People

นพดล ถิรธราดล
แจ๊ส, อัตลักษณ์ & ดนตรีกับชีวิต

เพ็ญแข สร้อยทอง 26 May 2023
Views: 598

“ดนตรีแจ๊สพาให้เรามาเจอกัน ถ้าคุณยอมรับมันและเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ มันจะทำให้ชีวิตคุณมีความสุข สงบ และสว่าง (Enlighten)” – ซันนี โรลลินส์ นักแซกโซโฟน วัย 93 ปี ตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ของวงการดนตรีแจ๊ส 

นพดล ถิรธราดล หรือ อาจารย์หลง รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาชีพ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ในเช้าวันหนึ่ง หลังจากที่เพิ่งจะเสร็จภารกิจสำคัญประจำปีในการทำหน้าที่โปรเจกต์เมเนเจอร์ของงาน Thailand International Jazz Conference (TIJC) หรือเทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งจัดเป็นปีที่ 14 และบางคนที่ได้มาร่วมงานนี้ให้จำกัดความว่าเป็น ‘งาน Jazz Education ที่ดีที่สุดในเอเชีย’

“การตอบรับปีนี้ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมา เราทำมาต่อเนื่องจนมีแฟนประจำ เด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นว่าถ้าได้มาเยือนหรือมาเล่นที่งานนี้มันเป็นความทรงจำที่สำคัญของชีวิต หลายคนบอกว่า เขาเกิดจากตรงนี้ ประสบความสำเร็จได้เพราะตรงนี้ ปีนี้มีเด็กๆ จากหัวเมืองจังหวัดต่างๆ มาเยอะมาก คนดูมีคุณภาพมากๆ”

ตลอดทั้ง 3 วันของการจัดงานในช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมที่ผ่านมา TIJC ยังคงเป็นงานที่น่าสนใจด้วยการผสมผสานงานสัมมนาวิชาการกับเทศกาลดนตรีแจ๊สหรืองานการศึกษาและความบันเทิงผสมผสานเข้าด้วยกัน ในปีนี้มีศิลปินระดับโลกมาเป็นวิทยากรให้ความรู้และเปิดแสดงคอนเสิร์ต ทั้งศิลปินจากสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในแถบเอเชีย

“ดนตรีมีพลังและรับใช้ชีวิตเรา…คนไม่รู้ตัวว่านั่นคือ อิทธิพลกับชีวิตเรามาก
แต่เสียงดนตรีมีความเป็นนามธรรมสุดโต่ง อะไรที่ผ่านตา ผ่านลิ้น มันรับรู้ได้ง่าย
แต่ว่าผ่านหูมันยากกว่า…”

อาจารย์นพดล ถิรธราดล
รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาชีพ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สำหรับอาจารย์นพดลแล้วงาน TIJC คือ ส่วนหนึ่งของการ “สร้างโลกอุดมคติ” ซึ่งเป็นพันธกิจของชีวิตในการสร้างคนและพัฒนาชาติ “ผมทำงานไม่ได้ค่าตัว แต่สิ่งที่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่าคุ้มค่า ตายตาหลับ งานจะเดินไปข้างหน้า โตไปช้าๆ แบบนี้เราก็แฮปปี”

โอกาสที่จะขยับขยายทำให้งานนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือทำให้เป็นงานระดับภูมิภาคนั้นยังเป็นเรื่องยาก ด้วยการขาดหลายปัจจัยจำเป็นอย่างเช่น ทุน เป็นต้น

“ภาพของงานเราคือเป็นงานเพื่อการศึกษา ศิลปินระดับโลกที่มาเราให้ค่าตัวเขาน้อยมาก ถ้าเป็นการร่วมมือระหว่างภูมิภาคเราจะคุยกันแบบนี้ไม่ได้ ศิลปินที่มาร่วมงานนี้ เขาเข้าใจว่าเป็นงานที่ทำเพื่อการศึกษา เพราะฉะนั้นค่าตัวต่างๆ ก็จะไม่ได้คิดเต็ม นักดนตรีสายฮาร์ดคอร์เขาต้องการทำเรื่องพวกนี้ แต่ไม่มีที่ไหน ยกเว้นที่ยุโรปและอเมริกา เวลาคนจ้างวงแจ๊สมาเล่นแถวนี้ก็จะจ้างศิลปินกึ่งป็อปหมด เพราะฉะนั้นคนดนตรีสายนี้ เขาแทบจะไม่มีโอกาสมาเซาท์อีสต์เอเชียเลย”

 

✔️สร้างการแข่งขันดนตรี
ให้เป็นเวทีแห่งโอกาสและการสร้างสรรค์

สร้างสรรค์-สร้างอัตลักษณ์เพื่อพัฒนา

ในงาน TIJC ยังจัดให้มีเวทีการแข่งขันวงดนตรีแจ๊สด้วย หัวเรือการจัดงานอย่างอาจารย์นพดลบอกว่า การแข่งขันดนตรีควรนำไปสู่การพัฒนาคนหรือการพัฒนาประเทศได้

“แต่การจัดประกวดดนตรีของบ้านเราเป็นเหมือนกับการจัดต่อยมวยชิงแชมป์ มีคนโดนน็อกสลบคาเวที มีคนได้เข็มขัด ซึ่งทำให้ประเทศนี้ไม่ได้อะไรเลย เมื่อทุกวงเล่นเหมือนกันหมด มีวิธีคิดแบบเดียวกันหมด เราต้องหาวิธีทำให้เขาเข้าใจว่า การแข่งขันไม่ใช่การต่อยมวย แต่คือการพัฒนาคนและพัฒนาชาติ ต้องหาทางที่จะทำให้เขาเข้าใจ”

ในการแข่งขันหรือประกวดดนตรีสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างสรรค์ กล้าที่จะปฏิวัติ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง “การทำให้คนเห็นว่า ถ้าคุณไม่มีครีเอทีฟ คุณก็จบ จะชนะได้ต้องมีครีเอทีฟ ให้มันกลายเป็นวัฒนธรรม แล้ววิธีคิดทางสังคมจะเปลี่ยน”

หลังจบการแข่งขันยังต้องมีการพัฒนาต่อ เช่นเดียวกันกับคนที่จบการศึกษาทางด้านดนตรีแล้ว “ผมบอกพวกเขาเสมอว่า จริงๆ แล้ว แจ๊สคือรากเหง้าของดนตรีป็อปทั้งหมด มันเรียนยากมาก กว่าคุณจะสำเร็จมันได้ เหมือนคุณถือความรู้ที่เป็นองค์รวมของทั้งโลกอยู่ในมือ ผมบอกนักศึกษาเสมอว่า ถ้าคุณมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในมือ เมื่อคุณเรียนจบออกไปแล้ว ดนตรีก็คือดนตรี ดนตรีรับใช้ชีวิต คุณเอาความเข้มข้นนี้ไปหามุมมองใหม่ๆ ในการที่จะใช้ดนตรี”

อาจารย์ยกตัวอย่างถึงศิลปินเพลงป็อปที่มีผลงานโดดเด่นสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักโดยมีแจ๊สเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์โดยนำไปผสมผสานกันแนวทางอื่นๆ “อันนี้คือเป้าหมายของการสร้างอัตลักษณ์ ถ้าการประกวดดนตรีไปถึงจุดที่วงสามารถสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาได้มันจะยอดเยี่ยมมาก”

กับงาน TIJC ปีหน้า มีความตั้งใจที่จะสร้างแคมป์ดนตรีสำหรับนักดนตรีอาชีพและเยาวชน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะผลักดันส่งเสริมให้มีการพัฒนาคนดนตรีไทย

“เป็นการผลักดันให้คนสร้างงานของตัวเอง โฟกัสไปที่การสร้างคอมมิวนิตีและการสร้างอัตลักษณ์ของคนไทย อย่างเช่น ยุโรปหรือญี่ปุ่นเขารับแจ๊สไปแล้วก็สร้างเป็นของตัวเอง มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจะต้องเป็นแจ๊สที่มีอัตลักษณ์ของคนไทย เป็นงานที่ยาก ต้องขยับทีละสเต็ป เรามีปัญหาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จะต้องแก้หลายเรื่อง ตอนนี้คนสร้างงานของตัวเองมี แต่จะทำยังไงให้มีอัตลักษณ์ มันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ”

✔️ทุกการซ้อมให้ตั้งเป้าหมาย แต่ต้องไม่ลืมมีความสุข

 

การแข่งขันคือโอกาส

ทุกการแข่งขันหรือประกวดดนตรีสามารถสร้างโอกาสมากมายให้กับผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะในเยาวชน นอกเหนือไปจากรางวัล การแข่งขันจะนำไปสู่การได้รับการยอมรับ ทั้งยังเป็นการต่อยอด สร้างเครือข่าย เปิดโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะ ทั้งจากผู้เข้าร่วมคนอื่น กรรมการตัดสิน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดนตรีต่าง ๆ เวทีประกวดยังสร้างความมั่นใจและพัฒนาตัวตน

“การประกวดดนตรีเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี” อาจารย์นพดลบอก

สำหรับรายการประกวดวงดนตรีสากล THE POWER BAND 2023 SEASON 3 ซึ่งทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ 3 นี้เป็นการประกวดภายใต้คอนเซปต์ “THE POWER OF POSSIBILITIES ชีวิตไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้” อาจารย์นพดลกล่าวว่า การประกวดดนตรีนี้ก็เช่นเดียวกันกับการจัดกิจกรรมอย่างเช่นที่ คิง เพาเวอร์ สร้างสนามฟุตบอลให้เยาวชน “ยิ่งเปิดมากเท่าไร ก็จะมีนักฟุตบอลมากขึ้นเท่านั้น พอมากขึ้น ก็จะมีคนเก่งโผล่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ”

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการประกวดดนตรี อาจารย์นพดลแนะนำว่า “ควรเริ่มต้นจากการศึกษากติกามาอย่างดี และวงต้องวางแผน ตั้งแต่การเลือกเพลง ควรมีผู้ที่สามารถแนะนำในเรื่องความถูกต้องของบทเพลงหรืออื่น ๆ ด้วย

“ในการซ้อมปรับวงทุกครั้งต้องมีเป้าหมายว่าเราจะซ้อมเพื่ออะไร ต้องทำแบบมีแผน มีความเข้าใจ การทำซ้ำ ๆ โดยไม่มีแผน ไม่มีเป้าหมาย สุดท้ายมันจะเป็นแค่การเล่นโดยอัตโนมัติหรือความเคยชิน แต่ไม่ได้ทำดนตรีนั้นให้สมบูรณ์ขึ้น”

อาจารย์นพดลยังย้ำว่า “สำคัญที่สุดคือ มีความสุขกับการเล่นดนตรี มีความสุขกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แล้วมุ่งสู่เรื่องของการสร้างสรรค์”

 

ห้องเรียนที่มีชีวิต

ในฐานะอาจารย์สอนดนตรี อาจารย์นพดลตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างคนและพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน “ต้องสร้างตั้งแต่เด็กๆ คนพวกนี้จะเป็นคนฟังรุ่นใหม่ เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ คนคิดรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาพัฒนาประเทศ เยาวชนเหล่านี้จะไปสร้างแนวโน้มใหม่ให้กับสังคม”

อาจารย์นพดลได้ส่งเสริมให้เกิด “ห้องเรียนที่มีชีวิต” เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ นอกห้องเลกเชอร์ไปด้วย “การที่เราจะทำให้ห้องเรียนเป็นห้องสี่เหลี่ยมเหมือนที่เคยเป็น วันหนึ่งมหาวิทยาลัยก็จะถึงทางตัน มันจะล่มสลาย เพราะคนไม่ต้องการสิ่งนั้นอีกต่อไป สำหรับผมก็ยังโอลด์สกูลอยู่คือมีห้องเรียนก็นั่งเรียนกันไป แล้วก็จะมีส่วนหนึ่งคือมีห้องเรียนที่ไม่เป็นห้องเรียน”

ห้องเรียนที่มีชีวิตที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์รวมถึงการเปิดให้นักศึกษาได้ลงมือทำงานจริงในฐานะส่วนหนึ่งของทีมงาน TIJC “ผมให้เด็กๆ ได้อยู่กับศิลปินระดับโลก เด็กๆ ไปดีลตั้งแต่ที่สนามบินจนถึงวันกลับ ไปเจอศิลปินนิสัยดี นิสัยไม่ดี เรื่องมาก เรื่องน้อย มีครบทุกอย่าง ตรงนี้มันจะสร้างความเป็นโกลบอลซิติเซน (Global Citizen)

 

✔️สร้างห้องเรียนที่มีชีวิต
เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนดนตรี

“ผมบอกเด็กๆ ว่า เรากำลังจะเรียนรู้ไปด้วยกัน เขาต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ นี่คือชีวิตจริง วันหนึ่งออกไปทำงาน จะยิ่งกว่านี้อีก มันจะซับซ้อนกว่านี้ แล้วจะคิดถึงโลกในอุดมคติแห่งนี้ที่เขาถูกกดดันให้ทำเรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยทำ”

ความเป็นโกลบอลซิติเซน หรือพลเมืองโลกจะส่งให้คนไทยไปได้ไกลขึ้น “คุณภาพคนดนตรีแจ๊สบ้านเรา ตอนนี้ผมคิดว่ามันไปไกลมากกว่าที่ผมคิด มีเด็กเริ่มออกไปต่างประเทศ มีเด็กไทยอยู่ที่นิวยอร์ก มีเด็กไทยแต่งเพลงได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับโลก แค่นี้ก็เหลือเชื่อแล้ว

“เราจะต้องทำให้เขาเป็นโกลบอลซิติเซน ไปอยู่ที่ไหนไปทำอะไรไปคุยอะไรกับใครก็ได้ พอเป็นโกลบอลซิติเซน ไม่ช้าไม่นาน คนระดับโลกมันก็จะเกิดขึ้นทันที อันนี้ผมก็กำลังทำอยู่ มันจะสำเร็จเมื่อไหร่ผมไม่รู้”

ดนตรีก็คือดนตรี ดนตรีอยู่ในทุกอณูชีวิต

จากนักศึกษาวิชาจิตรกรรมที่เล่นดนตรีเพื่อหารายได้ดูแลตัวเองจนกลายมาเป็นอาจารย์สอนดนตรียาวนาน 26 ปี “และผมไม่ได้จับพู่กันอีกเลย” เป็นความตั้งใจตั้งแต่วัยหนุ่มที่เขามุ่งมั่นอยากจะใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะ ให้ศิลปะเลี้ยงดูชีวิต วันนี้นอกจากงานสอนแล้ว อาจารย์นพดลยังคงเล่นดนตรีและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลซ่อมดับเบิลเบสด้วย

สำหรับอาจารย์นพดล ดนตรีคือความดีความงาม เป็นความดีความงามที่ทำให้โลกนี้ดำเนินต่อไปได้ และในโลกนี้ก็มีความดีความงามอยู่ในสิ่งต่าง ๆ มากมายไม่ใช่เฉพาะดนตรี

“อาจจะเป็นทุกอย่างที่เป็นความดีความงาม โลกดำเนินไปได้เพราะว่าความดีความงาม ทุกเรื่องที่เป็นความดีความงามมันอยู่กับเรา

“ดนตรีมีพลังมาก มันรับใช้ชีวิตเรา ดนตรีมันทรงพลัง บางคนฟังดนตรีแล้วฆ่าตัวตาย บางคนฟังดนตรีแล้วตีกัน ดนตรีบางชนิดคนเอาไว้ฟังเพื่อสร้างสมาธิ คนไม่รู้ตัวว่านั่นคือ อิทธิพลที่มีผลกับชีวิตเรามาก แต่ปัญหาของเสียงดนตรีคือ มีความเป็นนามธรรมสุดโต่ง อะไรที่ผ่านตา ผ่านลิ้น มันรับรู้ได้ง่าย แต่ว่าผ่านหูมันยากกว่า

“เวลาเด็กมีความทุกข์มาหา ผมจะบอกจำไว้นะว่า โลกมันมีความสุข มีความดีความงามอยู่ทุกที่ แต่เรามองไม่เห็น เช่น เราได้ยินเสียงลมพัดใบไม้แล้วใบไม้มันร่วงปลิวไปตามพื้น ถ้าคุณมองเห็นความสุขในสิ่งที่เป็นธรรมดาเช่นนั้นได้ หรือตื่นเช้ามาคุณมีน้ำสะอาดดื่มสักแก้ว หรือแสงอาทิตย์จากหน้าต่างมาทำให้คุณรู้สึกอบอุ่น นั่นแหละคือความสุข ศิลปะสอนให้เรารู้ว่านั่นคือความสุข ไม่ใช่เราต้องมีรถเฟอร์รารีหรือมีเมียเป็นนางงามจักรวาล สิ่งเหล่านั้นมันหมดไปได้ แต่ความสุขแบบนี้จะอยู่กับเราตลอดไป”

 

✔️ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 
และยังส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อโลกใบนี้ได้

 

ในมุมมองของอาจารย์นพดล ดนตรีก็คือดนตรี ความรู้เรื่องดนตรีของทุกคนเป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าใครจะแสดงออกมาอย่างไร “โลกมีความรู้อยู่แค่ชนิดเดียว มันถูกเอกซ์เพรสออกไปแตกต่างกัน เราดำเนินมันแตกต่างกัน แต่เป้าหมายเป็นเรื่องเดียวกัน”

และชีวิตของอาจารย์นพดลไม่ได้มีแต่แจ๊ส “เวลาทำนู่นทำนี่ เช่น ซ่อมรถ ผมจะเปิดสถานีวิทยุเพลงอีสานบ้าง เพลงลูกทุ่งบ้าง ผมมีความสุขมาก ดนตรีแจ๊สก็ตอบสนองชีวิตผมในอีกบริบทหนึ่งซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ผมมีสมาธิผมกำลังตั้งใจถึงจะฟัง”

หากพูดถึงเพลงป็อปปูลาร์หรือเพลงฮิตร่วมสมัย “มาถึงวันนี้ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมคนถึงชอบด่าคนแก่ว่าไดโนเสาร์เต่าล้านปี เพราะว่าดนตรีใหม่ๆ จำนวนหนึ่ง ผมฟังแล้วไม่อินเลย วันนี้ผมเข้าใจแล้วว่า เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเองได้ เราเป็นโอลด์สคูล ณ เวลาหนึ่ง

“แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องสำนึกก็คือโลกคือการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงคือผู้ชนะเสมอ ไม่มีใครชนะการเปลี่ยนแปลง ดนตรีเหล่านั้นคือการเปลี่ยนแปลง ถึงผมจะไม่สนุกกับมัน แต่ผมต้องยอมรับมันว่านั่นคือส่วนหนึ่งของชีวิต

“ผมไม่เคยไปดูถูกดนตรีที่เด็กๆ สมัยนี้เขาเล่นกัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้เป็นพระเจ้า อย่าเอาตัวเองไปตัดสินถูกผิดชั่วดีร้าย เราไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น เราต้องเข้าใจให้ได้ว่ากฎของชีวิตก็คือการเปลี่ยน แปลง คุณต้องยอมรับการแสดงเหล่านั้น ทำความเข้าใจมัน แล้วคุณจะทำยังไง คุณจะอยู่กับมันยังไง จะให้มันเติบโตได้ยังไง”

ด้วยดนตรี (และความดีความงามในสิ่งต่าง ๆ) ทำให้โลกยังคงหมุนไป

 

ใจความสำคัญ
จากทรรศนะของอาจารย์นพดล ถิรธราดล

✔️สร้างการแข่งขันดนตรีให้เป็นเวทีแห่งโอกาสและการสร้างสรรค์

✔️ทุกการซ้อมให้ตั้งเป้าหมาย แต่ต้องไม่ลืมมีความสุข

✔️สร้างห้องเรียนที่มีชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนดนตรี

✔️ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และยังส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อโลกใบนี้ได้

 

“It’s Possible, Music Makes Life Possible” พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 กำลังเปิดรับสมัคร สนามเชียงใหม่ เปิดรับสมัครถึง 16 มิถุนายน 2566  การแข่งขันในปีนี้สำหรับ Class A (รุ่นมัธยมศึกษา) ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันเดียวกันเท่านั้น และ Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป) ติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th/thepowerband / Facebook: thepowerband.mahidol

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว