Passion

เส้นทางแชมป์ของนักกระโดดเชือกคู่แฝด
“พีรญา – พีรชยา พลับพลา”

เพ็ญแข สร้อยทอง 25 Oct 2024
Views: 657

Summary

นักกีฬาฝาแฝดจากประเทศไทย สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในการแข่งขันกระโดดเชือกระดับโลก เรื่องราวของพวกเธอสะท้อนถึงความหลงใหลในกีฬา และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการบรรลุความฝัน

ท่ามกลางเสียงเพลงชาติไทยที่ดังกึกก้องและธงชาติไทยโบกสะบัด “พีรญา – พีรชยา พลับพลา” ยืนอยู่บนโพเดี้ยมอย่างภาคภูมิใจกับรางวัลเหรียญทอง และนักกีฬาแฝดวัย 15 ปี    ได้จารึกชื่อไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์การแข่งขันกระโดดเชือกระดับโลก

พวกเธอคืออีกหนึ่งตัวอย่างของ ความเป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังคนไทย ที่ก้าวสู่โลกกีฬาสากลอย่างแท้จริง เราสนใจเรื่องราวชีวิตและสกิลในการ “เล่น” กีฬากระโดดเชือก โดยได้แรงบันดาลใจจากรายการ THE POWER GANG EP.9  ทาง YouTube: King Power Thai Power พลังคนไทย

“ถ้าเรามีความฝัน ให้ทำไปเลย อยากกลัวล้ม

อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก ถ้าไม่ได้ลองทำดู เราไม่มีทางรู้ว่าจะทำได้หรือไม่”

พีรญา – พีรชยา พลับพลา
นักกีฬาฝาแฝดจากประเทศไทย (กระโดดเชือก)

 

จากจุดเริ่มต้นสู่เหรียญทอง

พีรญา (พิฌา) – พีรชยา (ชยา) นักกีฬากระโดดเชือกหรือจัมพ์โร้ป (Jump Rope) ทีมชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 ทั้งคู่เกิดห่างกันแค่ 2 นาที ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสตรีวิทยา

สองสาวน้อยผู้ร่าเริง สดใส และพูดจาฉะฉาน พีรชยาชี้ไฝเม็ดเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างหัวตาและสันจมูกของเธอให้ดู เมื่อเราถามถึง จุดสังเกตที่ช่วยแยกว่าคนไหนคือ พีรญา คนไหนคือ พีรชยา

 

พีรญา – พีรชยา ชวนมากระโดดเชือก

ทำไมต้องกระโดดเชือก?

พีรญา: “กระโดดเชือกเป็นกีฬาที่ดีในการป้องกันโรคหัวใจ”

พีรชยา: “เป็นกีฬาที่ใช้พื้นที่และการลงทุนเพียงเล็กน้อย แค่มีเชือกก็สามารถกระโดดได้ทุกที่ ช่วยสร้างความแข็งแกร่ง ป้องกันโรคหัวใจ และเพิ่มความสูงได้ดี”

(Scroll ลงไปอ่านบทสนทนาน่าสนใจเรื่องนี้ต่อแบบครบๆ ที่ตอนจบของบทความนี้) >>>

ฝาแฝดคู่นี้ชื่นชอบหลงใหลในการกระโดดเชือกมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนราชินีบน และเล่นกีฬาชนิดนี้มาต่อเนื่อง ความแตกต่างโดดเด่นของทั้งสองคือ การนำพื้นฐานการเล่นกีฬายิมนาสติกมาต่อยอดผสมผสาน

เวลา 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองได้รับชัยชนะในหลายการแข่งขันสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 พี่น้องใส่เสื้อที่มีธงไตรรงค์บนหน้าอกไปคว้าเหรียญทอง Wheel Pairs Freestyle (WHPF) ประเภทหญิง อายุ 12-15 ปี ในการแข่งขันรายการ IJRU 2023 World Jump Rope Championships ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการแข่งขันกระโดดเชือกระดับสูงสุดของโลก ทั้งคู่ได้ชนะอย่างขาดลอย

พีชญาและพีรชยา เล่าถึงความตื่นเต้นขณะอยู่บนโพเดี้ยมเพื่อรับเหรียญรางวัลว่า “ผู้จัดการแข่งขันเปิดเพลงชาติไทย ตอนนั้นหนูรู้สึกภูมิใจมากๆ ที่ได้ร้องเพลงชาติไทยและได้ชูธงชาติไทยให้ทุกคนรู้ว่า เพลงชาติไทยเป็นอย่างนี้และคนไทยก็มีดีสู้ชาติอื่นได้”

 

หัวใจของแชมเปี้ยน

ในโลกของกีฬากระโดดเชือก ความอดทนและความพยายามเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จพีรชยาบอกกับเราอย่างนั้น ขณะที่พีชญาเสริมว่า “ทุกอย่างที่ได้รับมาคือความพยายามของพวกเรา เราต้องฝึกฝนอย่างหนัก ต้องตั้งใจมุ่งมั่นอย่ายอมแพ้”

“ต้องมีการวางแผนที่ดี” พีรชยายังบอกต่อว่า “สิ่งที่สำคัญก็คือใจ” ถ้ามีใจรักในกีฬาประเภทนี้จริง จะไม่ถอดใจ ถึงแม้ลงแข่งขันแล้วไม่ได้เหรียญ “เราจะคิดว่า แข่งขันกับตัวเอง ไม่ได้แข่งขันกับคนอื่น และจะดีใจที่เราทำได้ ไม่ใช่ดีใจที่เราได้เหรียญ”

กิจวัตรประจำวันของทั้งสองเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่น ทุกเช้าสองพี่น้องตื่นนอนตอนตี 5 เพื่อไปซ้อมก่อนเข้าห้องเรียน ช่วงเย็นจะซ้อมตารางที่บ้านหรือที่โรงยิม ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง “กีฬากระโดดเชือกต้องใช้พลังขา ซ้อมมากกว่า 2 ชั่วโมงไม่ได้จริงๆ กำลังขาเราจะหมด” พีชญาบอก

ทางโรงเรียนให้การสนับสนุนทั้งสถานที่และเวลาซ้อม อีกทั้งสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย (Thai Jump Rope Sport Association) ซึ่งคอยช่วยในด้านต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนที่แข็งแกร่งมาตั้งแต่ต้น “คุณแม่พาไปซ้อมทุกที่ ดูแลเรื่องอาหาร การติดต่อโค้ช ดูแลทุกอย่าง” น้องแฝดบอกว่า พวกเธอจะมาถึงตรงนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีคุณแม่ “ต้องขอบคุณคุณแม่มากๆ”

ประสบการณ์ – เรียนรู้ – เติบโต

กีฬากระโดดเชือกเป็นเหมือนประตูสู่โลกแห่งประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับพีชญาและพีรชยา การเดินทางไปแข่งขันในฐานะนักกีฬาตัวแทนชาติทำให้ทั้งสองได้พบปะกับนักกีฬาจากทั่วโลก

พีชยาเล่าให้ฟังว่า “สังคมมันใกล้ชิดกัน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งโลก พวกเราแข่งขันกันเข้มข้น พอเแข่งขันเสร็จแล้ว เราก็จะจัดเป็นมีตติ้งในแคมป์ แลกเปลี่ยนท่า แลกเปลี่ยนเสื้อและเข็มกลัดกัน”

สำหรับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ  ซึ่งผ่านเข้ามา ช่วยส่งเสริมการเติบโตและเรียนรู้ โดยปัญหาใหญ่ที่สุดที่พวกเธอเคยเผชิญคือ อาการบาดเจ็บ “บางครั้งเราซ้อมหนักเกินไปก็จะมีเจ็บบ้าง เราก็ต้องหาวิธีการเพื่อที่จะฟื้นฟูกลับมาให้เร็วที่สุด” พีชญาบอก

ทั้งคู่ยอมรับว่ามีบางช่วงเวลาที่พวกเธอตั้งคำถามกับตัวเอง “บางทีซ้อมแล้วเหนื่อย เราก็รู้สึกว่าทำไมจะต้องทำตัวเองให้เหนื่อยตลอดเวลาด้วย แต่พอมาคิดดูแล้ว เวลาที่ไม่ได้ทำมันก็รู้สึกเหมือนขาดอะไรไป เพราะทำจนติดเป็นนิสัยแล้ว เราต้องมีกีฬาชนิดนี้อยู่ในชีวิต” พีรชยาสะท้อนเรื่องราวที่พบให้เราฟัง

แม้ว่าจะฝึกฝนและทุ่มเทอย่างเต็มที่ แต่ก็มีบางครั้งที่ผลการแข่งขันไม่เป็นไปตามความคาดหวัง พวกเธอเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้เป็นแรงผลักดัน “เพราะเรารู้ว่า จริงๆ แล้วที่เราแพ้ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งอื่น แต่เพราะเรามีสกิลที่เทียบเขาไม่ได้ เราก็ต้องผลักดันตัวเองต่อไป” พีชญาบอก

 

ความผูกพันของคู่แฝด

ด้วยความผูกพันอันแน่นแฟ้นของการเป็นคู่แฝดทำให้พีชญาและพีรชยาสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นผลดีเมื่อเล่นกีฬากระโดดเชือกร่วมกัน

ทุกครั้งก่อนจะก้าวเข้าสู่สนามแข่งขัน ทั้งสองจะกอดกันและพูดให้กำลังใจกันและกันเสมอ

ซ้อมมาตั้งนาน พอมาอยู่ในสนามแล้ว มันก็แค่ครั้งเดียวนะ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่งั้นที่ซ้อมมามันก็จะเสียเปล่า สู้ๆ ต้องไปต่อและทำให้ได้” พีชญาบอก

สำหรับพี่น้องคู่นี้ ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 15 ปี พวกเธอไม่เคยห่างกันไกล จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว หลังได้เหรียญทองจากการแข่งขันที่สหรัฐฯ พีรญาเลือกไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เดนมาร์ก ขณะที่พีรชยาเลือกไปฝรั่งเศส การอยู่ห่างกันคนละประเทศนานถึง 10 เดือนนับเป็นบททดสอบที่สำคัญ

“มันเป็นอีกหนึ่งชาเลนจ์ เพราะเราอยู่ด้วยกันมาตลอดเวลา” แต่ระหว่างนั้น “คิดถึงมากๆ เหมือนว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหนู พอขาดเขาไปมันก็แปลกๆ” พีชญาบอก

หลังจากผ่านมาได้แล้ว แฝดผู้พี่รู้สึกว่า “หนูมีความคิดที่โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แล้วก็มีความรับผิดชอบมากขึ้น”

“ส่วนหนูรู้สึกว่า มีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้เรามีความกล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น” แฝดผู้น้องกล่าว

 

ชีวิตเหนือเชือกกระโดด

ปัจจุบันพีชญาและพีรชยากำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ (intensive) ที่โรงเรียนสตรีวิทยา

ในอนาคตพีชญาใฝ่ฝันอยากจะเปิดยิมเป็นของตัวเอง ที่สามารถสอนยิมนาสติกและกระโดดเชือก ตอนนี้สองสาวเปิดชมรมสอนกระโดดเชือกให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียน “หนูอยากให้คนรู้จักกีฬากระโดดเชือกมากขึ้น”

ขณะที่พีรชยา “หนูอยากเป็นหมอที่สามารถช่วยเหลือนักกีฬาได้” เพื่อจะทำฝันให้เป็นจริง “เวลาเรียนก็ตั้งใจ เพราะเราไม่มีเวลาไปเรียนพิเศษ ถ้ามีเวลาว่างก็จะฝึกทำโจทย์ อ่านหนังสือ”

ในเวลาว่าง หลังจากซ้อมทั้งสองชอบฟังเพลง ร้องเพลง และเต้น  “บางทีเหนื่อยมาก หนูก็เปิดเพลงที่ชอบ มันก็มีพลังเพิ่มขึ้น เปิดเพลงมันๆ ก็ทำให้เราอยากออกกำลังกาย” พีชญาบอก

ส่วนกิจกรรมสุดโปรดของทั้งคู่คือ การเดินทางท่องเที่ยวและถ่ายรูป ตอนนี้ต้องพับโปรแกรมเก็บไว้ก่อน เพราะพวกเธออยู่ระหว่างการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับลงสนามแข่งขัน

วันนี้ พีรญา – พีรชยา พลับพลา มีเป้าหมายใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าคือ การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียและแชมป์โลก ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2568 ที่ประเทศญี่ปุ่น

การคว้าเหรียญทองที่สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วทำให้พวกเธอเป็นแชมป์รุ่นเยาว์ “และถ้าปีหน้าเราชนะ เราจะได้เป็นแชมป์โลกจริงๆ”

การเดินทางของคู่แฝดและความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการไล่ตามความฝันด้วยความทุ่มเทอย่างแน่วแน่ ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไร ความสำเร็จอยู่ที่การได้ลงมือทำ

ถ้าเรามีความฝัน ให้ทำมันไปเลย อยากกลัวล้ม อย่าคิดว่ามันยากเกินไป เราทำไม่ได้หรอก ถ้าไม่ได้ลองทำดู เราไม่มีทางรู้หรอกว่า จะทำได้หรือไม่”

 

พีรญา – พีรชยา ชวนมากระโดดเชือก

ทำไมต้องกระโดดเชือก?

พีรญา: “กระโดดเชือกเป็นกีฬาที่ดีในการป้องกันโรคหัวใจ”

พีรชยา: “เป็นกีฬาที่ใช้พื้นที่และการลงทุนเพียงเล็กน้อย แค่มีเชือก ก็สามารถกระโดดได้ทุกที่ ช่วยสร้างความแข็งแกร่ง ป้องกันโรคหัวใจ และเพิ่มความสูงได้ดี”

พีรญา: “กระโดดเชือกใช้แรงเข่าน้อย เผาผลาญแคลอรีได้ดี”

พีรชยา: “สำหรับคนมีปัญหาข้อเข่าหรือคนน้ำหนักเกิน แค่หลีกเลี่ยงท่าที่ผาดโผน”

พีรญา: “เริ่มด้วยการกระโดดเบาๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับ สำหรับมือใหม่แนะนำให้ใช้เชือกร้อยลูกปัดซึ่งหนักกว่าและควบคุมง่ายกว่าเชือกพีวีซี”

พีรชยา: “เน้นการเคลื่อนไหวของข้อมือ อย่าใช้ทั้งแขนแกว่ง แล้วกระโดดต่ำ ๆ เพื่อไม่ให้เหนื่อยง่ายแล้วจับจังหวะให้ได้”

พีรญา: “เริ่มฝึกกระโดดวันละ 50 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มเป็น 100, 150 ครั้ง”

หากฝึกจนเชี่ยวชาญแล้วอยากจะลงสนาม สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทยและมูลนิธิโรคหัวใจฯ ที่จัดการแข่งขันทุกปี

การแข่งขันกระโดดเชือกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทสปีดและประเภทฟรีสไตล์ สำหรับคู่แฝดเชี่ยวชาญในประเภทฟรีสไตล์ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์และเทคนิค ให้คะแนนตามความสวยงามและความยาก

“เราชอบประเภทฟรีสไตล์ เพราะได้ปลดล็อกสกิลท่าต่างๆ พอทำท่าหนึ่งได้แล้วก็อยากจะทำท่าอื่นไปเรื่อยๆ” พีรชยาบอก

และถ้าสนใจอยากทำความรู้จักการกระโดดเชือกประเภทสปีดที่มีความเร็วเป็นเลิศ สามารถติดตามชมลีลาของ 4 หนุ่ม – นัท ไอซ์ บีม และ ฮาร์บาส ตัวแทนทีมชาติไทยซึ่งคว้ารางวัลเหรียญทองในการแข่งขันระดับโลกที่ประเทศจีนได้จากคลิปนี้

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว