Product

เซรามิกวาดมือ “Lively Ware”
เติมชีวิตชีวาลายครามให้โต๊ะอาหาร

เพ็ญแข สร้อยทอง 31 May 2024
Views: 570

Summary

จากความหลงใหลสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การผสมผสานสีคลาสสิกเข้ากับความคิดทางศิลปะและการออกแบบร่วมสมัย แรงบันดาลใจจากเครื่องปั้นดินเผาโบราณนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน ความไม่สมบูรณ์จากการทำมือซึ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับโต๊ะรับประทานอาหารหรือมุมตกแต่งในบ้าน

ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์ Lively Ware (ไลฟ์ลี่แวร์) เกิดจากการผสมผสานอย่างลงตัวของสีสุดคลาสสิกับศิลปะ การออกแบบความคิดสร้างสรรค์

งานทุกชิ้นวาดลวดลายด้วยมือ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัย ใช้งานสะดวกสบายสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันและทักษะฝีมือ

ไลฟ์ลี่แวร์ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่กำลังมองหาของใช้เพื่อเติมเต็มโต๊ะอาหารหรือของตกแต่งประดับบ้าน รวมทั้งคนที่กำลังมองหาของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก หรือของสะสม ซึ่งมีคุณค่าและความหมายเฉพาะตัว

 

จุดกำเนิดความมีชีวิตชีวา

ไลฟ์ลี่แวร์ให้กำเนิดโดย กิตต์ กัลยาณพงศ์ บัณฑิตสาขาวิชาจิตรกรรมและครูสอนศิลปะ เริ่มต้นจากทำถ้วยกาแฟไว้ใช้เอง ก่อนที่จะมีจานเป็นงานชิ้นแรก ๆ ซึ่งออกวางขาย แตกไลน์เป็นปิ่นโตและอื่น ๆ โดยมี ณปภัช เศรษฐาวงศ์ ร่วมสร้างสรรค์งานด้วยกันในเวลาต่อมา อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม

ชื่อแบรนด์ไลฟ์ลี่แวร์ถูกเลือกมาใช้เพราะมีเสียงคล้องจองกับ อะแชร์ (A Chair) ชื่อโรงเรียนสอนศิลปะของ กิตต์ อีกทั้งชื่อนี้ยังมีความหมาย (Lively คือ มีชีวิตชีวา Ware คือ เครื่องใช้สอย) สื่อแสดงถึงความเป็นผลิตภัณฑ์อย่างตรงตัว

สินค้าของไลฟ์ลี่แวร์ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (Tableware) ทั้งยังมีของใช้ ของประดับตกแต่งต่างๆ โดยงานทุกชิ้นล้วนวาดลวดลายด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ลายสิงสาราสัตว์ เช่น ช้าง ปลาหางนกยูง นกฮูก ไก่ แมว ฯลฯ ลายสิ่งก่อสร้าง เช่น เมืองเก่า ฯลฯ ทั้งหมดมีเฉพาะสีน้ำเงินขาวเท่านั้น

เซรามิกสีน้ำเงินขาวหรือลายครามมีมาเนิ่นนานนับพัน ปี เป็นงานที่เกิดจากเทคนิคการวาดลวดลายด้วยโคบอลต์ออกไซด์ลงบนดินก่อนจะนำไปเผาที่อุณหภูมิสูง ส่งผลให้ได้เกิดสีน้ำเงินสดใสตัดกับพื้นหลังสีขาว

เครื่องลายครามกำเนิดที่จีนก่อนได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก กลายเป็นอิทธิพลให้หลายประเทศนำมาปรับเปลี่ยนสร้างสรรค์ให้เป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตเองในภายหลัง

ตราบจนปัจจุบัน เซรามิกสีน้ำเงินขาวยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนโดยศิลปินและช่างฝีมือร่วมสมัยได้ผสมผสานเทคนิค ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบให้เข้ากับยุคอย่างที่ไลฟ์ลี่แวร์ทำ

 

ชีวิตชีวา

เสน่ห์ดึงดูดใจของโพรดักต์จากไลฟ์ลี่แวร์

• ผสมผสานการแสดงออกทางศิลปะ
เข้ากับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว

• งานร่วมสมัย ได้แรงบันดาลใจจากความคลาสสิกไร้กาลเวลา
ของเครื่องลายครามสีน้ำเงิน-ขาว

• ผลงานทุกชิ้นวาดด้วยมือ
สร้างเอกลักษณ์ความมีชีวิตชีวา
บนเสน่ห์จากความไม่สมบูรณ์แบบ

• สินค้าไทยที่สะท้อนถึงการผสมผสานคลี่คลายมรดกทางวัฒนธรรม
แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และทักษะความเชี่ยวชาญ

เสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์

ผลิตภัณฑ์ของไลฟ์ลี่แวร์ วาดด้วยมือทุกชิ้นโดย กิตต์ และ ณปภัชผู้เป็นทั้งศิลปิน ช่างฝีมือ (Artisan) นักออกแบบ และผู้ประกอบการ ทั้งสองใช้ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้า เป็นเหมือนกับงานศิลปะซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยได้ด้วย

กิตต์ ได้ให้จำกัดความงาของไลฟ์ลี่แวร์ว่า “ไม่สมบูรณ์แบบแต่มีชีวิตชีวา” (Not Perfect But Lively!) ซึ่งเป็นเสน่ห์ของงานคราฟต์หรือทำมือ ทุกเส้นที่เขียนลงไปมีบุคลิกมีความพิเศษ บอกเล่าเรื่องราวของกระบวนการสร้างสรรค์ ทั้งยังสะท้อนถึงความทุ่มเทตั้งใจ มี “สัมผัสของมนุษย์” (human touch) ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างและผู้บริโภค

ด้วยหลักการของไลฟ์ลี่แวร์ที่ “ยืนยัน” ตลอดมาว่า ความไม่สมบูรณ์แบบของชิ้นงานซึ่งไม่มีผลต่อการใช้งานจะไม่คัดออกเป็น “ของเสีย” หรือ “ทิ้ง” ในแง่หนึ่งช่วยลดของเสียหรือของเหลือทิ้ง (Waste) ตลอดกระบวนการผลิต สร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดแนวทางงานฝีมือที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สินค้าไลฟ์ลี่แวร์ใช้เทคนิคเขียนสีใต้เคลือบด้วยโคบอลต์ออกไซด์และเผาในอุณหภูมิสูง 1,250 องศาเซลเซียส มีความปลอดภัยต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้บรรจุอาหาร สามารถเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้ทำความสะอาดง่าย ทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและความทนทานการเลือกใช้เซรามิกจึงเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งสำหรับการบริโภคอย่างรับผิดชอบด้วย

 

วิถีไทยในเซรามิก

การสร้างสรรค์เซรามิกของไลฟ์ลี่แวร์ สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวรากฐาน และความเป็นไทยที่ซ้อนอยู่ภายใน

ลักษณะลายของเรามีความเป็นไทยอยู่ ไม่ใช่ไทยแบบเทิชันหรือลายโบราณ ความเป็นไทยมันอยู่ในตัวของเราซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอยู่แล้ว เรานำสิ่งที่อยู่รอบ ตัวออกมา งานก็จะมีบุคลิกบางอย่างที่ชัดเจนอยู่ ไม่ใช่ญี่ปุ่น ไม่ใช่ฝรั่ง

ไลฟ์ลี่แวร์จึงกลายเป็นของที่ระลึกหรือของฝากจากเมืองไทยซึ่งชาวต่างชาติเลือกนำติดกระเป๋าเดินทางกลับบ้านไปด้วย สำหรับนักเดินทางระหว่างประเทศกับช่องทางการขายที่ คิง พาเวอร์ ดิวตี้ฟรี โดยไอเทมยอดนิยมในหมู่ต่างชาติ คือ เทียนหอมบรรจุในเครื่องเคลือบเซรามิก ซึ่งทำหน้าที่เป็นของที่ระลึกถึงประสบการณ์ของพวกเขาในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับลูกค้าชาวไทย ส่วนมากอยู่ในวัยผู้ใหญ่ซึ่งมีความทรงจำใกล้ชิดกับเครื่องลายคราม ยิ่งโดยเฉพาะกับไอเทมยอดนิยมของแบรนด์อย่างปิ่นโต ภาชนะใส่อาหารคู่วิถีชีวิตไทยมาเนิ่นนานตั้งแต่อดีต

ปิ่นโตเซรามิกสีน้ำเงินขาวมีหูที่ทำด้วยไม้สัก นอกจากสวยงามแล้วยังใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน วัสดุที่ทำปิ่นโตสามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้ จึงไม่ต้องเปลี่ยนภาชนะหากต้องการอุ่นอาหาร ต่างจากปิ่นโตทั่วไปที่มักทำจากโลหะ

“สำหรับปิ่นโต ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะซื้อไปเก็บ คนใช้จริงๆ น้อยกว่าคนที่เอาไปโชว์ เป็นของที่อยู่ในความทรงจำซึ่งสมัยนี้ถูกเปลี่ยนหน้าตาไปแล้ว กิตต์เล่า

คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเลือกงานของไลฟ์ลี่แวร์ไปใช้สำหรับวาระโอกาสพิเศษต่างๆ เช่นเป็นของขวัญหรือของรับไหว้งานแต่งสำหรับญาติผู้ใหญ่ “ชื่อกันว่า ปิ่นโตมีลักษณะเป็นของมงคล คล้ายกับทางเกาหลีที่ปิ่นโตของเขามีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์“

จากแพสชันและวิสัยทัศน์ทางศิลปะ

การสร้างผลิตภัณฑ์เซรามิกของแบรนด์ต่างๆ อาจมีขั้นตอนมากมาย แต่กับไลฟ์ลี่แวร์อาจแตกต่างออกไป ด้วยเป็นธุรกิจขนาดเล็กซึ่งศิลปินหรือช่างฝีมือเป็นเจ้าของ สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ การแสดงออกของวิสัยทัศน์ทางศิลปะ ใช้ความเป็นนักวาดนำทาง โดยเริ่มต้นจาก “แพสชัน” รวมทั้ง การเห็นและรู้สึก

เช่นที่ กิตต์ บอกว่า “เราคิดงาน ทำต้นแบบ แล้วนำไปคุยกับโรงงาน วิธีการคิดและทำงานไม่ซับซ้อน เช่น ตอนเริ่มต้นทำปิ่นโต เราก็หิ้วปิ่นโตเข้าไปโรงงาน เพื่อคุยเรื่องการผลิต ทางโรงงานก็ช่วยคิดและพัฒนามาเรื่อยๆ ใช้เวลาถึง 34 ปี

การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการและรสนิยมของลูกค้าเป็นสิ่งที่ไลฟ์ลี่แวร์คำนึงถึง แต่เหนือกว่านั้นคือ การรักษาเอกลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์เอาไว้ แม้งานผลิตตามคำสั่งเฉพาะของลูกค้า (Made to Order) ยังต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความเป็นไปได้จากทางฝั่งผู้ผลิตด้วย

เราทำงานที่เราชอบก่อน แล้วจะมีคนชอบมากน้อยแค่ไหนก็วัดกันในตลาด ถ้าเริ่มต้นจากคิดว่าจะทำอะไรเพื่อขายใคร มันจะไม่สนุก ทำของที่เรารู้สึกว่าชอบจริงๆ เริ่มต้นแล้วพัฒนาไป รอเวลาให้คนเข้าใจ มันไม่มีอะไรได้มาทันที“

 

ปรับรับอนาคต

หลังจากดำเนินงานมานานหนึ่งทศวรรษ ไลฟ์ลี่แวร์เพิ่งเปิดช็อปบนถนนพุทธมณฑล สาย 2 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจำหน่ายสินค้าและจัดเวิร์ช็อ

ในเร็วๆ นี้ ไลฟ์ลี่แวร์มีแผนจะสร้างงานซึ่งมีขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและเป็นการสร้างงานเพื่อสนับสนุนโรงงานซึ่งอยู่ด้วยกันมานานจนกลายเป็นเพื่อน ซึ่งอาจทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

อาจไม่ได้วาดมือทุกชิ้นเหมือนเดิม แต่ยังคงเป็นลายของเรา เราเป็นคนสร้างต้นแบบ ก็ยังคงจะมีเอกลักษณ์ของเราอยู่ในงาน จุดแข็งก็คือ สามารถทำได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น เป็นงานที่ทำออกมาสำหรับคนที่ไม่อยากรอ มีเวลาน้อย หรือรับได้กับสินค้าในลักษณะนี้”

ด้วยความตั้งใจทั้งหมดของผู้สร้างที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้ผลิตภัณฑ์ไลฟ์ลี่แวร์มีเสน่ห์เปล่งประกาย นำเสนอทางเลือกอันน่ารื่นรมย์สำหรับลูกค้าซึ่งต้องการให้โต๊ะรับประทานอาหารมีชีวิตชีวาและทำให้กิจวัตรประจำวันธรรมดาๆ กลายเป็นช่วงเวลาพิเศษได้

 

ไลฟ์ลี่แวร์ (LIVELY WARE)

ที่ตั้ง: 297 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: LIVELY WARE

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• ตลาดน้ำคลองลัดมะยม นั่งเรือชมธรรมชาติและวิถีชีวิตริมคลอง ชิมอาหารร้านอร่อยหลากหลาย อุดหนุนผัก ผลไม้ส่งตรงจากสวน

• บ้านพิพิธภัณฑ์ ย้อนเวลาไปสู่ พ.ศ. 2500 ผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในรูปแบบเรือนร้านย่านตลาด ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา ร้านขายของเล่น ร้านขายขนม โรงหนัง ร้านตัดผม-ตัดเสื้อ ร้านถ่ายรูป ฯลฯ

• สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า (พุทธมณฑล สาย 2) พักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่สีเขียว ชมสีสันพรรณไม้นานาประดับประดาทั่วสวน เหมาะกับการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นฟุตซอล ฯลฯ

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว