People

ดร.เลิศฤทธิ์ เรือนละหงษ์
ฟุตบอลเพื่อการพัฒนา…เพราะฟุตบอลเป็นมากกว่ากีฬา

เพ็ญแข สร้อยทอง 27 Dec 2022
Views: 716

ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่เกมแต่เป็นมากกว่ากีฬา ฟุตบอลให้มากกว่าความบันเทิงหรือแค่ฆ่าเวลา แต่สำหรับใครหลายคน ฟุตบอล คือความหวัง แรงบันดาลใจ บทเรียนชีวิต ฯลฯ 

ฟุตบอลสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง สามารถเชื่อมต่อผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชน และเพราะฟุตบอลทำให้โรงเรียนหนึ่งผ่านพ้นวิกฤต โดยจุดเริ่มต้นมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียน

ดร.เลิศฤทธิ์ เรือนละหงษ์ อดีตผู้บริหารโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม จังหวัดแพร่ เล่าย้อนถึงเมื่อครั้งที่เพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนระดับมัธยมขนาดเล็กแห่งนี้ว่า

“ในปี 2557 เปรียบโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคมกำลังเข้าห้องไอซียู” ด้วยจำนวนนักเรียนน้อยลงทุกๆ ปี จากสถานการณ์อัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ปกครองบางส่วนนิยมส่งลูกหลานไปโรงเรียนใหญ่ไกลบ้าน ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนั้นต่อไป สุดท้ายโรงเรียนอาจถูกยุบ

“เด็กๆ มาอยู่กับเรา ต้องสอนให้เขาพัฒนาตัวเอง ดูแลตัวเอง อยู่ในสังคมได้
เด็กๆ จะหายไปจากยาเสพติด จากโซเชียลมีเดีย มีสมาธิในการพัฒนาตนเอง
ถ้าเขามีศักยภาพ…จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้”

ดร.เลิศฤทธิ์ เรือนละหงษ์
อดีตผู้บริหารโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม จ.แพร่

 

ผู้อำนวยการคนใหม่ในเวลานั้นซึ่งเคยเป็น “ครูเก่า” อยู่ที่นี่มาเกือบ 20 ปี ทั้งยังอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียงได้นำวิธีคิดและการทำงานของผู้อำนวยการคนก่อนๆ มาประมวล และมองเห็นว่าฟุตบอลอาจมาเป็นตัวช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ฟุตบอลเป็นแม่เหล็กดึงนักเรียนที่สนใจเข้ามา ทางโรงเรียนจึงได้ประสานงานกับทั้งสมาคมกีฬาจังหวัดแพร่ และทีมฟุตบอลอาชีพประจำจังหวัด “แพร่ยูไนเต็ด” จนโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคมได้กลายเป็น “อะคาเดมี่” หรือสถาบันฝึกสอนฟุตบอลเยาวชนแพร่ยูไนเต็ด

 

ทำรร.ท่าข้ามวิทยาคม ให้เป็น “อะคาเดมี่”

นั่นทำให้สมาชิกอะคาเดมี่เดิมราว 20 คนและผู้ฝึกสอน 1 คนย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม ซึ่งตอนนั้นมีนักเรียนอยู่ราว 60 คน “เราทำตามรูปแบบของอะคาเดมี่ทุกอย่าง ส่งโค้ชไปฝึกอบรม แล้วกลับมาทำตาม ทั้งเรื่องการซ้อม ระเบียบวินัย เสื้อผ้า เพื่อให้เป็นมาตรฐาน”

เมื่อทีมพร้อมก็ถูกส่งลงแข่งขันในสนามต่างๆ ทั้งในนามโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม แพร่ยูไนเต็ด    อะคาเดมี่ และตัวแทนจังหวัดแพร่ในนามสมาคมกีฬาจังหวัดแพร่ “เราลงแข่งในงานของกรมพลศึกษา งานของ คิง เพาเวอร์ งานฟุตบอล 7 สี ลีกเยาวชนแห่งชาติ ฯลฯ เราเป็นทีมเล็กแต่สามารถที่จะต่อกรกับมหาอำนาจลูกหนังขาสั้นได้แบบสมศักดิ์ศรี”

ทีมฟุตบอลของโรงเรียนสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีผลทำให้ในปีการศึกษาต่อมามีคนสนใจสมัครมาเรียนเพิ่มมากขึ้น “มีผู้ปกครองติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มมีคัดเลือก เด็กส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เราดูแลเด็ก 24 ชั่วโมง เด็กพักที่โรงเรียน โดยแยกเป็นรุ่นระดับชั้น ในปีที่ผมย้าย (พ.ศ.2564) มีนักเรียนเกือบ 300 คน มีเด็กไป-กลับที่ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอยู่ 20-30 คน ที่เหลือเป็นนักฟุตบอลทั้งหมด”

ฟุตบอลไม่เพียงช่วยเพิ่มจำนวนนักเรียนได้ แต่ยังช่วยพัฒนาศักยภาพนักเรียน บุคลากร รวมทั้งพัฒนาโรงเรียนในด้านอื่นๆ ทั้งทางตรงและอ้อม

 

✔ มอบโอกาสสู่ชีวิตเยาวชนด้วยกีฬา

นำฟุตบอล มาเปลี่ยนชีวิต เด็กนักเรียน

ภายใต้ “โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศทางด้านกีฬาฟุตบอล” ทางโรงเรียนได้ปรับและเปลี่ยนหลายด้าน รวมถึงแผนการเรียนเพื่อให้สอดคล้องส่งเสริมกัน

“เราไม่ได้เป็นโรงเรียนกีฬา เรื่องการเรียนก็ต้องปรับให้เข้ากับเด็กที่อาจจะไม่ได้เก่งด้านวิชาการ ปรับหลักสูตรต่างๆ ให้เข้ากับตัวเด็ก มีการยืดหยุ่นเรื่องของการสอน ช่วงไหนไปแข่งขันต่างจังหวัดก็ต้องมีการซ่อมเสริมให้ด้วย กลับมาก็ต้องติดตามดูแลเรื่องเวลาเรียนต่างๆ

“ทางโรงเรียนเปิดแผนวิทย์-คณิตเพื่อให้นักเรียนซึ่งเป็นนักกีฬาสามารถเข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ เรามีครูเพิ่ม เป็นครูในสาขาที่เราไม่มีหรือขาดแคลน ครูรุ่นใหม่ๆ ก็จะเริ่มเข้ามารับรู้เรื่องการคัดเลือกเด็ก การดูแลเด็ก”

โรงเรียนท่าข้ามวิทยาคมได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนที่มีความสามารถทางด้านฟุตบอลได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

“นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน เขาก็จะมีความคุ้นเคย
ทีมเวิร์กก็จะดีเวลาร่วมแข่งขันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ถ้าเขามีศักยภาพ เก่งวิชาการด้วย เก่งฟุตบอลด้วยก็ยิ่งไปไกล โครงการนี้สร้างโอกาสให้หลายๆ ฝ่าย โอกาสหนึ่งก็คือทำให้เด็กๆ มีอนาคต บางคนเรียนหนังสือไม่เก่ง อยากทำงานก็เข้าไปอยู่กับทีมฟุตบอลอาชีพ เขาก็มีเงินเดือนเลี้ยงดูครอบครัว”

ดร.เลิศฤทธิ์ ได้พยายามสื่อสารเรื่องราวของโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคมออกไปสู่ภายนอก เพื่อเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนซึ่งประสบปัญหาใกล้เคียงกัน

 

✔ วางแผน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบเป็นรูปธรรม

 

ปัจจุบันในฐานะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ จังหวัดแพร่ ดร.เลิศฤทธิ์ได้นำแนวไปใช้กับโรงเรียนนี้ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 60 ปี เคยมีนักเรียนสูงสุดถึง 3,000 คน ก่อนที่ช่วงหลังจะลดลงมาเหลือราว 800 คน

“โครงการที่ท่าข้ามวิทยาคมสำเร็จก็น่าจะมาต่อยอดที่สูงเม่นชนูปถัมภ์ เพื่อเป็นทางเลือกได้ขยายห้องเรียนเพิ่มเป็นห้องเรียนกีฬา และใช้คำว่า โครงการพัฒนาศักยภาพสู่ความเป็นเลิศ ถ้าเด็กเก่งทางด้านวิชาการก็ส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ถ้าเด็กสนใจเรื่องทักษะอาชีพ ก็ส่งเสริมเรื่องทักษะอาชีพ เด็กที่มีความสนใจทางด้านกีฬาก็แตกแขนงไปเป็นกีฬาชนิดต่างๆ ที่นี่มีความพร้อมมากกว่าโรงเรียนเดิมทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้น ในภาคปีการศึกษาที่ผ่านมา มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 คน”

 

✔ มองภาพกว้าง…มอบการพัฒนาให้เด็กนักเรียน

 

สโมสรแพร่เอฟซี ต้องเกิด ต้องพัฒนาและเติบโต

นอกเหนือจากช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมฟุตบอลโรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ ดร.เลิศฤทธิ์ยังได้ตั้งสโมสรแพร่เอฟซีขึ้นมาเพื่อเป็นสโมสรรองรับเด็กๆ จากทั่วประเทศที่มีความฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ รวมทั้งสร้างสูงเม่นเอฟซีอะคาเดมี่เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ด้วย

จากประสบการณ์ในการพัฒนาโรงเรียนโดยมีกีฬาฟุตบอลเป็นเสมือนเครื่องมือ ดร.เลิศฤทธิ์ พบว่า อุปสรรคปัญหาใหญ่ คืองบประมาณ

“เราเป็นโรงเรียนรัฐบาล ไม่ได้เก็บค่าเทอม มีงบประมาณจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ประมาณเดือนละ 30,000-40,000 บาท เงินอุดหนุนที่ได้จากรัฐบาลก็นำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และขออนุเคราะห์จากผู้ปกครองให้ช่วยเหลือ เทอมละ 3,000 บาท เป็นค่าซักรีด ค่าจ้างโค้ช และสนับสนุนการแข่งขันในกรณีไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้

“เวลาเข้าร่วมการแข่งขันต้องใช้งบประมาณมาก ตั้งแต่ค่าสมัคร ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ปีหนึ่งมีการแข่งขันหลายครั้ง ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนก็จะทำให้การพัฒนาติดขัด”

 

✔ วิเคราะห์อุปสรรคให้พบ เพื่อแก้ไขปัญหา

 

อีกอุปสรรคปัญหา คือเรื่องของบุคลากร “ที่มีใจรักและเสียสละ” รวมทั้งการขาดการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน “เช่น องค์กรจัดการแข่งขันกีฬาอยู่คนละหน่วยงาน บางทีกรุงเทพฯกับแพร่ก็จัดแข่งพร้อมกัน ทำให้ลำบากในการบริหารจัดการเวลา เด็กๆ ต้องเรียนหนังสือ ต้องฝึกซ้อม ต้องแข่งขัน”

ความคาดหวังของ ดร.เลิศฤทธิ์ คือได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น “ควรจะมีเงินกองทุนพัฒนาเยาวชนเรื่องของกีฬามาอุดหนุน” รวมทั้งสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาบุคลากรการกีฬาที่จำเป็น “การอบรมเพื่อฝึกสอนระดับเยาวชน ไม่ใช่ว่าใครก็มาทำได้ เราก็ต้องส่งโค้ชไปฝึกอบรม แต่ปัญหาก็คือ
ทุกรายการมีค่าใช้จ่าย ถ้าเราไม่มีงบประมาณสนับสนุนตรงนี้ทำให้โค้ชขาดโอกาส ไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง”

 

มองกีฬาให้เป็นเรื่องส่งต่อถึงการเรียนและชีวิต

ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้รับแรงสนับสนุนจากเอกชนอยู่บ้าง ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม ดร.เลิศฤทธิ์ ได้ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนก่อสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานระดับสากล ผ่านโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทยจากการสนับสนุนของ
คิง เพาเวอร์ โครงการพัฒนาเด็กนักเรียนและเยาวชนจากกีฬา จึงไปต่อได้อย่างมั่นคงและมีมาตรฐาน

“โรงเรียนใหญ่ๆ เขาสามารถดูแลตัวเองได้ แต่โรงเรียนเล็กๆ ไม่สามารถจะดูแลตัวเองได้ แค่เรียนหนังสือก็ยากเย็นแล้ว สนามหญ้านี้ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลกับตัวเด็กและชุมชน ไม่เฉพาะเด็กที่มาเรียนเท่านั้นที่ได้ใช้ แต่เราบริการชุมชนด้วย”

ดร.เลิศฤทธิ์ เชื่อเสมอว่า ฟุตบอลเป็นมากกว่ากีฬา สำหรับเด็กๆ ฟุตบอลช่วยขัดเกลาฝึกฝนให้พวกเขามีระเบียบวินัย “ถ้าเด็กมีระเบียบวินัย จะส่งผลเรื่องการเรียนด้วย ทำให้มีความรับผิดชอบ สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ เด็กๆ จากพ่อแม่จากคนดูแลมาอยู่กับเรา เราต้องสอนให้เขาพัฒนาตัวเอง ดูแลตัวเอง  อยู่ในสังคมได้ เด็กๆ เหล่านี้ก็จะหายไปจากยาเสพติด จากโซเชียลมีเดีย เขาจะมีสมาธิในการฝึกซ้อมพัฒนาตนเอง ถ้าเขามีความพร้อม มีศักยภาพ เขาก็สามารถจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ เราอยากให้เขาได้เรื่องภาษาด้วย วันหนึ่งก็อาจจะได้ไปต่างประเทศ ก็ต้องเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมภาษาประเทศอื่น”

 

✔ ใช้กีฬาช่วยสอนให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย 

 

ฟุตบอลทำให้เด็กบางคนได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย บางคนเข้าสู่อาชีพนักกีฬา หลายคนนำความสามารถพิเศษทางด้านกีฬาไปทำงานในส่วนราชการหรือองค์กรต่างๆ “ฟุตบอลเป็นช่องทางพิเศษให้เขาประสบความสำเร็จมากขึ้น ครอบครัวมีความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ได้กลับไปดูแลพ่อแม่ ไปดูแลครอบครัว ที่ผมคาดหวัง คืออยากให้เขาไปตอบแทนสังคม”

โดยส่วนตัว ดร.เลิศฤทธิ์ เองก็รู้สึกขอบคุณฟุตบอลที่มีส่วนทำให้ชีวิตเด็กชนบทคนหนึ่งสามารถมีวันนี้ได้  “เพราะกีฬาทำให้ผมมีโอกาสพัฒนาตัวเอง ถ้าไม่มีกีฬามาเป็นเกราะกำบัง ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้จะเป็นยังไง ผมจึงอยากสร้างโอกาสให้กับทุกคน 

“ไม่ว่าจะพลาดอะไรมา เราถือว่าเป็นบทเรียน มาเริ่มต้นกันใหม่ เด็กวัยรุ่นพอไปเจอสิ่งยั่วยุต่างๆ ก็อาจทำให้หลงทางได้ เราพยายามดึงให้เขากลับมาอยู่ในกรอบที่ควรจะทำ แต่ละคนมีปัญหาต่างกัน ตอนนี้ผมรับเด็กกำพร้าที่มีความสามารถทางด้านกีฬามาอยู่ด้วย ให้เขามาอยู่ในสังคมปกติ จะได้มีเพื่อน มีพี่น้อง มีโอกาส”

ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณค่าของฟุตบอลในแง่มุมของการพัฒนาเยาวชนและสถานศึกษากำลังทำงานอย่างไม่ลดละเพื่อนำมาซึ่งความเป็นเลิศ พร้อมเปิดประตูสู่ความสำเร็จและความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฟุตบอลได้มอบรากฐานที่มั่นคงให้กับนักเรียนและโรงเรียน และคำพูดที่ว่า “ฟุตบอลเป็นมากกว่ากีฬา” นั้น ก็มีหลักฐานยืนยันหนักแน่น

 

จากหลักการสู่ภาคปฏิบัติที่เห็นผล
ในแบบของดร.เลิศฤทธิ์ เรือนละหงษ์

✔ มอบโอกาสสู่ชีวิตเยาวชนด้วยกีฬา

✔ วางแผน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบเป็นรูปธรรม

✔ มองภาพกว้าง มอบการพัฒนาให้เด็กนักเรียน

✔ วิเคราะห์อุปสรรคให้พบ เพื่อแก้ไขปัญหา

✔ ใช้กีฬาช่วยสอนให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ