People

ธนิต พุ่มไสว “ภูษาผ้าลายอย่าง”
เบื้องหลังผ้างาม ละคร “ออเจ้า”

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 20 Dec 2023
Views: 4,143

Summary

ผู้อยู่เบื้องหลังผ้าไทยผืนงามในละคร ‘พรหมลิขิต’ กับชุดประกวดมิสยูนิเวอร์ส…เขาเกือบไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ เพราะที่บ้านกลัวจะเป็นศิลปินไส้แห้ง แต่ก็ส่งตัวเองเรียนจบแล้วเปิดร้าน ‘ภูษาผ้าลายอย่าง’ ไล่ตามความฝันได้ทัน แม้จะจบช้ากว่าเพื่อนถึง 4 ปีเพราะเลือกทำศิลปนิพนธ์เป็นโปรเจกต์ผ้าไทย

แน่นอนว่า ‘พรหมลิขิต’ ภาคต่อของ ‘บุพเพสันนิวาส’ คือผู้ครองแชมป์ละครไทยหลังข่าวเรตติ้งสูง แต่กระแสการเที่ยววัดวัง และตามชิมเมนูดังในละคร รวมไปถึงกระแสชุดไทยฟีเวอร์ยังแรงดีไม่มีตก ส่วนหนึ่งของความเป็นไปได้ดังกล่าวคือ เจ้าของแบรนด์ผ้าไทยคนนี้

หนึ่งในส่วนผสมที่ส่งพลังให้จักรวาลออเจ้าประสบความสำเร็จคือ ‘เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย’ สุดงดงามและแฝงไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าผ่าน ‘ผ้าลายอย่าง’ ซึ่งออกแบบโดย ธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เจ้าของร้าน ภูษาผ้าลายอย่าง ผู้อยู่เบื้องหลังความงามของผืนผ้าในละครดังทั้งสองเรื่อง รวมไปถึงเบื้องหลังความสง่างามของชุดไทยที่ แอนโทเนีย โพซิ้ว ใส่หลายเวที ไม่ว่าจะเป็น ชุดอโยธยาอมรนิมิต บนเวที Miss Universe Thailand ชุดนางมโหธรเทวี ในงานร่วมเฉลิมฉลองสงกรานต์ไทย หรือ ชุดไทยจักรี ในวันที่ขึ้นขบวนแห่เพื่อเฉลิมฉลองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 Miss Universe 2023 อย่างสมเกียรติ

“เราออกแบบเพื่อให้ผ้าเป็นงานศิลปะ ไม่ได้เป็นแค่ผ้าหนึ่งชิ้นที่เอาไปสวมใส่

ดังนั้นลวดลายที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าจะต้องบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคนี้”

ธนิต พุ่มไสว เจ้าของร้าน ภูษาผ้าลายอย่าง
ผู้ทำชุดละครพรหมลิขิตและชุดประกวด Miss Universe

 

“รู้ตัวมาตั้งแต่ ป.4 ว่าชอบศิลปะโดยเฉพาะลายไทย” ธนิต บอกว่าด้วยความที่ฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่เป็นช่างทาสีรับจ้าง วันว่างถ้าไม่อยู่วัดก็คลุกคลีอยู่กับยาย เห็นช่างปีนบันไดวาดลวดลายบนผนังวัดและเห็นยายทอผ้าซิ่นนุ่งเองเป็นเรื่องปกติ

“ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เวลาไปวัดชอบไปดูช่างวาดลวดลาย ดูเขาผสมสี โชคดีที่ครู (ศุภกิจ ทับทิมโต) ท่านเป็นช่างในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มาเขียนลายไทยที่วัดธรรมรังษี จ.เพชรบุรี สอนศิลปะให้ เลิกเรียนก็ปั่นจักรยานไปวัด บางวันกลับค่ำพ่อก็ตีเพราะกลัวจะไปเป็นศิลปินไส้แห้ง เขาอยากให้เรียนช่างกล ช่างยนต์ แต่เราชอบศิลปะ คิดแค่ว่าจะต้องเรียนสูงๆ แล้วพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเขาดูแลเขาได้”

การได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษาระดับจังหวัดไปประกวดงานศิลปหัตถกรรมระหว่างประเทศ ตอน ม.6 จนคว้ารางวัลชนะเลิศคือหนึ่งในบทพิสูจน์นั้น

ขอบคุณภาพจาก ภูษาผ้าลายอย่าง

“ตัดสินใจเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และเลิกขอเงินที่บ้าน ทำงานทุกอย่างตั้งแต่รับวาดรูปตามจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ที่จังหวัดเพชรบุรี ทำเครื่องประดับชุดไทย ทำชุดเช่าที่ใส่ในขบวนพาเหรดหรืองานต่างๆ จนเริ่มมีเงินให้ที่บ้านเริ่มเห็นแล้วว่าสิ่งนี้คืออาชีพ คิดถึงขั้นเรียนจบจะเปิดร้านเช่าชุด”

 

รู้ตัวเร็วว่าชอบอะไร ทำให้กล้าลงมือทำ

 

จากโปรเจกต์จบ สู่การค้นพบจุดเริ่มต้นของ ‘ผ้าลายอย่าง’

“พอขึ้นปี 4 ต้องทำโปรเจกต์จบ ก็ไปได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพพนมในวัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี เริ่มสังเกตว่าเทวดานางฟ้าในภาพนุ่งห่มผ้าลายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วทำไมจิตรกรสมัยอยุธยาถึงวาดลวดลายแบบนี้ หาข้อมูลจนเจอคำว่า ‘ผ้าลายอย่าง’ แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เลยตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อดูว่าผ้าลายอย่างของจริงเป็นยังไง ปรากฏว่าเหมือนกับจิตรกรรมฝาผนังที่เห็น ก็ยิ่งสนใจและศึกษาจนเข้าใจว่า ผ้าลายอย่าง คือลายผ้าที่เขียนขึ้นโดยจิตรกรไทย มีทั้งหมด 13 กระบวนลาย จากนั้นราชสำนักจะส่งลายผ้าไปอินเดียให้ผลิตตามแบบ เสร็จก็ส่งกลับมาที่ไทยและใช้เป็นผ้าในราชสำนักเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5”

“ตอนนั้นคิดอยากรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และทำให้ผ้าลายอย่างเป็นที่รู้จักอีกครั้ง จึงตัดสินใจทำศิลปนิพนธ์เรื่องโครงการออกแบบลายผ้าจากลวดลายต้นเสาพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้กระบวนลายจิตรกรรมฝาผนังของวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นแรงบันดาลใจ ร่างลายขึ้นใหม่ใส่ตัวตนของเราลงไป ใช้เวลาทดลองและสะสมข้อมูลเป็นปี กว่าจะได้ผ้าลายอย่างผืนแรกชื่อ “ลายเทพกินรีพนม” และเป็นลายที่ใช้ทำศิลปนิพนธ์ด้วย

วิทยานิพนธ์ของธนิตยังได้รับเลือกให้เป็นวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2558 ถูกนำไปจัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “ภูมิใจมาก มันยิ่งตอกย้ำว่าเรามาถูกทาง”

พลังใจที่ไม่เคยริบหรี่

“เพราะตั้งใจทำโปรเจกต์นี้เลยจบช้ากว่าเพื่อน 4 ปี ระหว่างที่ทำโปรเจกต์ต้องทำงานไปด้วย จะท้อก็เพราะเหนื่อยแต่ไม่เคยหมดหวัง เพราะเราเชื่อมั่นว่าถ้าโปรเจกต์นี้สำเร็จ สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น ปี 2557 เป็นปีที่ทำผ้าลายอย่างผืนแรกสำเร็จ เลยลองโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็เริ่มมีคนทักมาถามว่าผ้าอะไร ขายหรือเปล่า จำได้เลยว่าผืนแรกขายได้ราคา 3,600 บาท ตอนนั้นเป็นเงินที่เยอะมากๆ เริ่มถามตัวเองแล้วว่าสิ่งนี้จะสร้างชีวิตใหม่ให้เราได้ใช่ไหม”

กลางปี 2558 เพจ ‘ภูษาผ้าลายอย่าง’ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ธนิต ในวัย 25 ต้องพัฒนาฝีมือการทำงานไปพร้อมๆ กับเรียนรู้การทำธุรกิจด้วยตัวเอง นอกจากเขาจะเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่ปลุกชีพผ้าลายอย่าง และยังเป็นคนแรกในประเทศไทยที่พิมพ์ลายลงในใยผ้าด้วยระบบ Digital Reactive ทำให้สีติดทนนานกว่าร้อยปี

 

ต้องไม่ดูถูกงานตัวเอง

 

‘โอกาส’ ที่คว้ามาได้ด้วยความสามารถ

“พอทำธุรกิจสักระยะ คุณกิจจา ลาโพธิ์ หรือแม่สาลี่ ในละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็นแผนกคอสตูมของค่ายละครก็ติดต่อเข้ามา ตอนแรกมาขอซื้อลายผ้าเพื่อใช้ในละครบางระจัน และละครข้าบดินทร์

จนวันหนึ่งเขาบอกว่าอยากให้ออกแบบลายผ้ากระบวนลายดั้งเดิมแบบอยุธยา 20 ผืน 20 ลาย มารู้อีกทีว่าจะถูกนำไปใช้ในเรื่องบุพเพสันนิวาสก็ตอนเขาชวนไปงานบวงสรวงละครแล้วเห็นโป๊ปกับเบลล่าใส่ผ้าของเรา พอละครออนแอร์กลายเป็นกระแสคนก็เริ่มสนใจผ้าลายอย่าง เริ่มมีนักข่าวมาสัมภาษณ์จนกลายเป็นที่รู้จัก มาถึงละครพรหมลิขิต คุณหน่อง อรุโณชา ก็ให้เรามีบทบาทมากขึ้น ทั้งออกแบบลายผ้าและทำเครื่องประดับ”

ธนิต พุ่มไสวผู้ออกแบบ และศิวกร เกษรราช ผู้ช่วยผู้ออกแบบลายผ้าให้ละคร พรหมลิขิต

“ได้โจทย์มาต้องทำการบ้านเยอะ อย่างตอนออกแบบลายหิมพานต์ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ใช้เวลาร่างต้นแบบ 3 เดือน ต้องไปดูงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัด ศึกษาว่าทำไมช่างยุคนั้นถึงตีความและวาดออกมาแบบนั้น ถ้าเป็นเราจะตีความและวาดออกมาเป็นแบบไหน ไปจนถึงการวางโครงสร้างสี เราออกแบบเพื่อให้ผ้าเป็นงานศิลปะไม่ได้เป็นแค่ผ้าหนึ่งชิ้นที่เอาไปสวมใส่ ดังนั้นลวดลายที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าจะต้องเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคนี้”

 

ผ้าไทยคือ “Soft Power”

“เชื่อมาตลอดว่าผ้าไทยคือ Soft Power หลังละครบุพเพสันนิวาสออนแอร์ ทุกคนหันมาแต่งชุดไทย ร้านเช่าชุด ร้านขายเครื่องประดับ ร้านอาหารไทย การท่องเที่ยวมีรายได้เข้ามา เศรษฐกิจก็ถูกขับเคลื่อน ที่ผ่านมาเราแค่รณรงค์ให้คนใช้ผ้าไทยแต่ไม่ได้ทำให้คนไทยภูมิใจที่ได้ใส่ ในขณะที่ต่างชาติชื่นชมความงดงามของวัฒนธรรมไทย คนไทยกลับผลักไสและมองว่าการใส่ผ้าไทย หรือใช้ของไทยเป็นอะไรที่เชย แก่ โบราณ

ขอบคุณภาพจาก FB: ภูษาผ้าลายอย่าง

“ผ้าไทยเก๋ได้ ยกตัวอย่างปีที่แล้ว PEARYPIE ทำโปรเจกต์กับ Nike ครบรอบ 40 ปี Air Force 1 โจทย์คือนำความสวยงามของผ้าไทยมาถ่ายทอด ซึ่งแพรี่พายก็เลือก Custom-made Air Force 1 ให้กลายเป็นรองเท้าทำจากผ้าเขียนลายทองของภูษาลายอย่าง หรือตอนนี้ทางร้านนำผ้าลายอย่างไปทำเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่โทรศัพท์ นี่คือตัวอย่างของการนำไปดัดแปลง โดยที่ไม่ลดทอนคุณค่าของผ้า”

 

จงสร้างโอกาสให้ตัวเอง
ไม่มี ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้

พลังที่ส่งได้ไม่สิ้นสุด

ลวดลายที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าจะต้องเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคนี้ ธนิต บอกว่าวันนี้สิ่งที่เขาภูมิใจที่สุด คือ ได้เดินตามทางที่ตัวเองเลือกและสร้างมันขึ้นมาเอง ความเป็นไปได้ที่ปรากฎทำให้เขาเชื่อในพลังของตัวเอง และพลังที่ว่านั้นยังส่งต่อให้กับคนอื่นได้

ชุดไทยออกแบบให้ แอนโทเนีย โพซิ้ว สวมในการประกวด Miss Universe

“ตอนนี้เราทำให้คนไทยได้รู้จักผ้าลายอย่างมากขึ้นและในอนาคตมันจะกลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทย เราอยากส่งต่อองค์ความรู้เรื่องผ้าลายอย่างให้กับคนไทยด้วย ตอนนี้กำลังสร้างเรือนไทยที่เพชรบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ผ้าลายอย่าง อาจจัดเป็นนิทรรศการผลงาน ‘กว่าจะเป็นลายผ้าในละครบุพเพสันนิวาสและละครพรหมลิขิต’ ให้คนที่สนใจหรือชาวต่างชาติได้มาเรียนรู้กัน”

ธนิตยังเลือกส่งต่อพลังดีๆ ให้กับเยาวชนด้วยการมอบทุนการศึกษาและบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลของรัฐฯ ในจังหวัดเพชรบุรีเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์

“ปีหน้าและปีต่อๆ ไป ตั้งใจจะผลักดันผ้าลายอย่างให้คนต่างชาติรู้จักมากขึ้น ทำให้ผ้าไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ระดับโลกหรือก้าวไปสู่เวทีสากล เชื่อว่าเป็นไปได้เพราะเราภูมิใจในความเป็นไทย และคงวางตำแหน่งตัวเองเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของไทยผ่านลายผ้า และทำให้ทุกคนมองว่าผ้าลายอย่างคืองานศิลปะที่ส่งต่อคุณค่าความเป็นไทยไปสู่สากลได้”

 

ถอดแนวคิดสร้างความเป็นไปได้ให้ชีวิต
ของ ธนิต พุ่มไสว

     • ค้นหาความชอบของตัวเองให้เร็ว โอกาสประสบความสำเร็จเร็ว

     • อย่าเรียกร้องหาโอกาสจากใคร แต่จงสร้างโอกาสแล้วพาตัวเองเข้าไปใกล้สิ่งนั้นให้มากที่สุด

     •ไม่มี ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้

     • ทุกอย่างคือโอกาส ขึ้นอยู่กับตัวเราว่ามองเห็นอะไร มองหาอะไร

     • ต้องไม่ดูถูกตัวเอง

 

ทำความรู้จักผ้าไทยผลงานของ “ภูษาลายอย่าง” เพิ่มเติมได้ที่: PHUSA PHALAIYANG

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก