Passion

THE SIX SONS
ชนะ! ด้วยอุปสรรค

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 11 Sep 2023
Views: 840

Summary

The Six Sons… “ลูกชาย” จำนวน 6 คน ของแต่ละบ้านในเมืองภูเก็ต พวกเขามีมิตรภาพและฝันที่เชื่อมโยงกันผ่าน “ดนตรี” เพราะเป็นนักศึกษาเอกวิชาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปีนี้ทั้ง 6 หนุ่มเตรียมมาล่าฝันบนเวทีเดียวกับวงรุ่นพี่ที่เคยมาประกวด ถึงชั่วโมงในการซ้อมจะน้อย แต่ด้วยดีกรีของนักศึกษาวิชาดนตรีก็ทำให้วงเป็นตัวแทนภาคใต้ ผ่านไปรอบชิงชนะเลิศสมความตั้งใจ

หลังถูกชวนให้แข่ง THE POWER BAND 2023 โดยอาจารย์เอ้ – กัณวัฒน์ พลรงค์ ครูผู้คุมวงที่เคยพาวง Umbrella Down จากภูเก็ต มาคว้ารางวัลชมเชยบนเวที THE POWER BAND เมื่อปีก่อน นักศึกษาวิชาดนตรีที่กำลังเรียนอยู่ปี 1 และปี 2 จำนวน 6 คนนี้ จึงรวมกันเป็นวง The Six Sons ด้วยเป้าหมาย “อยากตามรอยความสำเร็จที่รุ่นพี่ทำเอาไว้” 

เมื่อปักหมุดแข่งและฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น The Six Sons ก็พร้อมอัดแรงส่งเข้าสู่สนามแข่งดนตรี THE POWER BAND 2023 SEASON 3 ที่จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ทันที แต่ก้าวนี้ของพวกเขาไม่ธรรมดา ด้วยการผันอุปสรรคมาสู่ความสำเร็จ ไหนวงจะมีช่องว่างระหว่างวัย หาความเป็นทีมเวิร์กยังไม่เจอเพราะเพิ่งมารวมตัวกัน…หรือแต่ละคนมีสตอรีมาสู่ดนตรีแบบไม่ง่ายเลย เคยเป็นเด็กติดเกมบ้างละ เปลี่ยนสายเรียนมาแบบยูเทิร์นโค้งหักศอกบ้างละ โอ๊ย…

นักร้องนำเริ่มจากร้องลูกทุ่ง มือคีย์บอร์ดเป็นสายกิจกรรมทั้งหัตถกรรม เล่านิทานหรือเต้นแอโรบิก มือเบสเคยเล่นเพอร์คัชชันมาก่อน มือกีตาร์ไม่อยากเป็นเด็กสายวิชาการเลยหันมาทางดนตรี โอ๊ยๆ…

“ทุกอย่างมันเป็นไปได้ตั้งแต่เราตั้งใจมาแข่ง THE POWER BAND แล้ว
วันนี้พวกเราทำให้มันเป็นไปได้หนึ่งขั้น แล้วเราก็ต้องทำให้มันเป็นไปได้อีกขั้น”

วง THE SIX SONS จ.ภูเก็ต Class B
THE POWER BAND 2023 SEASON 3 สนามสงขลา

 

รวมตัวกันไม่นาน ยังไม่ค่อยสนิทกันด้วย วงเจออุปสรรคเรื่องการแบ่งเวลาซ้อมเป็นสิ่งแรกๆ “สำคัญครับ เพราะวงเราก็มีคนที่เล่นดนตรีกลางคืนด้วย” ไปร์ทบอกข้อจำกัด “วันหนึ่งเลยซ้อมได้แค่ 2 ชั่วโมง แล้วไม่ใช่ว่า 2 ชั่วโมงจะได้ซ้อมเลยแต่เราต้องมาใส่รายละเอียดโน่นนี่อีก เวลาซ้อมเลยเหลือน้อย” กิ๊ฟบอกเพิ่ม

ถัดมาคือช่องว่างระหว่างวัย ตรงนี้พวกเขาแก้ไขด้วยการเปิดใจคุยเพื่อหาจุดร่วมตรงกลาง รวมถึงทลายกำแพงของระยะห่างด้วยการใช้ดนตรีเป็นสื่อ “ตอนซ้อมเสร็จ ผมจะพยายามหาเพลงอะไรก็ได้ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเพลงประกวด เอามาเล่นกับน้องๆ เพื่อให้บรรยากาศสนุกขึ้น เราจะได้มีช่วงเล่นๆ ด้วยกันบ้าง” ดรีมผู้ที่คิดไอเดียนี้บอกขึ้น

แล้วก็มาถูกทางจริงๆ ตามความคิดของไปร์ท “ช่วงนั้นการซ้อมเริ่มสนุกขึ้น เราเริ่มเห็นภาพรวมอะไรสักอย่างที่มัน ‘มีความเป็นไปได้’… เหมือนว่าเพลงที่เรากำลังอะเรนจ์มันจะมีตัวตนของเราอยู่”

 

ทริกฝึกซ้อม ฉบับผู้ชนะ

• ต้องเล่นพื้นฐานถูกวิธี

• มีความสม่ำเสมอในการฝึกซ้อม

• ตีความเพลงให้เข้าใจ

• ตั้งเป้าหมายในการเล่นดนตรีให้ชัดเจน

• การปรับตัวเข้าหากันเป็นเรื่องสำคัญ

• ดูแลสุขภาพให้พร้อมซ้อมกับเมโทรนอม (เครื่องเคาะจังหวะ) บ่อยๆ จะได้เรื่องจังหวะในการเล่นด้วยกัน

กิ๊ฟ เกษมสิทธิ์ (ร้องนำ)

ไปร์ท ธัญพิสิษฐ์ (คีย์บอร์ด) – ออร์แกน ภคพล (กีตาร์และคอรัส) – อันดา ปราชญ์ (กลอง) – ดรีม – ธิตินันท์ (กีตาร์) 

ชาคิช คณาธิป (เบส)

โชว์สกิลนักศึกษาวิชาดนตรี

“พัง” (Indigo) กับ “ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง” (เจฟ ซาเตอร์) 2 เพลงที่ The Six Sons เลือกมาแข่ง ถูกปรับแนวดนตรีมาหลายรอบกว่าจะลงตัว ทั้งนีโอ-โซลและฟังก์ การตีความไปคนละแบบคือทางตันที่ทำให้เพลงไปต่อไม่ได้ จนต้องคลี่คลายปัญหาด้วยการมานั่งแชร์ไอเดียแล้วถึงช่วยกันปรับซาวนด์ใหม่ได้ โดยมีอาจารย์ผู้คุมวงและรุ่นพี่มาช่วยเกลาจนเพลงเข้าที่ เป็นการละลายพฤติกรรมของแต่ละคนผ่านเพลงไปในตัว

ที่สำคัญ The Six Sons ได้พบสิ่งที่อยากนำเสนอจริงๆ “คือวงเราไม่มีใครเป็น superstar เลยไม่มีใครที่เก่งนำหน้าใคร เลยรู้สึกว่าเราไม่ได้เน้นสกิลในการเล่นมาก อยากเน้นความเป็นทีมเวิร์กที่ขายเมโลดีสวยๆ ฟังติดหู แล้วก็เอาไปเป็นความเข้าใจในเพลงมานำเสนอคนฟังมากกว่า” ไปร์ทบอก

 

The Six Sons 6 สไตล์

กิ๊ฟ – เกษมสิทธิ์ ธรรมประดิษฐ์ ฟรอนต์แมนของวง

เริ่มร้องลูกทุ่งตั้งแต่เด็ก เคยเรียนวิศวะไฟฟ้ามาก่อน แต่รักที่จะร้องเพลงและ “อยากเชื่อหัวใจตัวเอง” เลยเบนเข็มมาเรียนเอกขับร้องโดยตรง เคยเข้าประกวดไมค์ทองคำ 10
เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ฝันที่ใกล้เป็นจริงนั้น ทำให้ตั้งเป้าว่าอยากเป็นศิลปินให้ได้

ออร์แกน – ภคพล กุลแก้ว มือกีตาร์และคอรัส

มีคุณพ่อเป็นไอดอลทางดนตรี เพราะคุณพ่อเรียนจบดนตรีที่ราชภัฏภูเก็ตเหมือนกัน เลยคุ้นชินกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก สอบเข้าเรียนสาขาดนตรี ก็เพราะ “อยากเจริญรอยความเก่งดนตรีแบบคุณพ่อ”

จัดโครงสร้างดนตรีดีมีชัยไปครึ่งทาง

แล้วความพยายามที่มุ่งมั่นก็สมหวัง เพราะ The Six Sons ทำโชว์บนเวทีออกมาดีจนกรรมการชม โดยเฉพาะการเรียบเรียงเพลง “ลืมไปแล้วว่าลืมยังไง” มีการจัดองค์ประกอบไลน์ประสานท่อนร้องและดนตรีออกมากลมกลืน ฟังไพเราะ “ตอนแรกเราก็ใส่กันเยอะนะ เลเยอร์ทุกอย่างมันมั่วไปหมด ท่อนกลองนี่ใส่เต็มเลย ตอนหลังก็เลยค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ” อันดาบอก

“พอมาดูไลน์ประสาน เลยเห็นว่าเสียงมันควรจะขึ้นตรงไหน” กิ๊ฟทำมือไล่เป็นขั้นๆ เพื่อให้เห็นภาพของการวางชั้นเสียง “พอบวกกับเสียงออร์แกนร้องประสานเข้ามา โทนเสียงเขาไปได้ดีกับโทนเสียงของผมด้วย อารมณ์เพลงมันเลยพอดี”

ส่วนท่อนโซโลในเพลง “พัง” ก็เป็นอีกพาร์ตที่ทำได้โดดเด่น ดรีมคือคนคิดลูกริฟฟ์กีตาร์ในเพลงนี้ “ผมคิดลูกริฟฟ์นี้มาสักพักแล้วครับ ผมชอบอะไรแบบนี้ อยากเล่นน้อยๆ แต่ให้คนจำได้ ก็เลยลองเอามาเล่นดู วันซ้อมอาจารย์ก็นั่งดูอยู่ ก็บอก ‘โอเคนะ ซื้อ’ (หัวเราะ) กับพาร์ตโซโลเราก็วางคอนเซปต์ว่า ไม่ต้องเล่นยาก เพราะอยากให้ดนตรีมันมีลายเซ็นของแต่ละคน แล้วก็สื่อความหมายครับ”

 

The Six Sons 6 สไตล์

ไปร์ท – ธัญพิสิษฐ์ ช่วยรอด มือคีย์บอร์ด

นักกิจกรรมตัวยงมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเต้นแอโรบิก แข่งหัตถกรรม หรือแข่งเล่านิทาน
แต่จุดเปลี่ยนสู่โลกแห่งตัวโน้ต คือเพื่อนชวนไปเข้าวงโยธวาทิต ทำให้ “เจอสังคมใหม่ๆ”
เลยฝังตัวกับดนตรีมาตั้งแต่วันนั้น

อันดา – ปราชญ์ มะยะเฉี่ยว มือกลอง

โตมาในครอบครัวที่รักเสียงเพลง ตอนอนุบาล 3 ถูกส่งเรียนเปียโน แต่เรียนได้เดือนเดียวก็เลิก
เรื่องดนตรีจึงถูกลืมเลือนไป แต่พอขึ้น ป.3 กลับสนใจกลองขึ้นมาเลยไปฝึกและไปเรียนเรื่องโน้ตเพิ่ม
ตั้งแต่นั้นก็ “พัฒนาตัวเองจนได้เรียนดนตรีระดับอุดมศึกษา”

 

กำลังใจเกินร้อยสู่รอบ Final 

การมีวงรุ่นพี่ที่เคยสร้างความสำเร็จไว้ก่อน เป็นธรรมดาที่ The Six Sons จะมีความกดดันอยู่บ้างก่อนแข่ง แต่หลังผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ พลังใจก็มากันเต็มและพร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันในสนามหน้าเต็มที่

“จากที่เตรียมตัวมาร้อย แต่เราเล่นไปร้อยยี่สิบ เราโอเคมากครับ ทุกอย่างมันเป็นไปได้ตั้งแต่เราตั้งใจมาแข่ง THE POWER BAND แล้ว และวันนี้พวกเราทำให้มันเป็นไปได้หนึ่งขั้นแล้ว พอไปกรุงเทพฯ เราก็ต้องทำให้มันเป็นไปได้อีกขั้น” การเตรียมตัวของพวกเขาหลังจากนี้จะเน้นไปเรื่องทำเพลง “จะมีเพลงบังคับแล้วก็เพลงที่ต้องแต่งด้วย เราน่าจะได้เจอลายเซ็นของวงเราจริงๆ ในสนามหน้านี่แหละครับ” นักร้องนำ The Six Sons บอกเป้าหมายที่อยากได้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชัยชนะปลายทางที่พวกเขาฝันไว้เช่นกัน

 

The Six Sons 6 สไตล์

ชาคิช – คณาธิป บุญนารี มือเบส

เคยติดเกมหนักมากสมัย ป.6 จนครูชวนไปเล่นเพอร์คัชชันวงโยธวาทิต จึงเบี่ยงความสนใจไปที่ดนตรีได้ พอขึ้น ม.2 สนใจเล่นกีตาร์ จึงฝึกยาวๆ มาจน ม.4 แต่ที่ข้ามไปเล่นเบสเพราะวงรุ่นน้องขาดมือเบส
ก็เลย “ตกกระไดพลอยโจน” มาตั้งแต่นั้น

ดรีม – ธิตินันท์ ศรีพิณ มือกีตาร์

นักเรียนสายวิทย์ – คณิตที่เรียนดีตั้งแต่มัธยม แต่ไม่อยากเรียนวิชาการอย่างเดียว แรกๆ ไปเตะบอลแต่ไม่ใช่ทาง พอลองเล่นกีตาร์แล้วชอบมากเพราะมัน “เท่” ดี แต่ก็เกือบจะไม่เล่นดนตรีเพราะครอบครัวไม่สนับสนุน ที่สุดก็ “พิสูจน์ความมุ่งมั่นให้ครอบครัวเห็น” เลยได้เรียนดนตรีสมใจ

**เมื่อดนตรีเปลี่ยนชีวิต**

ออร์แกน: ผมอาจจะไม่ได้เล่นดนตรีเก่งมาก แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าเราใช้ดนตรีเลี้ยงชีพได้

ไปร์ท: ดนตรีพาผมไปหลายที่มากเลย และวันนี้ก็ได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว

อันดา: ดนตรีทำให้เข้าสังคมได้ง่าย มีเพื่อน แล้วก็สนุกกับการใช้ชีวิต

กิ๊ฟ: การได้มาเจอวง The Six Sons ได้มาแข่งดนตรีด้วยกันคือความสุข

ชาคิช: ดนตรีทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย แล้วก็เปิดโลกกว้างในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ดรีม: ดนตรีทำให้ได้มาเจอคนที่คุยภาษาเดียวกับเรา มันมีความสุขมากๆ

เจาะลึกเรื่องราวของพวกเขาวง The Six Sons ตัวแทนจาก Class B รุ่นบุคคลทั่วไปของสนามสงขลา กับ THE POWER BAND 2023 THE SERIES EP.7 แบบเต็ม ๆ

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ