Passion

ตั้ม – อภิวัฒน์ ไพรสน
ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยฟุตบอล

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 1 Mar 2022
Views: 505

ถนนสู่การเป็นนักบอลอาชีพของ ตั้ม – อภิวัฒน์ ไพรสน ศูนย์หน้าความหวังใหม่ของสมุทรปราการ เอฟซี ที่ยืนหยัดฝ่าคลื่นลมในไทยลีกมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ไม่ใช่เรื่องง่าย

เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะรุ่นจิ๋วจากเพชรบูรณ์ ที่ลุยเดี่ยวสู้เพื่อเข้าสู่ทีมเยาวชนเลื่องชื่อแห่งเมืองปากน้ำโพ ก่อนจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ FOX HUNT รุ่นที่ 3 พร้อมคว้าโอกาสได้เดินทางไปศึกษาและฝึกฝนทักษะฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษกับเลสเตอร์ ซิตี้ ที่เจ้าตัวบอกกับตัวเองและทุกคนเสมอว่าเป็นสิ่งที่ “ยิ่งกว่าฝันที่เป็นจริง”

 

ตั้ม ฉายแววความเป็นนักเตะฝีเท้าดีตั้งแต่ยังเด็ก การเตะบอลเล่นๆ เพื่อความสนุกของเขา โดดเด่นจนรุ่นพี่ชวนไปร่วมทีมเตะข้ามรุ่น..ไกลหลายปี

“ตอน 10 ขวบมีรุ่นพี่เขาชวนไปเล่นบอล เดินสายแข่งบอลอะไรแบบนี้ครับ แต่ตอนนั้นโรงเรียนที่เพชรบูรณ์ (บ้านเกิด) ไม่มีรุ่นเด็ก พ่อกับแม่ผมก็เป็นห่วง เขาไม่อยากให้ไปเล่นกับผู้ใหญ่ เพราะเล่นแรง เราอาจจะโดนเขาเตะขาหักก็ได้ อาจจะหมดอนาคต ผู้ใหญ่ก็เลยยังไม่ให้ไป แต่ผมก็ดื้อไป หลังจากนั้นผมก็รอเวลาต่อมาเรื่อยๆ จนเมื่อตอนอายุ 13 ย่าง 14 ผมไปคัดตัวที่นครสวรรค์ ที่อะคาเดมีของโรงเรียนเทศบาลวัดจอมคีรีนาคพรต ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของนครสวรรค์ เอฟซี ผมคัดตัวผ่านและเรียนที่นี่อยู่ 2 ปี”

“สำหรับผม การเป็น FOX HUNT คือครอบครัว เวลามีปัญหาอะไรรุ่นพี่ก็คอยช่วยเหลือตลอด แนะนำ ชี้แนวทาง สิ่งที่ได้รับมาจึงไม่ได้มีแค่ฟุตบอล แต่เขายังสอนถึงเรื่องการใช้ชีวิต ความมีระเบียบวินัย การกินอาหาร การดูแลร่างกาย มีจุดอ่อน ก็สามารถคุยกับโค้ชว่าเราต้องพัฒนาตรงไหน”

อภิวัฒน์ ไพรสน FOX HUNT รุ่น 3

 

ถึงจะประสบความสำเร็จขั้นแรกกับการได้เป็นหนึ่งในอะคาเดมีชื่อดังประจำภูมิภาค ก็ยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกหลายด่านที่รอให้ตั้มบุกตะลุย ตั้มคงเป็นผู้เข้าแข่งขันระดับท็อป

“ตอนที่อยู่อะคาเดมี ผมจะได้เงินจากการไปแข่ง ซึ่งได้เป็นเบี้ยเลี้ยง เลยช่วยพ่อกับแม่เก็บเงินนี้ไว้ซื้อรองเท้าสตั๊ด ตอนนั้นพ่อแม่ผมทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมัน แต่ด้วยความแห้งแล้ง ปลูกข้าว ปลูกอ้อยไม่ดี แม่ก็เลยต้องไปรับจ้างที่ชลบุรีเพื่อส่งผมเรียน ตอนนั้นผมร้องไห้เลย ไม่อยากให้พ่อกับแม่อยู่ห่างกัน ด้วยความเป็นเด็ก เราก็กลัวว่าเขาจะเลิกกัน ก็เลยให้แม่บอกพ่อให้ไปทำงานที่ชลบุรีด้วย พ่อกับแม่ก็เลยมาทำงานที่นั่นด้วยกัน ส่วนผมอยู่คนเดียวที่นครสวรรค์”

โรงเรียนเทศบาลวัดจอมคีรีนาคพรต ด่านแรกที่เจียระไนความเป็นศูนย์หน้ารุ่นเยาว์ให้เริ่มแวววาว

“ชีวิตในโรงเรียนก็ได้รับการต้อนรับที่ดีจากคุณครู ทำให้เรารู้สึกดีในการเรียน ทุกวันหลังเลิกเรียนประมาณบ่าย 3 โมง ก็ไปซ้อมบอล ตอนนั้นรู้สึกว่าเราต้องแข่งกับตัวเองให้ได้ เราต้องบังคับตัวเองให้ได้ เพราะมันไม่เหมือนกับการอยู่บ้าน ต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่นครสวรรค์เขาฝึกเรื่องวินัย ทัศนคติ ความคิด เปลี่ยนจากเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ เราจะงอแงเหมือนอยู่ที่บ้านไม่ได้ ต้องดูแลตัวเองให้ได้

อาจจะมีอุปสรรคเรื่องการเรียน การที่เรามีภารกิจไปแข่งทำให้ไม่ค่อยได้เข้าเรียน ไม่ได้ทำงานส่ง ต้องกลับมาไล่ทำ อาจารย์ก็ช่วย เพื่อนก็ช่วยแนะนำ ให้พวกผมไปจับกลุ่มกัน หลายคนช่วยซื้อของมาให้ ช่วยตามงาน มันยุ่งแต่ผมไม่ท้อ เราซ้อมและแข่งจนกระทั่งตอนอายุ 14 ทีมผมก็ได้แชมป์กรมพละ มันเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานหนักต่อไป จนต่อมาได้แชมป์ กกท. ถ้วยภาค ไปแข่งรอบระดับประเทศ ที่ถึงแม้จะตกรอบ 8 ทีม แต่ผมก็ได้ประสบการณ์กลับมาเยอะ”

 

King Power Cup จุดลับฝีมือด่านต่อมา ที่เกือบดับกำลังใจนักเตะน้องใหม่คนนี้ซะแล้ว

“หลังจากนั้นอาจารย์ส่งผมไปแข่งรายการ King Power Cup ครั้งแรกของประเทศไทย ตอนนั้นทั้งทีมอายุ 14 แต่รุ่นการแข่งขันเริ่มตั้งแต่ 15 ปี ผมแบกอายุแข่งกับทีมรุ่นโตกว่า แต่ก็ทำได้ถึงที่ 3 ของระดับประเทศ ได้เป็นตัวแทนภาคเหนือ ตอนนั้นผมยังคิดว่าไม่น่าจะไปถึงขนาดนั้น ด้วยความที่ทีมเราเป็นเด็กไปเจอรุ่นพี่ แต่อาจารย์สนอง (ผู้ฝึกสอน) ปลุกใจให้สู้ทุกวินาที และในสนามแข่งพวกเราก็สู้อย่างนั้นจริงๆ

“จากการแข่งขันรายการนั้นทำให้ผมติดเข้าไปรอบ 33 คน ของ Fox Hunt รุ่นที่ 2 ตอนนั้นโค้ชซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็น Brand Ambassador ผมมีโอกาสได้เจอทีมชาติ ตื่นเต้นมาก ไม่คิดว่าจะได้ซ้อมกับโค้ชซิโก้ แล้วความฝันของผมก็หยุดอยู่แค่นั้น ตอนนั้นผมก็หวังนิดๆ ว่าผมจะติดไปอังกฤษ แต่พอไม่ติด มันก็ผิดหวังนะ แล้วผมก็กลับมานั่งคิดว่ามันยากมากกว่าที่เราจะเข้าไปถึงจุดนั้น จุดที่เป็น 33 คนสุดท้าย หลังจากนั้นก็กลับมาคิดทบทวนว่าเราควรพัฒนาตรงไหน และผมก็พัฒนาตัวเอง”

 

ความผิดหวังคือแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ในใจตั้ม ที่หมายมั่นจะพาทีมโรงเรียนไปสู่ชัยชนะ แต่น่าเสียดายที่เขาต้องอกหักอีกครั้ง

“ตอนอายุ 15 ผมได้ลงแข่ง King Power Cup อีกครั้ง ตอนนี้ผมลงแข่งแบบเต็มรุ่น แต่มันเป็นช่วงที่เด็กเริ่มเข้าวัยรุ่น ก็จะมีเพื่อนที่ดื้อ ไม่ฟังโค้ช

ตอนนั้นตัวผมเองยังคิดในใจว่าเราจะไปได้ถึงไหน ด้วยสภาพทีมที่ไม่เหมือนปีที่แล้ว ตอนอายุ 14 ทุกคนเล่นด้วยใจนักสู้ แต่พอเข้าช่วงอายุ 15 หลายคนในทีมเริ่มดื้อ เถลไถล นอกลู่นอกทาง ผมไปแข่งด้วยความมุ่งมั่นว่าจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ด้วยฟุตบอลที่ต้องเล่นเป็นทีม เราก็ไปบังคับความคิดเพื่อนไม่ได้ จะไปบังคับให้เขามาเล่นฟุตบอลไม่ได้ ผมทำได้แค่มุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเอง พัฒนาตัวเองให้ดีที่สุดก็พอ ทำหน้าที่ตามอาจารย์จะจัดโปรแกรมให้ วันไหนมีซ้อมผมก็จะตื่นตี 5 มาวอร์มร่างกายรอ ซ้อมวิ่ง วิ่งทุกอย่างทั้งจับเวลา วิ่งสปีด วิ่งขึ้นลงบันได เป็นแนวทางการซ้อมของอาจารย์ ที่ทำให้ผมเป็นศูนย์หน้าที่คล่องแคล่ว แต่ถ้าวันไหนไม่มีซ้อมผมก็ลงมาวิ่งเอง

“ไม่น่าเชื่อการแข่งครั้งนั้น ผมจะมาได้ถึงอันดับที่ 4 ระดับประเทศ ลึกๆ ตอนนั้นอาจารย์ก็คงหวังจะได้แชมป์ ผมก็อยากได้ แต่ทีมเราไม่พร้อมเลย ไหนจะมีคนติดโทษแบน เลยทำให้ทีมขาดผู้เล่น ยังดีที่ประคองกันมาได้ด้วยความทุลักทุเล ตอนนั้นคือโล่งอก แล้วก็แอบหวังนิดๆ ว่ารายชื่อ 33 คนสำหรับ FOX HUNT รุ่น 3 น่าจะมีเรา ผมหวังด้วยความที่ว่าเคยติดเมื่อปีที่ก่อน แล้วก็ติดจริงๆ ผมมาเป็นคนที่ 33 เลย

“ก็ต้องไปเข้าแคมป์ 5 วัน 4 คืน แล้วยังมีการลงทีมเพื่อโชว์ฝีเท้าของตัวเองว่าเรามีดีแค่ไหน ตอนนั้นผมได้ยินว่าเขาจะเอาไปแค่ 10 คน เหลือโควตาเท่านั้น…โจทย์มันยากขึ้น ผมก็พยายามทำงานหนัก โชว์ให้เข้าตา ผมเดิมพันทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ที่เหลือคือรอ ว่าจะไปต่อหรือจะหมดหวังกับฟุตบอลไหม ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าได้มันก็จะดีกับครอบครัว ถ้าไม่ได้ก็ต้องกลับมาเรียนแล้วก็วางแผนอนาคตของการจบ ม. 6 ว่าจะเป็นอย่างไร”

 

FOX HUNT รุ่น 3 ในที่สุดความฝันก็ได้รับการเติมเต็ม

“จำได้เลยว่า ตอนที่เขาประกาศผล ผมนั่งกินข้าวอยู่กับตั้น (ศิริมงคล รัตนภูมิ) ที่โรงเรียน ตอนนั้นทีมผมเข้ารอบคัดเลือก 4 คน แล้ว บูม – วรโชติ เรืองรำหัส วิ่งมาบอกว่าได้แล้ว พวกเราติดไปอังกฤษกัน 3 คน ตอนนั้นดีใจจนไม่เป็นอันกินข้าวเลย โทรศัพท์กลับบ้านเลย พ่อกับแม่เขาก็บอกว่าดีใจด้วย ให้ตั้งใจให้ถึงที่สุด ไปให้สุด ผมภูมิใจว่าเดินในสายฟุตบอลอาชีพได้อีกก้าวหนึ่ง และคิดว่าน่าจะดีกับพ่อแม่ด้วย เขาให้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ให้ทุนในการฝึกซ้อม ให้ทุกอย่าง ค่าขนมเขาก็ให้ แม้กระทั่งรองเท้าสตั๊ดเขาก็ให้ ผมไปแต่ตัว นับจากนี้พ่อกับแม่ผมก็ไม่ต้องไปหาเงินซื้อรองเท้าให้อีกแล้ว พอผมได้รับทุนก็ช่วยแบ่งเบาภาระเขาไป ผมไม่ได้ขอเงินพ่อกับแม่อีกเลยตั้งแต่อายุ 17

“ตอนก่อนจะไปอังกฤษผมก็จินตนาการแบบเด็กๆ นะ ว่าสนามซ้อมต้องดีอย่างนั้น บรรยากาศดีอย่างนี้ แต่พอไปถึงแล้วมันดีกว่าที่จินตนาการไว้เสียอีก การที่ได้มาซ้อมในสนามฟุตบอลดีๆ ของอังกฤษ ได้เดินเข้ามาในโรงยิมดีๆ ได้เห็นซูเปอร์สตาร์ มันเป็นความฝันที่ผมคิดไปไม่ถึงว่าจะได้มาเห็นแบบนี้ เราได้เข้าไปนั่งดูการแข่งขันพรีเมียร์ลีกสดๆ ข้างสนามบอล จากที่เคยดูแต่จากจอโทรทัศน์ ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดี และช่วยเติมเต็มความฝันของผม

“สำหรับผมการเป็น FOX HUNT คือครอบครัว เวลามีปัญหาอะไรรุ่นพี่ก็คอยช่วยเหลือตลอด ช่วยบอก แนะนำ ชี้แนวทาง เขาอยู่มาก่อนเขาก็แนะนำการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำเรื่องการปรับตัว เขาก็ต้อนรับด้วยความจริงใจ โค้ชที่โน่นก็ช่วยเราด้วย สิ่งที่ได้มาไม่ได้มีแค่ฟุตบอล แต่เขาสอนยังถึงเรื่องการใช้ชีวิต ความมีระเบียบวินัย ไปจนถึงเรื่องการกินอาหาร เรื่องการดูแลร่างกาย ถ้าเรามีจุดอ่อน ก็สามารถคุยกับโค้ชว่าเราต้องพัฒนาตรงไหน อย่างเช่น ผมวิ่งเร็วแต่ไม่บาลานซ์ ผมก็ต้องมาฝึกเรื่องบาลานซ์ ขอโปรแกรมจากโค้ชมาซ้อม อย่างวิ่งเร็วโดนฝรั่งมาชนผมเซ คือเขาร่างกายดี ผมก็ต้องมาสร้างร่างกายให้ดีด้วย

เก็บเกี่ยวช่วงเวลาสำคัญ สู่การเป็นนักเตะอาชีพสมดังใจหวัง

“ผมคิดว่าประสบการณ์ที่เลสเตอร์เปลี่ยนตัวตนของผม ทำให้ผมเป็นตัวเองมากขึ้น ไปอยู่ที่โน่นทำให้รู้ว่าเราทำอะไรได้มากกว่าที่เคยคิด แล้วผมเอาเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับทีมสมุทรปราการ เอฟซีครับ

“ตอนที่ผมไม่ได้ลงเล่น ผมไปคุยกับผู้ช่วยว่า ผมเล่นตำแหน่งไหนก็ได้ ขอให้ผมได้ลงเล่น ผมมาที่นี่เพื่อเล่น ตอนนั้นเขาก็จับผมไปเล่นทั้งแบ็กซ้าย แบ็กขวา ผมก็เล่นได้ แต่การที่ไม่เคยเล่นมันก็จะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็เป็นผลดีกับตัวเอง เพราะผมมีโอกาสได้ลงเล่น ถ้าผมไปอยู่ทีมที่มีกองหน้า 4-5 คน แล้วต้องเป็นตัวเลือกที่ 6 ของกองหน้า ผมขอเป็นตัวเลือกที่ 2 ของแบ็กขวาดีกว่า

ถึงตอนนี้แม้สถานการณ์ในทีมยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทุกคนก็ยังใจมาเต็มที่ สำหรับผมขอแค่ให้ได้ลงแข่ง ได้ลงเล่นเพื่อพัฒนาฝีมือ และที่สมุทรปราการ เอฟซีให้โอกาสกับผม และผมพยายามทำงานหนัก เพื่อให้มีพัฒนาการเข้ากับทีม เพื่อผลงานที่ดีที่สุดของทีม เพื่อความเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ผมใฝฝันมาตลอด”

 

ทำความรู้จัก อภิวัฒน์ ไพรสน เพิ่มเติม

ตำแหน่ง: กองหน้าตัวริมเส้น

ถนัดเท้า: ขวา

อีกหนึ่งความทรงจำจากอังกฤษ:  “ที่โรงเรียนต้องใส่เครื่องแบบเป็นชุดสูท วันแรกผมเดินไปหาเพื่อนเลยครับว่า เนกไทผูกอย่างไร พอผูกได้ผมก็ถอดแบบไม่ให้หลุด พอต้องเอาไปซักผมก็เอาเนกไทอีกเส้นมาให้เพื่อนสอนผูกใหม่”

นักบอลในดวงใจ: เจสซี ลินการ์ด …เขาเป็นนักเตะที่ผมชื่นชอบ เขาสู้ชีวิต ไต่เต้าจากนักเตะอะคาเดมีมาเป็นผู้เล่นตัวจริง และถึงไม่ได้ลงเล่นแต่ก็ไม่ท้อ กล้าที่จะตัดสินใจออกจากแมนเชสเตอร์ เพื่อไปพิสูจน์ตัวเองกับสโมสรอื่น ผมมองลินการ์ดเหมือนตัวผมที่ต้องแสดงศักยภาพเพื่อหาโอกาสในการลงเล่นในสนาม”

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน