People

“ปะลางิง”
ครูปิยะ…ผู้คืนชีวิตผ้าอายุสั้น

ศรัณย์ เสมาทอง 14 Feb 2022
Views: 2,099

“ผ้าภาคใต้อายุสั้น” ครูพูดเรียบๆ แต่คนฟังใจเต้นแรง “และการทอผ้าของจังหวัดยะลาก็สูญหายไป ปัตตานี นราธิวาส จังหวัดใกล้ๆ กันยังมีคนทอผ้าอยู่ แต่ของยะลาผมต้องกลับไปตั้งต้นที่จุดเดิมของผ้าเลย”

ราวปี 2548-2549 ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ซึ่งจากไปทำงานไกลบ้าน คิดกลับมาบ้านเกิด นึกถึงสมัยที่คุณยายใช้ผ้าผืนสวย ประกอบกับภาพจากฝาผนังวัดต่างๆ ทำให้รู้ว่าคนสมัยก่อนเขานุ่งผ้าที่มีลายเป็นเอกลักษณ์ “มันไม่ใช่ผ้าปาเต๊ะ มันมีอะไรมากกว่านั้น แล้วเผอิญว่าไปเจอผ้าเก่า ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าผ้าอะไรด้วยซ้ำ”

สะดุดตาสะดุดใจจนต้องกลับไปค้นคว้าอย่างจริงจัง หาข้อมูลทั้งหอจดหมายเหตุที่กรุงเทพฯ ทั้งจากหนังสือของกรมศิลปากร จนได้รู้จักตัวจริงของผ้าผืนนี้

“มีหลายเหตุผลที่ผ้าทางใต้หายไป หลักๆ คือ มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของไทยในยุคหนึ่ง คนที่เคยใช้ผ้านุ่งก็เปลี่ยนมาใส่กางเกง วัฒนธรรมเปลี่ยนส่งผลถึงผ้าด้วย อย่างผ้าซองเก็ต ผ้าปะลางิง ก็ค่อยๆ หายไป โรงงานผ้าก็ทยอยปิด โรงงานผ้าปาเต๊ะในภาคใต้สมัยก่อนมีเยอะมาก เดี๋ยวนี้เหลืออยู่แค่ 2-3 แห่งเท่านั้น ที่สำคัญผ้าบางตัวของบ้านเรายังรื้อฟื้นไม่ได้เลย”

เพราะผ้าไม่ได้เป็นแค่เส้นใยที่ทอเป็นผืนเท่านั้น แต่เสมือนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ถักทอมาให้ผู้คนสวมใส่

 

เมืองที่การทอผ้าหายสาบสูญ

เมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้จะอยู่ในเขตมณฑลปัตตานี เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ คล้ายๆ กับเมืองมะละกาของมาเลเซีย การค้ากับต่างประเทศก็จะมาทางเรือซึ่งวัฒนธรรมต่างๆ ก็ไหลมาตามน้ำเช่นกัน

“ผ้านี้มาจากอินเดีย เขาเรียกว่าผ้า บันตานี (Bandhani) เป็นผ้าไหมซึ่งใช้ไหมน้อยเส้นบางมากเหมือนบ้านเรา แล้วก็มีเทคนิคการพิมพ์ การมัดย้อม การเพนต์ การกัดสี รวมกันในผ้าผืนเดียว พอผ่านมาทางอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะมีการเรียกชื่อที่เพี้ยนไป จนถึงบ้านเราก็เรียกกันว่า ปะลางิง (Palanging) ทุกที่ก็มีการทำผ้าที่มีสไตล์ของตัวเองแต่จะพยายามคงเอกลักษณ์ของผ้าต้นแบบจากอินเดียเอาไว้”

ก่อนจะไปไกลถึงลายผ้า การจะมีผืนผ้าให้มาสร้างสรรค์งานสวยๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะยะลาไม่มีใครทอผ้าแล้ว!!!

“ผมไปจังหวัดขอนแก่นไปลงมือปลูกฝ้ายเองกับแม่ๆ ที่โน่นเลย” ครูปิยะเล่าย้อนไปราว 16 ปีก่อน “กลับไปจุดเดิมของผ้าตั้งแต่เส้นใยเลย แล้วเรียนรู้การทอผ้าจากแม่ที่ขอนแก่น และเขาก็อนุเคราะห์ขายกี่ให้ด้วย ผมก็หิ้วกี่กลับมายะลา แล้วก็จ้างคนที่โน่นมาสอนการทอผ้าที่ยะลา เราจะได้รู้จริงๆ ว่ามันทำยังไง”

ครูปิยะอยากให้มีความยั่งยืน จึงร่วมมือกับภาครัฐและวิทยาลัยอาชีวะ นำวิทยากรจากทางภาคอีสานมาสอน บรรจุเป็นวิชาเรียนในวิทยาลัยเลย เรียกว่ารื้อฟื้นการทอผ้ากันเป็นเรื่องเป็นราว จากนั้นจึงมาต่อเรื่องแม่พิมพ์ไม้ โดยครูปิยะได้เข้าไปในเรือนจำเพื่อทำงานออกแบบและสอนผู้ต้องขังแกะแม่พิมพ์ไม้ด้วยตัวเอง

 

✓ หากต้องการความยั่งยืน

ควรผลักดันให้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่

 

“ผ้าปะลางิง เป็นการรวมศิลปะและงานช่างทุกรูปแบบไว้ในผ้าหนึ่งผืน ไม่ว่าจะเทคนิคการทอผ้ายก ดอกแบบโบราณ การย้อมด้วยสีธรรมชาติ การเย็บย้อมเหมือนชิโบริของญี่ปุ่น การพิมพ์เทียน การกัดสี และการเพนต์” แต่ละเทคนิคสามารถแยกออกมาทำผ้าได้เลย นี่ครูหยิบมารวมกันหมด ฟังแล้วค่อย ๆ นึกภาพตาม จากผ้าทอยกดอกเขาจะนำมามัดหรือสอยผ้าให้เป็นลวดลายแล้วนำไปย้อม จากนั้นนำมาเขียนเทียนทับให้เกิดลวดลาย แล้วนำไปกัดสีที่ไม่ต้องการออก ก่อนจะมาทำพื้นผ้าด้วยการพิมพ์เทียนด้วยบล็อกไม้ ทาสีหรือเพนต์สี เสร็จแล้วเคลือบด้วยโซเดียมซิลิเกต จบด้วยการน้ำไปล้างและต้มเพื่อละลายเทียนออกไป

ฟังแล้วไม่เข้าใจทั้งหมดก็ไม่เป็นไร แค่อยากให้รู้ว่า “ผ้าปะลางิง” แต่ละผืนใช้เวลาทำนานมาก

“ครบทุกเทคนิคการทำเป็นเดือนครับกว่าจะเสร็จ  แม้ไม่รวมการทอ เดือนหนึ่งก็ทำได้ประมาณ 2-3 ชิ้น งานพวกนี้จะไม่เหมือนกันเลยสักผืน เหมือนเราเขียนภาพอิมเพรสชันนิสต์”

ลวดลายรายรอบตัว

ลวดลายของผ้าปะลางิงแฝงความตั้งใจในการอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรม เริ่มตั้งแต่ลายผืนผ้าที่ทอขึ้นมา “เช่น ลายแก้วชิงดวง ที่มักเห็นในเครื่องทรงของยักษ์หรือไม่ก็เป็นลายฉลุช่องลมบ้านโบราณ ดูดีๆ ก็คล้ายลายดอกไม้ของญี่ปุ่น ผ้าบางผืนก็มีลายทอจากกระเบื้องโบราณ”

ในช่วงแรกกลุ่มผลิตผ้าปะลางิงของครูปิยะลงมือทำการทอผ้าเอง แต่ด้วยความเหนื่อย และรับขั้นตอนที่มากมายไม่ไหว ถึงขั้นท้อกันเลยล่ะ

“คือตอนนั้นเราต้องเลี้ยงดูกลุ่มด้วย ต้องใช้เงิน ก็เลยคิดว่าเราต้องหยุดเรื่องการทอก่อน แต่ยังทำกราฟลายผ้าส่งให้คนอื่นทอนะครับ เพราะลวดลายบนผืนผ้ายกดอกก็เป็นหนึ่งในการเล่าเรื่องราววัฒนธรรมของเรา”

ลายแม่พิมพ์ไม้ที่ใช้พิมพ์เทียนลงบนผืนผ้าก็ได้มาจากวังเก่า วัดเก่า ลายฉลุจากบ้านโบราณ รวมถึงนำวัฒนธรรมต่าง ๆ มาออกแบบ เช่น วัฒนธรรมเรื่องการกิน จะมีลวดลายจากแม่พิมพ์ขนม มีลายว่าวควาย ลายจากหัวเข็มขัดโบราณ

“เราต้องทำทั้งของโบราณด้วย แล้วนำของใหม่เข้ามาผสม เทคนิคและกรรมวิธียังเป็นแบบเก่าอยู่ แต่เปลี่ยนหน้าตาให้ร่วมสมัยขึ้น คนชอบลวดลายแบบโบราณแบบ original ดั้งเดิมเลยก็มี ย้อมด้วยสีธรรมชาติก็มี สีสมัยใหม่ให้ได้สีสันตามเทรนด์เราก็มี ผมถือว่าการอนุรักษ์อย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้ ต้องมีเรื่องการตลาดเข้ามาด้วย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงกลุ่มได้ เพราะว่าผ้าตัวนี้มันเป็นผ้าของชุมชน”

ครูยังออกแบบแม่พิมพ์ไม้เอง เลือกไม้เนื้อแข็งและเหนียว อย่างไม้มะม่วงป่า ไม้ขาวดำ มาแกะเป็นแม่พิมพ์ไม้ตามแบบอินเดียดั้งเดิม มีการใช้เครื่องฉลุสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้ได้ลวดลายที่ละเอียดมากขึ้น คนที่ทำเรื่องการพิมพ์เทียนต้องเรียนรู้สูตรของเทียน ความเหนียวความข้นของผ้าแต่ละแบบไม่เท่ากัน ผ้าฝ้ายเทียนต้องข้นมาก ผ้าไหมเทียนไม่ข้นเลยก็ได้ สีที่ทาและเพนต์ต้องใช้แบบไหนทำอย่างไร เรื่องเหล่านี้ล้วนผ่านการทดลอง ลงมือทำ และผิดพลาดมาหลายต่อหลายครั้ง

ครูปิยะใช้เวลาร่วม 6 ปี กว่าจะผ้าปะลางิงของครูจะอยู่ตัว

งานศิลปะที่สวมใส่ได้

ระหว่างที่ค้นคว้าและพัฒนา ผ้าปะลางิงของครูปิยะยังไม่เป็นที่รู้จัก แน่นอนที่สุด…การขายย่อมไม่ดีนัก

“เปิดตัวครั้งแรกเลยครับ ผมทำผ้าโทนสีน้ำตาลไปเปิดขายที่กรมส่งออก แถวถนนรัชดา เตรียมไปประมาณ 70 ผืน ตอนนั้นเริ่มท้อละ แค่ลองดูว่าจะรอดไหม ปรากฏว่าวันแรกขายได้ 4 ชิ้น ราคาผ้าประมาณ 2,500-2,700 บาท ไม่ได้แพงมากนัก” แต่ 4 ชิ้นนั้น มีคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในอังกฤษ เธอนำไปใช้ออกงานที่โรงแรมโอเรียนเต็ล กับมีคนรักผ้าอีกท่านหนึ่งซื้อเพราะชอบ สองท่านนี้นำคนที่เห็นแล้วชื่นชอบมาซื้อตาม “ปรากฏว่า 70 ผืนนั้น หมดภายในสองวัน”

 

✓ เมื่ออยู่ท่ามกลางผู้ที่รู้คุณค่า

งานศิลปะจะฉายแววโดดเด่น

 

จากนั้นเหมือนโลกจะมอบรางวัลให้กับความพยายาม กราฟของผ้าปะลางิงพุ่งขึ้นตลอด

“กลุ่มที่พวกชอบนุ่งผ้าซิ่นเขาคุยกันในกลุ่มว่า ถ้าผ้าของภาคใต้เขาอยากจะเก็บผ้าของที่นี่ผืนหนึ่ง พูดกันทุกคนเลยนะ เพราะบางคนบอกว่าสั่งมา 2 ปีแล้วยังไม่ได้ผ้าเลย คือผ้าปะลางิงที่ทำครบทุกเทคนิคคิวยาวมากครับ”

ผ้าของครูปิยะในนามกลุ่ม “ศรียะลาบาติก” ต้องจอง เดือนหนึ่งทำได้เพียง 2-3 ชิ้น ครูปิยะลงมือวาดลายเอง ออกแบบให้เหมาะกับผู้ใช้ผ้าผืนนั้นๆ ทุกผืนมีลายเซ็นและหมายเลขลำดับผ้า ว่าทำเป็นผืนที่เท่าไร ตอนนี้ถึงหมายเลข 159

“ผ้าเป็นงานศิลปะ คนที่ใช้จะรู้สึกภูมิใจว่ามันเป็นของที่มีคุณค่า ทุกลวดลายเล่าออกมาเป็นเรื่องได้หมดว่ามีที่มาอย่างไร ราคาอยู่ที่ 25,000 บาท 28,000 บาท บางชิ้นไปเกือบถึง 50,000 ก็มีครับ แล้วแต่ขนาดและความยากของเทคนิค” ราคาสูงๆ ที่ว่านี้ รายได้ก็ลงไปถึงช่างที่ร่วมกันสร้างสรรค์ ตั้งแต่คนทอผ้ามาจนถึงคนที่ต้มผ้าล้างเทียนกันเลยล่ะ

ส่วนผ้าที่ทำด้วยเทคนิคไม่ซับซ้อน แต่มีลวดลายที่สะท้อนวัฒนธรรมตามแนวคิดแรกเริ่มก็ยังมีให้คนทั่วไปได้เป็นเจ้าของ “เช่นที่ขายใน คิง เพาเวอร์ ผมออกแบบลายใหม่ ๆ ไปให้ตลอด ไม่ค่อยมีซ้ำ เราอาจต้องใส่ใจเทรนด์บ้าง บางช่วงที่ลูกค้าจีนเยอะก็ควรออกแบบให้เป็นสีสดใส ถ้าเกิดว่าช่วงไหนที่เป็นลูกค้ายุโรปเยอะก็จะเป็นสีที่นุ่มนวลลงมาหน่อยประมาณสีพาสเทล”

ถ้ารองานมาสเตอร์พีซไม่ไหว ลองมาดูผ้าที่ใช้เทคนิคไม่มากแต่สวยไม่แพ้กันไปก่อนก็ได้นะ

 

✓ วัฒนธรรม วิถีชีวิต

ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ

 

“ฉีกซองใส่น้ำร้อนกินได้”

ชั้นเรียนทอผ้า แกะแม่พิมพ์ไม้ ย้อมผ้า ที่เคยมีตามสถาบันต่างๆ เขาไม่ได้สานต่อมาพักใหญ่แล้ว  แต่ครูปิยะยังรับเป็นวิทยากรไปบรรยายในหลายๆ ที่ และใช้กลุ่มศรียะลาบาติกในการให้ความรู้ สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้โดยไม่หวงวิชา จะใช้ไม้แบบไหนทำแม่พิมพ์ ต้องใช้โต๊ะแบบไหนรองผ้าตอนพิมพ์ ลงลึกถึงรายละเอียดกันเลย ที่ผ่านมามีทั้งคนรุ่นใหม่ๆ นักศึกษาเรื่องเกี่ยวกับผ้าและแฟชั่น ไปจนถึงดีไซน์เนอร์ที่มาจากกรุงเทพฯ เข้ามาเรียนรู้กับครูปิยะ

“ถามถึงความประสบผลสำเร็จเราบอกเลยว่า ประสบความสำเร็จที่ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เรื่องของการเผยแพร่ การสร้างคน สร้างชาวบ้านให้มีรายได้ให้มีงานทำ” นอกจากนั้นยังนำองค์ความรู้เรื่องการทำผ้าปะลางิงไปจดมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม “ก็มีการยอมรับแล้วว่าผ้าปะลางิงก็เหมือนผ้าบาติกเลย คุณสามารถขอมาตรฐานได้ ถ้าลูกศิษย์ผมเรียนการทำผ้าตัวนี้ก็สามารถไปขอมาตรฐานได้ ผมทำมาตรฐานรองรับไว้หมดแล้ว เหมือนอาหารที่ขอ อย. หรือฮาลาล วิธีนี้มันจะทำให้การผลิตผ้าปะลางิงยั่งยืน”

 

✔️ องค์ความรู้จากผู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง

สำคัญที่สุดในวิถีความยั่งยืน

 

ที่ยังพยายามทำต่อไป คือ การสร้างศูนย์เรียนรู้ที่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา มาเห็นผ้าโบราณด้วยตาจริงๆ มาเห็นการทำงานผ้าด้วยการเห็นของจริง “อยากรวบรวมองค์ความรู้จากคนทำจริง ไม่ใช่จากนักวิชาการที่เขียนมาจากการวิจัย ผ้าที่เคยสูญหายไปจากยะลาจะกลับมาได้อย่างยั่งยืนจริงๆ”

ครูบอกไว้ว่าไม่เชื่อเรื่องทำบุญเข้าวัด แต่ชอบสอนคนแล้วเขานำไปหาเลี้ยงชีพได้จริงๆ ทำได้เห็นๆ “ผมทำมานานจนสำเร็จแล้ว มันเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้ว คุณฉีกซองใส่น้ำร้อนกินได้เลย”

 

ยกย่องภูมิปัญญาครู

จากการตั้งใจศึกษาและลงมือทำ ใช้เวลากว่า 6 ปี จะเกือบถอดใจ ปลุกชีวิตการทอผ้าของจังหวัดยะลา และต่อลมหายใจให้ผ้าปะลางิงอีกกว่า 10 ปี จับผ้าโบราณของพื้นถิ่นมาแปลงโฉมให้ร่วมสมัย เพราะเชื่อว่าการอนุรักษ์มิใช่เก็บไว้เพียงแบบเก่า ๆ แต่ต้องให้เราอยู่ร่วมกันในทุกวันได้ และครูปิยะก็พร้อมถ่ายทอดความรู้ ให้ทุกคนได้รู้จริงทำเป็น เพื่อให้สิ่งที่เขาได้คืนชีวิตมานั้นอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน สถาบันส่งเสริมศิลปหัตกรรมไทย (องค์การมหาชน) จึงได้ยกย่องให้ ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ แห่งศรียะลาบาติก เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 นับเป็นบุคคลสำคัญในการเผยแพร่ภูมิปัญญาอันน่าภาคภูมิใจนี้ให้อยู่สืบไป

ย้อนกลับไปฟังประโยคแรก “ผ้าภาคใต้อายุสั้น” หัวใจคนฟังยังเต้นแรงอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่ครูปิยะยิ้มๆ เพราะก้าวข้ามเรื่องการหายไปและเดาทางไกลมาสู่ความพยายามให้ผ้ายังคงอยู่ยั่งยืน…ตั้งนานแล้ว

ถอดรหัสความเป็นครู “ศรียะลาบาติก”

“อยากให้ยั่งยืนเราต้องทำทั้งของโบราณแล้วนำของใหม่เข้ามาผสม

เทคนิคและกรรมวิธียังเป็นแบบเก่า แต่เปลี่ยนหน้าตาให้ร่วมสมัยขึ้น”

ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ศรียะลาบาติก

 

✓ หากต้องการความยั่งยืน ควรผลักดันให้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของคนรุ่นใหม่

✓ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ

✓ เมื่ออยู่ท่ามกลางผู้ที่รู้คุณค่า งานศิลปะจะฉายแววโดดเด่น

✓ องค์ความรู้จากผู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง สำคัญที่สุดในวิถีความยั่งยืน

 

Facebook: SRIYALA BATIK

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: SRIYALA BATIK

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ไปตามหาเรื่องราวของผ้าที่เคยเลือนหายไปเกือบ 100 ปี

กับรายการผจญไทย EP.13 ผ้าสีรุ้งของภาคใต้ศรียะลาบาติก

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี