People

ผลินท์ พิชัยรัตน์
ลมใต้ปีกแห่งชุมนุมดนตรีสากล
เทพศิรินทร์

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 20 Dec 2021
Views: 539

“ผมจะย้ำกับเด็กทุกคนที่ผมอยู่กับเขาเสมอ คือให้เขาเล่นดนตรีให้มีความสุข เพราะจุดมุ่งหมายของเรา คือเราไปเล่นดนตรี เราไปมีความสุขกับมัน เราแค่ไปสื่อสารในสิ่งที่เราจะอยากจะสื่อให้คนฟังรู้สึกแบบเดียวกับเรา ถ้าเกิดว่าคนเล่นแฮปปี้ คนฟังรู้สึกสนุก มันก็คือ success ในงานทุกอย่างแล้ว ส่วนรางวัลที่ได้ก็เป็นกำไร”

ถึงจะเป็นประโยคที่ฟังดูเรียบง่าย แต่นี่คือความจริงใจที่อยู่ภายใต้แนวคิดของ ผลินท์ พิชัยรัตน์ อาจารย์ผู้คุมวงซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวง Sixth Floor ที่เพิ่งก้าวสู่การเป็นแชมป์ใน Class F (รุ่นมัธยม) จากเวที The Power Band การประกวดดนตรีสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย

เราเชื่อว่าภาพความสนุกแบบครบองค์ ในรอบการแสดงของวง Sixth Floor ที่เกิดขึ้นบนเวทีในวันประกวด The Power Band น่าจะยังทำให้ใครหลายคนติดใจและอมยิ้มไปกับความน่าเอ็นดูจากโชว์ของหนุ่มๆ วง Sixth Floor ได้เป็นอย่างดี 

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จ คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากพวกเขาขาดผู้หนุนนำทีมที่ดี ในการทำหน้าที่ส่งลมให้กับเหล่าลูกศิษย์จอมซนขึ้นบินได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

“คงต้องบอกก่อนว่า มันไม่ใช่แค่ตัวผมคนเดียว” อาจารย์เริ่มต้นเล่าถึงความสำเร็จของวงเป็นความสำเร็จของทีม…ที่สำคัญไม่ใช่ความบังเอิญ “ผมมีทีมที่เก่งมาก ผมมีนักเรียนที่เก่งมาก ผมมีคุณครูที่อยู่รอบข้างผมเก่งมาก ผมมีผู้บริหารที่เก่งมากที่อยู่กับผม คอยซัพพอร์ตทั้งตัวผมและตัวเด็กให้ไปข้างหน้า ทุกคนเข้าใจ ทุกคนผลักดันไปในทิศทางเดียวกัน มันเลยทำให้วง Sixth Floor ประสบความสำเร็จ” 

แม้ชัยชนะจะเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยการผลักดันจากมือของคนคนเดียวตามที่ อาจารย์ผลินท์ บอก แต่วิธีบริหารวงดนตรีอย่างไรให้เป็นแชมป์ ก็ดูจะทำให้เรื่องราวการดำเนินชีวิตของ อาจารย์ผลินท์ หรือ “ครูอ๋อง”  ของเหล่าเด็กๆ ชมรมดนตรี “ลูกแม่รำเพย” (ชื่อที่ “เด็กเทพศิรินทร์” เรียกตัวพวกเขาเองอย่างนั้น) น่าติดตามอยู่ไม่น้อย แล้วแบบนี้จะไม่ให้ Thaipower.co ละความอยากรู้นี้ไปได้ยังไงกัน… 

 

“ผมมีทีมที่เก่งมาก ผมมีนักเรียน

มีคุณครู มีผู้บริหารที่เก่งมากอยู่กับผม

ผลักดันไปในทิศทางเดียวกัน

ทำให้ Sixth Floor ประสบความสำเร็จ”

อาจารย์ ผลินท์ พิชัยรัตน์
ผู้คุมวง Sixth Floor

ฝันแรกในชีวิต…อยากเป็นครูสอนดนตรี

ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นผู้จัดการวงดนตรีลูกทุ่งทางภาคใต้ ทำให้ครูอ๋องซึมซับความรักในเสียงดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก 

 

TP : อาจารย์เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่คะ?

ครูอ๋อง : ผมเริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่ชั้นประถมครับ อยู่วงดุริยางค์ของโรงเรียนอะไรแบบนี้ ก็เล่นมาเรื่อยๆ พอขึ้นมัธยมก็ได้อยู่วงโยธวาทิตของโรงเรียน อยู่กับดนตรีมาตลอด ที่โรงเรียนก็จะมีวงหลายแบบ วงคอมโบด้วย วงลูกทุ่งด้วย นอกจากเล่นวงโยฯ ผมก็เล่นวงคอมโบของโรงเรียน ตอนนั้นก็พยายามจะหาประสบการณ์เข้าตัวเอง…โดยเล่นดนตรีให้ได้มากที่สุด

 

TP : ความคิดที่อยากเป็นครูสอนดนตรีมันเริ่มขึ้นตอนไหน?

ครูอ๋อง : ผมมีความคิดว่าจะเป็นคุณครูตั้งแต่สมัยเรียนม.ปลายเลย อยากจะเป็นครูสอนดนตรีนี่แหละครับ เพราะว่ามีช่วงหนึ่ง…ตอนอยู่ ม.4 ผมได้มีโอกาสไปแข่งวงโยธวาทิต แล้วเหมือนเราเห็นครูเก่งๆ เขามาสอน ก็เลยมีความคิดว่าเราอยากจะเป็นครูดนตรีอย่างนั้นบ้าง ก็เลยเดินตามเส้นทางนั้นมาตลอด

แรงบันดาลใจในการเป็นครูดนตรี มาจากเคยได้เรียนกับครูสอนดนตรีที่เก่งๆ

TP : ในเมื่อชอบเล่นดนตรี ตอนนั้นอาจารย์ไม่อยากทำอาชีพนักดนตรีบ้างเหรอคะ?

ครูอ๋อง : คือด้วยความที่คุณพ่อของผมเป็นผู้จัดการวงดนตรี สมัยก่อนไปทัวร์คอนเสิร์ตวงลูกทุ่งทางภาคใต้ ช่วงอยู่ม.ต้น ก็จะไปเล่นกับวงของคุณพ่อในช่วงปิดเทอม ก็เล่นแบบหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ แต่พอขึ้น ม.4 คุณพ่อของผมเสียชีวิต ก็เลยแค่ได้เล่นกับวงของโรงเรียน แล้วก็ตั้งเป้าว่าจะเรียนมหาวิทยาลัย เรียนดนตรีแล้วก็เป็นครูสอนดนตรีครับ

 

TP : พอเริ่มต้นอาชีพครูจริงๆ ชีวิตช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ?

ครูอ๋อง : เรียนจบมหาวิทยาลัย เป้าหมายผมคืออยากสอนดนตรีในโรงเรียนมัธยม ช่วงจบแรกๆ ผมก็มีความคิดอยากไปสอนเด็กประถม เพราะผมอยากรู้ว่าเด็กประถมเขาจะมีรูปแบบการ movement เรื่องดนตรียังไง แล้วจากประถมมาจนถึงมัธยมรูปแบบจะเป็นยังไง เลยไปสอนประถมเป็นครูอัตราจ้างอยู่ประมาณ 3 ปีแล้วก็เริ่มสอบบรรจุ ตอนนั้นสอบติดที่ปทุมธานี แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเขามาขอใช้บัญชีผม เลยคิดว่า..งั้นไปเที่ยวดีกว่า (หัวเราะ) ก็ไปบรรจุโรงเรียนมัธยมที่อำเภอแม่สะเรียง กะจะบรรจุอยู่สัก 2 ปีแล้วย้ายลงมา แต่ไปๆ มาๆ ก็อยู่ 5 ปีครับ (หัวเราะ) ได้ไปรู้จักเด็กๆ อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นเด็กหลากหลายชาติพันธุ์ เขาเล่นดนตรี เขามีวัฒนธรรมทางดนตรีอีกแบบหนึ่งเลยครับ เป็นห้าปีที่แม่สะเรียงที่น่าสนใจ

 

✓ เปิดโลกทรรศน์ด้วยการเป็นครูดนตรี 

ที่สังเกตการณ์วัฒนธรรมทางดนตรีหลากหลายจากศิษย์

 

ฟ้ากว้าง หนทางไกล กับโอกาสทางดนตรีของเด็กต่างจังหวัด

แม้อาชีพครูสอนดนตรีในพื้นที่ห่างไกลความทันสมัยอย่างกรุงเทพฯ จะไม่เป็นอุปสรรคในเรื่องของการให้ “โอกาส” ทางดนตรีกับเด็กๆ แต่หลายครั้งที่ “โอกาส” เหล่านั้นกลับมีอันต้องหล่นหายไประหว่างทาง…

TP : ในมุมมองของอาจารย์ จากพื้นที่ที่ได้ไปสอน โอกาสทางดนตรีระหว่างเด็กต่างจังหวัดกับเด็กกรุงเทพฯ ต่างกันเยอะไหมคะ?

ครูอ๋อง : แตกต่างมากครับ เด็กกรุงเทพฯ จะใกล้ชิดสื่อ ได้เจอคนเก่งๆ ที่เขาอยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนเด็กต่างจังหวัด แน่นอนว่ามีความไกลอยู่แล้วระดับหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมอาจจะรู้สึกไปเองนะครับ คือทัศนคติผู้ปกครอง ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาผิด 

ในที่ที่ผมเคยอยู่ ผู้ปกครองเขาจะมีมายด์เซ็ทไปเลยว่า ลูกจะต้องเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นอาชีพที่มั่นคงที่เขาจะได้พึ่งพาลูกได้ในยามแก่เฒ่า ซึ่งเราเข้าใจ เด็กบางคนใจเขาไม่ได้ถนัดจะไปสายนั้นแต่ต้องจำใจเพื่อให้ผู้ปกครองสบายในอนาคต และให้เขาเป็นที่พักพิงของครอบครัวได้ ในเรื่องการเรียน บางทีอยู่แม่ฮ่องสอน ลูกจะไปเรียนเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย… ประมาณนี้ก็ไกลไปหน่อยแล้ว 

ตอนผมอยู่ที่แม่สะเรียง ผมก็มีกิจกรรมทางดนตรีนะครับ มีวงโยฯ มีวงสตริงที่ทำนอกเวลาให้เด็กที่สนใจเข้ามาเล่น ที่นั่นเขาก็มีกิจกรรมประกวดดนตรีเหมือนกัน อบจ.แม่ฮ่องสอนนี่เขามีกิจกรรมเข้าถึงเยาวชนของเขาด้วยการประกวดดนตรีทุกปีเหมือนกันถ้าสถานการณ์ปกติ 

 

TP : เวลาอาจารย์จะทำวงประกวดให้เด็กๆ มักจะวางแผนงานอย่างไรคะ?

ครูอ๋อง : เมื่อทำวงประกวด ผมจะนึกถึงเด็กก่อนว่าเรามี ‘วัตถุดิบ’ อะไรอยู่บ้าง ถ้าเอามารวมกันแล้วจะเป็นยังไงบ้าง เราก็สร้างเด็กไปแบบนั้น บางปีเป็นวงสตริงลงแข่ง บางปีก็ทำเป็นอะคูสติกกีตาร์ รวมกลุ่มร้องเพลงไปประกวดอะไรแบบนี้ครับ อยู่ที่ว่าเด็กเป็นแบบไหนในแต่ละปี เราก็ผลักดันเด็กในรูปแบบนั้นไปต่อเรื่อยๆ 

 

แล้วชีวิตก็ผลัดเส้นทางจากภาคเหนือสู่ภาคกลาง ..ในฐานะอาจารย์ผู้คุมวง Sixth Floor จนคว้าแชมป์ The Power Band 2021

ในปีที่ 2 ของการอยู่แม่ฮ่องสอน ครูอ๋องเริ่มทำเรื่องขอย้ายมาสอนตามโรงเรียนมัธยมในกรุงเทพฯตามความตั้งใจหลังเรียนจบ แม้ระหว่างทางจะยังไม่มีคำตอบกลับนานถึง 3 ปี แต่ครูอ๋องก็ยังใช้ชีวิตด้วยความสุขกับการสอนดนตรีเด็กๆ ไปพร้อมกับการปั้นฝัน ส่งเด็กๆ สู่เวทีประกวด 

…แล้ววันหนึ่งในปี 2558 ชะตาก็ลิขิตให้ครูอ๋องผลัดเส้นทางกลับมาบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ เพื่อดูแลชุมนุมดนตรีทั้งหมดของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นส่วนวงโยธวาทิตหรือสตริงแบนด์ – วงหลักๆ นั่นก็คือ Sixth Floor 

 

TP : ทราบว่าก่อนหน้าจะเป็นวง Sixth Floor ในรุ่นปัจจุบัน รูปแบบวงจะเป็นลักษณะ รุ่นพี่รุ่นน้องสืบๆ กันมา?

ครูอ๋อง : ใช่ครับ อย่างตอนนี้มือกลองคือ เจ้าจีน เขาเข้าวงมาตอน ม.1 ตอนนี้ก็อยู่ ม.3 แล้วก่อนนั้นก็จะมีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วหลายคน วง Sixth Floor ตอนนั้น คือในคลาสของวงสตริงในโรงเรียนเทพศิรินทร์เนี่ย จะมีชุมนุมหนึ่งชื่อว่า ‘Debsirin String Band Club’ ลักษณะการจัดกิจกรรมคือ ชุมนุมเขาจะมีการเปิดออดิชัน ซึ่งเราเปิดรับทุกปี แล้วเด็กที่เข้ามา จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเก่งแต่เราคัดจากพัฒนาการความตั้งใจในการฝึกซ้อมของเด็ก เพราะฉะนั้นในชุมนุมนี้ก็จะมีทั้งคนเก่ง คนไม่เก่ง เด็กเขาจะช่วยสอนกันแบบพี่ๆ สอนน้องอะไรอย่างนี้ครับ 

ก็ต้องบอกว่า Sixth Floor เป็นวงที่เอาไว้ขายของของชมรมฯ เนอะ (หัวเราะ) เหมือนเป็นวงใหญ่วงหนึ่ง ที่พอเด็กคนหนึ่งมีศักยภาพปุ๊บ ก็โอเคมาเล่นวงนี้ เพื่อไปเล่นงานโรงเรียน หรืองานอะไรก็ตามแต่ ประมาณนั้นแหละครับ”

TP : สำหรับการประกวด The Power Band เริ่มวางแผนกันมาอย่างไรคะ?

ครูอ๋อง : พอทราบว่ามีการประกวด คือตัวครูน่ะสนใจแล้ว (หัวเราะ) ทีมผู้ฝึกสอนก็สนใจกันหมด เลยเรียกเด็กมาคุยกันก่อน ถามว่าพวกเขาอยากเล่นไหม…จะลุยไหม ซึ่งทุกคนบอกว่า โอเคน่าสนใจ จากนั้นก็เริ่มลุยเลย 

ขั้นต่อไปมันก็อยู่ที่ทีมผู้ฝึกสอน มีครูหนุ่ม (จาตุรงค์ ดุษฎี) เป็นคนรีอะเรนจ์เพลง แล้วก็คอยดูแลเรื่องพวกโชว์อะไรด้วย เราก็มาคุยกันว่างานนี้เราไม่ได้ทำประกวด แต่จะทำโชว์ออกมา แล้วเราอยากให้โชว์มันออกมาเป็นยังไง

 

TP : ในส่วนของการเลือกเพลงที่ใช้ประกวดล่ะคะ มีหลักเกณฑ์ตรงนี้ยังไงบ้าง?

ครูอ๋อง : รางวัลแด่คนช่างฝัน เพลงบังคับที่เอามารีอะเรนจ์ใหม่โดยครูหนุ่ม ท่านก็พูดเลยว่ามันไม่ใช่เพลงประกวด แต่เรา จะดูลักษณะของเด็กวงเราแล้วค้นพบว่าพวกเขามีความเฟรชในตัว มีความน่ารักในตัว บวกกับสถานการณ์โรคระบาด สังคมมันค่อนข้างที่จะตึงเครียดในระดับหนึ่ง เราเลยใช้ความเฟรชนี้เพื่อมาให้กำลังใจคนฟัง 

จะสังเกตเห็นได้เลยว่าโชว์ของเรา เด็กจะใส่ชุดนักเรียนเพื่อแสดงความเป็นเด็กออกมาร้อง มีกลุ่มคอรัสที่มาคอยเหมือนให้กำลังใจตอนท้ายเพลงในท่อน นา นา นา ด้วย..เป็นต้น ซึ่งเพลงเป็นป็อปที่ไม่ได้ฟังยากครับ 

ส่วนอีกเพลงเราก็จะให้เด็กคุยกันก่อนแล้วช่วยกันเลือกเพลงส่งมา เรานำมาดูภาพรวมทั้งหมดแล้วก็เลือก ที่สุดก็ใช้เพลง บูมเมอแรง ซึ่งมีอยู่หลายเวอร์ชันมาก แต่เราใช้ reference เป็นเวอร์ชันของวง Crescendo ที่มีความสนุก ใช้ความสนุกของตัวเด็กและยังเป็นการโชว์ของนิดๆ พาร์ทดนตรีทั้งหมด แต่ให้สนุกและอยู่ในโทนที่เข้ากันกับเพลงก่อนหน้าด้วย

 

TP : ทำไมถึงออกแบบให้วงมีคอรัส 3 คนคะ?

ครูอ๋อง : บังเอิญก็มีเด็กอยู่แค่นั้นเองครับ (หัวเราะ) ก็เลยเอามามาสนุกด้วยกัน จริงๆ แล้วยังมีอยู่อีกคนนึงด้วย แต่ว่าเขาอยู่ม.6 แล้ว กำลังจะสอบ เขาเลยขอหยุดไว้ก่อน จริงๆ ทีมคอรัสของ Sixth Floor มีกัน 4 คนนะครับ (หัวเราะ) 

 

TP : เคยเห็นว่านักร้องนำมีอยู่ 2 คน?

ครูอ๋อง : ใช่ครับ เขาเรียนจบไปแล้ว

 

TP : พอทองเอกต้องมาทำหน้าที่ลีดนำวงคนเดียว อาจารย์มั่นใจกับการแบกรับของทองเอกแค่ไหนคะ?

ครูอ๋อง : ผมเชื่อว่าเขาทำได้ ต้องบอกก่อนว่า ตั้งแต่เคยแข่งจากเวที Hot Wave มาจนถึงเวทีนี้ ทองเอกมีพัฒนาการเยอะมาก เขาพัฒนาตัวเอง เขาซ้อมส่วนตัวมากกว่าปกติ แม้กระทั่งจากรอบเดโมของ The Power Band ที่วงใช้เพลงสากลส่งไป จนมาถึงในรอบชิง ทองเอกมีพัฒนการที่ชัดเจนมาก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นโชว์ที่ใหญ่กว่านี้ เขาก็สามารถเอาอยู่ครับ ความเป็นฟร้อนต์แมนของเขามีเยอะ

TP : พวกลูกเล่นบนเวที อย่างการขานชื่อวงว่า “ซิ้กฟล้อว์!” ก่อนเข้าเพลง น้องๆ เขาคิดเอง หรือว่าเป็นการดีไซน์ของทีมอย่างไรคะ?

ครูอ๋อง : (หัวเราะร่วน) มันเริ่มต้นโดยมีความคิดของทีมฝึกสอนครับ บอกว่าอยากให้ใช้อะไร เป็นไดอะล็อกที่แบบว่า เปิดมาแล้วให้ทุกคนรู้ว่ามันคือ Sixth Floor ทองเอกก็จัดให้เป็นแบบนั้นเลย (หัวเราะ) เขาคิดขึ้นมา 2 วันก่อนแข่งมั้งครับ ตอนแรกดนตรีมันก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ จนกระทั่งทองเอกมาพูด แล้วจังหวะที่ทองเอกพูด ดนตรีต้องหยุด ทุกคนต้องหยุดเพื่อให้ได้ยินทองเอกบอกว่า “Sixth Floor” (หัวเราะ)

 

TP : เหตุการณ์ที่สายกีตาร์ขาดบนเวที อาจารย์รู้สึกยังไงบ้างคะสำหรับการ แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าของลูกศิษย์?

ครูอ๋อง : แว่บแรกก็คือตกใจเลยครับ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด แม้กระทั่งตัวเขาเอง ผมก็รู้สึกดีใจที่ทั้งวงเขาสามารถไปต่อได้ ไม่เสียหลักกับความผิดพลาดที่มันเกิดขึ้น 

แม้ว่ายังมีความเป๋อยู่บ้างในตอนแรก อาจจะไม่ได้แก้ได้เร็วมากอย่างมืออาชีพแต่ต้องถือว่าตัวน้องเทวา มือกีตาร์เองแก้ไขสถานการณ์ได้ดีมาก พอสายขาดปุ๊บ แน่นอนว่าที่เหลืออีก 5 สายมันเสียงเพี้ยนหมดเลย เขารีบจูนทันทีแล้วยังรีบสื่อสารกับเพื่อนในวงว่าตอนนี้มันเกิดปัญหา ทุกคนจะต้องทำอะไรยังไง ณ ช่วงเวลานั้น 

ทางผมและทีมงานทุกคนก็มองว่าคือที่สุดแล้วครับ แก้ปัญหาได้ดีที่สุดแล้ว ณ ขณะนั้น ที่ผมดีใจมากคือเด็กเขาได้ประสบการณ์ที่ดีมากจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ผมคิดว่ามันทำให้ต่อไปเขาต้องดูแล mechanic…ดูแลเครื่องมือของเขาให้ดีขึ้นไปอีก นั่นทำให้เส้นทางในอาชีพของเขาน่าจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปครับผม

TP : ในวันที่ Sixth Floor ได้ชัยชนะ อาจารย์คิดว่ามันมาด้วยองค์ประกอบใดบ้างคะ?

ครูอ๋อง : ที่วง Sixth Floor ประสบความสำเร็จในเวที The Power Band 2021 ไม่ได้เป็นเพราะคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเพราะทุกคน เด็กๆ ทุกคนทำได้ดีมาก ทีมผู้ฝึกสอนทุกคนวางแผนแล้วก็ฝึกซ้อมเด็กแต่ละคน พัฒนาศักยภาพเด็กแต่ละคนมาได้ดีมาก การอะเรนจ์เพลง…ทุกอย่าง การทำโชว์ก็ทำได้ดีมาก รวมไปถึงคุณครูทุกคน 

จริงๆ ถามว่าคุณครูเขาเกี่ยวอะไรด้วยในที่นี้ ก็ต้องบอกว่าการประกวดนี้ผ่านเวลามานานตั้งแต่เริ่มสมัคร รายการถูกเลื่อนออกไปเพราะโรคระบาด การซ้อมแต่ละครั้ง  ไม่ว่าจะเป็นการอัดเทปส่งเดโม เวลาต้องใช้ห้องประชุมซ้อม ก็จะมีคุณครูมาเสียสละ มาคอยดูแลให้ 

กระทั่งช่วงก่อนวันประกวด 7 วันสุดท้ายที่เด็กไม่ได้ซ้อมรวมวงเลยก่อนหน้านั้น เมื่อถึงการซ้อมรวม ทุกคนต้องเอาการบ้านมารวมกัน ไหนตอนกลางวันเด็กยังจะต้องเรียน ถึงจะนอนค้างกันที่โรงเรียนแต่ก็อยู่กันในห้องเรียน มีคุณครูท่านอื่นคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ 

หรือแม้กระทั่งที่ซ้อมมีปัญหาจากประชุมด่วนของโรงเรียน เราก็ต้องหาที่ซ้อมให้เด็ก ซึ่งได้พี่ๆ ในวงการใจดี ให้ไปซ้อมกันที่ห้องซ้อมแห่งหนึ่ง ผมต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่คอยซัพพอร์ต ขอบคุณคุณครูที่เขาคอยดูแลเด็กๆ ทำให้ทุกอย่างราบรื่น ทำให้การสอนของเด็กมีคุณภาพที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ณ ตอนนั้นครับ

 

✓ วงประสบความสำเร็จจากการประกวดได้

เป็นเพราะทีมเวิร์ก

 

TP : มีสิ่งหนึ่งที่น้องๆ Sixth Floor บอกไว้ ก็คืออยากได้ห้องซ้อม ในมุมมองของอาจารย์มันมีความเป็นไปได้ไหมคะ?

ครูอ๋อง : (หัวเราะ) นี่เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในชีวิตของผมเลยนะ (หัวเราะ) แต่โรงเรียนเรามีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่มากครับ โรงเรียนไม่ได้กว้าง เมื่อดูจากจำนวนเด็กในโรงเรียนเวลานี้ ห้องที่โรงเรียนมีถูกใช้ครบทุกห้อง จนไม่มีห้องเหลือเลย เลยลำบากหน่อยแต่ก็ยังมีหวังนะครับ ผมเคยเรียนแจ้งปัญหากับทางผู้บริหาร ซึ่งเขาเข้าใจและทราบปัญหามานานแล้ว ก็พยายามหาที่หาทางออกให้อยู่ แต่ตอนนี้ผมก็ยังบอกไม่ได้เหมือนกัน เพราะตัวผมเองก็หวังอยู่ก็ลุ้นอยู่เหมือนกันครับ

 

TP : ทุกวันนี้ความสุขในการทำงานของอาจารย์ อยู่ตรงไหนคะ?

ครูอ๋อง : อยู่ที่เด็กครับ อยู่ที่เพื่อนร่วมงาน อยู่ที่ทีมงานทุกคนเลยที่อยู่รอบตัวผม ผมว่าผมโชคดีนะ ที่ผมได้มาอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ อยู่ท่ามกลางเด็กๆ ที่น่ารัก มันทำให้การทำงานในที่แห่งนี้ เหมือนผมมาสนุกกับงานหรือมาเที่ยวเล่นมากกว่า 

ทุกคนดูแลซึ่งกันและกัน เราอยู่แบบเป็นครอบครัว มีอะไรเราคุยกัน ช่วยปัญหากันกันครับ

TP : อาจารย์มีเป้าหมายอื่นๆ ที่ยังอยากทำอีกไหมคะ?

ครูอ๋อง : ก็พยายามจะหาเวทีให้เด็กๆ นะครับ หาประสบการณ์ให้เด็กไปเรื่อยๆ สร้างเด็กๆ ต่อไปเรื่อยๆ ก็แล้วแต่ว่าเด็กจะมารูปแบบลักษณะไหน 

ก่อนหน้านี้ผมยอมรับอย่างหนึ่งว่า ผมจะมีแนวทางของผม เล่นดนตรีต้องแนวนี้เลยเพราะผมชอบแนวนี้  ก็จะให้เด็กทำแนวนั้นเพื่อให้สำเร็จ แต่หลังๆ มาผมให้เด็กเป็นตัวเองมากขึ้น เพราะนั่นทำให้ตัวเด็กมีความสุขแล้วก็ประสบความสำเร็จครับ  

 

เส้นทางสู่ความตั้งใจที่จะเป็นครูสอนดนตรีของอาจารย์ผลินท์ พิชัยรัตน์

✓ แรงบันดาลใจในการเป็นครูดนตรี มาจากเคยได้เรียนกับครูสอนดนตรีที่เก่งๆ

✓ เปิดโลกทรรศน์ด้วยการเป็นครูดนตรี ที่สังเกตการณ์วัฒนธรรมทางดนตรีที่หลากหลายจากศิษย์

✓ วงประสบความสำเร็จจากการประกวดได้ เป็นเพราะทีมเวิร์ก

• อาจารย์ผลินท์ หรือ ครูอ๋อง มีพื้นเพเป็นคนอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนจินตรังษี จังหวัดตรัง – โรงเรียนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรีในวงโยธวาทิต
• ก่อนจะขึ้นชั้นมัธยมที่เรียนโรงเรียนสภาราชินีซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดตรัง – สถาบันที่จุดความฝันและทำให้เห็นเส้นทางในอาชีพ “ครูสอนดนตรี” ให้ชัดขึ้น
• จนสามารถสอบเข้าเรียนที่ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้สมหวัง
• ครูอ๋องเริ่มต้นอาชีพครูเต็มตัวในปี 2550 โดยได้รับการบรรจุให้เป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” จังหวัดแม่ฮ่องสอน นานถึง 5 ปี
• ก่อนจะกลับมาลงหลักเป็นครูสอนดนตรี ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ ในปี 2558 ภายใต้หน่วยงาน: กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ตำแหน่ง: หัวหน้างานวงโยธวาทิต) และเป็นผู้ผลักดันให้วง Sixth Floor ก้าวสู่ความสำเร็จในฐานะแชมป์ได้อย่างภาคภูมิใจ
• หลักการดำเนินชีวิตของครูอ๋องมีเพียงข้อเดียว คือ “ทำทุกอย่างภายใต้ความสุข แล้วชีวิตจะมีความสุข”

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน