Passion

ฟังเรื่องล้านนาผ่านเสื้อผ้า
จาก กล้า – ศุภกร LONGGOY

ภิรญา นริศชาติ 7 Jul 2023
Views: 909

Summary

“LONGGOY แบรนด์เสื้อผ้าที่เริ่มต้นจากการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาตรีของ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงนำมาสู่จุดเริ่มต้นของ LONGGOY ที่ อยากเล่าเรื่องราวล้านนาในรูปแบบใหม่…ผ่านเสื้อผ้าพื้นเมืองซึ่งแฟชั่นมันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า มันคือชีวิตคน คนล้านนาไปเมืองนอกก็เป็นคนล้านนา ใส่เสื้อผ้าของเราที่ปารีส ลอนดอน ที่ใครเห็นเป็นต้องถามว่า ใช่ชุดพื้นเมืองแน่นะ”

ตัวอักษรล้านนาโดดเด่นสะดุดตาบนเสื้อผ้าสีน้ำเงินคราม ซึ่งถูกตัดเย็บมาอย่างประณีต นำพาให้ผู้ที่ได้พบเห็น หวนระลึกถึงอาณาจักรที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่มาก่อน เรื่องราวเล่าขานถูกส่งต่อเพียงแค่วิชาสอนตามตำราในโรงเรียน เรื่องราวเดิมๆ ที่คุ้นเคย หากแต่ยังมีคนรุ่นใหม่มองเห็นและให้ความสำคัญ นำเรื่องเหล่านั้นมาปัดฝุ่น “แต่งหย้องใหม่” ตามคำภาษาเหนือใช้ว่าให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ดังเช่นหนุ่มล้านนาคนนี้ กล้า – ศุภกร สันคนาภรณ์ เจ้าของแบรนด์ “ลองกอย” ผู้นำเสนอความเป็นล้านนาในรูปแบบใหม่ ผ่านเสื้อผ้าพื้นเมืองที่ใครเห็นเป็นต้องถามว่า ใช่ชุดพื้นเมืองแน่นะ

“ผมอยากเป็นคนเล่าเรื่องราวล้านนาในรูปแบบใหม่
อยากผลักดันให้มีอะไรใหม่ๆ เติบโตต่อไปเรื่อยๆ…แฟชั่นมันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า
มันคือชีวิตคน คนล้านนาไปเมืองนอกก็เป็นคนล้านนา
ใส่เสื้อผ้าของเราที่ปารีส ลอนดอน ก็เป็นคนล้านนา”

กล้า – ศุภกร สันคนาภรณ์
เจ้าของแบรนด์ “ลองกอย”

 

สำคัญที่ก้าวแรก

กล้าเล่าย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณแม่ของกล้าเป็นอดีตพยาบาล ผู้ผันตัวเองมาจับธุรกิจขายส่งเสื้อผ้าพื้นเมืองชื่อว่า “บัวเขียวผ้าฝ้าย” ถือเป็นความคุ้นเคยแต่เล็กแต่น้อย ประกอบกับกล้าเป็นคนช่างสังเกต ช่างตั้งคำถาม จึงนำมาสู่จุดเริ่มต้นของลองกอยที่เรียบง่าย แต่เป็นขั้นเป็นตอนในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาตรี ใน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“โจทย์ของอาจารย์คือ ให้หาเทคนิคที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกใบนี้ มันทั้งยากและกว้างมาก ผมนึกย้อนไปเรื่อยๆ จนมาถึงเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง สมัยเรียนมัธยมที่เชียงใหม่ ทุกวันศุกร์นักเรียนจะต้องแต่งชุดพื้นเมืองมาเรียนเป็นเครื่องแบบเหมือนๆ กัน มันเป็นชุดผ้าฝ้ายหนาๆ แบบเดิมๆ รูปแบบเก่าๆ มีแถบช้าง กับกางเกงขาใหญ่ และกระดุมตะกร้อ ผมรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ ไม่สวย ชุดมันเป็นแบบนี้มานานมาก ไม่เคยเปลี่ยน เหมือนฐานรากวัฒนธรรมมันถูกแช่แข็ง คนรุ่นใหม่อย่างเรามองกลับไปแล้วรู้สึกอยากพัฒนา อยากหยิบยกวัฒนธรรมล้านนาที่เราเป็นอยู่และคุ้นชิน มานำเสนอใหม่ในแบบของเรา จึงเริ่มศึกษาหาเทคนิคมาจับกับเรื่องราวทางเหนือมีผ้าหลายแบบ

ผมมาสะดุดที่ผ้าม่อฮ่อมที่พ่อครูและสล่าใส่กัน มันมีความเหมือนผ้ายีนของคนล้านนา ยิ่งใช้ยิ่งซีด ยิ่งมีร่องรอยของการใช้งาน ยิ่งมีเรื่องราว จึงเลือกใช้เทคนิคการฟอกกัดสียีน ซึ่งก็มีหลายเทคนิค ผมเลือกใช้ด่างทับทิมในการทำงานครั้งนี้ ช่วงนั้นกำลังนิยมสตรีตแฟชั่น รวมไปถึงการพ่นสีกราฟิตี้ คำถามคือใช้ด่างทับทิมพ่นจะได้ไหม พอคิดต่อเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ก็จะได้คีย์เวิร์ดใหม่ๆ แล้วรวบรวมคีย์เวิร์ดเหล่านั้นมาจับกับงานทุกส่วน ทำให้งานที่ได้มีความอิ่มขึ้น ครบ และกลมกล่อม ลวดลายที่ใช้ก็จะเกี่ยวกับล้านนาทั้งหมด ผมเลือกเสื้อทรงกิโมโนเพราะมันเป็นระนาบ สามารถโชว์ลวดลายได้เยอะ ออกมาเป็นคอลเลกชันตัวจบการศึกษาและเป็นคอลเลกชันแรกของลองกอย”

อนุรักษ์แต่คิดออกนอกกรอบ

“ลองกอย” มาจากภาษาถิ่นเหนือ แปลว่า ลองดูหรือลองทำดู กล้าบอกว่า ตัวโลโก้นั้นมาจากอักษรล้านนา ตัว อะ หรือ อ.อ่าง ที่เลือกตัวนี้เพราะถูกใจฟอร์มของมัน จึงพัฒนามาเป็นโลโก้ ส่วนขั้นตอนการทำงานในแต่ละชิ้นนั้น กล้าออกแบบไว้อย่างลงตัว ไม่ได้ยากจนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญพิเศษเท่านั้นที่ทำได้ แต่ก็ไม่ได้ง่ายถึงขั้นใครทำก็ได้ เพื่อที่วันหนึ่งพนักงานที่ทำประจำหยุดไป สามารถให้คนอื่นมาทำแทนได้ ไม่ต้องรอ

หลังจากออกแบบลวดลายที่ต้องการได้แล้ว จะนำมาทำเป็นบล็อกอะคริลิกด้วยวิธีการเลเซอร์คัต วางบล็อกที่ได้ทาบลงบนผืนผ้า แล้วใช้เทคนิคสเตนซิลทำลวดลายด้วยน้ำด่างทับทิม โดยใช้เครื่องพ่นสีแอร์บรัช รอให้ผ้าแห้ง แล้วนำไปล้างด่างทับทิมออกด้วยสารลายโซเดียม เมตาไบซัลไฟต์ ด่างทับทิมจะทำหน้าที่ผลักสีที่เส้นด้ายอมอยู่ออกไป ทำให้เห็นเป็นลายสีขาวเด่นอยู่บนผ้า สุดท้ายล้างออกด้วยน้ำเปล่า ก่อนจะนำไปตากให้แห้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่นี่เลือกใช้ผ้าฝ้าย 100% เนื้อผ้าละเอียด บางเบาใส่สบาย ไม่ร้อน”

 

ก้าวไปบนถนนสายใหม่

หลังจากเรียนจบ กล้าได้รับโอกาสหลายครั้งให้ไปโชว์งานของตัวเองตามที่ต่างๆ “มีอยู่งานหนึ่ง เป็นโครงการพัฒนา SME เพื่อผู้ประกอบการที่เชียงใหม่ ด้วยงานของเราค่อนข้างใหม่และแปลกตา คิง เพาเวอร์ ก็ไปเปิดงานนั้นด้วย เขาสนใจงานของเรา ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น ได้ขายคอลเลกชันแรกที่ คิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นงานเซตที่เราทำวิทยานิพนธ์ทั้งหมด ขายได้ทุกแบบ หลังจากนั้นก็ออกแบบเสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย เสื้อแขนสั้น กางเกง ตามมาเรื่อยๆ ผมเรียนรู้การตลาดจาก คิง เพาเวอร์ ไม่รู้อะไรก็ถามเขา เขาก็คอยแนะนำตลอด ทุกวันนี้ยังมี  แบรนด์ลองกอยขายที่ คิง เพาเวอร์ อยู่เลย”

แรงบันดาลใจจากการตั้งคำถาม

“ลองกอย คือ ตัวแทนของคนล้านนาที่อยากเล่าเรื่องราวความเป็นล้านนา แต่ผ่านตัวตนของแบรนด์ เปรียบเสมือนแบรนด์เป็นเลนส์ที่ส่องไปแล้วมองเห็นอะไร ก็ถ่ายทอดออกมาในภาษาของเรา ลวดลายที่ออกแบบก็มาจากล้านนาทั้งหมด ซึ่งล้านนาก็มีหลายมิติให้เราเลือกหยิบยกเอามาเล่าเรื่อง

แรงบันดาลใจในแต่ละคอลเลกชันจะแตกต่างกันไปตามมุมมอง การสังเกต แล้วตั้งคำถามของเรา คอลเลกชันแรกๆ จะมาวัดบ้าง ธรรมชาติ ภาษาที่อ่อนหวานเหมือนดอกไม้ ภูมิศาสตร์ ภูเขา ไปจนถึงความหนาวเย็น  เลือกที่องค์ประกอบสวยๆ เห็นแล้วสวยก็หยิบมา แล้วเอามาปรับเป็นแบบของเรา”

กล้าเล่าถึงคอลเลกชันลายสิงห์ ซึ่งเกิดจากคำถามที่ว่า ‘ถ้าสิงห์ที่อยู่ตรงประตูวัดเปลี่ยนท่าไปจะเป็นอย่างไร?’ สิงห์ในแบบฉบับของลองกอยจึงออกมาผสมผสานกับเสือของญี่ปุ่นแล้วจัดท่าทางใหม่ คอลเลกชันที่เกี่ยวกับกาลเวลา โดยคอลเลกชันก่อนหน้านี้เล่าเรื่องล้านนาในอดีต เมื่อถึงกาลปัจจุบัน กล้าหยิบเอาเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่มาเล่าผ่านเรื่องราวของสล่าเลเซอร์คัต สล่า แปลว่า ช่างฝีมือ ในภาษาถิ่นเหนือ “สล่าเลเซอร์คัต” คือช่างฝีมือยุคใหม่ที่ชำนาญการใช้เครื่องเลเซอร์ตัดแผ่นอะคริลิก

กล้ามองว่า เมื่อเมืองเจริญขึ้น ร้านค้า โรงแรมเปิดใหม่ ต่างมาสั่งทำป้ายชื่อร้าน ป้ายที่เขาใช้คือตัวอักษรที่ถูกตัดออกไป แต่ยังคงเหลือตัวขอบด้านนอกเอาไว้ และกลายเป็นขยะในที่สุด

กล้าจึงเลือกเก็บเอากรอบเหล่านั้นที่เป็นคำสวยๆ เท่ๆ นำมาใช้งานต่อ กลายเป็นลวดลายที่แม้ไม่ได้ออกแบบเอง แต่ก็จัดเต็มด้วยไอเดียการวางลายลงบนเสื้อผ้า หรือคอลเลกชันที่ว่าด้วยเรื่องของ PM 2.5 กล้าออกแบบเสื้อผ้าเป็นลายก้อนเมฆ ใช้โทนสีฟ้าสดใสแทนวันที่อากาศบริสุทธิ์ และใช้โทนสีมืดหม่นแทนวันที่อากาศหมองมัวไปด้วยฝุ่นควัน

“ลองกอยเป็นทรงเสื้อผ้าที่เข้าใจง่าย เสื้อก็คือเสื้อ กางเกงคือกางเกง กระโปรงคือกระโปรง ในความเรียบง่ายนั้น จะมีรายละเอียดที่แตกต่างให้สะดุดตา แฟชั่นมันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า มันคือชีวิตคน เสื้อผ้าเล่าเรื่องชีวิตคน เพราะคนไปปฏิสัมพันธ์กับอะไรก็ได้ คนล้านนาไปเมืองนอกก็เป็นคนล้านนา ใส่เสื้อผ้าของเราที่ปารีส ลอนดอน ก็เป็นคนล้านนา เหมือนกับเราเป็นคนล้านนา อยากเอาไปใส่ที่นั่น”

 

ช่วงเวลาแห่งการลับมีด

เมื่อพูดถึงล้านนาที่เป็นกาลอนาคต ไอเดียความล้ำหน้ากับเสื้อผ้าที่ปรับลุกใหม่ ทำให้ลองกอยเติบโตไปอีกก้าว

“พอออกคอลเลกชันได้ 4-5 ปี เริ่มรู้สึกตัน เริ่มจากส่วนของเทกไทล์การทำลายผ้า เราทำเก่งแล้ว ผ้าก็รู้จักเยอะมากขึ้นแล้ว แต่ทรงเสื้อผ้าเรายังไม่เคยทำ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนแฟชั่นเพิ่ม พอดีกับช่วงที่โควิดเข้ามา ทุกอย่างหยุดชะงัก รวมทั้งที่ คิง เพาเวอร์ และห้างฯ ต่างๆ ที่เราทำส่ง ก็ไม่ต้องส่งของ ไม่มีงานให้ยุ่ง เลยไปเรียนได้อย่างสบายใจ เป็นเวลา 2 ปี แต่รายได้ก็เท่ากับศูนย์นะ ต้องทำตลาดออนไลน์เพิ่ม ลดต้นทุนเสื้อผ้าลงเพื่อประทังสถานการณ์และเลี้ยงตัวเองให้ได้”

ผลผลิตจากการไปลับมีดลับคมที่โรงเรียนด้านแฟชั่น ทำให้ลองกอยได้มีทรงเสื้อแตกต่างไปจากเดิม

“พอทำทรงเสื้อผ้าเองได้ เราจะรู้ว่าตรงไหนสามารถใส่ลวดลายได้บ้าง นอกจากแค่ที่แขน กลางหลัง หรือกระเป๋า เรารู้เทคนิคการทำกระโปรงมากขึ้น มีรูด มีระบาย ปกเสื้อที่สูงกว่าปกติ หรือเพิ่มลูกเล่นให้กับลาย จากลาย 2 มิติ เป็น 3 มิติ มีนูนต่ำนูนสูง”

กล้าเล่าถึงชุดที่ออกแบบตอนเรียนจบแฟชั่น ด้วยมุมมองอนาคตของเชียงใหม่ จากคำถามที่ถามตัวเองว่า ถ้าเชียงใหม่มีรถไฟฟ้าใต้ดินจะเป็นอย่างไร?

กล้าดึงเอาส่วนประกอบของรถไฟฟ้าใต้ดินที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีป้ายโฆษณาและหนังสือพิมพ์แจก ผสมผสานกับความเป็นล้านนา เล่าเรื่องลงไปในกระโปรงอัดพลีตที่ใช้เทคนิคประจำของแบรนด์ลองกอย แต่ละแถวลายไม่ซ้ำ มองจากด้านซ้ายจะเห็นลายหนึ่ง มองจากด้านขวาก็จะเห็นอีกลาย เช่นเดียวกับสตูดิโอใหม่ของลองกอย อาคารเพดานสูงที่เพิ่งสร้างเสร็จแห่งนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากกระโปรงชุดนั้น มองจากด้านหน้าจะเห็นมีสีน้ำเงิน แต่หากมองย้อนกลับมาจะเห็นเป็นสีแดง ที่นี่แบ่งออกเป็นโชว์รูป ห้องทำงาน สตูดิโอ และส่วนโรงงานตัดเย็บ ด้านหลังเป็นสวนสำหรับทำกิจกรรมและทำเวิร์กช็อป

“ตอนนี้เราเปิดเวิร์กช็อปขายประสบการณ์ให้คนทั่วไปที่สนใจเทคนิคของลองกอยได้เข้ามาเรียนรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นแบรนด์ที่โพสต์รูปสวยๆ แต่จะเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ง่ายด้วย”

หมุดหมายที่รออยู่

“ผมอยากเป็นคนที่เล่าเรื่องราวล้านนาในรูปแบบใหม่ อยากผลักดันให้มีอะไรใหม่ๆ เติบโตต่อไปเรื่อยๆ เราก็เหมือนญี่ปุ่น แต่เขาเล่าเรื่องเก่ง แม้แต่ตัวการ์ตูนยังสามารถเป็นวัฒนธรรมหลักได้ ล้านนาก็ทำได้

ผมยังไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองหมดแพสชัน ตราบใดที่ยังมีตลาดรองรับ ยังซื้อ ยังนิยมของเราอยู่ ตราบใดที่ยังมีแรง มีเงิน ยังมีอะไรให้ผมเล่นสนุกได้อีก เสื้อผ้าก็เป็นแค่จุดหนึ่ง ถ้าออกจากจุดนี้ ผมอาจเปลี่ยนไปทำกระเป๋า หรือเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นได้

เป้าหมายของลองกอยคือการเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมากขึ้น เติบโตจนกลายเป็นไฮแบรนด์ระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยเวลาและต้องพัฒนาอีกหลายด้าน ผมดูแบรนด์ใหญ่เป็นแบบอย่าง ลองทำเช็กลิสต์ว่ากว่าจะไปถึงเขา เราต้องทำอะไรบ้าง ค่อยๆ ทำไปตามกำลังของเรา และจะยังคงพัฒนา เล่าเรื่องราว ความเป็นล้านนาต่อไป”

กล้าทิ้งท้ายด้วยเคล็ดลับความสำเร็จ 7 ปีของลองกอย คือ ลงมือทำ เหมือนกับชื่อแบรนด์ “ลองกอย” ที่แปลว่า ลองลงมือทำดู จะได้รู้ว่าควรทำต่อ หรือพอแค่นี้ ถ้ารู้ว่าพลาดตรงไหน ครั้งหน้าจะได้ไม่ทำเหมือนเดิม แค่ลงมือทำ มันง่ายมาก!

 

LONGGOY (ลองกอย)

ที่ตั้ง: 120 หมู่ 1 ต.สันกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 50120

 

Facebook: LONGGOY 

Instagram: LONGGOY 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: LONGGOY 

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

Author

ภิรญา นริศชาติ

Author

นักเขียนอิสระที่โตมากับนวนิยายของแก้วเก้า ยังคงจดบันทึกลงสมุด และทำงานกล่องดนตรีที่รัก เพราะเชื่อว่าแรงบันดาลใจสำคัญพอๆ กับจินตนาการ

Author

ภูมิ นริศชาติ

Photographer

อดีตรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตที่จับกล้องมากกว่าจับปากกา เป็นช่างภาพอิสระตั้งแต่ยุคฟิล์มและแมกกาซีนรุ่งเรืองในขีดสุด