People

รัฐ-ฟิลลิป SUMPHAT GALLERY
เสพประสบการณ์ในงานดีไซน์

ศรัณย์ เสมาทอง 21 Jun 2022
Views: 567

“เราไม่ใช่ทางออกของงานคราฟต์ แต่เราช่วยให้พวกเขาหายใจต่อได้นานขึ้นอีกนิดเท่านั้นเอง”

เหมือนได้ยินเสียงถอนหายใจแผ่วๆ กับประโยคนี้ รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบ เจ้าของรางวัลนักออกแบบแห่งปี 2019 สาขา Product Design ที่มักนำงานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายมาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบ โดยร่วมมือกับ Philippe Moisan ช่างภาพและผู้เชี่ยวชาญเรื่องงานศิลป์ จากประเทศฝรั่งเศส ลงพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับช่างฝีมือในท้องถิ่นเป็นประจำ

“เรียนจบมาผมไม่อยากทำงานให้คนรวยเท่านั้น ตอนเรียนสถาปัตย์ที่ ม.เกษตร มีการปลูกฝังความคิดเรื่องการตอบแทนภาษีประชาชน เพราะมหาวิทยาลัยเราต้องใช้ภาษีมาสนับสนุนการเรียนของเรา จึงคิดช่วยสังคมมาตลอดยี่สิบกว่าปี…มันจะช่วยได้ยังไง” เมื่อคุณรัฐได้จับมือกับคุณฟิลลิปลงไปทำงานกับชาวบ้านก็ได้ให้มุมมองด้านศิลปะ ความหรูหรา และมาตรฐานแบบฝรั่งเศส “แม้จะเกิดวิกฤตขนาดไหน เราต้องไม่ลดมาตรฐานงานฝีมือ แบบนั้นถึงจะยั่งยืน”

มุ่งมั่นขนาดนี้ ทำไมยังบอกว่า “ไม่ใช่ทางออก” อีกนะ!!

“วัฒนธรรมที่หลายชาติมีคล้ายๆ กัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าใครเป็นเพื่อนกับคุณบ้าง”

รัฐ เปลี่ยนสุข  นักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้ง SUMPHAT GALLERY

 

“แม้จะเกิดวิกฤตขนาดไหน เราต้องไม่ลดมาตรฐานงานฝีมือ”

Philippe Moisan ช่างภาพและผู้ร่วมก่อตั้ง SUMPHAT GALLERY

 

ดีไซน์ VS ประวัติศาสตร์

หลังจากเรียนจบ คุณรัฐเป็นสถาปนิกอยู่ช่วงหนึ่ง แต่รู้สึกว่าต้องทำงานให้กับคนที่มีเงินจ้างตลอด พอนึกถึงเรื่องคืนความดีงามให้สังคม ความคิดว่า “จะช่วยได้ยังไงนะ” ก็ผุดมาตลอดเช่นกัน เขาเลยตัดสินใจไปเรียนต่อเกี่ยวกับงานไม้และงานคราฟต์ที่ประเทศฝรั่งเศส จึงมีโอกาสได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ให้แบรนด์ดังหลายแบรนด์ทั้งของไทยและยุโรป

จนวันหนึ่ง ภาครัฐติดต่อให้ไปทำงานออกแบบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น…เข้าทางเขาล่ะ ตอนนั้นก็ได้ทำงานร่วมกันกับคุณฟิลลิปแล้ว จึงลงไปลุยงานด้วยกัน ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งคู่ ได้เดินทางท่องเที่ยว ได้ทำงานออกแบบ ได้ถ่ายภาพ และได้ทำเพื่อชุมชน

“เดิมทีก็ทำงานสถาปัตย์ชีวิตจะชิลๆ ตกเย็นดื่มไวน์ พอทำงานคราฟต์ โหหหห เหนื่อยมากกกก” แอบบ่นเล็กน้อยเพราะตอนลงไปเจอผู้คน คุณรัฐจะเคร่งเครียดกับการทำงานมาก “ต้องไปแก้ปัญหามากมาย ในหัวมีแต่ปัญหา ฟิลลิปจะคอยให้กำลังใจและเป็นคนทำให้ชาวบ้านหัวเราะ ฟิลลิปช่วยได้เยอะมาก”

คุณฟิลลิปจะพบเห็นศิลปะมาเยอะ ได้อยู่ในตลาดแฟชั่น เทรนด์ และดีไซน์หรูหรา เมื่อเห็นงานชาวบ้านจะรู้ว่าต้องปรับปรุงอย่างไร “ผมมาอยู่ในฐานะที่ปรึกษา เวลาเขาทำอะไรสักอย่างหรือตอนเตรียมงาน ก็คอยแนะนำว่าควรไปในทิศทางไหน รัฐพยายามศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม เพราะถ้าไม่มีเรื่องเหล่านั้น การออกแบบก็ไม่มีอะไร”

อ๋อออ ต้องพยายามใส่เรื่องราวและประวัติศาสตร์เข้าไปนั่นเอง

“จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ เวลาเราจะดีไซน์อะไร เราต้องค้นคว้า ต้องดูว่าแก่นของงานเรามันคืออะไร ศึกษาย้อนกลับไปว่าเดิมทีชิ้นงานเหล่านั้นเกิดมาได้ยังไง มีภูมิปัญญาอะไร แล้วค่อยคิดกลับคืนมายุคปัจจุบัน ว่าถ้ามันเติบโตมาเรื่อยๆ มันจะออกมาในรูปแบบไหน”

เห็นแววตาแล้วรู้เลยว่าตอนทำงานคุณรัฐจริงจังจริงๆ

 

ก่อนทำงานออกแบบ ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องเข้าใจแก่นแท้ของมันก่อน

สวย…แต่ขายไม่ได้

การลงพื้นที่ไปช่วยช่างหัตถกรรมพื้นบ้านครั้งนั้น งานหลักก็คือไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องดีไซน์ให้กับเขา ช่วยคิด ช่วยออกแบบ เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน ไปไกลถึงขั้นทำต้นแบบขึ้นมาเลย ฝีมือระดับนี้รับประกันเรื่องความสวยได้

“แต่ก็มีปัญหานะครับ เริ่มเห็นว่างานที่เราออกแบบไป ชาวบ้านเขาขายไม่ได้” คุณรัฐพูดกินความถึงงานหัตถกรรมทั้งประเทศเลย “มันไม่ใช่แค่มีงานสวยๆ เอามาวางขาย แล้วจะขายได้ โดยเฉพาะงานราคาสูงๆ” ด้วยนิยามความงามของแต่ละคน แต่ละพื้นที่ต่างกัน ราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายก็สำคัญ เมื่อผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านดีไซน์สวยงามทันสมัย ราคาสูงลิบ แต่เขาอยู่ในชุมชนห่างไกล เรื่องจะขายที่ไหนจะขายอย่างไรเป็นปัญหาแน่นอน

คุณรัฐเริ่มรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้ออกแบบไป จึงรวบรวมผู้ประกอบการจากหลายแหล่งที่มีศักยภาพมาพัฒนาด้านการออกแบบ วางแผนการตลาดและเป็นผู้ขายเองด้วย โดยเลือกจากช่างหัตถกรรมที่พูดคุยเรื่องการออกแบบแล้วเข้าใจกัน สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นได้

 

✔ สิ่งที่จะทำให้ของราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ คือ ที่ไม่มีใครทำสิ่งนั้นแล้ว

หรือยังทำอยู่แต่หายากจริงๆ

 

ครั้งหนึ่งเขาเคยออกแบบโต๊ะไม้สักขายในราคาร่วมสี่แสนบาท ผ่านไปไม่กี่ปีเมื่อลูกค้าต้องการเปลี่ยนเขาก็คัดทิ้งได้อย่างง่ายดาย เขาเป็นคนสะสมของเก่ายิ่งสะเทือนใจ ว่าทำไมของเก่าแล้วราคาจึงไม่เพิ่มขึ้น กลับมาใคร่ครวญใหม่ดีๆ

“เหตุผลที่จะทำให้ของราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ คือ ของแบบนั้นที่ไม่มีใครทำแล้ว หรือมีทำอยู่แต่หายากจริงๆ เลยเลือกคราฟต์ตัวที่กำลังจะตาย แล้วเราอยากรักษาอยากช่วยเอาไว้ ดึงผู้ประกอบการกลุ่มนั้นมาดูแลต่อไป”

เราเห็นภาชนะไม้ไผ่สานเทคนิคแปลกตาวางอยู่ เขาเรียกชื่อว่า “ชฎา คอนเทนเนอร์” (Chada Container) เป็นงานฝีมือที่ใกล้สูญหายไปแล้ว “เป็นการสานแบบหม้อตาล เขาจะใช้ไม้ไผ่แผ่นใหญ่มาขดและมัดกัน เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่อยู่แถวริมทะเล เช่น เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง” เขาใช้คำว่า วัฒนธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำกันแพร่หลาย สืบทอดต่อๆ กัน ไม่ได้มีใครพยายามมาขีดเส้นจำกัดว่าเป็นของใคร “เคยเห็นภาพหม้อตาลใส่ดอกไม้ในพิธีสำคัญๆ ของญี่ปุ่นด้วย มันเป็นวัฒนธรรมร่วมกัน เหมือนการรำหรืออาหารที่หลายๆ ชนชาติมีเหมือนๆ กัน บางครั้งงานคราฟต์กับวัฒนธรรมก็ถูกใช้ผิดๆ เอาความคิดชาตินิยมมาบอกว่าอันนั้นของวัฒนธรรมของไทย อันนั้นวัฒนธรรมกัมพูชา มันไม่ใช่นะ วัฒนธรรมสวยงามกว่านั้น วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าใครเป็นเพื่อนกับคุณบ้าง”

หม้อตาลเดิมเป็นสีธรรมชาติไม้ไผ่ เมื่อผ่านสายตานักออกแบบก็ปรับรูปลักษณ์ให้ดูร่วมสมัย โดยเปลี่ยนเป็นสีดำและเติมฝาที่มีทรงแหลมเหมือน เพราะมองแล้วว่ากลุ่มลูกค้าของ สัมผัสแกลเลอรี น่าจะอยู่ในตลาดโรงแรม ตลาดออกแบบตกแต่งบ้าน รวมถึงตลาดที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านอย่าง คิง เพาเวอร์ ตามสนามบิน ก็น่าจะขายได้ง่ายขึ้น

 

งานดีก็ต้องมีชีวิตอยู่ได้

“แต่ช่างฝีมือไทยก็มีความอิสระสูง” ดูเหมือนคุณฟิลลิปจะเข้าใจธรรมชาติของคนไทยมากทีเดียว ส่วนหนึ่งผ่านการทำงานถ่ายภาพของเขา (ผลงานภาพถ่ายส่วนหนึ่งของคุณฟิลลิปอยู่ในรูปถัดไป)

“คือเขาทำงานดี มีความสุขกับการทำงานนะ แต่เขาก็พร้อมจะหยุดไปใช้เวลากับครอบครัวหรือทำอะไรอย่างอื่น เราจะเร่งรัดหรือกะเกณฑ์ให้ทำตามเวลาที่เราต้องการไม่ได้”

เป็นประเด็นที่น่าจะเจออยู่บ่อยๆ แต่คุณรัฐก็จึงเข้าใจว่างานหัตถกรรมต้องเกิดจากการทำซ้ำๆ จนเคยมือ จะไปบังคับให้เขาทำตามนักออกแบบทั้งหมดไม่ได้ เราต้องปรับจากสิ่งที่มี เช่น หม้อตาลเขาทำขนาดเล็กเกินไป ก็ขอให้ทำไซส์ใหญ่ขึ้น ปีหนึ่งเขามีรอบผลิตงานให้ได้ 3 ครั้ง ก็ต้องเตรียมสั่งงานใน 3 ครั้งนี้ให้สมบูรณ์ ไม่ใช่อยากได้งานตอนไหนก็มาสั่งผลิต

ความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่คุณรัฐตระหนักอยู่ตลอดเวลา “เคยมีปกาเกอะญอทอผ้ามาขายให้เราราคา 600 บาท ถามว่าใช้เวลาทอนานแค่ไหน…7 วัน ผมรีบบอกเลยว่าราคานี้ขายไม่ได้นะ ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ได้เลย มันไม่ยั่งยืนหรอกเพราะวันหนึ่งเขาก็คงเลิกทำ จริงๆ เขาควรได้เงินอย่างน้อยวันละ 250 บาท คูณจำนวนวันไปสิ ถึงจะเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้และมาทอผ้าได้เรื่อยๆ เราอาจจะแบกต้นทุนสูงก็ต้องมาออกแบบและหาตลาดที่มีกำลังซื้อ”

ถ้าอยากจะมีงานคราฟต์ดีๆ ใช้เรื่อยๆ ก็ต้องให้คนทำงานมีชีวิตอยู่ได้จริง ปรัชญาการใช้ชีวิตที่ยึดมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยยังคงไม่จาง

 

✔ อยากให้งานคราฟต์ดีๆ ยั่งยืน ช่างฝีมือต้องมีชีวิตอยู่รอดได้

 

เบื้องหลังงานดีไซน์

งานที่ใช้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชุมชนมาเป็นแนวทางการออกแบบที่เห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็นกาน้ำชาดินเผา ชื่อ Kendi เป็นงานที่ได้จากการลงพื้นที่สุโขทัย เพื่อพัฒนาเครื่องปั้นดินเผา

“หลายคนบอกว่าต้องวาดลายปลาสิ มันคือประวัติศาสตร์สุโขทัยเลยนะ เราก็บอกว่าสุโขทัยยิ่งใหญ่ขนาดนั้น มันน่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้น ด้วยความที่ชอบสะสมของเก่า ก็พอรู้ว่าเขาประเมินค่าของเซรามิกเก่าโดยดูจากเทคนิคดินดั้งเดิม งานเซรามิกสุโขทัยก็ควรไปหาแหล่งดินโบราณในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า ก็เลยได้ดินจากเขาสี่ล้าน เนื้อดินเป็นสีขาวแบบเครื่องปั้นดินเผาที่สุโขทัยส่งออกในยุคโน้น”

นอกจากเนื้อดินแล้วเขาก็นำรูปทรงของคนโทใส่น้ำที่ใช้กันทั่วไปมาตั้งแต่อดีตกาล เป็นลักษณะหม้อน้ำกลมๆ มีคอยาวๆ เพื่อถือหรือยกขึ้นดื่ม แต่คุณรัฐกลับด้านให้คอยาวๆ กลายเป็นขาตั้งกาน้ำแทน ใส่ฝาไม้ปิดกาแบบไม่มีที่ล็อก เพื่อบังคับพฤติกรรมของผู้ริน ต้องใช้มือข้างหนึ่งประคองฝาไม่ให้หล่น กิริยาของคนจะดูนอบน้อม นิ่ง และสงบลงไปโดยปริยาย

“Kendi บางชิ้นเป็นสีดำ เราใช้ช่างเครื่องเขินเคลือบรัก ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถติดบนผิวที่เป็นมันได้คงทน ลดการใช้พลังงานในการเผาเคลือบได้เยอะ” เมื่อจะให้ยั่งยืนแล้วก็ต้องคิดรอบด้านแบบนี้ล่ะ

อีกชิ้นที่สะดุดตาคือ แจกันกิ่ง (SOLIFLORE) เป็นทองเหลืองทำรูปร่างเหมือนกิ่งไม้ปักอยู่บนพื้น มีดอกไม้ทองเหลืองกลีบบางประดับอยู่ตามกิ่ง แรงบันดาลใจมาจากต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ได้เห็นตอนลงพื้นที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช “เป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่เขานำไปถวายพระ และในยุคอดีตจะเป็นสิ่งที่กษัตริย์ที่เป็นเมืองขึ้นนำไปถวายเป็นบรรณาการให้กับเมืองที่เหนือกว่า เป็นสิ่งบ่งบอกขอบเขตของอาณาจักรกลายๆ ครั้งหนึ่งกษัตริย์กัมพูชาถวายให้กับสยาม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังถวายให้กับเวียดนามด้วย เมื่อฝรั่งเศสมายึดเวียดนามก็เข้าใจว่ากัมพูชาเป็นของเวียดนามไปด้วย นี่คือเรื่องราวที่อยู่ในงานออกแบบสวยๆ คือถ้าอยากรู้เรื่องก็มีเรื่องเล่าต่อได้อีก”

คุณรัฐเคยพัฒนางานเบญจรงค์ ซึ่งดูแล้วสิ่งที่จะใส่ไอเดียต่อได้คงเป็นลวดลายมากกว่าจะไปแตะเรื่องการผลิตจานชาม “เรากลับไปดูประวัติของเครื่องเบญจรงค์ เขามีลวดลายที่สื่อถึงความโชคดี มีลาภ ร่ำรวย ก็เลยหาสิ่งที่ดูเป็นไทยแต่มีความเป็นสากลอยู่ในนั้น ก็ได้หยิบภาพแมวมงคล 17 ประเภท ที่ปรากฏในสมุดข่อยโบราณสมัยอยุธยา ตอนนี้เหลือแค่สองเล่ม อยู่ที่ไทยเล่มหนึ่งเป็นภาพขาวดำ ส่วนเล่มที่เป็นสีอยู่ที่ British Library ประเทศอังกฤษ ก็นำรูปแมวมาเพนต์คู่กับใบไม้”

คอลเลกชัน Siamese Lucky Cat ได้รับผลตอบรับดี จนเขาได้นำลวดลายแมวมงคลมาใช้กับอีกหลายโครงการ

 

✔ คนสนใจประสบการณ์ที่อยู่รอบผลิตภัณฑ์ มากกว่าความงามของมันเท่านั้น

 

รังสรรค์ประสบการณ์ใหม่

อยู่ในวงการออกแบบและศิลปะมานาน ทั้งคู่มีมุมมองที่ค่อนข้างชัดเจน “เรามีเรื่องราวดีๆ อีกเยอะ ถ้าหยิบมาเล่าใหม่มันจะเกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ อีกเยอะ เราไม่ควรมุ่งหน้าไปที่โปรดักส์ เพราะคนไม่ซื้อชิ้นงานแล้ว เราต้องสร้างประสบการณ์ (experience) แล้วมีโปรดักส์อยู่ในนั้น”

เมื่อเขาสนใจบอนสี เพราะรู้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าในสังคมไทยมาเป็นร้อยปี เดิมบอนสีมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแต่สีสันไม่ได้หลากหลาย ถึงคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนยุโรปก็ทรงนำบอนสีสวยๆ กลับมาด้วย พร้อมพระราชทานนามว่า เจ้าคุณเดนมาร์ก เจ้าคุณไกเซอร์ ตามแต่แหล่งที่มา บางชุดนำตัวละครจากเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สามก๊ก มาตั้งชื่อด้วย “ผมไม่เคยรู้ว่านางสวาหะคือใคร พอซื้อบอนสีชื่อนางสวาหะมา เลยรู้ว่าเธอเป็นแม่หนุมาน”

ว่าแล้วเขาจึงนำความสนใจนี้มาจัดเป็นกิจกรรมการดื่มชา ชมต้นบอนสี รื่นรมย์กับบทกวีไปพร้อมกัน ครั้งนั้นจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ใช้ชุดน้ำชา Kendi เสิร์ฟชา มีการนำบอนสีมาจัดแจกันร่วมกับดอกไม้เป็นสไตล์ไทยผสานอิเคบานะ และวางบทกวีมาในเซ็ตชาด้วย ใครอยากเปิดรับประสบการณ์แบบไหนเลือกได้ตามชอบ

“อยากให้คนกลับมาอ่านกาพย์กลอนไทย มาชื่นชมบอนสีแบบที่เราชอบ จนถึงขั้นทำเป็นแกลเลอรีที่นครนายก นำความรู้สึกแบบที่เราจัดที่ BACC นี่ล่ะไปอยู่ตรงนั้น ใครสนใจจะทำตามก็ได้นะไม่ได้คิดว่าจะเก็บไว้ทำคนเดียว อยากให้มีคนทำตามกันไปซ้ำๆ เพื่อวันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นวัฒนธรรม”

วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าใครเป็นเพื่อนกับคุณบ้าง…คุณรัฐเชื่ออย่างนั้น  อีกไม่นานคงมีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีกเยอะแน่

 

✔ ต้องทำให้ทั้งโลกรู้ว่าเรามีมาตรฐานอยู่จริงและเชื่อถือได้ งานคราฟต์จึงจะยั่งยืน

 “คราฟต์ไทย” เติบโตได้ไหม?!?

“ยากมากกกกกก” คุณรัฐตอบเร็วและเสียงดัง “ต่อให้หว่านเงินไปหาตัวคนทำ มันไม่ได้ช่วยพัฒนาคราฟต์เลย เพราะพอเงินหมดทุกอย่างก็จะจบ งานคราฟต์มันจะทำแค่คนสองคนไม่ได้ บางประเทศเขาสนับสนุนชุมชนหรือบ้านไหนที่ทำมานานและมีศักยภาพ อาจมีเพียงไม่กี่เจ้าแต่เป็นโรงงานใหญ่ นำงบก้อนใหญ่ไปผลักดันให้เกิดสินค้าไปจนถึงมีการส่งออกได้จริง”

วิธีการที่น่าจะเหมาะอีกอย่างหนึ่งที่คุณรัฐคิดขึ้นมา คือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิต มีหนทางในการขาย ถ้าเขาสามารถกู้เงินลงทุนในราคาดอกเบี้ยต่ำ โอกาสที่จะเกิดความยั่งยืนมากกว่า

ถ้ามองในมุมของคุณฟิลลิป การตั้งมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ ที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีการเอาจริงเรื่องมาตรฐาน คนทอผ้า ทำเซรามิก หรืองานช่างอื่นๆ ต้องนำผลงานมาตรวจให้ผ่านมาตรฐานแล้วมีคนดูแลเรื่องตลาดให้ “ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ต่อให้คนไม่มีกิน มีการประท้วงบนถนน ยังไงก็ยังมีคนที่รักษามาตรฐานงานฝีมือ เขาไม่ลืมและจะไม่ลดมาตรฐานของงานฝีมือของตัวเอง เราต้องทำให้นานาชาติรู้ว่าเรามีมาตรฐานอยู่จริงและเชื่อถือได้ นั่นล่ะถึงจะยั่งยืน”

งานหัตถกรรมไทยพักหลังจะแข่งกันที่ราคาเพราะอยากขายให้ได้ เมื่อราคาถูกลงไปมากๆ มาตรฐานงานก็ลดลงตามไป

“เราก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้หรอก เราก็แค่ช่วยบรรเทาบางปัญหาแต่แก้ไม่ได้ เหมือนเป็นแค่ยาแก้ปวด แล้วต้องมีหมอเข้ามารักษาหลังจากนี้”

หมอคงต้องมาจากหลายหน่วยงานและต้องเข้าใจความเจ็บป่วยจริงๆ ก่อนที่ลมหายใจของงานหัตถกรรมไทยจะแผ่วลงไปมากกว่านี้

 

ถอดรหัสงานคราฟต์ไทย

จาก “สองศิลปิน” แห่ง สัมผัสแกลเลอรี

✔ ก่อนทำงานออกแบบ ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ต้องเข้าใจแก่นแท้ของมันก่อน

✔ สิ่งที่จะทำให้ของราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ คือ ที่ไม่มีใครทำสิ่งนั้นแล้ว หรือยังทำอยู่แต่หายากจริงๆ

✔ อยากให้งานคราฟต์ดีๆ ยั่งยืน ช่างฝีมือต้องมีชีวิตอยู่รอดได้

✔ คนสนใจประสบการณ์ที่อยู่รอบผลิตภัณฑ์ มากกว่าความงามของมันเท่านั้น

✔ ต้องทำให้ทั้งโลกรู้ว่าเรามีมาตรฐานอยู่จริงและเชื่อถือได้ งานคราฟต์จึงจะยั่งยืน

 

SUMPHAT GALLERY

ที่ตั้ง : 90/188 ซอยวิภาวดี 20 แยก18 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

 

Website: SUMPHAT GALLERY

 

Instagram: SUMPHAT GALLERY

 

Facebook: SUMPHAT GALLERY

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: SUMPHAT GALLERY

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

วรัญชัย ประกอบวรรณกิจ

Photographer

ช่างภาพที่ชอบกิน ชอบเที่ยว และรักครอบครัว จนเพื่อนๆ เรียกว่า #พ่อบ้านแสนรู้