People

“วันนี้ต้องทำให้ดีกว่าเมื่อวานเสมอ”
วิถีคิดนักพากย์บอล
ของ ธีรยุทธ บัญหนองสา

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 20 Mar 2023
Views: 1,194

“ถ้าเราไม่เดินหาโอกาสก็คงไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ”… ถ้าไม่คิดไม่ลงมือทำ ชายคนนี้คงไม่ก้าวมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เพราะเขาเคยฝันแค่ได้ทำงานในวงการเบื้องหลังโทรทัศน์เท่านั้น

การค้นพบตัวเองว่าชอบและอยากทำอะไรได้เร็วเป็นสิ่งที่ดี และชีวิตไม่ได้ง่ายที่จะทำให้เจอบันไดแห่งความสำเร็จอยู่ตรงหน้า เพราะล้วนมีอุปสรรคเข้ามาทดสอบความหนักแน่นในใจเสมอ เช่นเดียวกับนักพากย์หรือผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอล อย่าง ฟลุค – ธีรยุทธ บัญหนองสา ที่กว่าจะได้ยินเสียง “สวัสดีครับ คุณผู้ชม วันนี้ผม..ธีรยุทธ บัญหนองสา พิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือผู้บรรยายเกมการแข่งขันฟุตบอล…” อย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไม่ต้องฝ่าฟัน แต่ผู้ชายคนนี้ก็ทำให้เห็นว่าเขาทำได้และมาไกลเกินฝันที่ตั้งไว้ และเป็นตัวอย่างของ The Power of Possibilities อย่างแท้จริง

“ตั้งแต่เด็กจนโตทำแต่สิ่งที่รัก 24 ชั่วโมงอยู่กับความสุขที่พยายามเดินตามความฝัน อยากเป็นนักพากย์บอล โดยมีแรงขับเคลื่อนว่า เราต้องเก่งขึ้นทุกวัน”

ธีรยุทธ บัญหนองสา
นักพากย์บอล / พิธีกร

 

Thaipower.co: ความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็นตอนโต?

คุณธีรยุทธ: เป็นแพตเทิร์นของสมัยก่อนมาก…ผมอยากเป็นหมอหรือไม่ก็วิศวกร แต่ความคิดเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่ออยู่ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์ ชอบการออกไปพรีเซนต์หน้าห้องเวลาทำงานกลุ่ม รู้สึกสนุก แต่ภาพชัดเจนมากเมื่อตอน ม.4 ที่ผมได้แสดงละครเวทีทำให้รู้ตัวเองว่าเป็นคนรักการพูดและชอบการแสดงออก แล้วเริ่มหาคำตอบให้ตัวเองว่าต้องเรียนคณะนิเทศศาสตร์ เพราะอยากทำงานอะไรก็ได้ในวงการโทรทัศน์ ถ้าย้อนไปสมัยนั้น 30 ปี บอกพ่อกับแม่ว่าจะเรียนด้านนี้ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจ จนสุดท้ายก็สอบติดคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

TP: โชคดีมากที่ค้นพบความชอบตั้งแต่เด็ก แล้วเรื่องฟุตบอลเริ่มตอนไหน?

คุณธีรยุทธ: เริ่มเล่นฟุตบอลกับลูกพี่ลูกน้อง ผมเด็กสุดตอนนั้น พี่ๆ หลายคนเลือกทีมที่ได้อันดับดีคือ   อาร์เซนอล ลิเวอร์พูล เราโดนให้เชียร์แมนยูฯ (แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด) ที่ตอนนั้นยังไม่ขึ้นมาเล่นในระดับพรีเมียร์ลีก พอเข้าเทพศิรินทร์ เด็กผู้ชายทุกคนเตะบอลกันอยู่แล้ว ยิ่งมีการแข่งขัน 4 จตุรมิตร แต่ก็ไม่ถึงขั้นมีเป้าหมายว่าโตขึ้นต้องเป็นนักฟุตบอล เพราะสมัยก่อนการจะเป็นนักฟุตบอลโอกาสที่จะไปถึงตรงนั้นภาพยังบูมเท่าปัจจุบันที่หลายคนให้การยอมรับ

 

TP: เรียนจบปริญญาตรีแล้วได้เดินทางสู่วงการโทรทัศน์อย่างไร

คุณธีรยุทธ: คิดว่าจบมาอยากเป็นผู้ประกาศข่าวหรือทำงานเบื้องหลังอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ เริ่มต้นเป็นครีเอทีฟรายการ “แมลงมัน” ที่แกรมมี่ ทำไปได้ปีกว่ามีคนชวนไปทำงานที่บริษัทในเครือสยามกีฬา ซึ่งยุคนั้นการทำงานที่นั่นคือความใฝ่ฝันของผู้ชายหลายคน เพราะอยากเขียนคอลัมน์ อยากได้ส่งตัวไปประจำที่อังกฤษ ได้รายงานข่าววิทยุเกี่ยวกับฟุตบอล โดยไปเป็นโพรดิวเซอร์รายการ “แฟนซ่ากีฬามัน” โดยมีพี่บอ.บู๋ กับพี่แจ็คกี้เป็นพิธีกร ถ้าย้อนไป 20 ปีก่อนถือเป็นรายการที่ได้รับความนิยมอันหนึ่ง

และระหว่างทำงาน 7-8  ปี เหมือนได้ฝึกการออกเสียงทางอ้อม จากที่เป็นครีเอทีฟและโพรดิวเซอร์เพราะต้องลงเสียงแนะนำรายการข่าวว่า “สวัสดีครับวันนี้เรามาติดตามข่าวประจำวัน…” จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เพราะปี 2007 ทางทรูวิชั่นส์ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ครบ 380 แมตช์ตลอดฤดูกาลมา จากเดิมจะถ่ายทอดสดเพียง 2-3 คู่เท่านั้น ทำให้ต้องประกาศเปิดรับสมัครค้นหานักพากย์หน้าใหม่

 

TP:  อยากเป็นนักพากย์ฟุตบอลตั้งแต่เมื่อไร

คุณธีรยุทธ: จริงๆ เป็นสิ่งที่อยู่ในใจตลอดตั้งแต่ที่เริ่มเล่นฟุตบอล บวกกับที่รู้ตัวเองว่าชอบการพูดและเวลาจอยเล่นเกมฟุตบอลกับเพื่อนตั้งแต่เด็ก หรือเวลาเตะบอลก็จะชอบพากย์ตลอดเวลา เพื่อนก็บอกว่าผมจำชื่อนักบอลเก่งแทบจะจำได้ทุกคน

ตอนนั้นแหล่งข้อมูลของผมคือ เซ็กชั่นที่สอง นสพ.ไทยรัฐ หรือสตาร์ซ็อกเกอร์ เมื่อทรูวิชั่นส์เปิดรับสมัครก็คิดว่า ถ้าเราไม่เดินหาโอกาสก็คงไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ และคิดว่าลองสมัครดูไม่มีอะไรเสียอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ก็แค่กลับมาทำเบื้องหลัง สรุปว่าเป็นหนึ่งในสามที่ได้รับคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 1,000 คน ตื่นเต้นมากเหมือนเป็นการได้ทำหนึ่งในความฝัน พร้อมมองภาพอนาคตตัวเองและครอบครัวว่า เดี๋ยวจะมีรถขับและบ้านให้พ่อกับแม่อยู่ดีขึ้น แต่ปรากฎว่าทำไป 1 เดือนแรก ได้พากย์ฟุตบอลเพียง 1 คู่ เป็นบอลแมตช์เล็กของฮอลแลนด์ ยังไม่ได้พากย์พรีเมียร์ลีก ตอนนั้นคิดว่าเรายังมือใหม่ เขาคงไม่กล้าที่จะให้เราพากย์แมตช์ใหญ่ๆ ก็ต้องฝึกฝนไปก่อน

 

ถ้าวันนี้ทำดีแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องทำให้ได้ดียิ่งกว่า

TP: เหมือนทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่เราคาดการณ์ไว้ แล้ววางแผนชีวิตอย่างไรต่อ

คุณธีรยุทธ : มีท้อบ้าง อ้าว! ตกลงการเป็นนักพากย์บอลเป็นแบบนี้เหรอ 3 ปีแรกไม่ได้พากย์บอลพรีเมียร์ลีกเลย พากย์รายการบอลเล็ก อย่างสกอตแลนด์ โปรตุเกส ฮอลแลนด์ ถ้าเป็นพรีเมียร์ลีกก็เป็นคู่ที่เล็กมากๆ แล้วก็ยังไม่เห็นมีใครรู้จักเราเลย แต่ก็เข้าใจว่าเรายังอายุน้อยเพียง 27 ปี ก็ทำไปเรื่อยๆ แม้จะผิดแผนที่คิดว่าจะสามารถหาเลี้ยงเป็นอาชีพประจำได้ ปรากฎว่าไม่พอกิน เพราะงานพากย์ถือเป็นงานฟรีแลนซ์มีเพียง 2-3 คู่ต่อเดือน ชีวิตก็ผกผันต้องไปเป็นโพรดิวเซอร์อีเวนต์ ออร์กาไนเซอร์ก่อน

 

TP: ความฝันการเป็นนักพากย์เริ่มใกล้ความเป็นจริงได้อย่างไร

คุณธีรยุทธ: น่าจะเป็นไปตามสเต็ปของการทำงาน เพราะผ่านไป 3-4 ปี เริ่มได้พากย์ฟุตบอลรายการใหญ่ขึ้น อย่างลาลีกาสเปนหรือพรีเมียร์ลีกคู่กลาง จนปี 2010-2011 ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเพราะทรูวิชั่นส์ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีกมาถ่ายทอดทุกคู่ จากเมื่อก่อนบอลไทยไม่ค่อยมีใครเหลียวแล ทรูวิชั่นส์ลงทุนทำสตูดิโอเลยให้โอกาสผมเป็นพิธีกร ทั้งที่พูดคุยก่อนเกมการแข่งขันจะเริ่มและพากย์ด้วย เป็นจังหวะชีวิตที่ได้ทำงานใช้เสียงและเบื้องหน้าอย่างที่เคยฝันไว้ ประกอบกับชอบดูบอลไทยอยู่แล้ว จากนั้นเริ่มฝึกพูด ฝึกใช้น้ำเสียง หาวิธีการสื่อสารให้อินไปกับเกมอย่างลื่นไหล

 

มีความหลงใหลในสิ่งที่อยากเป็น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

เอาใจใส่คนที่ทำงานด้วยกันเสมอ

 

จนได้มาพากย์คู่กับ น้าหัง – อัฐชพงษ์ สีมา ซึ่งถือเป็นครูด้านการพากย์คนแรกของผมเลย เราพากย์บอลไทยคู่กันมาตลอด จากบอลไทยที่สนุกบ้างไม่สนุกบ้างก็ทำให้เริ่มรู้สึกสนุกมากขึ้น และเป็นพาร์ตเนอร์ทำงานด้วยกันมาตลอด 3-4 ปี ผมจำสิ่งที่น้าหังสอนถึงวันนี้คือ ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีไม่ว่าจะโดนติเตียนขนาดไหนก็ต้องพร้อมแก้ไขอยู่เสมอ เพราะทั้งหมดนี้จะทำให้เราทำงานและมองไปข้างหน้าได้ เพราะถ้าคิดแง่ลบความลบนั้นจะมากัดกร่อนจิตใจเรา

 

TP: การทำหน้าที่นักพากย์ของสไตล์ธีรยุทธเป็นอย่างไร

คุณธีรยุทธ:  จากคนเบื้องหลัง ซึ่งไม่ได้มาเป็นสายนักข่าวภาคสนามหรือคอลัมนิสต์ที่มีชื่อเสียงมาก่อนแล้วค่อยมาพากย์ ดังนั้นสิ่งที่ทำตอนแรกคือ การก๊อบปี้นักพากย์ที่เราชื่นชอบมา ดูสำเนียงตอนเปิดเกม ตอนยิง โดยเฉพาะเรียนรู้จากน้าหัง พอทำไปรู้แล้วว่าน้าหังก็ต้องมีคนเดียว ถ้าก๊อบปี้ไปแบบนี้เรื่อยๆ ก็จะไม่มีใครรู้จักธีรยุทธ จึงเริ่มหาหนังสือแนวทางการพัฒนาตัวเอง หัดยิ้มและพูดกับตัวเองหน้ากระจกบ่อยๆ ซึ่งวิธีนี้ช่วยได้มาก

ตื่นมาทุกเช้าผมจะพูดกับตัวเองหน้ากระจกก่อน “สวัสดีครับคุณผู้ชมวันนี้ทรูวิชั่นส์เสนอ สกอร์ฟุตบอลไทยลีก เราไปเจอกันที่สนาม… พูดไปเรื่อยๆ อย่างนี้ทุกวันให้คล่อง จนเจอน้ำเสียงจังหวะในแบบที่เราจะรู้แล้วว่า อืม! อันนี้แหละเป็นสไตล์และวิธีการแบบเราเพื่อให้กล้ามเนื้อจำ เวลาขับรถก็หัดพูดไปคนเดียวเหมือนคนบ้า พูดแล้วก็จะถามตัวเองว่าดีแล้วหรือเปล่า หรือปรับแบบไหนดู พอเริ่มหาแนวทางตัวเองได้ก็จะเริ่มมีคนดูจำได้ว่านี่คือ เสียงธีรยุทธ นั่นแสดงว่าเราสื่อสารไปถึงผู้รับสารได้แล้ว

 

TP: คุณสมบัตินักพากย์ที่ควรมีคืออะไร 

คุณธีรยุทธ:  การพากย์ถือเป็นอาชีพเฉพาะทาง ถ้าอยากเก่งอยากดีก็ต้องหมั่นพัฒนาตัวเองเสมอ ด้วยการหาชุดคำใหม่ตามยุคสมัยมาฝึกพูดตลอดเวลา อย่างประโยคฮิต “เต็มคาราเบล” ลองเอาทดสอบพูดไล่ระดับเสียงทั้งโทนเบาและดัง ยิงเข้าประตูไปแล้วเต็มคาราเบลอย่างไรไม่ให้ดูโอเวอร์แอ็กติ้ง แต่สุดท้ายรู้สึกไม่เหมาะมาใช้กับตัวเอง และเชื่อว่าการมีชุดคลังศัพท์หรือคลังข้อมูลของตัวเองไว้ตลอดเวลาจะทำให้ไม่มีการใช้คำฟุ่มเฟือยเวลาพากย์ เช่นคำว่า “ทางด้านของ” หรือปล่อยเอ่อออ คือ …ระหว่างพากย์อย่างแน่นอน

และนี่ก็น่าจะกลายเป็นสไตล์ของผมที่ต้องกระชับ ฉับไว มีกิมมิกหรือหมัดฮุกให้ตัวเองตลอดการพากย์บอล 90 นาที ที่ต้องทำให้สนุกและมีการจัดลำดับความเหมาะสมไว้ ซึ่งถ้าวันไหนปล่อยหมัดฮุกไปแล้ว มีการเอาไปพูดหรือแชร์ต่อ 1 เรื่อง ก็รู้สึกแฮปปีแล้ว หรือเรื่องการทำหน้าที่ความเป็นกลางในการพากย์ แม้ส่วนตัวจะเชียร์ทีมไหน แต่เชื่อว่าทั้งตัวผมเองและนักพากย์ทุกคนเวลาลงสนามในงานจะมีความเป็นกลางอยู่แล้ว เพราะบทบาทที่ทำต้องใช้สมาธิและตาดูอย่างมีสติตลอดเกมการแข่งขันมาก

TP: ความเหมือนหรือแตกต่างจากการงานที่เคยทำมาทั้งหมด

คุณธีรยุทธ:  ตั้งแต่ครีเอทีฟ โพรดิวเซอร์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือนักพากย์ ผมมีความรู้สึกว่าอยากทำให้ดีอยู่เสมอ แต่ทุกการทำงานย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เช่น พากย์ชื่อผิด เราพยายามควบคุมให้มันเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด และสิ่งที่ต้องคำนึงเสมอคือ ถ้าพลาดจะต้องแก้ ไม่ปล่อยไปเลยตามเลยเด็ดขาด ต้องให้ได้ยินเสียงตัวเองตลอดเวลา และต้องไม่ดาวน์จากการผิดพลาด พยายามบอกตัวเองว่า ถ้าพลาด ต้องแก้ แล้วทิ้งไปเลย ต้องมีสมาธิตามเกมตลอดเวลา

 

รับผิดชอบกับการสื่อสารหรือสิ่งที่เราพูดเสมอ

 

หรือการทำหน้าที่พิธีกรกิจกรรมของ คิง เพาเวอร์ ไปมอบลูกฟุตบอลหรือสนามฟุตบอล แม้เราต้องทำหน้าที่เป็นพิธีกรให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่ทัชใจและประทับใจสำหรับผมคือ เราอิ่มใจและมีความสุขมากเสมือนเป็นตัวแทนที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานไปมอบความสุขให้เด็กๆ ซึ่งบางแห่งที่ไปก็ถือว่าไกลมาก เข้าใจเลยว่ากว่าที่เด็กๆ จะมีลูกฟุตบอลหรือสนามดีๆ แห่งหนึ่งเล่น มาด้วยความยากลำบาก แล้วก็เอามาเล่าให้ลูกชาย 2 คนฟังเสมอว่าในขณะที่ลูกๆ มีโอกาสเตะฟุตบอลได้ง่ายมาก แต่ยังมีเด็กๆ อีกหลายคนเข้าถึงโอกาสนี้ยาก เขาจะได้เห็นคุณค่าของกีฬาฟุตบอล

ภาพโดย Expert Kit

 

TP: มองอนาคตกับอาชีพนักพากย์อย่างไร  

คุณธีรยุทธ:  ผมให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมาก ไม่สนไม่ได้ ด้านหนึ่งเพราะทุกเพศวัยเข้าถึงโซเชียลมีเดียง่าย และเมื่อเราได้โอกาสเป็นนักพากย์แล้วคิดว่าอย่างหนึ่งที่เราควรทำคือ การเป็นสื่อกลางที่พร้อมส่งสารหรือปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ได้ เพราะเชื่อเสมอว่าการพัฒนากีฬาเป็นเรื่องเดียวกันที่ช่วยพัฒนาประเทศไทย สิ่งที่สื่อไป เช่น เรื่องกติกาที่แม่นยำ เพราะกฎจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทุกปี หรือการบอกตัวอย่างความดีงามที่เกิดขึ้นในเกมด้วย เช่น การเล่นหรือพฤติกรรมของนักบอลคนนี้ดีมาก เพราะคือเกมกีฬา หรือเรื่องการไม่สนับสนุนการพนัน

และมองว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อการดำรงชีพในอาชีพนี้ ยอมรับว่าเพราะไม่อยากเอาต์หรือตกงาน เนื่องจากช่วงหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงวงการสื่อ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ย่อมส่งผลความไม่แน่นอนในอาชีพได้ จึงตัดสินใจทำเพจและช่องชื่อว่า ‘Fluke Family’ ตั้งแต่ปี 2018 ทำก่อนเกิดโควิด ตอนนั้นคิดว่าขอแค่ลองกระโจนเข้าแฟลตฟอร์มใหม่ไปก่อน เพราะคิดว่าตัวเองไม่อยากไปทำอาชีพอื่นแล้ว สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ ซึ่งใช้เวลาจับจังหวะอยู่นาน แรกๆ ก็เป็นการพาครอบครัวไปเที่ยว แต่พอเอาเนื้อหาข่าวที่ตัวเองอ่านจากทีวีมาลงสั้นๆ ยอดวิวขึ้นถล่มทลาย ทำให้เห็นแล้วว่าจริงๆ มีคนดูแต่ต้องเป็นเนื้อหาที่เขาสนใจ

ภาพโดย Expert Kit

อย่างเรื่องผลบอลสั้นๆ และคิดว่าการทำเพจหรือช่องของตัวเอง จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงปรับเนื้อหาให้ลดอายุลงมา เพื่อสามารถเข้าถึงคนที่อายุน้อยกว่า จนตอนนี้ทุกครั้งที่มีแฟนคลับอายุน้อยๆ มาทัก มาขอถ่ายรูปแล้วก็พูดคุยกัน บางคนก็บอกว่าผมซ้อมฟุตบอลอยู่ที่เดียวกับลูกพี่ฟลุคด้วยก็ทำให้เราได้ชื่นใจ ถึงตอนนี้มีผู้ติดตามหลายแสนราย และมีรายได้จากการทำเพจและช่องเข้ามาต่อเนื่อง

 

ความสำเร็จจริงๆ ในชีวิต มีพื้นฐานมาจากครอบครัว

 

TP: ตอนนี้ถือว่าเดินทางถึงฝันและประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

คุณธีรยุทธ: ถือว่ามาไกลกว่าที่เคยฝันไว้มาก เพราะตอนนั้นฝันแค่ได้ทำงานในวงการเบื้องหลังโทรทัศน์เท่านั้น ส่วนหน้ากล้องคือสิ่งที่ตัวเองหวังไว้ลึกๆ แต่ไม่คิดว่าตัวเองจะก้าวมาถึงตรงนี้ได้ ซึ่งมีปัจจัยบวกหลายอย่าง ทั้งการได้รับโอกาสจากองค์กรหรือการมองเห็นจากผู้ใหญ่ให้มาทำงานหน้าจอ โดยที่เราไม่เคยทำมาก่อน เพราะเราไม่ได้หน้าตาดี ซึ่งเมื่อก่อนการออกหน้าจอได้ก็ต้องหน้าตาดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีคนชอบน้ำเสียงวิธีการสื่อสารของเราและให้มาอ่านข่าวด้วยทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น บวกกับที่ซื่อสัตย์กับตัวเองมาตลอดว่า รู้ว่าชอบทำอะไรและไม่ท้อกับการเดินตามความฝัน แม้จะมีต้นทุนที่น้อยกว่าคนอื่น เพราะทางบ้านไม่ได้มีเงินเยอะ พ่อเป็นคนขับสามล้อ แม่รับจ้างซักผ้า ขายที่ทำนาเอาเงินมาให้เราเรียน ตลอดชีวิตจึงอยากขับเคลื่อนให้ชีวิตและครอบครัวดีขึ้น ให้พ่อแม่สบายมีบ้านให้ท่าน มีครอบครัวที่ดี

 

TP: สิ่งที่ส่งต่อเรื่องฟุตบอลให้กับลูกชาย

คุณธีรยุทธ:  ผมมีลูกชาย 2 คน อายุ 7 ปี และ 10 ปี ปลูกฝังเรื่องฟุตบอลตั้งแต่เด็กๆ แม้ว่าผมจะเล่นกีฬาไม่ค่อยได้แล้ว เพราะเคยประสบอุบัติเหตุไหล่หลุดตกนั่งร้านตอนทำละครเวทีมหาวิทยาลัย แล้วตอนนั้นไม่มีเงินรักษาในเวลานั้น ถึงทุกวันนี้ถ้ามีการวางแขนหรือนั่งไม่ดีไหล่ก็จะหลุดง่าย แต่เราเห็นความสำคัญของกีฬาว่าเป็นส่วนช่วยพัฒนาประเทศได้ เพราะการที่เด็กรักกีฬาจะเป็นการสอนเรื่องวินัยไปโดยอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่การเข้าคิวเพื่อฝึกซ้อมยิงหรือเตะบอล การรู้จักขอโทษ หรือเมื่อรู้ว่าพรุ่งนี้มีซ้อมก็ต้องเข้านอนเร็ว และตอนนี้ผมก็มาเฝ้าลูกๆ ซ้อมผล 6 วันต่อสัปดาห์ที่สนามฟุตบอลเอง

 

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของผู้ชายคนนี้คือ การทำได้เกินความฝันแล้ว ตอนนี้เหลือเพียงฝันเดียวคือ การได้เห็นหรือมีโอกาสพากย์ฟุตบอลไทยเตะบอลโลกรอบสุดท้าย และเชื่อว่าฝันของเขากับฝันของคนไทยทั้งประเทศคือ ฝันเดียวกันที่คอยเอาใจช่วยและพัฒนาในวงการฟุตบอลไทยไปให้ไกลสูงสุด…

 

แนวคิดการประสบความสำเร็จ ของคุณธีรยุทธ บัญหนองสา

1.ต้องเก่งและดีขึ้นในทุกวัน ถ้าวันนี้ทำดีแล้วพรุ่งนี้ก็ต้องทำได้ดีกว่า อย่างการเป็นแชมป์วันนี้แล้ว พอเข้าสู่วันพรุ่งนี้ ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นแชมป์เก่าแล้ว เรื่องความสำเร็จจึงเป็นเรื่องของอดีตเสมอ

2.หลงใหลในสิ่งที่อยากเป็น เพราะจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทำให้เรามีความพยายามและมุ่งมั่นที่อยากจะทำความฝันให้เป็นจริง และความหลงใหลจะไม่ทำให้รู้สึกทรมานกับงานหรือการใช้ชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง

3.ครอบครัวเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เราอยากทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะความสำเร็จจริงๆ ในชีวิตพื้นฐานมาจากครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากความที่มีพร้อมมาก่อน

4.รับผิดชอบกับการสื่อสารหรือสิ่งที่เราพูดเสมอ เพราะการทำหน้าที่สื่อสารมีผลต่อคนรับสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

5.คิดถึงและเอาใจใส่คนที่ทำงานด้วยกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็น คนที่พากย์ด้วยกัน ทีมงาน หรือองค์กร เพราะถ้าเราเอาใจใส่เขา เขาก็จะเอาใจใส่เรา และต่างจะมีฟีดแบ็กที่ดีกลับมาให้กันเสมอ

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง