Passion

Solar System Band
ในจักรวาลดนตรีและการสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด

เพ็ญแข สร้อยทอง 28 Nov 2022
Views: 2,373

บรรยากาศที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ในวันประกวดรอบ Class C ประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดนั้นคึกคักและเต็มไปด้วยความตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ ยิ่งใกล้เวลาประกาศผลการประกวดวงดนตรี THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ความตื่นเต้นยิ่งเพิ่มพูนเข้มข้นขึ้นไปอีก

และเมื่อถึงเวลา วงดนตรีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดในประเภท Class C หรือประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด ได้แก่ … Solar System Band (โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์)

โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ วงดนตรี Instrumental Fusion ที่ประกอบด้วยสมาชิก คือ ก้อง – สาธุการ ทิยาธิรา (กีตาร์) เซน – พชร ตั้นวัฒนา (แซกโซโฟน) และ ออกัส – ณกรณ์ คู่เจริญถาวร (กลอง) (ในภาพคือ เซน – ออกัส – ก้อง)

นอกจากวงจะได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ในวันนั้น ก้อง มือกีตาร์ของวงยังได้รับรางวัล Outstanding หรือ นักดนตรียอดเยี่ยมไปครองอีกด้วย  “รู้สึกดีใจสุดๆ เลยครับ เพราะว่าเราตั้งใจมาก แล้วก็มีคนเห็นคุณค่าของเรา” ก้องเล่าความรู้สึกหลังทราบผลรางวัล

สมาชิกทั้ง 3 ของ โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ เดินทางมาจากเชียงใหม่ในช่วงเช้าตรู่ ก่อนจะขึ้นเวทีแสดงความสามารถต่อหน้ากรรมการบนเวทีในเวลาต่อมา บทเพลงที่พวกเขาเลือกนำเสนอในวันนั้นคือ เพลง “แพ้ความอ่อนแอ” ของ “ซิลลี่ ฟูลส์” ซึ่งนำมาเรียบเรียงและนำเสนอในรูปแบบเพลงบรรเลง อีกหนึ่งเพลงเป็นผลงานที่วงแต่งขึ้นมาใหม่ชื่อว่า “Love From Universe” (ความรักจากจักรวาล)

โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ เรียกได้ว่าเป็นวงดนตรีน้องใหม่ป้ายแดง พวกเขาเพิ่งจะรวมตัวเพื่อเข้าประกวดงานนี้โดยเฉพาะ จากที่ก่อนหน้านั้นรู้จักกันอยู่แล้วด้วยเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงนักดนตรีเชียงใหม่ด้วยกัน ทั้งยังเคยมีโอกาสได้ร่วมแจมกันเป็นวาระ

หลังทราบข่าวเรื่องการประกวดครั้งนี้ ทั้ง 3 จึงได้รวมวงกันอย่างจริงจังครั้งแรก โดยนำส่วนผสมที่แตกต่างมาผสานเข้าด้วยกัน ในขณะที่เซนเติบโตมากับดนตรีคลาสสิก ก้องเล่นกีตาร์แบบฟิงเกอร์สไตล์ และออกัสเดินบนเส้นทางสายแจ๊ส “พอเรามารวมกันก็เรียกว่าฟิวชันได้” เซนบอก

“ถ้าอยากจะทำก็ต้องลงมือ อย่าไปกลัว
ทำไปแล้วเราไม่สามารถรู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
ถึงมันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราก็ไม่ต้องสนใจก็แค่ทำมันลงไป”

ออกัส – ณกรณ์ คู่เจริญถาวร (กลอง)

 

ส่วนผสมในแบบแตกต่างที่ลงตัว

ออกัส น้องเล็กของวง อายุ 14 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เขาเริ่มเล่นเปียโนคลาสสิกมาตั้งแต่ 3 ขวบ เมื่อโตขึ้นออกัสรู้สึกว่าเปียโนคลาสสิกไม่ค่อยเข้ากับตัวเองนักจึงหันไปฝึกตีกลอง จากแรกที่เล่นเพลงป็อป/ร็อก

เมื่อ “พ่อพาไปร้านที่เขาเล่นดนตรีแจ๊สก็รู้สึกชอบ เพราะมันดูมีเทคนิคอะไรที่น่าเล่น เลยเล่นแจ๊สตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”​ ออกัสชื่นชอบดนตรีของคนผิวสีมากเป็นพิเศษ “มือกลองที่ผมชอบ เขาไม่ได้ตีแจ๊ส แต่ผมชอบในสำเนียง เขาเป็นมือกลองของ จัสติน บีเบอร์ ผมหลงรักในสำเนียงของคนผิวสี เวลาเขาตีกลองมันจะมีสำเนียงเฉพาะ” มือกลองวัยทีนบอกว่า ตัวเขาเองยังอยู่ระหว่างทางการสร้างสำเนียงเฉพาะตัวที่ชัดเจน “ในอนาคตผมอยากเป็นอาจารย์สอนดนตรี เป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านการเล่นดนตรี”

“ดนตรีต้องมีคนแต่ง คนสื่อสารคนเล่น และคนฟัง 
ถ้าคุณแต่งเพลงคุณเล่นแต่ไม่มีคนฟัง มันก็จะยังไม่สมบูรณ์ 
ฉะนั้นผมคิดว่าออกมาเถอะครับ ออกมาให้คนอื่นได้รับรู้” 

เซน – พชร ตั้นวัฒนา (แซกโซโฟน)

ส่วนหนุ่มผมยาวเจ้าของเสียงแซกโซโฟน อย่างเซน ในวัย 31 ปี เขาเริ่มต้นมาจากเด็กวงขลุ่ยรีคอร์เดอร์ก่อนจะขยับมาอยู่วงดุริยางค์ หลังจบชั้นมัธยมก็จับพลัดจับพลูได้ไปเรียนดนตรีตามเพื่อน ปัจจุบันเขาเรียนปริญญาโท วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ และเป็นเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ด้วย

“ผมเรียนทางด้านการแต่งเพลงโดยเฉพาะ เป้าหมายของผมตอนนี้คือ อยากเผยแพร่ให้ดนตรีทุกประเภทเข้าถึงคนฟังได้มากขึ้น” เขาร่วมสร้างบาร์ชื่อว่า มโหรี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ฮับ”ของดนตรีหลากหลายแนวทาง “ผมอยากนำเสนอดนตรีที่อาจจะไม่ได้เจอในบาร์ทั่วไป ให้ทุกคนได้ฟังดนตรี ให้คนฟังเก่งขึ้น นักดนตรีก็จะเก่งขึ้นโดยธรรมชาติ”

“ดีใจที่ในตอนนั้นเราไม่ยอมแพ้ 
ขอบคุณตัวเองที่กล้าแต่งเพลง กล้าซ้อม และนำเสนอออกมา 
ถ้าคุณได้มายืนบนเวที ต่อไม่ให้ได้รับรางวัลอะไรเลย คุณก็จะได้สิ่งดีๆ กลับไปแน่นอน”

 ก้อง – สาธุการ ทิยาธิรา (กีตาร์)

ขณะพี่ใหญ่ของวง ก้อง วัย 32 ปี บอกกับเราว่า “การร้องเพลงอยู่ในสายเลือด” ทั้งยังเรียกได้ว่าเติบโตมากับดนตรีในโบสถ์​ ก่อนจะจริงจังกับการเล่นกีตาร์ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมต้นและผูกพันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก้องมีความสนใจดนตรีในหลากหลายแนวทางทั้งบลูส์​ แจ๊ส และอื่นๆ โดยเขาได้ดึง
“จิตวิญญาณ” ของดนตรีเหล่านั้นมาเพื่อ “ตกผลึก” สร้างสีสันแนวทางของตัวเอง ปัจจุบันก้องเป็นนักดนตรีอาชีพ ทำงานในสถานบันเทิงและและห้องบันทึกเสียง

 

เพลงในสไตล์ของ โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์

เพลง Love From Universe ซึ่งวงนำมาบรรเลงในการประกวด เป็นผลงานที่ก้องแต่งเป็นโครงสร้างขึ้นมา จากนั้นสมาชิกทั้งหมดของวงจึงได้ร่วมกันเติมแต่งให้กลายเป็นเพลงที่โชว์ได้ประทับใจคนดู มีการเปิดพื้นที่ให้นักดนตรีทั้ง 3 ได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่

“เพลงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพลงแนวทางมินิมอลลิซึม (Minimalism) ได้” เซนพูดถึง  Love From Universe “เป็นเพลงที่มีดนตรีเรียบๆ ไม่ได้หวือหวา เน้นการสื่ออารมณ์มากกว่า” หรืออาจจะเรียกว่าเป็นเพลงฟิวชันที่แต่ละสมาชิกนำเสนอแนวทางของตัวเองที่แตกต่างในหนึ่งเพลงเดียวกัน

ส่วน ก้อง ใช้คำว่า “น้อยที่ไม่น้อย” เพื่ออธิบายถึงแนวทางดนตรีและเพลงของวง “เพลงนี้ง่ายสุดๆ ทั้งเมโลดีและคอร์ด แต่ด้วยรายละเอียดเมื่อเรามาทำงานด้วยกัน เราช่วยกันสร้างให้มันออกมาเป็นโชว์” สิ่งที่เขาตั้งใจคือ​ทำเพลงให้มีบีทช้ากว่าจังหวะการเต้นของหัวใจ “ผมจะต้องทำให้บีทมันต่ำกว่า เพื่อให้คนต้องหยุดฟัง เพื่อให้เขาต้องจ้อง ต้องมาสนใจ”

Love From Universe เพลงนี้ก้องแต่งในช่วงโควิดกำลังระบาดหนัก ทุกอย่างรอบตัวเศร้าหมองไม่มีความหวัง “ทุกอย่างแย่ไปหมด ผมไม่รู้จะซ้อมกีตาร์ไปเพื่ออะไร จะมีโอกาสได้กลับไปเล่นดนตรีอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้” แต่หลังจากที่เริ่มไปออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เมื่อได้ไปใกล้ชิดกับธรรมชาติก็ทำให้คิดว่า ถึงแม้ชีวิตจะเป็นอย่างไร จะพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร แต่ธรรมชาติยังคงดีกับเรา ยังให้ออกซิเจน ให้แสงแดด ดวงดาวยังส่องแสง พระอาทิตย์ตกก็ยังสวยเหมือนเดิม

เราอาจจะคิดว่าไม่มีใครรักเรา เราโดดเดี่ยว แต่จริงๆ แล้วเราได้รับความรักจากสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเสมอ จักรวาลยังคงให้ความรักเราเหมือนเดิม วันที่คุณเสียใจ ร้องไห้ ไม่เหลือใครแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็ยังเหมือนเดิมกับคุณ ถ้าเราหยุดและสังเกตก็จะเห็น” เพลงนี้จึงเป็นเหมือนการให้กำลังใจและปลอบโยนให้คนมองเห็นสิ่งที่ดีและด้านบวก

“ตอนที่ได้ยินเพลงนี้ครั้งแรก เหมือนลอยไปนอกโลก เพลงมันดูลอยๆ เป็นความรู้สึกที่ดี” น้องเล็กของวงเล่าความรู้สึกตัวเองเสริมบ้าง ส่วนเซนในเวลาที่บรรเลงเพลงนี้ เขาตีความและแสดงออกผ่านดนตรีไปในทางเดียวกัน “ผมเป็นคนเล่นเมโลดีก็ต้องรู้สึกเยอะหน่อย ผมได้คุยกับพี่ก้องว่า​เพลงนี้หมายความว่ายังไง เป็นความรักแบบไหน ผมสื่อสารออกไปให้ใกล้เคียงกับที่พี่ก้องต้องการมากที่สุด เหมือนเป็นการสื่อสารสำหรับคนแต่งและคนเล่น ผมก็มีหน้าที่เล่นให้ตรงโจทย์มากที่สุด โดยที่ไม่ทิ้งตัวตนของผมเองและยังเข้ากับทุกคนได้อยู่ จินตนาการส่วนตัวตอนเล่น ผมจะนึกถึงความรักที่มั่นคง อย่างเช่น ความรักของพ่อแม่ ต่อให้ทะเลาะกันบ้างแต่ว่ายังไงก็เป็นพ่อลูกพ่อแม่ลูกกันอยู่ดี”

 

สะท้อนตัวตนในแบบของพวกเขา

ชื่อวงว่า โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ เป็นความตั้งใจที่จะบ่งบอกถึงที่มาของวงคือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในบางมุมเมืองยังเป็นถิ่นทุรกันดารที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ “เราสร้างผลงานจากสิ่งที่หลายคนมองว่ายังไม่เจริญให้ออกมาสู่วงกว้างมากขึ้น” ก้องอธิบาย

และแม้ว่า โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ จะมีสมาชิกวงที่วัยแตกต่างกัน แต่ก้องบอกว่าไม่เป็นปัญหาในการทำงาน “ปัญหาของเราส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการจัดสรรเวลามากกว่า ถึงออกัสจะเด็กกว่าก็จริง แต่เวลาทำงาน เราจะเอาสกิลมาวางบนโต๊ะ แต่ละคนมีไหวพริบเร็วมาก ทำงานใช้เวลาเร็วมาก” ก้องบอก

เมื่อถึงเวลานำสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำออกมาแสดงบนเวที ผลลัพธ์ออกมาอย่างค่อนข้างน่าพึงพอใจ “การประกวดครั้งนี้เป็นบันไดขั้นที่สำคัญมาก” ก้องพูด “เป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้สามารถเล่นเพลงที่แต่งเองได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกรายการจะสามารถทำได้ เขาไม่ได้กำหนดขีดจำกัดของเรา แม้กระทั่งเรื่องอายุ ทำให้เรากล้า และผมเชื่อว่า นี่จะเป็นแรงกระเพื่อมที่คนอื่นจะกล้ามากขึ้น แต่ละคนก็สามารถจะเอางานของตัวเองออกมาสู่โลกกว้างขึ้น แล้วมีคนมองเห็นค่าของมัน คิดว่าจะมีประโยชน์กับอีกหลายคนในซีซันหน้า ต้องมีคนที่เขาได้แรงบันดาลใจจากตรงนี้กลับไปทำเพลงของตัวเอง แล้วก็กลับมาแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้วงการดนตรีประเทศไทยแข็งแรงมากขึ้น”

สำหรับ ออกัส การแข่งขันครั้งนี้คือ การได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ “เราสามารถที่จะโชว์ไอเดียต่างๆ ให้คนอื่นได้ดู เหมือนการแลกเปลี่ยน แล้วเราก็ได้ดูคนอื่นด้วย”

ขณะที่เซนมองว่าการแข่งขันครั้งนี้เปิดมุมมองใหม่ได้พอดู “ทำให้เราได้มารับรู้ว่าคนอื่นเขาเล่นกันยังไงบ้าง เช่น มีวงที่เอาเพลงภาคใต้มาทำเป็นแบบโมเดิร์นผสมกับดนตรีสากล ก็จะได้กลิ่นใหม่ๆ เป็นต้น เราได้เห็นอะไรมากขึ้น ได้ไอเดียเยอะขึ้น แล้วก็ได้มาเจอเพื่อนนักดนตรี ได้แลกเปลี่ยนกัน”

เวทีแห่งโอกาส กับการพัฒนาตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 3 คนเห็นพ้องกันคือ ความคิดเห็นจากคณะกรรมการตัดสินเวที THE POWER BAND
(เจ – มณฑล จิรา, ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า และ ต้นตระกูล แก้วหย่อง) เป็นสิ่งที่มีคุณค่า “เป็นสิ่งที่ดีที่จะพัฒนาวง แต่ละคอมเมนต์มีประโยชน์กับเรามาก ช่วยต่อยอดให้เรามีโชว์ที่ดีขึ้นได้” ก้องบอก

สมาชิกของ โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ มีดนตรีเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาเกือบตลอดชีวิต ในปัจจุบันและอนาคตดนตรีก็ยังจะคงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของพวกเขาเสมอ “ดนตรีเป็นสิ่งมหัศจรรย์ สิ่งพิเศษที่คอยเยียวยาจิตใจ พาเราไปอยู่ในโลกที่สร้างสรรค์ ถ้าเราเศร้าหรือคิดลบ ดนตรีจะพาไปสู่โลกที่เราสามารถเอาความเศร้านี้ไปสร้างสรรค์งาน เป็นโลกที่ผมได้เข้าไปอยู่แล้วมันมีความสุขมาก” ก้องบอก

“ดนตรีคือศิลปะประเภทหนึ่งที่ต้องใช้หูในการรับฟัง” เซนพูดต่อว่า “ในการถ่ายทอดดนตรีจะต้องมี หนึ่ง…คนเล่น สอง…คนแต่งเพลง สาม…ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีคนฟัง ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นภาษาแรกๆ ที่คนใช้คุยกันหรือเรียกรวมกลุ่มของเผ่าพันธุ์สมัยก่อน เป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนา เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แม้เราจะมองข้าม แต่ว่าดนตรีอยู่ในทุกอย่างของเรา”

ในมุมมองของออกัส ดนตรีคือศิลปะชนิดหนึ่ง “ซึ่งเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ ทำให้อีกฝ่ายสามารถรู้สึกได้ว่า เราเป็นยังไง” ที่สำคัญคือ “ดนตรีเป็นทุกอย่าง” สำหรับเขา

รางวัลที่ โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ ได้รับจากการประกวดครั้งนี้รวมถึงโอกาสที่จะนำเสนอฝีมือและผลงานของพวกเขาออกไปสู่วงกว้าง ทั้ง 3 คนคาดหวังที่จะทำให้ดนตรีบรรเลงเป็นที่รู้จักสนใจมากยิ่งขึ้น

“เราอยากเป็นกลไกเล็กๆ ที่ทำให้เพลงบรรเลงได้รับการยอมรับมากขึ้น มีคนเปิดใจมากขึ้น” ด้วยผลงานเพลงบรรเลงที่เข้าถึงได้ง่ายของพวกเขาก้องบอก

“ถ้าเราอยากให้คนเข้าใจดนตรีมากขึ้น อยากให้ทุกคนเปิดใจลองรับฟังดนตรีทุกประเภท ผมชอบดนตรี ถึงแม้จะเล่นไม่ได้ทุกประเภท แต่ฟังได้ทุกประเภท ผมอยากให้ประเทศของเราเป็นอย่างนั้นมากขึ้น คุณอาจจะเลือกชอบได้ แต่ว่าไม่ควรรังเกียจดนตรี ดนตรีบรรเลงไม่ใช่แบ็กกราวนด์มิวสิก มันออกมาข้างหน้าได้ ต่อให้มีเนื้อร้องหรือไม่มี ดนตรีที่เรียกว่า คอนเซปต์ มิวสิก (Concept Music) หรือดนตรีประกอบการเต้นต่างๆ มีคุณค่าในตัวเอง ผมอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าตรงนี้” นักศึกษาวิชาดนตรีอย่างเซนบอกกับเราถึงความคิดของเขา

น้องเล็กอย่างออกัสก็อยากใช้โอกาสนี้ในการแสดงตัวตนผ่านดนตรี “โชว์ตามที่เราอยากโชว์ ทำออกไปให้เขาดู ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ยอมรับ เราก็จะโชว์ให้เต็มที่ โชว์ศักยภาพในมุมของผมที่อยากให้เขาดู”

ในจักรวาลดนตรีอันกว้างใหญ่นี้ มีพื้นที่มากมายสำหรับผู้กล้าที่จะก้าวออกมานำเสนอตัวตน ผลงาน และความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ สำหรับ โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์ รางวัลและตำแหน่งผู้ชนะการประกวด THE POWER BAND 2022 SEASON 2 อาจเป็นเหมือนพลังซึ่งส่งให้พวกเขากล้าก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นยิ่งขึ้นในอนาคตได้

 

กล้าฝัน … กล้าทำ! ในแบบฉบับ โซลาร์ ซิสเต็ม แบนด์

ออกัส: “ถ้าอยากจะทำก็ต้องลงมือทำ อย่าไปกลัว ทำไปแล้วเราไม่สามารถรู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จถึงมันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราก็ไม่ต้องสนใจก็แค่ทำมันลงไป”

เซน: “อย่างที่ผมบอกว่า ดนตรีต้องมี 3 อย่างก็คือคนแต่ง คนสื่อสารคนเล่น และคนฟัง ถ้าคุณแต่งเพลงคุณเล่นแต่ไม่มีคนฟัง มันก็จะยังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าออกมาเถอะครับ ออกมาให้คนอื่นได้รับรู้”

ก้อง:  “บางครั้งเราเขียนเพลงมาจากความรู้สึกของเรา แต่คนอื่นอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก เราดีใจที่ในตอนนั้นเราไม่ยอมแพ้ ขอบคุณตัวเองที่กล้าแต่งเพลง กล้าซ้อม และนำเสนอออกมา ถ้าคุณได้มายืนบนเวที ต่อไม่ให้ได้รับรางวัลอะไรเลย คุณก็จะได้สิ่งดี ๆ กลับไปแน่นอน อยากให้กล้าที่จะทำ นี่เป็นโอกาส”

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ