Playground

ยกเครื่องลายเต่าคลาสสิก
ผ้าทอบ้านเขาเต่าโฉมใหม่
ไปไกลถึงเลสเตอร์ ซิตี้

วรากร เพชรเยียน 6 Oct 2023
Views: 2,909

Summary

จาก ‘หมู่บ้านยากจน’ ในอดีต วันนี้รุ่มรวยด้วยความรู้ในงานหัตถกรรมไทย ผ้าทอจากกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า กำลังจะออกเดินทางไปไกลถึงเลสเตอร์ ซิตี้ ด้วยคอลเลกชันพิเศษบ้านเขาเต่า x LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ซึ่งผลงานมีทั้งรายละเอียดจากงานฝีมือและมีความพิเศษของการดีไซน์ที่ทันสมัย

หมู่บ้านของป้าเป็นหมู่บ้านยากจนมาก

คำพูดของคุณป้าแส – ณัฐากาญจน์ เอี่ยมสำอางค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า พูดสั้นๆ ถึงหมู่บ้านเขาเต่า สมัยก่อนนู้น.. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม่บ้านและลูกหลานชาวบ้านเขาเต่าก็ได้เรียนรู้จักงานหัตถกรรมทอผ้า ปัจจุบันมีคุณป้าแส – ณัฐากาญจน์ เอี่ยมสำอางค์ ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ เป็นชาวบ้านรุ่นที่หนึ่งต่อความรู้มาถึงคุณหน่อย – ธัญรดา พลายชมภู ลูกสาวเป็นรุ่นที่สอง เป็นผู้จัดการและผู้ออกแบบลายผ้า และคุณบิว – เอี่ยมสำอางค์ ซึ่งเป็นหลานชายในรุ่นที่สาม ซึ่งเป็นฝ่ายออกแบบลายผ้า-ผ้าขิต

จากคนทั้งสามเจเนอเรชันที่ร่วมกันผลักดันงานหัตถกรรมไทยและผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเขาเต่านี้เปลี่ยนชุมชนบ้านเขาเต่า จากหมู่บ้านยากจนเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่ายินดี จนได้ส่งออกงานทอผ้าสู่ระดับโลกด้วยการร่วมกันผลิตสินค้า LCFC สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ซึ่งจะได้นำเอาผลงานไปวางจำหน่ายไกลถึงเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ให้คนต่างชาติได้รู้จักงานศิลป์ไทยในรูปแบบที่ดีต่อใจ

ภาพจากกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า

 

เจาะลึกสั้นๆ เกี่ยวกับกลุ่มสตรีผ้าทอบ้านเขาเต่า

• จากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงริเริ่มกลุ่มทอผ้าเพื่อให้หญิงชาวบ้านได้มีอาชีพเสริมหารายได้เข้าครัวเรือน

• แรกเริ่มใช้ใต้ถุนของวัดเขาเต่าเป็นสถานที่สอนทอผ้า จนปี พ.ศ. 2508 ชาวบ้านในชุมชนถวายที่ดินแก่พระองค์ท่าน
จากนั้นจึงเริ่มสร้างอาคารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เมื่อครั้งยังเป็นหมู่บ้านที่ยากจน

กว่าจะมาเป็นชุมชนบ้านเขาเต่าที่ปัจจุบันชาวบ้านดำรงชีพด้วยประมงและทำไร่ ทำเกษตร สมัยก่อนเคยเป็นหมู่บ้านที่ยากจน น้ำท่าเข้าไม่ถึงต้องเดินหาบน้ำเป็นกิโลฯ กว่าจะถึงบ้าน “เดินเป็นกิโลฯ กว่าจะหาบน้ำมาถึงบ้านได้ ไม่มีน้ำพอจะดื่มด้วย สมัยนั้นพระองค์ท่าน รัชกาลที่ 9 เดินทางมาสิบ-ยี่สิบกิโลฯ ทางก็เป็นหล่ม เป็นโคลน เป็นเนินทราย ถ้าน้ำทะเลขึ้นก็หาบไม่ได้แล้ว” คุณป้าแสเล่าให้เราฟัง

สมัยนั้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า อาชีพของคนในชุมชนจึงเป็นอาชีพประมงเพราะเป็นที่ดินติดน้ำทะเล จนกระทั่งรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมประชาชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากพระราชวังไกลกังวล และได้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคอยู่เสมอ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 จึงได้พระราชทานอ่างเก็บน้ำไว้ให้ใช้สอย และในปี พ.ศ. 2507 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงมองเห็นว่าหญิงชาวบ้านบ้านเขาเต่ายังไม่มีอาชีพเสริมที่จะหารายได้ใช้ในครัวเรือน จึงชักชวนให้มาหัดทอผ้าฝ้ายขาย ได้พระราชทานทั้งอาหารกลางวันและค่าแรงให้แก่ผู้ทอผ้าด้วย

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เคยรับสั่งว่า ‘ถ้าเธอจะไปชวนใครเขามา เธอก็ชวนคนในบ้านของเธอมาก่อนนะ’ จากนั้นลูกหลานคนไหนที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็ชวนไปเกาะกี่ทอผ้าก่อน ให้ใจมาแล้วเขาก็จะทอผ้าได้”

 

หมู่บ้านผ้าทอจากกี่พระราชทาน

งานทอผ้าที่ทางหญิงในชุมชนบ้านเขาเต่าทำอยู่ แรกเริ่มเรียนรู้จากคุณครู รัชกาลที่ 9 ทรงมอบหมายให้ครูจากจังหวัดราชบุรีมาสอน “สมัยนั้นมีการเรียนการสอนที่ใต้ถุนวัดเขาเต่า จนในปี พ.ศ. 2508 นายประสิทธิ์ และ นางเจียมจิต ยอดย้อย คนในชุมชนก็ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดิน 3 ไร่ 60 ตารางวา พระองค์ท่านก็เลยสร้างอาคารถาวรที่เราทำอยู่ทุกวันนี้” คุณหน่อยพูดถึงเรื่องราวในสมัยนั้น รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานกี่ทอผ้าเพื่อใช้สำหรับทอ ปัจจุบันว่าเหลือกี่พระราชทานอยู่สองหลัง หนึ่งหลังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ และอีกหนึ่งหลังวางอยู่ที่อาคารปัจจุบันเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาของพระองค์ท่าน

ภาพส่วนหนึ่งจากกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า

แต่หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2536 กลุ่มทอผ้าก็ปิดตัวลง แล้วกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในยุคสมัยของคุณหน่อย “จนปี พ.ศ. 2545 แม่ๆ ก็กลับมาทำด้วยเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ท่านสร้างไว้ให้เป็นสมบัติของชุมชน เป็นอาชีพที่ต้องช่วยกันรักษา ก็เลยกลับมารวมตัวกันใหม่อีกครั้ง”

ได้หน่วยงานราชการ ผู้ว่าฯ สนับสนุนและส่วนเครื่องมือทอผ้าก็ได้หน่วยงานมาช่วยซ่อมแซม และได้ความรู้สมัยใหม่ ในเรื่องการจัดการ การออกแบบลายผ้ามาช่วยทำให้ผ้าทอบ้านเขาเต่ามีเอกลักษณ์และจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

 

เจาะลึกสั้นๆ เกี่ยวกับกลุ่มสตรีผ้าทอบ้านเขาเต่า

• ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า
คือผ้าขาวม้าเก้าเส้น และผ้ายกดอกลายเต่า

• ผ้ายก “หน้า Fox” ที่ใช้ในสินค้า LCFC
กว่าจะลงตัวได้เริ่มต้นทอผ้าจริง ใช้เวลาพูดคุยและปรับเปลี่ยนแบบร่วมเดือน

เอกลักษณ์ผ้าทอบ้านเขาเต่า

ในสมัยที่คุณป้าแสยังเป็นเด็กหญิงอายุสิบกว่าปี ทุกขั้นตอนล้วนเกิดขึ้นผ่านมือของคนในกลุ่มทอผ้าตั้งแต่การปลูกต้นฝ้าย การย้อมสี การใส่ฟันหวี การม้วนเข้าเพลา ไปจนถึงการทอ แต่ปัจจุบันลดทอนขั้นตอนปลูกต้นฝ้ายไปเพราะไม่ได้ผลดี เนื่องจากที่ดินติดเค็มด้วยเกลือทะเล จึงสั่งซื้อเส้นใยฝ้ายจากจังหวัดอื่นที่มีคุณสมบัติตามต้องการแทน แต่ก็ได้ชาวบ้านในกลุ่มที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 10 คนในการทอผ้าออกมาเป็นชิ้นๆ ส่งขาย และแปรรูปเป็นสินค้าประเภทอื่น

ในขั้นตอนการทอผ้านี้เองที่ปัจจุบันได้คุณหน่อย รุ่นที่สอง และคุณบิว รุ่นที่สามในการเป็นผู้ออกแบบลายผ้าและลงมือทอ มีลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเขาเต่า เป็นผ้าขาวม้าเก้าเส้นและผ้ายกดอกลายเต่า

ผ้าขาวม้าเป็นผ้าทอลายขัด เวลาออกลายด้านยืนจะโทนสีอไรก็แล้วแต่ แต่เวลาทอจะพุ่ง 9 เส้นสลับสี เป็นผ้าชิ้นแรกที่แม่ๆ ป้าๆ ทำ ผันจากอาชีพเสริมเป็นอาชีพหลัก และผ้ายกดอกลายเต่า ผ้าทอลายขัดปกติจะเป็น 2 ขาเหยียบ ปัจจุบันที่เราทำมี 16 ขาเหยียบ คุณหน่อยเล่าให้เราฟังถึงผ้าทออันเป็นอัตลักษณ์ของบ้านเขาเต่า

อีกหนึ่งความพิเศษของกลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่า คือสีของผ้าทอที่ไม่ฉูดฉาดและสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หรือนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย “สีจะไม่ฉูดฉาดเท่าไร ไม่เหมือนไหมประดิษฐ์ ด้วยวัตถุดิบของฝ้ายที่มาจากธรรมชาติซึ่งจะมีพวกไขมัน โปรตีนจากธรรมชาติ การติดสีเวลาย้อมก็จะไม่ติดมาก สีจะดูซอฟต์ลง นี่เป็นเสน่ห์ของเรา” คุณบิวช่วยเสริม

 

ส่งออกงานผ้าทอ “พลังคนไทย” ไปเลสเตอร์ ซิตี้

“เราก็ทำงานในวงการผ้าและอยู่ในส่วนของสินค้าโอท็อป ซึ่งเราก็ติดตามอยู่ตลอดว่า คิง เพาเวอร์ ได้ร่วมกับชุมชนนี้ แต่พอมีการติดต่อจากทีมงานพี่ก็แอบตกใจ” คุณหน่อยเล่า

จากที่ คิง เพาเวอร์ ได้ติดตามผลงานผ้าทอของกลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่า จึงเปิดเป็นไอเดียที่จะนำเอาผ้าทอมาใช้กับสินค้า LCFC ในคอลเลกชันพิเศษกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งก็ได้สั่งทำผ้าขาวม้าสามลาย และผ้าหน้าลายฟ็อกซ์หรือสุนัขจิ้งจอก เพื่อให้เข้ากับเอกลักษณ์ของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งผ้าผืนนี้เป็นงานออกแบบที่กินเวลานานร่วมเดือนในการพูดคุยและผสมผสานระหว่างความโมเดิร์นเข้ากับผ้ายกดอกลายเต่าดั้งเดิม (อ่านเรื่องลายหน้าฟ็อกซ์ในการทออีกรูปแบบจากชุมชนไทยทรงดำเมื่อคอลเล็กชันที่แล้ว คลิก)

“เรามีผ้ายกดอกลายเต่าซึ่งมีกรอบแปดเหลี่ยมอยู่ หลังจากออกแบบมา ผมก็ต้องแกะลายให้ออกมาเป็นเลขตะกอ ปกติที่เราทำมี 16 ขาเหยียบ แต่พอออกมาแล้วมันต้องมีถึง 18-20 ขาเหยียบ เลยต้องออกแบบลายกันใหม่ ทำวน 4-5 รอบ จนได้มา 11 ขาเหยียบ แล้วเวลาทอ ต้องทอไม้ 1-11 แล้วทอ 11-1 ทอไปและทอกลับ งานนี้เป็นโจทย์ที่ยาก เพราะต้องคิดลายที่สมมาตรและสมดุล” คุณบิวเล่าต่อ

ผ้าลายฟ็อกซ์นี้ใช้พื้นสีน้ำเงินเข้มและลายยกสีน้ำเงินอ่อน เป็นงานที่มองยังไงก็ไม่ง่าย แต่เพราะได้ออกจากกรอบเดิมๆ ก็ทำให้เห็นว่าผ้าทอสามารถทำให้โมเดิร์นได้

ภูมิใจในเรื่องราวของชาวบ้านเขาเต่า

“รู้สึกขอบคุณ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ที่เห็นความสำคัญของชุมชนของชาวบ้าน ที่มาช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพและได้เสนอผลงานของกลุ่มไปถึงเมืองนอกเมืองนา รู้สึกภูมิใจมากๆ” เสียงพูดของคุณป้าแส ทำให้เรารับรู้ได้ถึงความภูมิใจในมุมของคนที่คลุกคลีกับงานทอผ้ามายาวนาน

เกือบ 60 ปีของการเดินทางของผ้าทอจากบ้านเขาเต่า วันนี้ผลงานได้พูดพัฒนาปรับปรุงไปตามกาลเวลาและกำลังใจได้โชว์ความประณีตงดงามในสายตาชาวต่างชาติแล้ว คุณหน่อยเล่าว่านี่เป็นความภูมิใจอย่างมาก เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาทุกคนในกลุ่มต่างเรียนรู้ พัฒนาฝีมือกันอยู่ตลอด ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาต่อๆ ไปในโลกสมัยใหม่นี้มากขึ้น

“ถึงวันนี้เราเดินมาได้หลายก้าวแล้วนะ และการร่วมงานกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ก็อาจจะเป็นอีกสองก้าวของเราที่เดินมา จากที่คิดว่าสิ่งที่เราทำมันเต็ม 10 แล้ว แต่งานนี้เข้ามาบอกว่า เธอน่าจะทำได้อีก” คุณบิว หลานชายรุ่นที่สามทิ้งท้าย

และนี่คือเรื่องราวของกลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่าที่เบื้องหลังผ้าทอผืนงาม มีทั้งความยากลำบากในวันวาน การเรียนรู้ โอกาสสำคัญของชีวิต และการพัฒนาผลงานเรื่อยมาปะปนกันอยู่ บางทีอาจถึงเวลาที่เราจะหันมามองเห็นกลุ่มทอผ้า หมู่บ้านเล็กๆ ที่กำลังที่อนุรักษ์งานหัตถกรรมที่สวยงามและผลักดันสู่สายตาโลกได้แล้ว

 

ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า

ที่ตั้ง: ศูนย์ฝึกอบรมทอผ้า จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77110

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: LCFCXBAN KHAO TAO

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• หาดสวนสนประดิพัทธ์ พื้นที่ในความดูแลของศูนย์การทหารราบ ชายหาดน้ำใส ทรายสะอาด มาหัวหินทั้งทีต้องไม่พลาดมานั่งชิลล์ริมทะเล

• ตลาดโต้รุ่งหัวหิน มาเที่ยวหัวหินทั้งทีต้องไม่พลาดตลาดฉัตรศิลา ตลาดกลางคืนสไตล์ย้อนยุค มาแบบท้องว่างๆ และเตรียมเงินในกระเป๋ามาให้พร้อมเพราะมีอาหารให้กินแบบเต็มอิ่มแน่นอน

• วัดห้วยมงคล วัดที่ประดิษฐานหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก มาสักการะขอพร ขอโชคขอลาภเพื่อความเป็นสิริมงคลและความมั่งคั่งร่ำรวย

 

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก