช้เทคนิคการลงสีที่ทำให้สีไม่ตกและไม่ขึ้นราได้ ส่งผลให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สิงคโปร์ มาเลเซีย และพม่า

 

40 ปีของ ‘ARAYA’ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

คุณณัฐระวีได้เล่าถึงแบรนด์อารยาที่อยู่มาถึง 40 ปีว่า เปรียบเสมือนวัยกลางคนคนหนึ่งได้เลย จากสิ่งที่แม่ทำมาตลอด 30 ปี แล้วเธอมาสานต่อได้ 10 กว่าปีนี้ รูปแบบการบริหารจัดการอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะเป็นการทำงานกันแบบกลุ่มสตรีภายในชุมชนที่ช่วยกันทำมาแต่ไหนแต่ไร จนตอนนี้มีช่างถักและตัดเย็บประมาณ 30 คน ที่ช่วงแรกเริ่มขายผ่านคนกลางที่นำไปส่งออกต่างประเทศต่อ แต่ปัจจุบันเราเป็นผู้ติดต่อผู้ที่ต้องการสินค้าไปขายได้โดยตรง ขณะเดียวกัน ARAYA ได้ร่วมทำงานระหว่างหน่วยงานราชการหรือองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าเป็นหนทางที่ทำให้สามารถ ARAYA เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งการดีไซน์ การทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งสมัยคุณแม่อาจไม่ได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เพราะคิดว่านี่แหละจะเป็นโอกาสให้สินค้าของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะได้รับผลตอบรับหลังไปร่วมออกงานแสดงสินค้า ได้เข้าประกวดผลิตภัณฑ์จากเวทีต่างๆ รวมถึงได้ร่วมทำงานทั้งกับหน่วยงานราชการ หรือการได้ร่วมทำงานกับ คิง เพาเวอร์ ก็ถือว่าช่วยทำให้ป่านศรนารายณ์แบรนด์ ARAYA เป็นที่รู้จักมากขึ้น และจากเสียงตอบรับที่ทุกคนบอกว่า การที่ผลิตภัณฑ์เราไปขายที่คิง เพาเวอร์ เท่ากับเป็นการการันตีได้แล้วว่า สินค้าของเรามีคุณภาพเป็นอย่างดี”

จนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมาย ตั้งแต่กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านต่างๆ เช่น  แผ่นรองแก้ว รองจาน หรือโคมไฟ แต่เนื่องจากสินค้าประเภทนี้จะมีราคาที่สูง ดังนั้นจะผลิตก็เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น

 

✓ ไม่ปิดกั้นตัวเอง ต้องเปิดรับแนวคิด ทักษะ

หรือการร่วมทำงานกันคนหรือหน่วยงานอื่น

เพราะจะนำมาโอกาสหลายอย่าง

 

ไปด้วยกันไปได้ไกล และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การเกิดโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพทุกคนและโดนกันหมดทั่วโลก แต่สำหรับเธอใช้ทุกวิธีทางที่จะทำให้ทุกคนไม่เจ็บตัวหรือบาดเจ็บต่อการใช้ชีวิตให้น้อยที่สุด ซึ่งนั่นหมายรวมถึงคู่ค้าหรือพันธมิตรต่างๆ ที่ร่วมกันทำให้ ARAYA เป็นที่รู้จัก

“ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ทำให้ ARAYA เจ็บหนักเพราะไม่สามารถเตรียมตัวก่อนได้เลย มีของค้างในสต็อกมูลค่าหลักล้านบาท ท้อมาก แต่พยายามรวบรวมสติ เพราะคิดว่าถ้าเราไม่ตั้งหลักดีๆ พี่ๆ แม่ๆ เพื่อนๆ ในกลุ่มที่ทำด้วยกันจะใช้ชีวิตกันอย่างไร เพราะหลายครอบครัวก็มีอาชีพเกี่ยวข้องกับป่านศรนารายณ์ ถ้าเราถอยคนอื่นน่าก็น่าจะหมดกำลังใจไปหมดเช่นกัน ก็เริ่มตั้งแต่ช่วยให้ทุกคนได้รับสิทธิ์จากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลให้หมด อย่างน้อยก็ช่วยประทังค่าใช้จ่ายได้บ้าง”

จากนั้นเริ่มลดการผลิตลง จาก 7 วัน เหลือ 5 วัน เพื่อที่จะทำให้บริหารจัดการต้นทุนของตัวเองดีขึ้น ซึ่งค่อยๆ สร้างและทำความเข้าใจกับกลุ่มกันไป และมองปลายทางเอาไว้ว่า หากจำเป็นจริงๆ ก็ต้องไปกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนกันไปก่อน แต่สุดท้ายเหมือนวิกฤตนี้ก็กลับช่วยสร้างโอกาสให้เราได้อีก

 

ท้อได้แต่อย่าถอย เพราะถ้าผู้นำกลุ่มหมดกำลังใจ

คนในกลุ่มจะเคว้งคว้างและรู้สึกหาทางออกไม่เจอ

 

“โควิด-19 ถือเป็นวิกฤตและบททดสอบยากสุดที่เคยเจอมา สมัยคุณแม่อาจเจอปัญหาภัยธรรมชาติเท่านั้น เช่น น้ำท่วม ซึ่งก็สามารถฟื้นฟูได้ภายในไม่กี่เดือน และค่อนข้างมีกรอบเวลาให้เห็นชัดเจนว่าจะหาทางป้องกันอย่างไร แต่พอเราอยู่ด้วยกันเหมือนญาติ พี่น้องที่ต้องรู้จักช่วยกัน เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ก็ทำให้ทุกคนเข้าใจเห็นใจกัน สมาชิกกลุ่มทุกคนเข้าใจสถานการณ์และช่วยกันบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงได้เห็นลูกค้าในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่เขาก็ช่วยเหลือเรา เราก็ช่วยเหลือเขา และเหมือนโชคมาช่วย เพราะมีลูกค้าสิงคโปร์มาขอไลฟ์สดที่บ้านหลังเจองานออกบูท ซึ่งเพียงครึ่งวันก็สามารถช่วยให้มีออร์เดอร์เป็นหลักแสนเข้ามา  จนในที่สุดสต็อกสินค้าที่เคยมีมูลค่า 1 ล้านบาท ค่อยๆ ทยอยขายออกไปได้หมด ทำให้เราไม่เป็นหนี้เงินกู้จากแบงก์ และแม้จะมีการไลฟ์ขายของก็จะไม่มีการตัดราคาขายกับเจ้าอื่นที่นำสินค้าเราไปขายก่อนอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่ทำให้ทุกคนสามารถอยู่ได้ เมื่อลูกค้าและสมาชิกอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”

 

ใช้ใจแลกใจ ประหนึ่งน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

ไม่ทิ้งใครไว้กลางทาง เพราะไปด้วยกันไกลกว่าไปคนเดียว

 

แข่งกับตัวเองสำคัญที่สุด

ศิลปหัตถรรมไทยมีให้เลือกมากมาย แต่ก็มองว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตต่างก็มีคาแรคเตอร์และคุณสมบัติแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบและการนำไปใช้ว่าแบบไหนจะโดนใจและตอบโจทย์ผู้ใช้แต่ละคนมากกว่า ตั้งแต่ ใบลาน ไม้ไผ่ กระจูด แต่ป่านศรนารายณ์มีคุณสมบัติที่คงทนเพราะมีความเหนียวมาก แต่สิ่งที่อยากบอกมากกว่าคืออยากให้สนับสนุนสินค้าไทย เพราะปัจจุบันผู้ผลิตหลายแห่งต่างก็มีการปรับตัวทั้งการดีไซน์ที่ออกมาเก๋ไก๋เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ออกแบบและพัฒนาใช้ได้หลายโอกาสมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

“เราไม่เคยมองว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตศิลปหัตถกรรมแต่ละประเภทเป็นคู่แข่งกันเลย แต่สิ่งที่กลัวมากกว่าคือ การที่คนมารับหรือนำไปสินค้าเราขายแล้วเมื่อขายไม่ดีจะมีการทำราคาให้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพียงเพื่อต้องการระบายสินค้า โดยมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำหัตถศิลป์เหล่านี้คือ การแข่งกับตัวเองสำคัญที่สุด เพราะจะคอยมีอุปสรรคมาท้าทายความมุ่งมั่นของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันถือว่าคุณสมบัติที่แข็งแรงของการผลิตป่านศรนารายณ์มีมากมายอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมหรืออยู่นิ่งเฉย ควรหมั่นพัฒนาและต่อยอดสินค้าเหล่านี้ให้ไปได้ไกล และสามารถส่งต่อรุ่นสู่รุ่นแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ อีกทั้งควรวางแผนและพัฒนาตัวเองเสมอ ว่าจะทำอย่างไรที่จะตอบโจทย์การผลิตให้ตรงกับความต้องการ หรือคาแรคเตอร์ของลูกค้าแต่ละรายมากกว่าผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการเราเอง”

 

ต่อยอดเพื่อเติบโตผ่าน ARAYA by Nut

ตอนนี้สิ่งที่พยายามทำการบ้านอย่างหนักเรื่องการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง และพยายามสื่อสารเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ทำจากป่านศรนารายณ์ที่มีจุดแข็งด้านไหนบ้าง เน้นผลิตจากป่านศรนารายณ์ทั้งแบบเดิมทั้งหมดที่ยังคงราคาและดีไซน์แบบเดิม แต่เพื่อให้สอดคล้องและดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น จึงได้เริ่มแตกยอดแบรนด์ ARAYA by Nut ที่จะมีส่วนผสมของหนังในกระเป๋ามากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์สินค้าไลฟ์สไตล์กับเข้ากับทุกกลุ่มทุกวัย ขณะที่ราคาก็สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการเพิ่มโอกาสนำไปสู่การช่วยสร้างช่องทางการสร้างอาชีพกระจายรายได้ให้คนอื่นนำไปขายได้อีกทางหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ARAYA หรือ ARAYA by Nut จากนี้ไปจะมีการทำคอลเลกชันเพิ่มขึ้น

“เดิมเราอาจมีคอลเลกชันให้กับลูกค้าได้เลือกน้อย แต่จากนี้ระยะ 1-2 เดือนก็ต้องมีการปรับคอลเลกชันแล้ว หรืออาจใช้รูปแบบเดิมแต่มีการเพิ่มสีสันที่แตกต่างมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจไม่กล้าที่จะทำออกมามากเพราะกลัวเรื่องที่คนอื่นจะมาลอกเลียนแบบ แต่ยุคนี้ทำให้เห็นว่าเราจะอยู่กับที่แบบเดิมไม่ได้แล้ว ขนาดแบรนด์ใหญ่เขายังต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตลอดเวลา”

 

ตระหนักรู้ที่มาของที่ดินพระราชทานและภูมิปัญญาทำป่านศรนารายณ์

พร้อมวางรากฐานสานต่องานให้คนรุ่นหลังรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยาก

 

แผ่นดิน&อาชีพที่ซ่อนแรงบันดาลใจไว้มากมาย

เพราะเส้นทางการผลิตจากต้นสู่เส้นป่านศรนารายณ์ จนเป็นกระเป๋าหัตถกรรมสวยดูดีถึงมือลูกค้าแต่ละใบไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเป็นการผลิตแบบแฮนด์เมดที่ใช้ทั้งเวลา มีกระบวนการหลายขั้นตอนในการทำ เรื่องขนาดพื้นที่เพาะปลูกจากชาวบ้านที่ทำแล้วมาส่งขายอาจไม่มีปัญหา แต่จำนวนกลุ่มสมาชิกที่เป็นช่างถักเย็บที่ยุคแรกมี 60 คน จนตอนนี้เหลือเพียง 25-30 คน ถือเป็นสัดส่วนที่ลดลง ถึงขนาดเคยขอความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงแรงงานรับสมัครคนทำงานมาได้ 10 คน แต่ทุกคนค่อยทยอยโบกมือลาไป ทำให้เธอเห็นความสำคัญว่า การส่งต่อเรื่องนี้คงต้องใช้วิธีเดียวกับตอนที่แม่อารยาทำให้ดูและค่อยๆ ชวนให้ลูกมาช่วยอย่างต่อเนื่อง เพราะความจริงนี่คือการปลูกฝังและวางรากฐานอาชีพให้กับลูกหลานทางอ้อมไว้ แม้ตอนนี้ลูกของเธอจะมีอายุเพียง 4 ขวบ แต่คุณแม่ยังสาววัย 40 นี้อย่างเธอก็เริ่มบอกเล่าเรื่องราวป่านศรนารายณ์ให้ฟังไปเรื่อยๆ

รวมถึงการบอกเล่าพื้นเพเดิมให้คนทั่วไปฟังเสมอหากมีโอกาสว่า ผืนดินกว่าหลาย 10 ไร่แห่งนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ให้ที่ดินทำมาหากินกับพวกเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ขณะที่สมเด็จพระราชินีของท่าน ก็ได้พระราชทานอาชีพและภูมิปัญญาให้กับชุมชนเหล่านี้ได้มีโอกาสทำกินจนเป็นอาชีพหลักถึงปัจจุบัน และสิ่งสำคัญที่นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนรักษาสิ่งนี้ไว้คือ การรวมพลังสามัคคีทางอ้อมที่จะทำให้คนในชุมชนรักใคร่สามัคคีกันนั่นเอง

หวังว่าเรื่องราวของคุณณัฐระวีน่าจะพอเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหรือชุมชนอื่นๆ ที่มีภูมิปัญญาและศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นของตัวเอง ได้ช่วยกันรักษา สืบสาน และต่อยอด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก จริงๆ

 

หลักคิดแนวการทำป่านศรนารายณ์ ARAYA

✓ ไม่ปิดกั้นตัวเอง ต้องเปิดรับแนวคิด ทักษะ หรือการร่วมทำงานกันคนหรือหน่วยงานอื่น เพราะจะนำมาโอกาสหลายอย่าง

✓ ท้อได้แต่อย่าถอย เพราะถ้าผู้นำกลุ่มหมดกำลังใจ คนในกลุ่มจะเคว้งคว้าง และรู้สึกหาทางออกไม่เจอ

✓ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีน้ำใจต่อกัน และไม่ใช้อารมณ์ตัดสินระหว่างทำงานร่วมกัน

✓ ใช้ใจแลกใจ ประหนึ่งน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ไม่ทิ้งใครไว้กลางทาง เพราะไปด้วยกันไกลกว่าไปคนเดียว

✓ รู้ตระหนักที่มาของที่ดินพระราชทานและภูมิปัญญาทำป่านศรนารายณ์ พร้อมวางรากฐานสานต่องานให้คนรุ่นหลังรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยาก

 

อารยา ป่านศรนารายณ์ (ARAYA)

ที่ตั้ง : 25 หมู่ 8 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

Website: ARAYA

 

Facebook: ARAYA

 

Instagram : ARAYA

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: ARAYA

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

 

ติดตามเรื่องราวของป่านศรนารายณ์ในรายการผจญไทย EP.4 ป่านศรนารายณ์

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง