People

นิธี สุธรรมรักษ์ ปักความหวังกับกำลังใจ
บนผืนผ้าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

ภิรญา นริศชาติ 3 Jun 2024
Views: 701

Summary

“ป้านิ” Working Woman วัย 64 ด้วยนิสัยชอบสอนและชอบช่วยเหลือ ได้นำพาป้านิมาสู่วงการปักผ้าและเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มผ้าปักบ้านสันกอง เชียงราย โดยมีผลงานล่าสุดคือ การทำงานร่วมกับศิลปินชาวบังคลาเทศและผู้ต้องขัง ในงาน ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023

นิธี สุธรรมรักษ์ หรือ “ป้านิ” แห่งแบรนด์นิธี เป็นหญิงชาวเชียงรายที่ความตั้งใจ “กลับบ้าน” ของเธอทำให้เกิดการสืบสานผ้าปักในรูปแบบเฉพาะของกลุ่มปักผ้าที่บ้านสันกอง

ความภูมิใจสูงสุดของเธอคือได้เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ผ้าปักที่เคยถวายการสอนแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ได้นำไปจัดใส่กรอบเก็บไว้อย่างดี สิ่งดีๆ ที่เธอทำและผลงานของนิธี คือตัวอย่างสำหรับการ “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังคนไทย” อย่างแท้จริง

“เศรษฐกิจโลกทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด โควิดทำให้โลกปรับสมดุลขึ้น

คนตกงานคือคนขี้เกียจ คนขยันไม่เคยตกงาน”

นิธี สุธรรมรักษ์
ประธานกลุ่มผ้าปักบ้านสันกอง เชียงราย

 

ชีวิตที่เกี่ยวพันกับด้ายและเข็ม

หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ของอเมริกา โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นที่ป้านิทำอยู่ก็ได้ปิดสาขาลง พนักงานที่สมัครใจอยู่ต่อถูกย้ายไปทำงานที่สาขาพุทธมลฑล ส่วนป้านิตัดสินใจมองหาอาชีพใหม่ในละแวกบ้านตัวเองที่ไม่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจโลก

ป้านิเล่าย้อนไปในวันที่เริ่มผูกพันกับเส้นด้ายและงานปักว่า แม่ของเธอรับจ้างเย็บเสื้อ ถักเสื้อไหมพรม และปักผ้า หน้าที่ของป้านิคือ ช่วยแม่สอยเสื้อและปักชื่อบนเสื้อนักเรียนทุกเย็นหลังเลิกเรียนตั้งแต่ประถม ทุกอาทิตย์ป้านิต้องนั่งรถเมล์ไปซื้อด้ายกับไหมพรมที่แม่สาย ข้ามไปเที่ยวฝั่งพม่าแล้วกลับบ้าน ทำแบบนั้นจนย้ายไปเรียนมัธยม และเรียนต่อด้านบริหารการเงินในระดับอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ที่นั่นป้านิรับจ้างทำงานทุกอย่าง เพราะฐานะการเงินไม่ค่อยดีจนเรียนจบ โชคดีที่บริษัทสุดท้ายที่ทำอยู่เปิดสาขาที่เชียงราย เธอจึงได้ย้ายมาทำงานใกล้บ้าน

“เราเป็นผู้จัดการ ถ้าไม่รู้เรื่องอะไรเลย จะสั่งคนงานไม่ได้ ป้าเลยขอไปฝึกงานทุกครั้งที่มีเครื่องหรือชิ้นส่วนอะไรมาใหม่ เราจะได้รู้กรรมวิธีทุกขั้นตอน สิ่งที่ได้มาจากที่นั่นคือ ความละเอียด กฎระเบียบ ทุกอย่างต้องเป๊ะ”

หลังจากที่ป้านิออกจากงาน ได้ตระเวนลองทำหลายอย่าง จนวนมาที่งานปักผ้าซึ่งทำมาตั้งแต่เด็ก บ้านทุกหลังยังคงทำงานปักอยู่ พอได้คุยกับคนปักผ้า ด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ อดไม่ได้ที่จะแนะนำวิธีปักให้สวยด้วยโทนสีและวิธีปักให้เร็วขึ้นเพื่อให้ได้ราคาดีขึ้นด้วย ไม่นานคนที่ถูกสอนก็เอาผ้าที่ปักกลับมาขายให้ป้านิ ด้วยเหตุผลว่า “ป้านิสอน ป้านิก็ต้องรับซื้อ”

“ตอนแรกไม่คิดอะไร รับซื้อไว้หมดเพราะราคาไม่แพง แต่ของเริ่มเยอะขึ้นและเราก็ยังไม่มีงานทำ จึงตัดสินใจขนผ้าปักที่มี ไปปูเสื่อวางขายแบกะดินข้างร้านของน้องชายที่ไนท์บาร์ซาร์ เชียงราย นักท่องเที่ยวเห็นก็พากันมาซื้อเพราะมีให้เลือกมากกว่าร้านอื่น ขายได้ก็ภูมิใจมาก” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้ง “กลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกอง” ในเวลาต่อมา

 

✔สอนสิ่งที่ไม่มีในตำรา

เพื่อสืบสานงานฝีมือปักผ้าแบบทิ้งถิ่นเอาไว้

ทุกอย่าง…สวยเสมอ

การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มมีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ ต้องมาเรียนปักผ้ากับป้านิก่อน และต้องทำตามสิ่งที่เธอระบุถึงจะรับงานไปทำได้ โดยค่าตอบแทนจะได้ตามความสวยงามและราคาสูงกว่าที่ตลาดรับซื้อ การบอกต่อกันทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีเวลามาก ช่วยให้เขามีสังคม ได้พูดคุยกันระหว่างปักผ้า ผ่อนคลาย และเกิดความภูมิใจว่าเขายังสามารถมีรายได้แบ่งเบาภาระลูกหลานได้บ้าง

“สิ่งที่ป้าสอนก็คือ วิธีปัก ทำอย่างไรไม่ให้ผิด ทำอย่างไรให้ปักสวย สิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในตำรา อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ตาไม่ดี มองไม่เห็น ให้ใช้จินตนาการ ใช้ใจ ปักสวยไม่สวยนั้นอยู่ที่มุมมองของคน ร้อยคนก็ร้อยแบบ ทุกอย่างถูกเสมอไม่มีผิด”

ลาย “เม็ดข้าว” คือลายปักผ้าที่ทำให้คนรู้จักป้านิมากขึ้น เธอเล่าว่า แต่ก่อนจะปักแต่ลายดั้งเดิมและลายชนเผ่า พอเข้าโครงการอบรม อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการให้ลองปักลายอื่นที่ไม่เคยทำ เธอจึงปักลายเส้น เดินเส้นโค้ง ด้นถอยหลัง ลายสะเปะสะปะ อาจารย์กลับถูกใจบอกให้ลองคิดต่อยอด แล้วทำเป็นกระเป๋าไปขาย ตอนแรกป้านิไม่เชื่อเพราะคิดว่าไม่สวย แต่กลายเป็นที่ต้องการและลูกค้าถามหากันมาก หลังจากนั้นก็พัฒนาลายเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว วิถีชีวิต เพิ่มเติมเรื่อยๆ

 

“ป้านิ” แนะแหล่งช็อปวัตถุดิบงานเย็บปักถักร้อยในภาคเหนือ

• เชียงใหม่: ร้านจินเฮงฮวด, ร้านฝ้ายทอง และเกือบทุกร้านที่ตรอกเล่าโจ๊ว ตลาดวโรรส

• บ้านสิ่งทอ เชียงใหม่ มีผ้าและด้าย สามารถสั่งทำได้

• เชียงราย: ร้านสหสิน, ร้านกฤษณาในตลาด อ.แม่จัน

 

ทำในสิ่งที่เคยปฏิเสธ ให้เป็นไปได้

ผ้าปักของกลุ่มป้านิสวยถูกใจจนห้างต่างๆ ติดต่อให้ไปขาย แต่เธอไม่เคยสนใจจะส่งไป เพราะป้านิทำงานกับชุมชน รู้สึกเห็นใจเขา การขายในห้างต้องโดนหักค่า GP และใช้เวลานานกว่าจะได้เงิน เธอจึงเลือกขายเฉพาะในโครงการ OTOP เท่านั้น เช่นเดียวกันกับของ คิง เพาเวอร์ แต่แรกป้านิเงียบเฉย ไม่ยอมส่งผลงานไปให้ จนไม่สามารถจะหลบเลี่ยงได้แล้ว จึงต้องยกของทั้งหมดที่มีในวันนั้นเอาไปที่ คิง เพาเวอร์ แต่กลับได้รับอะไรมากกว่าการเอาสินค้าไปให้ขาย…คือองค์ความรู้ในการทำการค้าให้เป็นระบบ ซึ่งมีประโยชน์มาก

“คิง เพาเวอร์ สอนทำตั้งแต่ใบสั่งซื้อ ใบส่งสินค้า ใบเสนอราคา ตอนนั้นคิดว่ากว่าจะได้เงินคงนานมาก ปรากฏว่าเขาส่งเงินค่าของกลับมาหมดเลยอย่างรวดเร็ว ป้าถามเขาว่าซื้อหมดเลยเหรอ เขาบอกว่าซื้อหมดนะสิ มีอีกไหม ให้ส่งมาอีกนะ”

ป้านิเล่าความประทับใจในวันที่ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เปิดสาขารางน้ำ ว่าเธอได้รับเชิญให้ไปสาธิตปักผ้าที่โซน OTOP โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังได้รับการดูแลค่าเดินทางและที่พัก “เป็นห้างอื่นไม่มีหรอก ตั้งแต่นั้นมา เขาสั่งอะไร ป้าก็ส่งให้ทันที เขาไม่เคยกดดันเร่งงาน เพราะเข้าใจว่าเราทำงานฝีมือ”

ตอนนี้ป้านิกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ พาสินค้าของกลุ่มฯ ไปเฉิดฉายในอีกหลายแห่ง แถมยังสอนชาวบ้านเกี่ยวกับองค์ความรู้ในการช่วยขายเหล่านี้อีกด้วย

 

ปักผ้ามีประโยชน์

• ฝึกสมาธิและจิตให้แน่วแน่ ไม่วอกแวก

• คลายเครียด โดยเฉพาะผู้ต้องขัง ช่วยให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน

• ความภูมิใจ

• สืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน

ใครๆ ก็ปักผ้าได้

จากการปักผ้าสู่การเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องผ้าปัก เคยมีโอกาสสอนวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง เธอบอกว่าปีแรกที่ไปแล้วรู้สึกกลัวเพราะแต่ละคนสักยันต์ทั้งตัว สอนให้เริ่มตั้งแต่พื้นฐาน การใช้เข็ม การใส่ด้าย และวิธีปัก จนปีนี้เข้าปีที่ 8 แล้ว ไม่มีใครไม่รู้จักป้านิ กลายเป็นความคุ้นเคย เป็นกันเองกับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังชายแดน 3 เรือนจำกลางเชียงราย จนมีส่วนจัดตั้ง “กองงานผ้าปัก” ห้องปักผ้าสำหรับให้ผู้ต้องขังฝึกฝนอาชีพและหารายได้ในระหว่างที่อยู่ที่นั่น

ในความเห็นของป้านิ ผลงานของผู้หญิงจะอยู่ในกรอบแบบแผนที่สอนไป ส่วนผู้ชายความคิดสร้างสรรค์ดีกว่า เขาจะต่อยอดแสดงไอเดียออกมาและได้งานเยอะกว่าด้วย คนกลุ่มนี้นับเป็นหนึ่งในกำลังผลิตที่สำคัญของกลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกองอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ศิลปะบนผืนผ้าสู่สายตาระดับนานาชาติ

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 คือมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ จัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินทั่วโลกในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย งานนี้ป้านิได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ ตาเยบา เบกัม ลิปี (Tayeba Begum Lipi) ศิลปินหญิงชาวบังกลาเทศ ผลงาน “In The Same Vein” ได้แรงบันดาลใจมาจากความประทับใจเมืองเชียงรายของศิลปินและมองเห็นทุกอย่างที่เคลื่อนที่ด้วยล้อ ผนวกกับลายเส้นสถาปัตยกรรมของไทยเป็นพื้นหลัง ผ้าผืนยาว 13 เมตรถูกตัดซอยเป็น 10 ชิ้นเพื่อง่ายแก่การทำงาน ต้นฉบับถูกส่งมาขนาดเล็กมาก ป้านิต้องหาวิธีขยายเพื่อดูสีด้ายและรายละเอียด ระยะเวลา 3 เดือนกับความทุ่มเทปักผ้าของเธอและกลุ่มผู้ต้องขังชายเกือบ 30 ชีวิตผ่านไปด้วยดี เธอบอกว่าภูมิใจ เราได้ชื่อเสียง ส่วนเงินก็ส่งให้เหล่าผู้ต้องขังพร้อมกับเลี้ยงลาบทั้งเรือนจำ

งานนิทรรศการ “แดน 3: โฉมหน้าและพันธนาการ” คือ งานจัดแสดงผ้าปักภาพหน้าคนและหัวกะโหลกนับร้อยผืน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างป้านิและผู้ต้องขังชายแดน 3 เรือนจำกลางเชียงราย ไอเดียต่อยอดมาจากงานปักหัวกะโหลกที่ได้รับจากอาจารย์บัญชา ชูดวง สไตลิสต์ และผู้ต้องขังใช้เข็มถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในใจปักเป็นภาพตัวเองและเพื่อนรอบข้างออกมาได้สวยงามไม่เหมือนใคร

 

✔มีความรู้ต้องถ่ายทอดให้คนอื่น ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ

 

ปัจจุบันบ้านของป้านิ มีสินค้าของกลุ่มผ้าปักบ้านสันกองจำหน่ายแล้ว ยังเป็นศูนย์ฝึกอาชีพและศูนย์เรียนรู้ชุมชนอีกด้วย อนาคตสำหรับป้านิ คือการทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ และส่งต่อความรู้ภูมิปัญญาที่มีไปยังคนอื่นให้ได้มากที่สุด  “ป้าสอนแบบไม่กั๊ก สอนที่ไม่มีในตำรา ยิ่งช่วยเขา เรายิ่งมีคุณค่า เป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้

 

กลุ่มผ้าปักบ้านสันกอง (ผ้าปักแบรนด์นิธี NITREE)

ที่ตั้ง: 109 ม.2 ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย 57240

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: NITREE

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

 

สิ่งดีๆ มีสอนให้ จาก “ป้านิ” นิธีผ้าปัก

✔สอนสิ่งที่ไม่มีในตำรา เพื่อสืบสานงานฝีมือปักผ้าแบบทิ้งถิ่นเอาไว้

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้และการตกผลึกความคิดบนเส้นทางการปักผ้าของ นิธี สุธรรมรักษ์

✔คนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความอดทนและตั้งใจทำสิ่งนั้นอย่างจริงจัง

✔คนมีความรู้ต้องถ่ายทอดให้คนอื่น ยิ่งให้จะยิ่งได้รับ

✔คนโกง คนเลียนแบบงาน เราอยากได้เงิน เขาก็อยากได้เงิน “เวรกรรมมันมีนะ ชาตินี้ยังใช้หนี้ไม่พอ ยังจะชาติหน้าอีก”

สนุกไปกับรายการ ผจญไทย EP.32 นิธีผ้าปักบ้านสันกอง

Author

ภิรญา นริศชาติ

Author

นักเขียนอิสระที่โตมากับนวนิยายของแก้วเก้า ยังคงจดบันทึกลงสมุด และทำงานกล่องดนตรีที่รัก เพราะเชื่อว่าแรงบันดาลใจสำคัญพอๆ กับจินตนาการ

Author

ภูมิ นริศชาติ

Photographer

อดีตรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตที่จับกล้องมากกว่าจับปากกา เป็นช่างภาพอิสระตั้งแต่ยุคฟิล์มและแมกกาซีนรุ่งเรืองในขีดสุด