People

เปิดโอกาสใหม่บนดอยสูง ครูภักดี กัลยา
“เห็นรอยยิ้มของเด็กก็เป็นสุขแล้ว”

ศรัณย์ เสมาทอง 6 Mar 2023
Views: 668

“ผมเพิ่งไปแนะแนวเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ไปที่ไกลๆ เส้นทางทุรกันดาร บางบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย”
คนที่อยู่ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ฟังคำอาจารย์โรงเรียนที่อยู่บนดอยพูดแล้วอาจแปลกใจ ว่าถึงปี 2023 แล้ว ยังมีบ้านบนดอยไม่มีไฟฟ้าใช้ ขาดโอกาสร่ำเรียนอยู่อีกหรือ

“มีอยู่จริง!!!” คำตอบสั้นๆ ที่พาบรรยากาศสนทนาจริงจังขึ้น ราวกับหมอกหนาวที่โอบโรงเรียน
มัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ ค่อยๆ แทรกความเย็นไปในใจ

ภักดี กัลยา ครูพลศึกษา พร้อมพ่วงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป เล่าให้ฟังต่อ “หน้าฝนนี่เดินทางจากบ้านยากมาก ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ไฟฟ้าก็ไม่มี ถนนหนทางก็ลำบาก นักเรียนต้องมาอยู่หอพักเกือบครึ่ง”

โรงเรียนที่ตั้งอยู่ ณ จุดสูงสุดของอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีนักเรียนมัธยม 6 ชั้นปี จำนวน 264 คน เป็นเด็กหอประมาณ 106 คน

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส…เด็กหอบนยอดดอยโชคดี มีทะเลหมอกให้ชิลทุกวันในฤดูหนาว และบางวันในฤดูฝนพรำ

“เดิมสนามปราบเซียนนี้จะส่งให้เด็กไปถึงฝันคงยาก พอเห็นโครงการ ‘100 สนามฟุตบอลฯ’ ก็ลองยื่นขอดู จากเมื่อก่อนเด็กล้มทีเป็นแผลเจ็บยาวเลย ตอนนี้ไม่มีแล้ว เด็กๆ อยากเล่นฟุตบอลมากขึ้นกว่าเดิม…เราก็มีความสุขตามไปด้วย”

ครูภักดี กัลยา
โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ เชียงใหม่

 

 สอนบทเรียนชีวิตให้นักเรียนในแบบฉบับของครูภักดี กัลยา

✔️สอนให้เด็กรู้จัก “รากเหง้า” ของตน รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง แล้วเรียนรู้ทำความรู้จัก “คนอื่น”

✔️ส่งเสริมการมองในมุมใหม่ๆ ให้เด็กได้สร้างสรรค์และลงมือสร้างประสบการณ์

✔️ส่งเสริมศักยภาพด้านกีฬาเด่น เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตัวเอง

✔️มองจากเล็กๆ ภายในโรงเรียน แบ่งปันขยายเป็นโอกาสใหญ่สู่ชุมชน

 

กัลยาบ้านฉัน

โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงเรียนใหม่เพิ่งเปิดมาได้ 6-7 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีหลายชนเผ่าอาศัยอยู่ กระจายตัวเป็นหย่อมหมู่บ้านตามจุดต่างๆ ของดอย

“ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปกาเกอะญอเขาจะเน้นเรื่องของการปลูกข้าว ทำไร่ ด้านลีซูนี่จะเน้นพืชไร่ ปลูกถั่วแดง ส่วนม้งจะเน้นเรื่องการค้าขาย การปลูกสตรอว์เบอร์รี แต่ผลิตผลส่วนใหญ่ของอำเภอจะเป็นกาแฟและอาโวคาโด”

ครูที่นี่ทำงานกันหลายหน้าที่ นอกจากสอนวิชาการแล้ว ก็ต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ งานพัฒนาสถานที่ก็มี ประปาภูเขาก็ต้องดูแล แนะแนวทางชีวิตก็ต้องทำ

“เรามีวิชากัลยาสร้างสุขนะครับ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ‘กัลยาบ้านฉัน’ เรียนเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีรวมถึง สถานที่ต่างๆ ในอำเภอกัลยาณิวัฒนานะครับ ทุกๆ เรื่องเลย  ต้องรู้เกี่ยวชาติพันธุ์  ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีเบื้องต้น ไม่แบ่งว่าเป็นชาติพันธุ์ใด ลีซูก็ต้องรู้จักปกาเกอะ ญอ”

ถ้ามาโรงเรียนในวันศุกร์ที่เขาให้น้องๆ แต่งชุดตามประเพณีของเขา เราจะเห็นหลากหลายเผ่าเดินคู่กันไป เป็นเพื่อนกันไม่มีแบ่งแยก

 

✔️สอนให้เด็กรู้จัก “รากเหง้า” ของตน รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง แล้วเรียนรู้ทำความรู้จัก “คนอื่น”

วิถีเกษตรกลางหมอกหนาว

วิชาเรียนส่วนที่สอง ‘เกษตรปลอดภัย’ เรียนรู้การทำการเกษตร ตั้งแต่เกษตรอินทรีย์ ไฮโดรโปนิกส์ พืชไร่ พืชสวน พืชเศรษฐกิจ เพิ่มพูนความรู้ให้เด็กๆ สำหรับนำไปใช้ที่บ้านได้

“เราพาเด็กทำตั้งแต่ปลูก ดูแลรักษานะครับ จนถึงการนำไปประกอบอาหารเลยนะ  มีพาเด็กไปศึกษาดูงานโครงการหลวงบ้าง ไปพบปราชญ์ชาวบ้านบ้าง คืออยากให้เด็กได้มีโอกาสดีๆ ครับ”

ส่วนหนึ่งที่โรงเรียนพยายามสอนการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าสามารถทำได้ ปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเล็กเพื่อวันข้างหน้าเราจะได้มีผักปลอดภัยกินกัน

ยังไม่จบแค่นั้น เขานำจุดเด่นของตัวเอง คือ อยู่บนจุดสูงสุดของอำเภอ สามารถเห็นทะเลหมอกยามเช้าได้เต็มตา และส่วนที่สาม สร้างเป็นวิชา ‘สคูล สเตย์’ (School Stay) เป็นการเรียนรู้การทำธุรกิจท่องเที่ยว สร้างห้องพักที่เขาเรียกเก๋ๆ ว่า สคูล สเตย์ ให้เด็กๆ มาลองเป็นพนักงาน

“เรียนรู้การทำบ้านพัก การจัดที่พัก การดูแลรักษานะครับ มีหน่วยที่ดูแลเรื่องกาแฟ ทำกาแฟ ทำอาหาร ฝึกต้อนรับแขก มีจัดโปรแกรมทัวร์ให้นักเรียนลองเป็นคนนำเที่ยว”

เป็นการชี้ช่องทางที่ดีให้เด็กๆ เลยล่ะ เพราะพี้นที่แถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอแม่แจ่ม เรื่อย่ไปจนถึงแม่ฮ่องสอน นิยมปรับบ้านให้เป็นโฮมสเตย์เพื่อเพิ่มพูนรายได้ ถ้าได้ลองงานกันตั้งแต่ชั้นมัธยม คงมีทักษะติดตัวไปประกอบอาชีพกันได้

“ช่วงหนาวๆ หมอกลงแบบนี้เลย” ครูภักดีอวดรูปหมอกหนายามฟ้าเริ่มสางที่แทบจะมองไม่เห็นสรรพสิ่งเบื้องหน้า ก่อนที่จะค่อยๆ พัดกระจายเหลือลอยอ้อยอิ่งอยู่ตรงแปลงผักอินทรีย์ และเป็นทะเลหมอกไกลสุดตา

เด็กบนดอยจะรู้ไหมนะ…ว่าเขามีต้นทุนที่งดงามจนคนในเมืองหลายคนอิจฉา

✔️ส่งเสริมการมองในมุมใหม่ๆ
ให้เด็กได้สร้างสรรค์และลงมือสร้างประสบการณ์


สนามกีฬาเจ็ดร้อยหลุม

“ที่ในเมืองเชียงใหม่มีสนามกีฬาเจ็ดร้อยปี  ที่นี่มี…สนามเจ็ดร้อยหลุม…ครับ”

ครูภักดีพูดติดตลก เมื่อเราถามถึงสนามกีฬา “สภาพสนามก็เป็นหลุมเป็นบ่อและเป็นหินกรวดเล็กๆ เต็มไปหมด ผมเคยเอาหญ้ามาปลูกก็ติดบ้างไม่ติดบ้างนะครับ” ด้วยพื้นที่เป็นดินภูเขาสูงมีหินมีแร่อยู่เยอะ พอปรับเป็นสนามกีฬาจะมีเศษหินเล็กๆ เต็มไปหมด “เวลาล้มทีก็ได้ลายเซ็นเลย…ลายเซ็นก็คือบาดแผลนะครับ”

แต่เด็กกัลยาณิวัฒนาชอบเล่นกีฬามาก โดยเฉพาะฟุตบอล เพราะเขาจะมีไอดอลของเขา คือ ชนะ สนวิเศษณ์ “ชนะเป็นคนที่นี่ครับ เป็นชาวปกาเกอะญอ เรียนที่อำเภอกัลยาณิวัฒนาจนจบ ม. 3 แล้วไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เขาสามารถเข้าเป็นนักเตะได้ถึง 11 สโมสร”

ชนะไม่ธรรมดาเลยล่ะ เขาเคยร่วมทีมกรมศุลกากร ซึ่งเป็นทีมระดับดิวิชัน 1 ทีมอาร์แบค เอฟซี  ทีมสุพรรณบุรี เอฟซี ทีมอีสาน ยูไนเต็ด ทีมภูเก็ต เอฟซี เท่าที่ฟังชื่อมาก็เก๋าๆ ทั้งนั้น ความหวังของเด็กบนดอยที่อยากโลดแล่นแบบรุ่นพี่มีเต็มเปี่ยม ชนะเคยมาเป็นโค้ชให้เด็กๆ ที่นี่ระยะหนึ่ง ยิ่งไอดอลมาสอนยิ่งย้ำแรงหวังของน้องให้อัดแน่นเต็มอก

“แต่สนามเดิมนั้นเราใช้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์เวลาที่มีบุคคลสำคัญมาเยือนและเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย สนามปราบเซียนแบบนี้จะส่งให้เด็กไปถึงฝันคงยาก พอดีผมเห็นว่ามีโครงการ ‘100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย’ ของ คิง เพาเวอร์ ก็ลองยื่นขอสนามดู”

✔️ส่งเสริมศักยภาพด้านกีฬาเด่น
เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตัวเอง

แม้จะกังวลว่าการสร้างสนามคงยากยิ่ง เพราะบนดอยสูงไม่มีวัสดุและเครื่องจักรใดๆ เลย แต่ความมุ่งมั่นของครูภักดีก็ได้ผล คิง เพาเวอร์ มอบสนามฟุตบอลสีน้ำเงินสวยมาเป็นแรงช่วยครูภักดีสร้างโอกาสให้เด็กๆ อีกแรงหนึ่ง

“จากเมื่อก่อนตอนหน้าหนาว เด็กล้มทีเป็นแผลเจ็บยาวเลย ตอนนี้ไม่มีแล้ว ผมเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ เห็นเขามีความสุข เห็นความสดใสของเขาแล้ว เราก็มีความสุขตามไปด้วย  เด็กๆ อยากเล่นฟุตบอลมากขึ้นกว่าเดิม”

แต่ต้องระวังลูกบอลกลิ้งออกนอกสนามไปไกลหน่อยนะ เพราะคงจะตกภูเขาไปเลย

สนามสีน้ำเงินบนยอดดอย

ตอนนี้สนามฟุตบอลสีน้ำเงินกลายเป็นสนามแห่งเดียวในอำเภอกัลยาณิวัฒนาที่ได้มาตรฐาน ทุกคนก็ช่วยกันดูแล เพราะรู้ว่าได้มาอย่างยากลำบาก เวลากลางวันถ้ามีใครต้องใช้สนามเรียนพลศึกษาก็จะเปิดให้ใช้ หรือถ้าใครประสงค์จะฝึกซ้อมก็สามารถมาขอใช้ได้ แต่ช่วงเย็นจะจัดคิวการเล่นเป็นเรื่องเป็นราว

“เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ จะเป็นคิวของนักเรียนหอพักเป็นส่วนใหญ่ วันอังคารก็จะเป็นเด็กเล็กอายุไม่เกิน 12 ปี วันพุธเป็นสมาคมครูมาฝึกซ้อมกัน วันพฤหัสฯ เป็นหน่วยงานราชการที่มาลงชื่อใช้ และวันศุกร์เป็นประชาชนทั่วไป สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้ แต่นักเรียนในโรงเรียนนี้ส่วนใหญ่พอว่างก็มาขอเล่นกันทั้งวัน”

แต่ก็ไม่ได้ให้ใช้จนดึกดื่น เนื่องจากถนนหนทางบนดอยค่อนข้างอันตราย ไม่อยากให้คนเดินทางกลับบ้านลำบากเกินไป

✔️มองจากเล็กๆ ภายในโรงเรียน
แบ่งปันขยายเป็นโอกาสใหญ่สู่ชุมชน

 

“เรามีกีฬาเครือข่ายในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งแข่งกันทุกประเภทกีฬา รวมถึงฟุตบอลรุ่นอายุ 12, 15 และ 18 ปี  แล้วยังมีการแข่งฟุตบอลโดยเฉพาะ เพราะเป็นกีฬายอดฮิตครับ เช่น บ้านหนองโอเพ่น กัลยาณิวัฒนาโอเพ่น” คนที่นี่จริงจังไม่น้อยเลย

และมีเด็กบางคนที่ตามฝันไปไกล สามารถเข้าในโรงเรียนกีฬาได้อย่างที่หวัง “คนล่าสุดนี่เป็นนักกีฬาโรงเรียน ชื่อ ศุภวิชญ์ ใจมั่น แล้วทำพอร์ตไปสมัครจนติดโควตา ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเชียงใหม่ ตอนนี้กำลังอยู่ปี 2”

 

เพื่ออนาคตของเด็กดอย

ทุกวันนี้ครูภักดีต้องทำหน้าที่ออกไปแนะแนวการศึกษา ให้น้องๆ รุ่นใหม่มาเรียนกันเยอะๆ

“ก็เอาคลิปวิดีโอเรื่องสนามฟุตบอลไปให้เด็กๆ ดูบ้าง” ตามสไตล์ของครูวิชาพลศึกษา “ก็มีเด็กๆ ที่สนใจมาเรียนที่นี่นะ เพราะอยากมาเล่นบอลที่สนามคิง เพาเวอร์ นี่ล่ะ”

แต่โอกาสที่ทางโรงเรียนมอบให้เด็กๆ ไม่ได้มีเพียงเรื่องกีฬาอย่างเดียว คนที่นี่อยากเป็นพยาบาล สาธารณสุข และแพทย์กันด้วย “และมีโครงการครูคืนถิ่นด้วย เป็นการไปเรียนครูแล้วจะได้กลับมาบรรจุที่บ้านเกิด มีนักเรียนเราไปเรียนอยู่เหมือนกันครับ”

ที่ผ่านมามีคนแซวว่าชื่อกับนามสกุลครูภักดีกันอยู่บ้าง “ชื่อ ภักดี กัลยา แม้จะเป็นคนสันป่าตอง แต่เขาว่าเหมาะสมที่จะได้อยู่อำเภอกัลยาณิวัฒนา แถมยังมาอยู่โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย เขาว่า…คงไม่ต้องย้ายแล้วละมั้ง”

ถ้าครูภักดีจะสร้างโอกาสให้เด็กได้มากขนาดนี้ เป็นครูบนยอดดอยเพื่อเด็กๆ ไปนานๆ ก็ดีนะครับ

 

วิชากัลยาสร้างสุข

เสริมความรู้ที่จำเป็นกับคนรุ่นใหม่

  • หน่วยกัลยาบ้านฉัน เรียนเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ขอบชาติพันธุ์ต่างๆ ในชุมชน
  • หน่วยเกษตรปลอดภัย เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร ศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อชีวิตที่ปลอดภัย
  • หน่วย School Stay เรียนรู้การทำโฮมสเตย์ เรี่องราวเกี่ยวกับกาแฟ การดูแลแขก การนำเที่ยว เพื่อเป็นอาชีพในอนาคต

 

Facebook: โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่

 

ติดตามเรื่องราวความประทับใจของสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานสากล 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย ที่โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่

 

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี