People

ชวน ชลากรณ์ ปัญญาโฉม
คุยถึงคอนเทนต์ทีวี ค่ายเพลง และ 4EVE

ธวัชชัย ดีพัฒนา 27 Feb 2024
Views: 1,561

Summary

เอ่ยถึงผลงานของเวิร์คพอยท์หลายรายการ ล้วนอยู่ในสายตาความดูแลของเขาและทีม ทั้งนี้รายการ T-POP Stage และการสร้างสรรค์ศิลปินกับผลงานเพลงในนามค่าย XOXO โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดและเติบโตของ 4EVE ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรามีโอกาสชวนผู้บริหารผู้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ มานั่งคุยด้วยกัน…อย่างเข้มข้น

“ชีวิตทุกคนมีจุดเปลี่ยนของตัวเองด้วยกันทั้งนั้นครับ ถ้าวันนั้นผมไม่ได้รับสายโทรศัพท์จากพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ผมอาจไม่ได้มานั่งตรงนี้ก็ได้”

กร – ชลากรณ์ ปัญญาโฉม กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ และผู้บริหารค่าย XOXO ENTERTAINMENT เล่าถึงวันแรกที่เขาตัดสินใจเดินออกจากงานสายวิศวกร ที่ร่ำเรียนมาจาก “วิศวะ ลาดกระบัง” เพื่อเบนเข็มชีวิตเข้าสู่วงการบันเทิง ทั้้งที่ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย

เราชวนเขาคุยหลายเรื่องอย่างออกรส นับตั้งแต่เรื่องรายการโทรทัศน์ ผ่านไปที่เรื่องวงการเพลงไทย จนถึง “พื้นที่แห่งโอกาส” ต่างๆ สำหรับคนฝันเป็นศิลปิน แม้ว่าเราจะคุยครบแค่ “เกือบทุกบทบาทและผลงาน” ของเขา แต่แน่นอนว่า 4EVE…คืออีกหัวข้อพูดคุยที่ขาดไม่ได้

“สิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยรู้ คือรายการเพลงมันไปต่างประเทศได้ง่ายกว่ารายการประเภทอื่นๆ

ผมเชื่อว่านี่เป็นพลังของดนตรี มันสื่อสารเข้าใจง่ายกว่า และสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้จริงๆ”

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม
ผู้บริหาร XOXO ENTERTAINMENT

 

จะว่าไป ความเป็นไปของแต่ละบริษัท ก็ไม่ต่างจากชีวิตคนเท่าใดนัก ที่ในช่วงเวลาหนึ่งต้องเจอจุดเปลี่ยนแบบหนักๆ ที่ต้องทำให้คิดอย่างละเอียด และพาตัวเองไปให้รอด

วันนี้รายการของเวิร์คพอยท์ ในความดูแลของเขาเรียกว่า ก้าวข้ามผ่านโลกยุคอนาล็อกมาสู่ดิจิทัล ยังไม่ทันครบทศวรรษ แต่เขาก็สารภาพกับเราว่า “สิ่งที่บริษัทมีเดียต้องเผชิญในทุกวันนี้ คือเราจะอยู่แบบ  ทูเวิลด์อย่างไร?” เพราะวันแรกจากสถานีโทรทัศน์แบบอนาล็อกมาสู่ดิจิทัล ก็เจอคำถามมากมายว่าคนยังจะดูทีวีอยู่อีกหรือ? จนวันนี้…ที่เราต้องอยู่แบบสองโลกคือออนไลน์กับออฟไลน์ “คำถามเดิมนั้นยังคงอยู่ แต่ผมกลับคิดว่า เราจะอยู่กับมันอย่างไร? น่าจะถูกต้องกว่า”

ขอบคุณภาพจากคุณชลากรณ์

 

เป็นไปได้ด้วยพลังแห่งดนตรี

จากตอนที่เวิร์คพอยท์ต่อยอดการเป็น “มีเดีย” มาทำค่ายเพลงด้วยนั้น มีที่มาและความคิดเบื้องหลังน่าสนใจไม่น้อย “ตอนนั้นตั้งคำถามว่าสตาร์โพรดักต์ของเรามีอะไรบ้าง ผลงานของเรามีรายการที่เกี่ยวกับเพลงและรายการที่มีตลก ปังทุกรายการครับ แต่เรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่ง คือรายการส่วนที่เกี่ยวกับเพลงจำนวนมากมายของเรา มีทั้งประสบความสำเร็จมากๆ จนถึงระดับกลางๆ การที่เราต้องใช้เพลงของคนอื่นๆ ทั้งหมด ทำให้เราต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในแต่ละปีจำนวนเยอะมากนะ มันทำให้เราต้องมองไปไกลกว่านั้น

 

คัดเลือกศิลปิน
ส่วนหนึ่งใช้สัญชาตญาณบอกเมื่อเราได้เห็นเขา

 

อย่างตอนที่คิดรายการ T-POP STAGE เรามองเห็นอะไรบางอย่างว่ามันจะดีกับอุตสาหกรรมเพลงของประเทศ และอาจจะดีกับเราเองด้วยในระยะยาว คือพอเราทำสถานีเสร็จ แพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มมาพอดี แล้วเป็นช่วงที่เราไปต่างประเทศบ่อย ซึ่งทุกครั้งที่ไปก็จะมีคนมาทักเรา ถามถึงรายการเพลงที่ทำ สิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยรู้ก็คือรายการเพลงมันไปต่างประเทศได้ง่ายกว่ารายการประเภทอื่นๆ  มันไม่ต้องมี dubbing ไม่ต้องมีซับไตเติ้ล เราคิดว่าถ้ามีรายการเพลงที่เป็นรายการเพลงเลยจริงๆ มันอาจง่ายในการพาเพลงไทย หรือแม้กระทั่งพาวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไปต่างประเทศ ผมเชื่อว่านี่เป็นพลังของดนตรี มันสื่อสารเข้าใจง่ายกว่า และสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้ง่ายจริงๆ

และเนื่องจากผมเป็นคนทำข้อมูลเยอะ อย่างปีที่ผ่านมา 365 วัน ถ้าไม่นับรวมเพลงลูกทุ่ง มีเพลงใหม่ 3,800 กว่าเพลง ถ้ารวมลูกทุ่งจะทะลุ 5,000 และมีเซ็กเมนต์มากทีเดียว  ส่วนเพลงที่จะฮิตขึ้นมาเลยในแต่ละปีจะอยู่ที่ 100 กว่าเพลงเท่านั้น แสดงว่าอุตสาหกรรมเพลงของเรามันใหญ่มาก โตมาก แต่แข็งแรงเหมือนต่างประเทศไหม…ต้องตั้งเป็นคำถามไว้

ปัญหาที่ตามมาคือทุกคนมีอินเทอร์เน็ต มี YouTube ของตัวเองในการปล่อยเพลง ทุกคนเลยมีพื้นที่ของตัวเอง ใครสนใจแนวไหนก็จะเจอแต่แนวนั้น ฉะนั้นถ้าแนวเพลงมันไม่ได้แมสมาก คนที่เข้าถึงก็จะน้อย”

ถึงเวลาเวิร์คพอยท์สร้างรายการเพลง

“สมัยก่อนมีรายการ ‘7 สีคอนเสิร์ต’ ‘โลกดนตรี’ ‘เวทีไทย’ แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมดเพราะไม่มีสปอนเซอร์ คนวัย Gen Z ก็กำลังโตขึ้นและเป็นผู้บริโภคกลุ่มหลัก เลยเกิดปัญหา ‘ไก่ กับ ไข่’ ตามมา คือรายการเพลงไม่อยู่ในทีวี เพราะเชื่อกันว่าวัยรุ่นไม่ดูทีวีแล้ว ซึ่งอาจจะถูกแค่ครึ่งหนึ่ง แต่พอไม่มีรายการ พวกเขาก็ไม่มีอะไรให้ดู เราก็เลยสรุปว่า เรามาทำพื้นที่แบบ 7 สีคอนเสิร์ตดีกว่า สร้างพื้นที่ใหม่ๆ กลายเป็น T-POP Stage ขึ้นมา แล้วพุ่งทาร์เกตไปที่ Gen Z เลย

แล้วถามว่า เราทำค่ายเพลงเลยใช่ไหม คือแต่ก่อนที่จะมาทำค่ายเพลง XOXO ในระนาบเดียวกันเราทำรายการประกวดชื่อ Girl Group Star มาก่อน ที่ผ่านมาเวลาเราทำรายการดนตรีอะไรก็ตาม พอได้ผู้ชนะแล้วยังไงต่อ เราก็ต้องส่งไปค่ายเพลง รายการอย่าง The Rapper ก็มีค่ายเพลง Yupp! มาจัดสรรไป เป็นต้น เลยเป็นจุดเริ่มต้นความคิดว่าเราทำค่ายเพลงเองดีกว่า ในแง่การตลาดและอีกหลายๆ อย่าง มันคุ้มครับ”

 

ความเก่งกับความพยายาม เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน
ที่จะช่วยให้ค่ายเพลง “ปั้นศิลปิน” ได้สำเร็จ

 

ก้าวสู่อีกโหมดของความท้าทาย

ย้อนกลับไปในวันที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต คุณกรยังเล่าต่อ “ที่บ้านผมก็กังวลนะ เพราะค่านิยมแบบเก่าของเราคือความมั่นคงในชีวิตต้องมาก่อน แต่มีคำแนะนำของรุ่นพี่ที่ลาดกระบังซึ่งผมทำงานที่บริษัทเขา บอกกับผมสั้นๆ ตอนนั้นว่า ‘ก็ไปลองดูนะ ถ้าไม่โอเคก็กลับมา’ ผมมาทำงานเวิร์คพอยท์โดยไม่ได้ถามพี่จิกเลยนะว่าต้องมาทำในตำแหน่งอะไร แต่ถ้าพูดไปคุณอาจจะไม่เชื่อว่าตำแหน่งแรกของผมคืองาน  รีเสิร์ชข้อมูล เวลาพี่จิกต้องการข้อมูลอะไรก็จะโยนมาว่าไปหาข้อมูลอันนี้หน่อย ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อมูล ข้อมูลที่เป็นไอเดีย ข้อมูลเพื่อความเป็นไปได้ หรือข้อมูลเพื่อมาทำบทต่างๆ แล้วตอนนั้นก็ได้ลองทำบทด้วย ส่วน ครีเอทีฟด้วย ทำหลายอย่าง แต่งานง่ายๆ เบสิกๆ นี้้ทำให้ผมได้เปิดโลกทัศน์มากนะ เพราะพอเราต้องทำงานที่ยากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น เราจะรู้วิธีการหาข้อมูล การจัดการกับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ”

อย่างตอนที่ได้รับโจทย์ว่า เวิร์คพอยท์จะทำดิจิทัลทีวี เขาต้องช่วยเซตอัปช่องเวิร์คพอยท์ 23 ที่ถือว่าเป็น “ของใหม่” สำหรับทุกคนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะต้องคิดคอนเทนต์ใหม่ วางผังรายการ รวมทั้ง     กลยุทธ์ทางการตลาดที่จะทำให้ดิจิทัลทีวีอยู่รอด

“จริงๆ ก่อนมาทำช่องทีวีของตัวเอง เราได้ซ้อมทำเคเบิลทีวีมาก่อนนะ จึงได้เห็นหลายๆ อย่าง คือตอนเราไม่มีช่อง ต้องไปเช่าเวลาของสถานีคนอื่น โจทย์คือ ‘เรามีความอยาก มีไอเดีย แต่ไม่มีเวลาออกอากาศ’ พอเรามีช่องเอง โจทย์เปลี่ยนเป็น ‘เรามีเวลาเต็มเลย แต่ไม่ใช่ว่าทุกไอเดียจะเหมาะมาทำ’   นั่นกลายเป็นความท้าทายอีกระดับ เพราะช่องของเราเองออกอากาศ 24 ชั่วโมง สิ่งที่ต้องคิดมันกว้างขึ้น ละเอียดขึ้น ยากขึ้น ผมต้องหาข้อมูลมากขึ้น ซึ่งไม่ง่ายเลยเพราะเราไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ไทย โชคดีที่เริ่มต้นจากงานข้อมูลมาก่อน เลยพอรู้ว่าควรศึกษาอะไรบ้าง

ผมว่าทำทีวียุคอนาล็อกว่ายากแล้ว ทำดิจิทัลทีวีก็ยากไปอีกแบบ ยุคอนาล็อกต้นทุนสูง ใช้คนเยอะ เครื่องไม้เครื่องมือแพง ดิจิทัลทีวีต้นทุนไม่สูงเท่ายุคนั้นแต่คู่แข่งเยอะมาก ไหนจะต้องมาเจอแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องทำคู่ขนานไปด้วย งานก็เพิ่มขึ้น จะถ่ายรายการทีหนึ่งก็ต้องถ่ายคลิปเตรียมไว้ลง TikTok, YouTube ด้วย

ยากที่สุดไม่ใช่เรื่องคอนเทนต์นะครับ แต่เป็นการจัดผังรายการ เราต้องใส่ซิกเนเจอร์ของเวิร์คพอยท์ไปให้ครบ โดยเฉพาะรายการที่เป็นสตาร์โพรดักต์ของเรา นั่นอาจเป็นความโชคดีของผมก็ได้นะที่เอาตัวรอดมาได้ ทำให้เวิร์คพอยท์เป็นดิจิทัลทีวีเพียงไม่กี่ช่องที่ไม่เคยขาดทุนตั้งแต่ปีแรก”

 

“การใช้ข้อมูล” สำคัญมากในการทำคอนเทนต์

 

ส่งต่อ “โอกาส” ผ่านเวทีประกวดดนตรี

“ความที่คุ้นเคยกันดีกับ คิง เพาเวอร์ เพราะเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ใช้โรงละครอักษราทำคอนเสิร์ต ‘คุณพระช่วย’ พอรู้เรื่องโครงการประกวด THE POWER BAND เราเองก็ชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าเรื่องของการสนับสนุนวงการเพลงเป็นดีเอ็นเอของเราด้วย แม้การประกวดเริ่มเมื่อช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เขาก็สู้ไม่ถอยจนมาถึงการประกวดในปีต่อๆ มา ซึ่งมันคลิกกับเรามาก ทางเวิร์คพอยท์ก็สนับสนุนเต็มที่ตั้งแต่ช่องทางมีเดียของเราหรืออนุญาตให้นำเพลงของเราไปใช้ได้เลย โดยมี 4EVE ศิลปินของเราไปร่วมโชว์ในหลายๆ เวทีประกวดทั่วประเทศด้วย อ่านเรื่อง 4EVE 

THE POWER BAND เป็นโครงการประกวดดนตรีที่ให้โอกาสผู้คนที่จะมีโอกาสเป็นศิลปินได้ในอนาคต สิ่งหนึ่งที่ทาง XOXO ให้ได้ คงเป็นการที่ 4EVE คือตัวอย่างหนึ่งของคนที่ผ่านการประกวดมา ส่วนสิ่งที่ค่ายได้รับกลับไปก็คือการที่ 4EVE ไปร่วมงานแบบนี้แล้วเขาได้เห็นว่าเมื่อก่อนตัวเขาเองก็เป็นแบบนี้แหละ ความรู้สึกนี้สำหรับผมเห็นว่ามันมีความสำคัญสำหรับศิลปินนะ ถ้าฟิลลิ่งนี้มันยังมีอยู่ ก็จะทำให้เรายังต้องพยายามขึ้นอีกแบบไม่ burn out เพราะเห็นวงรุ่นน้องๆ ยังขยันตั้งใจเหมือนเราเมื่อก่อนเลย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะยังไปต่อได้ แม้จะเติบโตมากแล้วในวันนี้ ผมเองเพิ่งมารู้สึกชัดมาว่า 4EVE โตขึ้นเมื่อคอนเสิร์ตใหญ่ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง (4EVE Concert: Now Or Never) ทั้งในเรื่องของการเตรียมขึ้นแสดงงานลักษณะต่างๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยที่ไม่ต้องคอยให้คนช่วยจัดการ หรือการดูแลผู้คนรอบตัวและทีมงานของพวกเขา ทั้งเวลาที่พร้อมหรือเวลาที่สิ่งรอบข้างอาจไม่ได้เอื้อให้นักก็ตาม

ขอบคุณภาพจากคุณชลากรณ์

4EVE เองก็เคยเป็นผู้ประกวดดนตรีมาก่อน แม้รูปแบบเวทีประกวดอาจต่างไป แต่โดยสตอรีแล้วพวกเขามาจากการประกวด จึงแมตช์มากกับเด็กๆ หรือคนที่สนใจ ผู้มองเห็นโอกาสว่ามันมีอยู่แล้วคุณใช้โอกาสนั้นให้มันเต็มที่…เต็มแรง คุณอาจจะ “โชคดี” ก็ได้ เหมือนอย่างเพลงที่ 4EVE กับ INK ทำด้วยกันนั่นละ

Lucky You เป็นเพลงที่สนุกดีและเหมาะกับโครงการ ท่าเต้นอาจยากนิดหนึ่ง (หัวเราะ) แต่เนื้อหาเพลงพูดถึงการมีโชคดีมันต้องพยายามและมานะ คุณถึงจะเป็นคนโชคดีได้

ตอนที่ผมได้ไปดูคอนเสิร์ตพิเศษของพี่ตูนที่โรงละครอักษราฯ (คอนเสิร์ต  บอดี้สแลม “พูดในใจ” THE B SIDE CONCERT) แล้วเห็นว่ามีน้องๆ ที่ได้รางวัลจากการประกวดขึ้นไปร่วมโชว์ด้วย อ่านเรื่องเด็กเก่งจาก The Power Band โอ้โห ผมสัมผัสได้ถึงศักยภาพบางอย่างในตัวเด็กๆ มันเป็นโอกาสที่ดีของพวกเขา และคิดว่าการประกวดซีซันใหม่นี้จะประสบความสำเร็จมากกว่าซีซันที่ผ่านมาครับ เชื่อเถอะพลังแห่งดนตรีมันผลักดันทุกอย่างได้จริงๆ”

 

“สำเร็จ” ในแบบของชลากรณ์ ปัญญาโฉม
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“การใช้ข้อมูล” มีความสำคัญมากในการทำคอนเทนต์และสิ่งต่างๆ

คัดเลือกศิลปิน ส่วนหนึ่งใช้สัญชาตญาณบอกเมื่อเราได้เห็นเขา

ความเก่งกับความพยายามของศิลปิน เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน ที่จะช่วยให้ค่ายเพลง “ปั้นศิลปิน” ได้สำเร็จ

 

ชวนฟังเพลงซิงเกิลใหม่ล่าสุด Lucky You l INK WARUNTORN X 4EVE 

Author

ธวัชชัย ดีพัฒนา

Author

อดีตบรรณาธิการนิตยสาร attitude ฉบับภาษาไทย ปัจจุบันผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ เพื่อให้เหลือเวลาในชีวิตดูซีรีส์วายและอ่านนิยายที่ซื้อไว้หลายสิบเล่ม แต่ยังอ่านไม่จบสักที

Author

วรัญชัย ประกอบวรรณกิจ

Photographer

ช่างภาพที่ชอบกิน ชอบเที่ยว และรักครอบครัว จนเพื่อนๆ เรียกว่า #พ่อบ้านแสนรู้