Playground

จาก “ไร้ค่า” กลายเป็น “รายได้”
ด้วยพลังผู้คนชุมชนคลองบางไทร

ศรัณย์ เสมาทอง 6 Aug 2021
Views: 986

“มันเยอะมากจริงๆ” คุณยายลั้ง คนเก่าคนแก่ของชุมชนนี้เอ่ยขึ้นมา เรื่องนี้ไม่ต้องไปหาข้อพิสูจน์จากที่ไหนไกล เพราะในคลองบางไทรที่ไหลผ่านชุมชนของยายมีผักตบชวาเจริญงอกงามลอยฟ่องบนผิวน้ำสีเขียวสุดลูกหูลูกตา เป็นวัชพืชที่ชาวบ้านถอดใจ เก็บอย่างไรก็ไม่มีวันหมด 

“คนอื่นเห็นผักตบชวาไม่มีค่า แต่สำหรับยายมันมีค่ามากเลย” พูดพลางยิ้มมีความสุข…อะไรกันยาย?!?

ก็แค่วัชพืช คลองบางไทร

ภาพจำของผู้คนในตำบลไทรงาม อำเภอบางเลน…อำเภอที่อยู่ริมขอบที่สุดของจังหวัดนครปฐมต่อเนื่องกับเขตของจังหวัดอยุธยา ก็คือแพผักตบชวาอัดแน่นในคลองบางไทร กำจัดอย่างไรก็ไม่หมดไปเสียที 

จากคลองส่งน้ำที่เคยใช้เป็นเส้นทางคมนาคมก็กลายเป็นแปลงปลูกวัชพืชที่แสนอุดม แต่หลังจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่าผักตบชวาสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง คุณยายลั้ง อ่อนสมกิจ ก็เกิดแรงบันดาลใจลงไปตัดผักตบชวามาตากแห้ง แล้วลองพลิกแพลงสานเป็นข้าวของเครื่องใช้ มีทั้งกระจาด กระเป๋า ทำเองใช้เองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 

เมื่อเห็นว่าของที่ทำขึ้นนั้นดีพอก็สะพายกระเป๋าหิ้วตะกร้าไปเดินเร่ขาย เริ่มจากพื้นที่ใกล้ๆ ในอำเภอบางเลนนั่นเอง “เขาก็ว่า โอ๊ย ใครเขาจะซื้อผักตบชวา ลอยน้ำไปลอยน้ำมา เอามาทำกระเป๋าแล้วใครเขาจะสะพาย” จากคำสบประมาทในวันนั้น ยายก็ชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันผลิต จนวันนี้กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมพื้นบ้านผักตบชวาไปแล้ว

ผักตบรวมพลังทั้งตำบล

ผักตบชวาเป็นพืชน้ำที่เมื่อนำมาตากแห้งจะมีสีสวยเหมือนไม้ ช่วงที่ยังไม่แห้งดีนักจะสามารถนำมาทำหัตถกรรมจักสานได้ ดัดได้ และขึ้นเป็นรูปทรงได้ จากนั้นนำไปตากหรืออบให้แห้งก็จะแข็งอยู่ทรง 

คนในชุมชนไทรงามนำมาทำผลิตภัณฑ์เป็นร้อยๆ แบบ เช่น กระเป๋า ตะกร้า กระจาด กล่องเก็บของ ที่ใส่กระดาษชำระ… แต่ที่ดูจะเป็นของต้องตาตลาด เห็นจะเป็นกระเป๋าที่หลายคนเคยบอกว่า “ใครเขาจะสะพาย?” นั่นล่ะ

“กระเป๋าแต่ละใบใช้คนทำเยอะนะ” กันดา สระทองแยง ประธานวิสาหกิจชุมชนพื้นบ้านผักตบชวา ลูกสาวคุณยายเล่าให้ฟัง “และต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน ถึงจะทำเสร็จเป็นกระเป๋าสักใบ” 

งานนี้…งานสานใส่ใจให้ออกมาได้เป็นกระเป๋าถือสวยๆ สักใบ หรือตะกร้าเก๋ๆ สักใบ เรียกว่าต้องแบ่งหน้าที่ทำทั้งชุมชนกันเลยล่ะ เริ่มจากคนตัดผักตบชวาที่วันหนึ่งลงไปลุยน้ำในคลองตัดเก็บได้เพียง 18 ฟ่อน ฟ่อนหนึ่งหนักประมาณ 1 กิโลกรัมเท่านั้น แล้วต้องมีคนนำไปตากแห้งกลางแดด ถ้าแดดดีๆ ก็มีสองวันถึงหนึ่งสัปดาห์ ถึงจะมาถึงมือคนคัดแยก จากนั้นก็ส่งต่อมายังคนสาน ใช้ฝีมือขั้นเทพที่ผ่านการถ่ายทอดจากยายลั้งรังสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานสวยๆ แต่กระนั้นก็ยังประสบปัญหา “เราผลิตสินค้าได้ เราพัฒนาได้ แต่ไม่มีที่ขาย!”

 

ต้องตาคนไทย ต้องใจฝรั่ง

แรกๆ ทำกันอยู่ในชุมชนก็มีผู้คนสนใจสั่งผลิตภัณฑ์มากมายจนทำแทบไม่ทัน พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ลูกค้าเริ่มหายไป แต่กำลังใจของชุมชนก็ยังคงอยู่ 

พี่กันดาได้นำกลุ่มเข้าจดทะเบียน OTOP เมื่อปี 2545 ทำการฝึกอบรมชาวบ้านและเยาวชนให้สืบทอดงานหัตถกรรมต่อไป พร้อมปรับรูปแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น สร้างจุดเด่นของให้กับงานสานผักตบชวาของที่นี่ คือ มีความเรียบร้อย ใส่ใจในรายละเอียด ชิ้นงานแข็งแรงและดีไซน์ที่ทันสมัยน่าใช้งาน แล้วเริ่มออกหาตลาดเพื่อกระจายสินค้าให้มากขึ้น

“เคยเอาสินค้าไปวางขายใน คิง เพาเวอร์ แล้วมีต่างชาติมายืนดูเราสานตะกร้า เขาชื่นชม เขารู้สึกว่างานหัตถกรรมที่เราทำอยู่มันยากมาก เขาดูเราด้วยความซาบซึ้ง ว่าคุณทำได้อย่างไร” ไม่ใช่เพียงชื่นชม แต่วันนั้นถึงขั้นแย่งซื้อกระเป๋ากันเลยทีเดียว ทางกลุ่มจึงมีกำลังใจอยากพัฒนางานให้ประณีตมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้นำความรู้เรื่องการกำจัดและป้องกันเชื้อราโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้กับผักตบชวา ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน “เพื่อให้สมกับที่ลูกค้าไว้วางในเราและชื่นชมว่าสินค้าของเราดี”

...คลองบางไทรไหลไปถึงมหาสมุทร

“ดูสิครับ นี่เงินทั้งนั้นเลย” คุณลุงชี้ให้ดูผักตบชวาที่กำลังตากอยู่ริมคลอง ใครจะเชื่อว่าสิ่งที่ดูไร้ค่าอย่างผักตบชวา เมื่อผ่านกระบวนการคิดอันสร้างสรรค์ผสานกับฝีมือของผู้คน สามารถพลิกปัญหาวัชพืชที่ลอยฟ่องเต็มลำคลองเกินกำลังกำจัด ให้กลับกลายเป็น ผักตบจำแลง หน้าตาเทรนดี้เป็นที่ต้องการตลาด สร้างอาชีพ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับชุมชน และเชื่อได้เลยว่างานจักสานผักตบชวาแฮนด์เมดจากคลองบางไทรที่มีการควบคุมคุณภาพทุกกระบวนการนี้ จะสร้างชื่อไปได้ไกลถึงอีกฟากฝั่งมหาสมุทรแน่นอน

ทุกวันนี้ คุณยายลั้ง แม่ของเจ้าของกิจการ Kuda ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์สวยงามเหล่านี้ ก็ยังนั่งถักนั่งสานอยู่เช่นเคย และเอ่ยกับผู้ที่ผ่านทางมาเสมอว่าอยากทำเป็นไหม เดี๋ยวยายสอนให้พลางยิ้มอย่างมีความสุข

 

หัตถกรรมพื้นบ้านผักตบชวา คลองบางไทร 

ที่ตั้ง : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านผักตบชวา 12 หมู่ 6 ต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม 73130

ติดต่อคุณกานดา โทร.0925253106

 

ปักหมุดจุดเช็คอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• ทุ่งบัวแดง ณ บางเลน…สระบัวกว้างใหญ่กว่า 44 ไร่ มีดอกบัวแดงสวยๆ ให้ชม 2 สายพันธุ์ บัวแดงพันธุ์ดั้งเดิม จะบานกลางคืนถึง 10.00 น. ส่วนบัวแดงมะเหมี่ยว ซึ่งจะบาน 8.00 น. ไปจนตะวันตกดิน อยากเห็นบัวบานครบสองสายพันธุ์ควรไปก่อน 10 โมง พร้อมของเด็ด “นกอีแซว” ราชินีนกน้ำที่หาดูยาก

• บ้านรังนก The Happy Nest…ตลาดสำหรับสายสุขภาพ เสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าแฮนด์เมดโดยผู้ผลิตที่ใส่ใจผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม มีโซน DIY ให้ลงมือทำผลิตภัณฑ์สนุกๆ ด้วย นำถุงผ้าและภาชนะใส่อาหารมาเองด้วยจะดีมาก

• เมืองมายา ณ หอภาพยนตร์ นครปฐม…สถานที่รวบรวมประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย มีอุปกรณ์ในการถ่ายหนัง ฟิล์ม หนังสือมากมาย มีหนังในอดีตไว้ฉายให้ชม พร้อมจำลองสถานที่สำคัญของวงการภาพยนตร์ เช่น ร้านกาแฟกรองด์คาเฟ่ สถานที่ฉายหนังครั้งแรกของโลกที่ประเทศฝรั่งเศส ตึกสไตล์ปารีส นิวยอร์ก และบ้านเรือนสมัย ร.5 มาในรูปแบบฉากถ่ายหนังให้ได้แอคท่าเป็นดารากันสนุกๆ

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก