People

หมวก 3 ใบ ของ
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

เพ็ญแข สร้อยทอง 22 Jul 2022
Views: 743

บ่ายวันฟ้าสดใส ณ “มหิดลสิทธาคาร” คอนเสิร์ตฮอลล์และหอประชุมใหญ่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ท่ามกลางบรรยากาศอันรื่นรมย์ด้วยเสียงเพลงที่บรรเลงโดยเหล่านักดนตรีเยาวชน เราได้พบและพูดคุยกับ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ผู้สวมหมวกหลายใบ ทั้งในฐานะคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครูสอนดนตรี ศิลปินนักประพันธ์เพลงคลาสสิก และเจ้าของหลายรางวัลดนตรีระดับโลก

ในวันนั้นระหว่างการสนทนา ดร.ณรงค์ ไม่ได้เพียงแค่เล่าถึงหมวกทั้ง 3 ใบที่สวมใส่ แต่ยังได้มอบแง่คิดมากมายผ่านการพูดคุยครั้งนี้ด้วย พร้อมกับพูดคุยถึงโอกาสสำหรับคนรักดนตรีจากโครงการ THE POWER BAND 2022 SEASON 2 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

“ผมชอบเป็นครูมากที่สุด ทุกครั้งที่ให้ เราจะได้กลับมาตลอด…จากการสอน ตอนเป็นเด็ก ผมเกลียดการเป็นครูมาก เพราะรู้สึกว่าคุณไม่ประสบความสำเร็จจากการเล่นดนตรีก็เลยไปสอน ผมว่าเป็นเรื่องที่ผิดในระบบการศึกษาของเราทั้งหมด”

ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ
คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครูดนตรีและศิลปิน

 

ในวัยย่าง 50 ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นับเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญของแวดวงการศึกษาและดนตรีของประเทศไทย เริ่มต้นจากความสนใจในดนตรีมาตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนเข้าเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตสมัยเรียนชั้นมัธยม แล้วจึงกลายเป็นบัณฑิตสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อมาได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สเตท และปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมิสซูรี–แคนซัสซิตี้

ดร.ณรงค์ ผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตและทำงานเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกมืออาชีพอยู่ที่สหรัฐอเมริกานานเกือบ 20 ปี ก่อนตัดสินใจกลับมาเมืองไทย

ในฐานะนักประพันธ์เพลง ดร.ณรงค์ ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างสูง โดยมีรางวัลอันทรงเกียรติในระดับนานาชาติการันตีความสามารถ ล่าสุดในปี 2564 ที่ผ่านมากับรางวัล The Charles Ives Awards สาขาการประพันธ์เพลง (Charles Ives Fellowship) โดย American Academy of Arts and Letters ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รับรางวัลนี้นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรมากว่า 120 ปี และผลงานเพลงของ ดร.ณรงค์ ถูกนำไปบรรเลงโดยวงออร์เคสตรามีชื่อเสียงทั่วโลก

ในประเทศไทย ดร.ณรงค์ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปาธร ประจำปี 2550 และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน Thailand International Composition Festival เพื่อสร้างเวทีเชื่อมโยงระหว่างนักประพันธ์เพลงชาวไทยและคนในวงการดนตรีคลาสสิกทั่วโลก รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทยได้แสดงศักยภาพ ขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

ปัจจุบันนอกจากทำหน้าที่คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ดร.ณรงค์ ยังเป็น “ครู” ผู้ถ่ายทอดวิชาทางด้านดนตรีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และยังคงมีไฟในการสร้างสรรค์ประพันธ์เพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในวันที่มีหมวกหลายใบให้ต้องสวม มีหลายบทบาทหน้าที่ต้องคิดและปฏิบัติ ดร.ณรงค์ ทำทุกอย่างควบคู่กันไปได้อย่างสมดุล ทั้งหมดเพื่อสร้าง “การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง” และ “ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้มาก”

 

“ดิสรัปต์” ระบบการศึกษา (ดนตรี)

เมื่อเริ่มทำงานในตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษา “ผมคิดว่าอันนี้สำคัญที่สุด ถ้าดูประเทศที่ประสบความสำเร็จจะพบว่า ไม่มีประเทศไหนระบบการศึกษาอ่อน”

รวมทั้งการผลักดันดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้ก้าวไปไกลกว่าเดิม จึงมีการปรับหลักสูตรการเรียนระบบการศึกษาในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์หลายอย่าง “พยายามปรับให้มีหลักสูตรที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เช่น นักเรียนมัธยมปลาย (โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์) สามารถเรียนปริญญาตรีไปด้วยได้เลย

“เรากำลังจะทำหลักสูตร Performance Certificate สอนเฉพาะวิชาที่จำเป็นจะต้องเรียน เราเป็น Training Institute ที่ถ้านักดนตรีมีปัญหาบางอย่างก็เข้ามาปรับหรือเพิ่มสกิลบางอย่าง แล้วก็ออกไปประกอบอาชีพต่อ ไม่ใช่การเรียนปริญญา แต่เป็นใบประกาศนียบัตร

“จะมีหลักสูตรใหม่คือ เรียนจบ 4 ปีได้ปริญญาตรีดุริยางค์ และได้ปริญญาโทการจัดการ ด้วย เพราะปัญหาของนักดนตรี คือ ไม่รู้วิธีการจัดการ ไม่มีความรู้ในเรื่องการเงิน หลักสูตรนี้ขอความร่วมมือจากวิทยาลัยการจัดการ คิดว่าเป็นนวัตกรรมเพราะปกติวิชาดนตรีไม่ค่อยจะนำอย่างอื่นมาผสม”

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ยังจะร่วมกับสตาร์ตอัปเพื่อเพิ่มโอกาสทางด้านการศึกษาให้ทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น “คิดว่าจะทำหลักสูตรดนตรีบางวิชาที่สามารถเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนเอกดนตรี เพราะว่าดนตรีเข้าไปได้ในหลายส่วน เช่น คนทำเกมก็อาจจะต้องรู้เรื่องดนตรี เวลาทำเพลงประกอบเกมจะได้รู้ว่าอยากได้อะไรบ้าง”

เพื่อส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มประสบการณ์ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีโอกาสเล่นกับมืออาชีพ คือ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) “ทุกๆ คอนเสิร์ตจะต้องมีนักเรียนของเราไปเล่นดนตรีกับ TPO”

ดนตรีคลาสสิกเพื่อสังคม

โดยส่วนตัวแล้ว ดร.ณรงค์ เชื่อว่า “ดนตรีคลาสสิก คือ พื้นฐานของทุกๆ เรื่องในการพัฒนาสังคม เป็นวัฒนธรรมที่อยู่มานาน ดนตรีคลาสสิกเป็นจุดเริ่มต้นจินตนาการ ความที่ไม่มีเนื้อร้อง สามารถใช้จินตนาการได้เต็มที่ ดนตรีคลาสสิกมีเซนส์ของการฮีลลิ่งอยู่ในตัว ดนตรีแสดงสดจะสื่อสารกับผู้คนได้ค่อนข้างดี”

ดร.ณรงค์ มีเป้าหมายในการผลักดันดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย ให้ก้าวไปไกลกว่าเดิม เพราะเห็นว่า “การจัดการดนตรีคลาสสิกในประเทศเราไม่ค่อยมีระบบนัก” จึงได้ริเริ่มกระบวนการจัดการใหม่ เพื่อให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีส่วนร่วมทางสังคม (Social Engagement) มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัดการวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย วงดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้บูรณาการหลายเรื่องเข้ามา

“เราได้ปรับหลายอย่าง เราต้องเลิกเล่นเพลงที่เราอยากจะเล่น เราต้องเล่นเพลงที่คนอยากจะฟังก่อน แล้วสักวันหนึ่งเขาจะอยากฟังเพลงที่เราอยากจะเล่น มันจะเป็นทางที่เดินมาบรรจบได้พอดี ถ้าเราไม่เล่นเพลงที่เขาอยากจะฟัง ท้ายที่สุดก็จะไม่มีใครฟังเราอยู่ดี

“เราเห็นว่าการบริจาคไม่ยั่งยืน ถ้าไม่เดินได้ด้วยตัวเองจะอยู่ยากมาก เมื่อตลาดไทยค่อนข้างเล็ก เรามองว่า ทำยังไงถึงจะออกไปหาเงินตลาดต่างประเทศ ปีนี้ TPO จะไปทัวร์ยุโรป น่าจะเป็นออร์เคสตราวงแรกในประเทศไทยที่ไปเล่นแล้วได้รับค่าจ้าง แม้จะไม่ได้สูงมาก เพราะวงของเรายังไม่มีชื่อ ผู้จัดไม่ได้ขายบัตรเข้าชม แต่ต่อไปในอนาคตอีก 4-5 ปี วงน่าจะสามารถสร้างรายได้ แล้วเราจะเอาเงินนี่แหละมาทำให้คนไทยสามารถชมดนตรีได้ฟรี

“ยังมีแผนพัฒนาวงอีกเยอะ จุดมุ่งหมายของเรา ถ้าทำได้ก็ควรจะให้กลับคืนไปสู่สังคม เราไม่ได้ทำธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ แต่เป็นโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ (Social Enterprise) การทำธุรกิจเพื่อสังคม จะทำยังไงให้เข้าถึงสังคม ให้สังคมเข้าใจ รู้คุณค่าและใช้ประโยชน์”

 

✓ ต้องเล่นเพลงที่คนอยากจะฟังก่อน
เพื่อให้คนเขาอยากฟังเพลงที่เราอยากจะเล่น

 

 

กล้าฝัน! กล้าทำ!
สำหรับผู้มีดนตรีเป็นความฝัน

ในฐานะที่เป็นทั้งครูและรุ่นพี่ซึ่งผ่านประสบการณ์บนเส้นทางอาชีพเกี่ยวข้องกับดนตรีมายาวไกล  ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ มีคำแนะนำสำหรับ “น้องๆ” ที่ต้องการเข้ามาเดินบนถนนสายนี้ว่า

“งานดนตรีอาจจะดูเหมือนสบาย แต่น้องๆ ต้องรู้ก่อนว่า อะไรก็ตามที่เป็นงาน จะไม่สนุกเหมือนกับเป็นงานอดิเรก สำหรับอาชีพดนตรีหรืออาชีพในแวดวงบันเทิง เป็นอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ถ้ามันคือความสุขของเรา คือสิ่งที่เราอยากทำทุกวัน ผมคิดว่าอาชีพนี้จะตอบโจทย์ หาไม่ได้ในอาชีพอื่น แต่มีความยากในการไปอยู่บนยอด ต้องใช้เวลา ผมเองใช้หนึ่งชีวิตในการพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นนักแต่งเพลงได้หรือเปล่า หรือถ้าน้องๆ ตื่นเต้นและเครียด เราก็อาจจะไม่เหมาะกับการเป็นนักดนตรีบนเวที อาจจะต้องดูอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดนตรี”

“ประเทศเรามีของดีเยอะมาก แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าของดีอยู่ที่ไหนบ้าง การประกวดครั้งนี้เปิดโอกาสให้น้องๆ มาแสดงความสามารถให้กรรมการซึ่งมาจากค่ายเพลงต่างๆ ได้เห็นและทำความรู้จัก และยังเป็นการต่อยอด น้องๆ อาจจะได้เข้าค่ายเพลง ได้ฝึกฝน ท้ายที่สุดก็จะไปเชื่อมต่อกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติเรื่องของการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งดนตรีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหนึ่ง” ดร.ณรงค์กล่าว

 

งานสอนคือหมวกใบโปรด

หากถามว่า ในบรรดาหมวกทั้ง 3 ใบที่สวมอยู่ในวันนี้ ชื่นชอบใบไหนมากที่สุด ดร.ณรงค์ ให้คำตอบโดยไม่ลังเลว่า “ผมชอบเป็นครูมากที่สุด การสอนหนังสือเป็นทูเวย์ ทุกครั้งที่ให้อะไรไป เราจะได้กลับมาตลอดจากการสอน”

ทั้งยังยอมรับว่า ในอดีตมีทัศนคติติดลบกับการเป็นครูสอนดนตรี เพราะมักถูกเหมารวมว่าเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรีไม่เก่งจึงมาทำอาชีพครู “ตอนเป็นเด็ก ผมเกลียดการเป็นครูมาก เพราะผมรู้สึกว่าครูเป็นแบบนั้น ถ้าคุณไม่ประสบความสำเร็จจากการเล่นดนตรีก็เลยไปสอน ผมว่าเป็นเรื่องที่ผิดในระบบการศึกษาของเราทั้งหมด”

ในมุมมองของ ดร.ณรงค์แล้ว “ครูดนตรีที่ดี ก็คือนักดนตรีที่ดี มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสอน ครูจะต้องเก่งในด้านนั้น ๆ แล้วคุณจะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดด้วย

“วิธีสอนของผมเป็นวิธีของครูโบราณ ไม่มีเปิด-ปิดเทอม ถ้าครูว่างหรือนักเรียนอยากเรียน บางที 4-5 ทุ่มยังสอนอยู่เลย ว่างพร้อมกันเมื่อไรก็สอน หลังเรียนจบ  4 ปี หรือรับปริญญาแล้วก็กลับมาเรียนได้ เราจะเป็นลูกศิษย์อาจารย์กันตลอดชีวิต”

วิธีการสอนของ “ครู” อย่าง ดร.ณรงค์จะเน้นไปที่การทำเป็นตัวอย่างให้เห็น “เพราะว่ามันง่ายที่สุด อย่างเช่น ผมส่งงานประกวดเยอะมากในช่วง 3-4 ปี เด็กสตูดิโอผมก็จะเป็นแบบนั้นกันหมด ถ้าเราจะสอนให้เด็กไปแข่งเปียโน แต่ครูไม่เคยเข้าแข่งเปียโนเลย เรารู้แค่ทฤษฎี ผมว่าในโลกยุคใหม่ทำไม่ได้ ครูที่ดีต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ แล้วคุณถึงเอาประสบการณ์มาถ่ายทอดให้เด็ก เพราะว่าองค์ความรู้เด็กหาได้เก่งกว่าคุณอีก แต่ที่เด็กไม่มี ก็คือประสบการณ์”

เช่นนั้นแล้ว นักศึกษาวิชาการประพันธ์เพลงที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จึงนับว่าโชคดีที่ได้เรียนรู้จากมืออาชีพซึ่งเปี่ยมประสบการณ์และประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

✓ วิธีสอนที่สำเร็จ คือ การทำเป็นตัวอย่างให้เห็น

นักแต่งเพลงชาวไทยระดับโลก

ถึงจะมีภาระหน้าที่หลากหลายอย่าง แต่ ดร.ณรงค์ยังคงแต่งเพลงอยู่ต่อเนื่อง พร้อมมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามา แม้เป้าหมายหรือจุดประสงค์ในการทำงานแต่ละชิ้นอาจเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง

“พอแก่ขึ้นรู้สึกว่า อยากสร้างงานดีๆ ทิ้งไว้ ตอนนี้ผมไม่ได้สนใจที่จะเขียนเพลงให้ออกมาดูเจ๋ง ดูฉลาด ดูเป็นนักวิชาการ ผมแค่อยากสร้างงานที่คิดว่ามีคุณค่าสำหรับเรา และหวังว่าจะมีคุณค่าสำหรับคนอื่นๆ

“ตอนหลังผมทำงานที่ค่อนข้างท้าทายมากขึ้น เป็นการทดลองมากขึ้น สร้างชิ้นงานที่ใหญ่ขึ้น อยากทำให้แต่ละเพลงเป็นซีรีส์แทนที่จะเป็นเพลงเดี่ยวๆ”

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จุดประกายให้เกิดความคิดเรื่องการเขียนเพลงเกี่ยวกับความเงียบ เสียง เสียงสะท้อน และความวุ่นวาย (Chaos) “ทั้งเสียง เสียงสะท้อน กับความเงียบ มีธรรมชาติที่คล้ายกันในหลายๆ เรื่อง ขาดอะไรไปก็ทำให้อีกอย่างหนึ่งดูด้อยลง เพราะฉะนั้นต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีสมดุล”

 

✓ ความสมดุล คือ กุญแจสำคัญดอกหนึ่งสำหรับการสร้างสรรค์

 

ในความคิดของ ดร.ณรงค์ ความเงียบ คือส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม หรือรากเหง้าของเอเชีย “เราใช้ความเงียบอยู่ในเรื่องดีๆ ทั้งเรื่องสมาธิและความสงบ”

หนึ่งในเพลงชุดนี้ไม่ต่างกับเป็นการทดลองทางสังคม “ผมอัดโน้ตไปแน่นมาก แล้วจะมีช่วงเงียบ ความเงียบเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งทุกคนพร้อมใจกัน ผมคิดว่าถ้าเป็นการทดลองทางสังคม ทำยังไงคนถึงจะเข้าใจว่าต้องสามัคคี ต้องอยู่ด้วยกันแบบบาลานซ์ เลยเอามาทดสอบ ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการปรับ เพลงนี้จะไปเล่นที่หางโจว ประเทศจีน ช่วงเดือนตุลาคม”

หากพิจารณาในรายละเอียด ทุกๆ เพลงที่แต่งมีลายเซ็นของ ดร. ณรงค์เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะกับจังหวะและเสียงประสาน การใช้จังหวะที่ไม่เหมือนใครปรากฏอยู่ในเพลง “เพราะแต่ละคนต่างกัน” และความเป็นไทยที่สะท้อนในพลง “คนไทยไม่ใช่คนที่จะต้องอยู่ในระเบียบตลอดเวลา ดนตรีไทยไม่ถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ เวลาทำเพลงเองผมก็ทำแบบนั้น บางจุดเราไม่จำเป็นต้องทำให้เพอร์เฟกต์มาก เป็นวิธีที่ฝรั่งไม่ค่อยทำ เลยทำให้เรามีเสียงที่ไม่เหมือนคนอื่น”

หัวใจคือ “จะทำยังไงให้งานศิลปะของเรามันสื่อสารกับคนอื่นๆ ในระดับอินเตอร์เนชันแนลได้มากกว่า”

 

✓ หัวใจในการสร้างงานศิลปะผ่านดนตรี
คือทำให้ดนตรีสื่อสารกับผู้คน

 

ความสำเร็จ ความสมดุล และความสุข

จากรางวัลต่างๆ ที่เคยได้รับ ดร.ณรงค์ไม่ได้มองว่า นั่นคือ เครื่องหมายของความสำเร็จในอาชีพ “ผมรู้สึกว่า ตัวเองยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะเรายังไม่ได้เปลี่ยนอะไรบางอย่างในวงกว้างให้กับคนอื่น

กับเป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาและผลักดันดนตรีคลาสสิกในประเทศให้ยกระดับขึ้น “ถ้าทำเรื่องพวกนี้ได้ ผมก็อาจจะถือว่าเป็นความสำเร็จของเรา แต่ว่าตอนนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น”

ในทุกๆ วันที่ดำเนินไปด้วยการแสดงบทบาทในหน้าที่หลายอย่างของการสวมหมวกหลายใบ ดร.ณรงค์เชื่อว่า ความสมดุลคือหัวใจ ซึ่งถ้าทำได้ สิ่งที่ตามมาคือความสุข

“ทุกอย่างที่ทำในชีวิตตอนนี้ค่อนข้างสมดุล ผมพยายามที่จะบาลานซ์ ความสุขของผมมันไม่ได้ซับซ้อน บางทีแค่ได้อยู่บ้านเฉยๆ แต่งเพลง คิดว่าอันนี้คือความสุข ที่บ้านผมมีหมาพันธุ์เล็กๆ ยอร์กเชียร์ทีคัพ 2 ตัว เป็นความสุขของเรา เวลาที่เครียดกลับไปเจอเขาก็ดีขึ้น

“ผมคิดว่าทุกคนควรจะหาความสุขเล็กๆ ของตัวเอง ควรฉลองเรื่องเล็กๆ ทุกเรื่องเล็กๆ เป็นความสุข ทำให้เราอยู่ไปได้เรื่อยๆ”

และเมื่อใดที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา หรือสถานการณ์ไม่เป็นใจ “ถ้าเรามองด้วยใจเป็นกลาง มองว่ามันก็เป็นแบบนี้แหละ เป็นเรื่องธรรมดาโลก ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป วันนี้ปัญหามาหนักมาก เครียด ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็จะอยู่ แล้วมันก็จะหายไป ที่สุดถึงแม้ว่าเราจะไม่ทำอะไร เวลาก็จะทำให้เรารู้สึกแย่กับมันน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ได้หมายความว่า ปัญหานั้นถูกแก้หรือว่าปัญหานั้นจะเล็กลง แต่ความรู้สึกของเรากับปัญหานั้นจะเล็กลงเรื่อยๆ”

การสนทนากับ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ จบลงหลังจากยามบ่ายอันสดใสแปรเปลี่ยนเป็นย่ำค่ำที่มืดครึ้มด้วยเมฆฝนและบทเพลงได้เงียบเสียงลงไปแล้ว ขณะที่เราเดินจากมาโดยทิ้งมหิดลสิทธาคารไว้เบื้องหลัง ฝนกำลังเริ่มลงเม็ดปรอยๆ เมื่อได้ย้อนกลับไปทบทวนถึงคำพูดของ ดร.ณรงค์เรื่องความสำคัญของการสร้างสมดุลให้กับทุกบทบาทหน้าที่ เราก็ได้ข้อสรุปเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าชีวิตจะส่งหมวกให้เรามากน้อยแค่ไหน แต่เราสวมหมวกได้ทีละใบ จึงควรทำหน้าที่บทบาทที่กำลังสวมอยู่นั้นให้เต็มที่ที่สุด

 

เก็บตกเรื่องน่าคิดเกี่ยวกับดนตรีและการสร้างสรรค์

จากการพูดคุยกับ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

หัวใจในการสร้างงานศิลปะผ่านดนตรี คือ ทำให้ดนตรีสื่อสารกับผู้คน
ต้องเล่นเพลงที่คนอยากจะฟังก่อน เพื่อให้คนเขาอยากฟังเพลงที่เราอยากจะเล่น
ความสมดุล คือ กุญแจสำคัญดอกหนึ่งสำหรับการสร้างสรรค์
วิธีสอนที่สำเร็จ คือ การทำเป็นตัวอย่างให้เห็น

 

สองเวทีประกวด…สองโซนดนตรี
โอกาสดีๆ ที่ไม่ควรพลาด

จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ชิงเงินรางวัลและถ้วยรางวัล (การประกวดหนึ่งเป็นถ้วยรางวัลพระราชทาน) ที่สำคัญคือเปิดประตูโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีในเวทีระดับประเทศและต่อยอดไปถึงยังระดับโลก!

• TIWSC = เวทีประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ ‘Thailand International Wind Symphony Competition’ ที่เฟ้นหาสุดยอดวงดนตรีเครื่องเป่าผ่านการแสดงบทเพลงคลาสสิกและบทเพลงร่วมสมัย บนเวทีแข่งขันระดับมาตรฐานสากลชมบรรยากาศการประกวด

ชมบรรยากาศการประกวด  มากกว่าแค่การประกวดดนตรี เพราะนี่คือ “งานประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย ปี 2563

• THE POWER BAND = เวทีประกวดวงดนตรีสากล ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีคนรุ่นใหม่ได้แสดงความสร้างสรรค์ด้านเสียงเพลง พร้อมความสามารถด้านดนตรี เพื่อทำฝันให้เป็นจริงโดยก้าวสู่การเป็นศิลปินต่อไป(ด้วยโอกาสการทำเพลงและ MV กับค่ายเพลงชั้นนำ)

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ