Playground

THE POWER BAND
เวทีและเพลงของ “คนช่างฝัน”

ทีม Writaholic 18 Nov 2021
Views: 569

ในฮอลล์ของการประกวด เสียงเพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ดังให้ได้ยินซ้ำๆ เพราะทุกวงที่เข้าประกวดต้องร้องเพลงนี้เป็น 1 ใน 2 เพลงที่การประกวด THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ได้กำหนดไว้

เพลงดั้งเดิมดังกล่าวนั้นของต่างวง จึงต่างก็มี “หัวใจ” และท่วงทำนองที่แตกต่างกันไป…แบบไม่ซ้ำกันเลย!! แน่นอนว่าแต่ละวงต้องการแสดงศักยภาพทางดนตรีของพวกเขากันอย่างเข้มข้น ส่วนเราผู้ฟังนั้นจะได้รับฟังอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน เพราะเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน ที่ถูกกำหนดให้เรียบเรียงใหม่ในสไตล์ของวงเองนั้น กำลังจะสร้างปรากฏการณ์สำคัญ

 

ก่อนไปถึง “แชมป์” คือ(ได้)ประกาศความเป็นตัวของตัวเอง

และต่อไปนี้คือผู้เข้าประกวด 16 วงจากผู้เข้าประกวดทั้งหมด 29 วงทั่วประเทศ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวในเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันของพวกเขาให้เราฟัง

“เราตีความว่าเพลงที่ให้กำลังใจคนไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเพลงช้าเสมอไป แต่สามารถถ่ายทอดในเชิงสนุกสนานได้ด้วย ถ้าเรานำเพลงนี้ไปเล่นให้คนที่กำลังป่วยเพื่อสร้างกำลังใจ เขาฟังเพลงที่เราเล่นอย่างสนุกสนาน เขาอาจจะอยากลุกมาเต้นกับเราก็เป็นได้” วงภาฬ จากเชียงใหม่ ซึ่งเลือกที่จะร้องเพลงนี้ในแนวสนุก เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานสำหรับเพลงนี้ “พวกเราได้ยินเพลงนี้กันเป็นประจำตอนเล่นวงโยธวาทิต เรานำมาทำใหม่ด้วยดนตรีในแบบนิว ออร์ลีนส์ แจ๊ส คือใครฟังก็ยังรู้สึกได้ว่าเป็นเพลงเดิมของคุณจรัล มโนเพ็ชร แต่เราคิดว่าจะไม่เคยได้ยินดนตรีแบบที่เราเล่น ไม่มีใครในโลกนำเพลงนี้มาทำแบบเราแน่ๆ”

ไม่เหมือนอย่างรางวัลแด่คนช่างฝันในแบบของวง 518 Team Project จากสมุทรปราการ ที่เน้นไปในทางร็อกที่พวกเขาถนัดมากกว่า “การทำเพลงร็อก โดยมีเครื่องเป่ามาผสมผสานเป็นสิ่งที่ยากมาก” วงไม่ได้เลือกวิถีเพลงและดนตรีที่ง่ายสำหรับพวกเขาเลย นั่นเป็นเพราะพวกเขาต้องการความท้าทายในสิ่งที่ทำแบบที่เรียกว่าเพื่อให้เป็น “สักครั้งในชีวิต”

“มันเป็นตัวตนของพวกเรา เราเลยพยายามหาสัดส่วนให้เหมาะสม โดยอาจารย์(กฤษณะพงศ์ ผู้คุมวง) จะทำเพลงเดโมออกมาให้วงก่อน จากนั้นแต่ละคนจะเอาไปแกะโน้ตกันต่อ ฝึกกันอย่างหนัก พอถึงวันซ้อมก็มารวมตัวกัน แล้วแชร์ไอเดียร่วมกัน เพื่อให้ออกมาเป็นในแบบของวงเรา”

เพลงเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกัน

นั่นเป็นเพราะพวกเขาต้อง “สร้างสรรค์” เพลงในแบบของตัวเองขึ้นมาให้ได้ ตามโจทย์ข้อนึงของการประกวดที่ว่าพวกเขาต้องแสดง “เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน เรียบเรียงใหม่ในสไตล์ของวง”

ดังนั้น บนเวทีประกวดแห่งนี้ เราจึงจะได้ฟังเพลงเพราะ ความหมายดีเพลงนี้ ที่ได้รับการตีความผ่านรูปแบบดนตรีที่แตกต่างกันไป…ในแบบที่เรียกว่าไม่ซ้ำกันเลย วงหนึ่งเลือกเล่นแนวแจ๊ส ในขณะที่อีกวงเลือกทำเพลงออกมาให้เป็นป๊อปสนุกบ้างก็มีหรือเศร้าซึ้งก็ยังมี แนวดนตรีที่หลากหลายถูกหยิบมาใช้หมด ทั้งดิสโก้ เร็กเก้ สกา ผสมละตินหรือแม้แต่โซล ไปจนถึงแนวลูกทุ่งบ้านเรา

บางวงเลือกที่จะไล่ระดับดีกรีความซับซ้อนของเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันที่สร้างสรรค์ใหม่ ให้กลายเป็นแนวโพรเกรสซิฟร็อกไปเลยก็มี สำหรับหลายๆ วงยังเลือกใช้อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของตัวเองคือความเป็นไทยพื้นบ้าน ใส่เสียงเครื่องดนตรีไทยเดิมลงไป ขลุ่ยเอย เพอร์คัชชันไม้เอย… แต่จนเมื่อถึงพาร์ตของเครื่องเป่า ดนตรีของเพลงก็พาคนฟังกลับไปยังโลกแห่งความเป็นสากลอีกครั้ง…คีย์สำคัญคือความกลมกลืน

“รางวัลแด่คนช่างฝัน เป็นเพลงบังคับของการประกวด ซึ่งก่อนจะออกมาเป็นเพลงในแบบของพวกเราจะแชร์ความคิดเห็นกันก่อน แล้วก็ปรึกษากันว่าจะทำเพลงแนวนี้ไหม หรือทำแบบนี้ไหม เพลงของพวกเราทำออกมาเป็นดิสโก้ ฟังก์ โซล จังหวะสนุกสนาน สมกับความบ้าบิ่นของวง และอยากให้ทุกคนสนุกไปกับพวกเราด้วย” – วง RO. Mens (กรุงเทพฯ)

ความท้าทายของคนทำเพลงมาประกวดอยู่ที่การคิดและสร้างสรรค์ การทำ(เล่นดนตรีออกมา)ให้ได้ตามจินตนาการ และยังต้องบริหารจัดการเวลาในการซ้อมความพร้อมของวงให้ได้ในเวลาที่จำกัดด้วย เพื่อนำเสนอเพลงที่กลั่นกรองมาก่อนเป็นอย่างดีนั้น เพียงแค่เราได้ยินเพลงเพราะๆ ของวงบนเวทีประกวด แม้จะเป็นเพียงไม่กี่นาทีซึ่งเป็นธรรมดาที่การประกวดแข่งขัน…ก็ต้องเกิดการตัดสิน วงต้องทำงานกันมาอย่างหนักทั้งแบบงานเดี่ยวในส่วนการเล่นดนตรีของแต่ละคนและยังมีงานกลุ่มของวงที่ทุกคนต้องพาเพลงนี้ดำเนินไปให้ได้อย่างราบรื่นอีกด้วย

วงโนบิร็อง จากลพบุรี เล่าถึงการทำงานในแบบที่มีการวางแผนจากความเชี่ยวชาญของสมาชิกแต่ละคนในวงเป็นสำคัญ “สมาชิกแต่ละคนจะมีความสามารถไม่เหมือนกัน บางคนถนัดแจ๊สก็ทำมาท่อนนึง บางคนถนัดฟังก์ก็มาอีกท่อนนึง แล้วเราก็เอามาแชร์กัน ท่อนนี้ใส่รวมกับเครื่องดนตรีนี้ได้ไหม ลองเล่นดูว่ามันออกมาดีไหม สุดท้ายก็ปรึกษากันว่าสรุปแล้ว อยากทำเพลงยังไง แล้วช่วยกันตัดสินใจทำเพลงออกมา เรามีเวลาซ้อมน้อย อาจจะมีรั่วๆ  ไหลๆ ผิดพลาดบ้าง แต่เราก็ทำเต็มที่”

“เรามีคุณครูของเราเป็นคนดูแลเรื่องของการทำเพลงหมดเลย ใส่ความเป็นสไตล์เพลงแนวแจ๊ส บลูส์ เข้าไป” – วงลีลาวดีวงเด็กวัด (อุทัยธานี)

เพลงเดิม ไม่เหมือนเพลงเดิม

เพลงของพวกเขามีความเฉพาะตัว การสร้างอัตลักษณ์และแสดงมันออกมาให้ได้อย่างโดดเด่นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย แต่บนเวทีแห่งนี้แต่ละวงต่างต้องทำให้ดีที่สุด

ใครจะคิด ว่าเราจะได้ฟัง “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ในแบบแร็ปๆ กันด้วยจากเวทีนี้ “เราคิดจะลองทำท่อนแร็ปดู” วง Rapid Cluster จากกรุงเทพฯ เล่าถึงความคิดเบื้องหลังเพลงนี้ในแบบของพวกเขา “แต่พอคิดว่าควรให้เกียรติกับคุณจรัญ มโนเพ็ชร ศิลปินเจ้าของเพลงด้วย ก็เลยทำเพลงเป็นแร็ปภาษาเหนือ…ใส่ภาษาเหนือลงไปด้วยในเพลง ให้มีเนื้อร้องประมาณว่าถึงเฮาจะเจ็บ จะทุกข์จะฮ้อนกับความเดือดร้อน… แล้วถึงค่อยไปเชื่อมเข้าเพลงท่อน ‘บนทางเดินที่มีขวากหนาม’ ในคำร้องแบบดั้งเดิม”

“เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน วงเราเลือกเล่นเป็นแนวแจ๊ส–ฟังก์ ซึ่งจริงๆ แล้วตามระดับมัธยมไม่ค่อยมีเล่นกัน เราก็ลองที่จะทำแนวเพลงนี้ดู เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองเล่นอะไรใหม่ๆ ” – วงกุลสตรี (กาฬสินธุ์)

สองวงในอีกหลายๆ วงของการประกวดนี้ เลือกที่จะใส่กลิ่นอายรากเหง้าของความเป็นชนบทที่พวกเขาผูกพันลงไปด้วยการใช้ดนตรีแนว “ลูกทุ่งลูกผสม”

“เพลงรางวัลแด่คนช่างฝันของวงเรา นำดนตรีแบบ disco funk และแนวเพลงละตินมาใส่ในเพลงด้วย” วง WS Band จากลพบุรี สารภาพไอเดียที่พวกเขาตั้งใจและยังผสมความเป็นโซลเข้าไปอีก วงตั้งใจให้เพลงสร้างกำลังใจจึงถ่ายทอดออกมาในแนวสนุกสนาน เพิ่มเพอร์คัชชันเข้าไปเพื่อให้เพลงยิ่งมีสีสัน

ในขณะที่ วง Go On Band จากกำแพงเพชรใช้สไตล์คันทรีผสมละติน ให้กลิ่นอายที่แตกต่างไปอีกแนว “ตั้งใจว่าจะทำออกมาให้เป็นแนวเพลง country จ๋าๆ เลย แต่พอไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์สุธีรัชสิน จันทร์แย้มธรา ที่เป็นผู้เรียบเรียงเพลงให้เราได้แนะนำและปรับให้เป็นแนวละติน เนื่องจากอีกเพลงที่เราเล่นมีกลิ่นอายเพื่อชีวิตอยู่แล้ว ในเพลงนี้ก็ควรปรับให้รู้สึกสนุกขึ้น ให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น แตกต่างจากเพลงดั้งเดิม อีกอย่างหนึ่งแนวเพลงละตินนักดนตรีจะได้แสดงฝีมือมากขึ้นด้วย”

คนฟังได้เพลงฟังแบบใหม่ๆ…คนเล่นได้ประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร เหมือนอย่างที่วง ASAP จากนครปฐมรู้สึกและสัมผัสได้ “เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน วงตั้งใจที่จะเรียบเรียงใหม่ให้เพลงโชว์เกี่ยวกับความเป็นแบนด์ ความเป็นดนตรีของวง และมันจะมีท่อนแร็ปเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้แร็ปกับดนตรีสด การฟอร์มวงเพื่อมาประกวดครั้งนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่ได้มาล้วนๆ”

เพลงพลังบวก

แน่นอนว่าเนื้อหาของเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน มีความหมายให้กำลังใจ หลายวงในการประกวด THE POWER BAND จึงใช้เพลงนี้ให้กำลังใจกัน…ส่งต่อพลังสู่คนฟัง และยังได้ใช้ให้กำลังใจตัวเองกันด้วย

เพลงนี้เป็นผลงานที่แต่งคำร้อง ทำนองและร้องโดยคุณจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งเป็นอีกเพลงที่ได้รับความนิยมเรื่อยมา มีเนื้อหาไพเราะ มีทำนองที่จับใจ อีกนัยหนึ่งศิลปินเจ้าของเพลงได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงที่สังคมมีความยุ่งยากเกิดขึ้น เป็นเพลงที่มีพลัง ให้ความรู้สึกที่จริงใจและเสียสละ…ทำเพื่อผู้อื่น การตั้งโจทย์ของเวที THE POWER BAND สร้างให้เกิด “คัฟเวอร์เวอร์ชัน” อย่างไม่สิ้นสุด ทั้งที่เพลงนี้เป็นบทเพลงที่ถูกนำไป “สร้างสรรค์ใหม่” แบบเรียกว่ามากที่สุดเพลงหนึ่งอยู่แล้วก็ตาม

“พวกเราให้ครูช่วยเยอะมาก ด้วยความที่วงดนตรีในโรงเรียนน้อย แล้วเราต้องเพิ่มเครื่องเป่าด้วย เราก็เลยต้องให้ครูช่วย ให้ครูเขียนโน้ตให้ เราก็ไม่คุ้นในแนวเพลงนี้ เพราะปกติเราไม่เล่นเพลงช้ากันอยู่แล้ว” – วง KLW Band (ศรีสะเกษ)

“เพลงนี้เรามาอะเรนจ์ใหม่ให้ช้าลงค่ะ วงเราไม่เคยเล่นเพลงช้าเลย นี่จะเป็นเวทีแรกที่พวกเราเล่นเพลงช้ากันจริงๆ” – วง อบจ. Studio (กำแพงเพชร)

เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน ในแบบไม่ซ้ำแนวเพลง

• ร้องโดย ศุ บุญเลี้ยง ในอัลบั้ม “แรงใจไฟฝัน”
• ร้องโดย สุนารี ราชสีมา และ หงา คาราวาน ในอัลบั้ม “บันทึกชีวิต สุนารี”
• ร้องโดย นันทิดา แก้วบัวสาย ในอัลบั้ม “ดาวร้อยเดือน”
• ร้องโดย ภูสมิง หน่อสวรรค์ ในอัลบั้ม “ความหมายใหม่จากความในใจ”
• ร้องโดย ตุ๊ก บราสเซอรี่ ในอัลบั้ม “20 ศิลปินล้านนา”
• ร้องโดย นรีกระจ่าง คันธมาส ในอัลบัม “COCO JAZZ”
• ร้องโดย สุนทรี เวชานนท์ ในอัลบั้ม “แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน”
• และยังมีอีกหลายๆ เวอร์ชัน รวมทั้งในแบบเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ

“ด้วยสถานการณ์ในช่วงนี้ที่หลายๆ คนเหนื่อยและหมดหวัง ผมก็อยากเป็นตัวแทนของการให้กำลังใจด้วยเพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน สู้ๆนะครับ” – วง Sixth Floor (กรุงเทพฯ)

“ตอนแรกวางไว้เป็นแนวแจ๊ส แต่ไปๆ มาๆ ก็เอาแนวอื่นมาใส่ด้วยอย่างเร็กเก้ ยิปซี ป็อป กรู๊ฟ… หลายแนวมาก แต่รวมออกมาได้เป็นแนวของพวกเราพอดี ที่จริงเราไม่ได้จำกัดแนวเพลงกัน ในวงใครชอบอะไร ก็ช่วยกันเติมแต่ง และมองไปจุดเดียวกัน เพื่อให้มันเพอร์เฟกต์ที่สุดเท่าที่จะทำได้” – วงนัด 9 มา 10 ซาวด์เช็คเสร็จกินข้าวก่อน (กรุงเทพฯ)

เรื่องราวระหว่างบรรทัดและตัวโน้ต รวมถึงการเตรียมพร้อมมา “แข่ง” ของพวกเขาแต่ละวงนั้น ก็ไม่ซ้ำกันเลยเช่นกัน อย่าง วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง จากนครปฐม ถ่ายทอดว่านี่เป็นการทำงานเพลงในแบบที่พวกเขาต้องมาทำความรู้จักตั้งแต่เริ่มต้น เพลงต้นฉบับที่เขียนขึ้นในปีพ.ศ.2527 พวกเขาไม่เคยฟังมาก่อน อาจรู้จักเพียงแค่เคยได้ยินจากที่คนรุ่นพ่อแม่เปิดฟังเท่านั้น แต่ก็ใช้ความจริงใจในการทำงานออกมา

“ความท้าทายของการทำเพลงที่ไม่เคยฟังก็คือ เราไม่ถูกจำกัดว่าเพลงนี้มันต้องเป็นยังไง ช่องว่างระหว่างเพลงกับวัยเราก็กว้างมาก จนทำให้เราเต็มที่ได้โดยไม่ต้องรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ทำเพลงให้ชิคได้โดยไม่ต้องคิดมากกับธรรมเนียมเก่าๆ เพลงของวงเราเลยค่อนข้างจะไปทางสนุกมากกว่า” ด้วยความที่วงมีพื้นฐานเป็นแจ๊ส พวกเขาเลยตั้งต้นที่แนวเพลงดังกล่าวแล้วใช้กีตาร์เป็นตัวเปิดนำ “จากนั้นเราก็กระโจนลงไปเล่นด้วยกัน ขยายความเพลงออกไปในรูปแบบคล้าย mind map ไปจนจบเพลง เหมือนจะเป็นอิสระแต่มันก็มีแบบแผนของมันตามลักษณะของเพลงแจ๊ส” ให้เล่นซ้ำอีก พวกเขาก็ว่าเพลงจะยังเพราะแต่ให้ความรู้สึกที่ต่างไป…ไม่เหมือนเดิม เพราะนั่นเป็นความเฉพาะตัวที่วงใส่ลงไปในเพลงของพวกเขา

ต่างไปจากเพลงในแบบของวง SRV Hub จากกรุงเทพฯ ที่เลือกทำดนตรีในกลิ่นอายที่วงชื่นชอบ “ตอนที่เราส่งเดโมรอบคัดเลือกมาที่ THE POWER BAND นักร้องของเราร้องเพลง Stay with me ที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น เราเลยเกิดไอเดียที่อยากจะทำให้เพลงรางวัลแด่คนช่างฝันในแบบของเรามีกลิ่นอายคล้ายๆ กับเพลงนั้น”

พื้นที่ของการประกวด THE POWER BAND ตั้งใจที่จะเป็น “เวที” ในการ “ปล่อยของ” เทความสามารถทางด้านดนตรีออกมาประชันกัน ทั้งวงต้องใส่ความเป็นตัวตนลงไปในเพลงและดนตรีของพวกเขา ถือได้ว่าเป็นเวทีที่จะได้เห็นฝีมือของการสร้างสรรค์ดนตรีจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีมือในการ “ทำเพลง” ด้วยโจทย์สำคัญดังกล่าว

ดูเหมือนพวกเขาจะมีเป้าหมายเดียวกัน ที่ไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นการได้เล่นดนตรีที่พวกเขารัก…ในสไตล์ของตัวเองสำหรับแต่ละวงมากกว่า เพื่อให้พวกเขาได้ฝัน และได้ “เดินทางไปอย่าหวั่นไหวใครขวางกั้น…” นั่นเอง

 

ติดตามเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันใน 20 เวอร์ชัน จากผลงานของทั้ง 20 วงผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ พร้อมกับเอาใจช่วยพวกเขาที่การประกวด THE POWER BAND รอบ FINAL ในวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ทาง  https://www.facebook.com/kingpowerthaipower

 

 

อยากรู้! ใครบ้างผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

ระดับมัธยมศึกษา (Class  F)

1. The Bugle Band โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก

2. RO. Mens โรงเรียนวัดราชโอรส

3. I Love Wednesday Gen.1 โรงเรียนโยธินบูรณะ

4. Horwang Music Academy โรงเรียนหอวัง

5. Sixth Floor โรงเรียนเทพศิรินทร์

6. DSR BAND โรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้า

7. ASAP โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

8. Pham โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2

9. นัด 9 มา 10 ซาวน์เช็คเสร็จกินข้าวก่อน
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)

10. ลลิต โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย

 

บุคคลทั่วไป (Class E) ไม่จำกัดอายุและสัญชาติ

1. ถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง จ.นครปฐม

2. Power Buy จ.นครปฐม

3. ภาฬ (Paraa) จ.เชียงใหม่

4. D Sound จ.นครปฐม

5. WS BAND จ.ลพบุรี

6. Go On Band จ.กำแพงเพชร

7. Gusto Band กรุงเทพมหานคร

8. Rapid Cluster กรุงเทพมหานคร

9. SRV Hub กรุงเทพมหานคร

10. Yosy & Co. กรุงเทพมหานคร

Author

ทีม Writaholic

Author

ทีมมดแห่งวงการนักเขียนและคนทำ content จากแวดวงคนทำมีเดียและหนังสือ มารวมตัวกันแบบตั้งใจบ้างโดยบังเอิญบ้าง รู้แต่ว่า “ขยันเขียน” และ ช่าง “หาเรื่อง”

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ