People

ธีระยุทธ คำพูล
สืบสานผ้าฝ้ายดอกเปลือย
ด้วยเทรนด์สีและแฟชั่น

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 6 Feb 2023
Views: 587

การนัดพูดคุยครั้งนี้ที่ปลายสายบอกเราว่า เขาขอเวลาสักพักเพื่อดูตารางงานว่าสะดวกวันไหนที่จะทำให้การสนทนาลื่นไหล เมื่อสัมภาษณ์จบหลังวางสายไป ทำให้รู้เลยว่าผู้ชายคนนี้ในวัย 39 ปี ทำอะไรหลายสิ่งอย่างจริงจัง ทั้งทำการผลิตและขายผ้าฝ้ายดอกเปลือย (PHAYDOKPLUI) ทำสวนมัน ทำนาปี-นาปรัง ปลูกผัก ซึ่งถ้าไม่พูดคุยกันก่อนเราจะไม่รู้เลยว่าเขาเคยทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในอีกฟากหนึ่งกับสิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นแบบตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการดูแลงานก่อสร้างของบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาก่อน

“ตอนนี้คิดว่าตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านช้าไป ผมไปอยู่กรุงเทพฯ มาเกือบ 10 ปี ปัจจุบันมีความสุขมาก เดี๋ยวถ้าให้สัมภาษณ์เสร็จผมก็จะไปเตรียมอุปกรณ์ทำนาปรังต่อ ระหว่างวันก็ดูเรื่องผ้าไปด้วยว่ามีติดขัดตรงไหน เพราะจะวางแผนว่าแต่ละวันทำอะไร แล้วก็ทำสวนปลูกผักกินเอง เหนื่อยมากนะ แต่กลับสนุกและมีความสุข”

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ ธีระยุทธ คำพูล สนุกที่จะสืบสานภูมิปัญญาของชุมชนบ้านสงเปลือย ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปด้วย

“แบรนด์ผ้าฝ้ายดอกเปลือยถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นแฟชั่น เราให้ความสำคัญกับเทรนด์สีในแต่ละปี แล้วยังมีการดีไซน์และผลิตให้ตอบโจทย์กับคนรุ่นปัจจุบันมากขึ้น เรียกได้ว่าตอนนี้เขาฮิตแบบไหน เราก็พร้อมที่จะปรับและออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา”

ธีระยุทธ คำพูล
เจ้าของแบรนด์ฝ้ายดอกเปลือย

 

ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

คุณธีระยุทธเล่าว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่กล้าเริ่มต้นชีวิตใหม่ เมื่อพบคำตอบให้ตัวเองได้แล้วว่า “ชีวิตในเมือง” ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองปรารถนา

จากที่เคยได้เงินเดือนเหยียบ 50,000 บาท เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดเดือนแรกกลับมีรายได้เพียง 2,000 บาท ทำให้ตัวเขาเริ่มไม่มั่นใจว่าตกลงตัดสินใจถูกหรือไม่ จนกระทั่งผ่านไป 10 ปี ตอนนี้เวลาได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าจากที่เคยดูแลงานก่อสร้าง ก็ยังผันมาเริ่มต้นเรียนรู้การทอผ้าใหม่ได้เช่นกัน ปัจจุบันคุณธีระยุทธเป็นทายาทรุ่น 3 แห่งการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือยให้ครอบครัวและชุมชนบ้านสงเปลือย ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร แล้ว…อย่างเต็มภาคภูมิ

“ผมเป็นคนหนึ่งที่เหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป เรียนจบแล้วก็เข้าไปหางานทำที่กรุงเทพฯ จนเป็นผู้จัดการดูแลการก่อสร้างให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผ่านไป 5 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่าชีวิตวนลูปเป็นวัฏจักรคนเมืองมากเกินไป ตื่นมากินข้าว ออกไปทำงาน กินข้าว นอน วันเสาร์อาทิตย์ก็ได้หยุดน้อยมาก ชีวิตไร้สีสันและเริ่มไม่มีความสุข ซึ่งใจหนึ่งก็กังวลว่าเราจะอยู่ได้จริงหรือไม่ เพราะกลัวไม่มีเงินพอกับค่าใช้จ่าย

 

ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ จงฝึกและฝืนสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อเรียนรู้

 

“แต่เพราะคำพูดแม่ที่บอกว่า แม่จบแค่ ป.4 และแม่ก็ทอผ้าเป็นหลักมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,000-70,000 บาท คิดว่าขนาดแม่เขาทำได้เราก็ต้องทำได้ จนคิดกลับมาอยู่บ้านมาช่วยแม่ขายผ้าฝ้ายดอกเปลือยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และเอาเข้าจริงรายได้เดือนแรกช่วยแม่ขายผ้าได้ไม่ถึง 2,000 บาท น้ำตาไหลเลย เริ่มคิดว่าจะอยู่อย่างไร แต่ก็พยายามกัดฟัน เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็ไม่ได้ซื้อข้าวเขากิน พยายามทำใจให้ชอบ จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะไปขายผ้าแล้วพอลูกค้าถามรายละเอียดการทอผ้า   แต่เราไม่สามารถตอบคำถามเขาได้เลย จึงเกิดแรงผลักดันให้อยากเรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมชนจริงจัง”

 

เรียนรู้ให้ลึกแล้วเริ่มสนุก

พอตั้งใจเริ่มต้นนับหนึ่งเรียนรู้จริงจัง คุณธีระยุทธก็ได้พบความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัว จากการย้อมสีธรรมชาติที่ทำให้คนที่ไม่เคยคิดยินดีรู้จักกับการย้อมผ้ากลายเป็นรู้สึกสนุกกับการค้นหาคำตอบที่หลากหลายแล้วนำมาปรับใช้กับการทำผ้า

“ส่วนตัวไม่เคยอยากลองศึกษาเรื่องการย้อมสีธรรมชาติเลย แต่พอมีโอกาสได้ไปอบรมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม พบว่าแค่เพียงต้นประดู่อย่างเดียวสามารถทำสีย้อมผ้าได้ถึง 12 เฉดสีเลยทีเดียว พอเริ่มสนุกกับการค้นพบสิ่งใหม่กลายเป็นเริ่มเดินเข้าป่าไปหาวัตถุดิบสีจากธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนบ้านสงเปลือยออกมาถ่ายทอดเป็นสีต่างๆ บนผ้าฝ้ายดอกเปลือยถึงปัจจุบัน”

ภูมิปัญญาต้องผสานกับการจัดการร่วมสมัย

“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของรุ่นแม่มาตลอด แต่ช่วงแรกยังไม่ได้มีส่วนร่วมเพราะทำงานที่กรุงเทพฯ ปัญหาที่เห็นคือ ทุกคนต่างทอผ้ามาแต่ไม่มีความรู้เรื่องของการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนทุนจมหาย สมาชิกในกลุ่มก็เริ่มหายด้วย แม่จึงไปอบรมเรียนรู้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาพัฒนาสินค้า จนรู้ว่าแหล่งครามใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือที่สกลนคร และหันมาเริ่มปลูกฝ้ายและครามเอง จนได้เมล็ดครามพระราชทานมาปลูก จากนั้นเป็นต้นมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมีวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำของเราเอง”

 

ตั้งเป้าหมายเพื่อครอบครัวหรือชุมชน เพื่อให้มีแรงผลักดัน

 

“แม่เริ่มพัฒนาลวดลายโดยใช้ทักษะใหม่ๆ ที่ไปเรียนรู้หรืออบรมมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น ต้องเชื่อมโยงกับสีที่ใช้ เส้นใยแต่ละประเภทควรทำแบบไหน ลายกราฟควรออกแบบอย่างไร โดยจะนำต้องมาวิเคราะห์ว่า กว่าจะได้ออกมาลวดลายหนึ่งต้องทำอย่างไรและให้คนไหนทำ ทุกครั้งที่คิดลายใหม่ได้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงทำให้สมาชิกได้ช่วยกันออกความคิดเห็นและมีส่วนร่วม พร้อมต้องทดสอบการผลิตและทำการตลาดเพื่อสอดคล้องกับความต้องการซื้อผ้าที่แท้จริง จนปัจจุบันผ้าฝ้ายดอกเปลือยมีคอลเลกชันหรือผลิตภัณฑ์ออกใหม่ 4-5 ลายต่อปี”

“เมื่อกลับมาช่วยแม่ก็ได้เรียนรู้การบริหารจัดการคน ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน คนไหนทำมัดหมี่เป็น ทอผ้าไม่ได้ คนนี้ทอแบบไหน ย้อมแบบไหนได้ พร้อมกับพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการติดตามและศึกษาเทรนด์สีใหม่ในแต่ละปี รวมถึงพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าที่ย่อมเปลี่ยนไปยุคสมัย เช่น คนจีนชอบมาไลฟ์สดขายเลย ถือเป็นกรณีทำให้คนในชุมชนเห็นชัดเจนว่าเราต้องเตรียมพร้อมกับการผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไว้ขนาดไหน”

“ปัญหาที่เจอคือคนรุ่นก่อนเขาไม่อยากผลิตสินค้าแบบใหม่เพราะไม่เคยทำและไม่เคยลอง แต่สิ่งที่เราเลือกทำคือการให้คนผลิตได้พบปะและแลกเปลี่ยนจากลูกค้าหรือคนที่มาเยี่ยมชมการผลิตผ้าในชุมชนด้วยตัวเองว่าเขามีความต้องการลายผ้าหรือสินค้าแบบไหน ซึ่งผลที่เกิดดีเกินคาด เพราะทำให้สมาชิกเข้าใจและเห็นความความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าคืออะไร จนถึงตอนนี้ทุกคนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและช่วยกันผลิตสินค้าออกมาตามความต้องการของผู้ซื้อจริงๆ และตามแฟชั่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

 

รู้จักวางแผนชีวิต มีเป้าหมายชัดเจน แล้วปัญหาจะน้อยลง

 

 

การต่อยอดผลิตภัณฑ์คือหัวใจสำคัญของการสืบสาน

ผ้าฝ้ายดอกเปลือยมีจุดแข็งตรงที่เป็นเนื้อผ้าฝ้ายที่นิ่ม แต่จะมีความเงาเหมือนผ้าไหม เพราะผ่านวิธีการคิดค้นและทำต่อเนื่องกันมากกว่า 11 ขั้นตอนกว่าจะได้เนื้อผ้าแต่ละผืน แค่เห็นก็จะรับรู้ถึงความนุ่มและพลิ้วไหวได้ ยิ่งถ้าได้ลองสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงความแตกต่างกับที่อื่นชัดเจนว่าช่างนุ่มและเงาสวยมาก

“พอมาถึงรุ่นผมหรือรุ่นที่ 3 สิ่งแรกที่ต้องทำคือพยายามพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการประยุกต์นวัตกรรมที่สามารถมาปรับใช้ในการผลิตได้ โดยเฉพาะเรื่องเทรนด์สีแต่ละปีที่กลายเป็นเรื่องจำเป็นของคนทำผ้า เพื่อดูว่าเทรนด์ไหนกำลังมา สีไหนเป็นที่นิยมเพื่อนำมาออกแบบและวางแผนการช่วยกันผลิตในชุมชน ควบคู่ไปกับการทำการตลาดที่ต้องหาตลาดรองรับการผลิตให้ได้ จนกระทั่งมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับทาง คิง เพาเวอร์ ต่อเนื่องมา 8 ปีแล้ว”

“นอกจากนั้นมีการปรับเพิ่มลวดลายให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่สามารถนำไปใช้งานได้ด้วย โดยลวดลายแบบเดิม อย่างลายนก หงส์ นาค ก็ยังทำอยู่ตามความต้องการ แต่ก็ต้องมองคนรุ่นใหม่ด้วยว่าเขาใส่และชอบเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายแบบไหน เพราะจะทำให้สินค้าขายได้จึงเพิ่มลวดลายแบบกราฟิก จนเริ่มได้รับการตอบรับที่ดี และเมื่อสมาชิกได้เห็นก็จะเข้าใจว่าตัวเองต้องปรับตัวอย่างไรที่จะทำให้มีออร์เดอร์ได้มากขึ้น”

“แบรนด์ผ้าฝ้ายดอกเปลือยถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นแฟชั่น เพราะเราให้ความสำคัญกับเทรนด์สีในแต่ละปี แล้วยังมีการดีไซน์และผลิตให้ตอบโจทย์กับคนรุ่นปัจจุบันมากขึ้น ตั้งแต่ผ้าคลุมไหล่ เสื้อคอวีแขนกุด เสื้อคลุม ชุดเดรสยาว เสื้อเอวลอย ชุดผูกเอว เสื้อกระดุมผูกกลางผ่าหน้ายาว กระเป๋า เสื้อลำลอง เสื้อยูกะตะแบบญี่ปุ่น ฯลฯ เรียกได้ว่าตอนนี้เขาฮิตแบบไหน เราก็พร้อมที่จะปรับและออกแบบให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา”

 

ตัดสินใจอะไรแล้วควรตั้งใจให้ดีที่สุด

อนาคตที่ยั่งยืนของชุมชนบ้านสงเปลือย

ปัจจุบันชุมชนเริ่มมีรายได้หลักจากการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือย แล้วมีงานอดิเรกเป็นงานสวนแทน ซึ่งส่งผลดีกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และเริ่มเห็นคนกลับมาอยู่บ้านมากขึ้น โดยไม่ต้องออกไปต่างจังหวัดหรือเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ก็สามารถมีอยู่มีกินได้อย่างมีความสุข

“ตอนนี้ถือว่าเราช่วยกันสืบสานภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษได้แล้ว อีกทั้งผ้าฝ้ายดอกเปลือยก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่แต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่เพื่อให้มีรับช่วงต่ออย่างยั่งยืนสิ่งที่พวกเรากำลังช่วยกันทำ นั่นคือ การทำงานของคนรุ่น 3 อย่างตั้งใจเพื่อที่จะส่งต่อให้กับรุ่นที่ 4 หรือรุ่นต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง โดยการทำหลักสูตรวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับปริญญาตรี ได้เริ่มเรียนรู้วิธีการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือยตั้งแต่ต้น”

“นับตั้งแต่วัตถุดิบที่เราปลูกฝ้ายและคราม วิธีการย้อมผ้า การทอผ้า หรือถ้าเด็กโตก็จะให้เขาได้ทำสินค้าที่หลากหลายพร้อมกับออกไปทำกิจกรรมหรือไปร่วมออกงานแฟร์ เพื่อเรียนรู้เรื่องการตลาด เพราะท้ายที่สุดการที่เด็กๆ ได้เรียนรู้มาทั้งหมด จะกลายเป็นพอร์ตการเรียนรู้เรื่องผ้าในชุมชนไปจนโตเป็นวัยรุ่น สุดท้ายเขาก็จะเห็นเองว่า ถ้าเขาได้เรียนรู้เรื่องผ้าทั้งหมดก็เกิดการสร้างอาชีพจนเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนอย่างไร และที่สำคัญยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษได้อีก”

 

ตั้งใจและอดทน…โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเรียนรู้สิ่งใหม่

 

“แม้ตอนนี้ชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นพร้อมๆ กับการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนที่สนใจมาเรียนรู้เรื่องการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือย ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่ก็ยังหวังว่าชุมชนบ้านสงเปลือยแห่งนี้จะกลายเป็นชุดเช็กอินหนึ่งที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากมาเห็นวิถีชีวิตของพวกเราที่พร้อมสานต่อเรื่องการทอผ้าแล้ว ยังมี ชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุข เพราะในขณะเดียวกันทุกคนยังสามารถทำไร่ทำสวนของตัวเองไปด้วย”

เมื่อจบคำถามสุดท้าย คุณธีระยุทธเอ่ยปากชวนว่า “ถ้ามีโอกาสอยากได้ให้ลองมาสัมผัสการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือยถึงถิ่น เรียนรู้วิธีการปลูกเก็บฝ้ายและคราม ย้อมสี ทอผ้า พร้อมกับการใช้วิถีชีวิตชาวสวนในระหว่างวัน โดยการันตีว่าสิ่งที่จะได้กลับไปนอกจากจะอิ่มท้องแล้ว จะอิ่มใจกลับไปเป็นกระบุงแน่นอน” จากนั้นเขาก็ขอตัวไปนำรถไถไปเตรียมแปลงทำนาต่อไป

 

ถอดรหัสความสำเร็จการสืบสานผ้าฝ้ายดอกเปลือย ‘ธีระยุทธ คำพูล’

1.มุ่งมั่นกับสิ่งที่เรารัก เพราะถ้าเราตั้งเป้าหมายทำเพื่อครอบครัวหรือทำเพื่อชุมชน ก็จะเป็นแรงผลักดันที่อยากให้ครอบครัวและชุมชนมีความสุข และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

2.ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถ้าตัดสินใจอะไรแล้วควรตั้งใจ แม้ทางที่เลือกเดินช่วงแรกอาจจะรู้สึกไม่ชอบ แต่ลองฝึกและฝืนสิ่งที่ไม่ชอบเพื่อเรียนรู้ เชื่อว่าอย่างน้อยเมื่อเข้าใจแล้วก็จะทำได้ในวันหนึ่ง

3.รู้จักวางแผนชีวิต เพราะจะทำให้มีเป้าหมายอย่างชัดเจน เวลามีปัญหาจะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

4.ตั้งใจและอดทนจะชนะทุกสิ่ง เป็นเรื่องปกติที่ไม่มีอะไรได้ดั่งใจทั้งหมด หากต้องเรียนรู้กับสิ่งใหม่ในชีวิตตลอดเวลา ควรยึดมั่น 2 คำนี้ ก็จะทำให้สำเร็จ

5.เหนื่อยกายพักได้ เพราะแม้ร่างกายจะเหนื่อยหากได้นอนตื่นมาก็หาย แต่สิ่งที่ได้กลับมาทำแล้วมีความสุขทางใจ ชีวิตก็จะมีความสุข

 

ฝ้ายดอกเปลือย (PHAYDOKPLUI)

ที่ตั้ง: 169 หมู่ 4 ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร 47160

 

Facebook: PHAYDOKPLUI

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: PHAYDOKPLUI 

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถหาสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง