Passion

SRV HUB วงต่างวัย
จากเสียงของหัวใจเดียวกัน

วรากร เพชรเยียน 8 Apr 2022
Views: 498

เสียงเครื่องดนตรีเริ่มต้นบรรเลงในห้องจัดแสดง สปอตไลต์สาดส่องไปทั่วห้อง บรรยากาศเร้าให้หัวใจเต้นรำปลุกเชื้อไฟในตัวของนักดนตรีทั้งเจ็ด และนักร้องสาววัย 18 ปีให้ลุกโชน เย็นวันสุดท้ายของการประกวดจึงมีวงดนตรีรวมการเฉพาะกิจของคนจากรั้วโรงเรียนเดียวกันขึ้นแสดงความรักในเสียงดนตรีของพวกเขาอยู่บนเวที

จากความหลงใหลในเสียงดนตรีของคุณครูท่านหนึ่ง วันหนึ่งได้รับรู้ข่าวการจัดประกวดรายการ The Power Band ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จึงรีบคว้าโอกาสไว้ เรียกรวมศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคลากรในโรงเรียนจนเกิดเป็นวง SRV HUB จากกรุงเทพฯ สำหรับการประกวดในรุ่น Class E (บุคคลทั่วไป)โดยเฉพาะ เป็นเสมือนตัวแทนของโรงเรียนสารวิทยา ซึ่งมีครูอาร์ต-ว่าที่ ร.ต.มหิธร ธิติปวัตน์ (ตำแหน่งกีตาร์), ครูเบิร์ด-ณัฐพล มั่นเรือง (ตำแหน่งแซกโซโฟน) เป็นอาจารย์สองคู่หูนำขบวน และแชมพู-ญาณธิชา ฉัตรโพธิ์ รับหน้าที่นักร้องนำ พร้อมกับสมาชิกในวงอีก 4 คน ร่วมกันบรรเลงความรักในเสียงดนตรีบนเวทีการประกวดในครั้งนี้

วันนี้เราชวนสามคนจากสมาชิกทั้งหมดของวง มานั่งคุยกันถึง “หัวใจ” แห่งเสียงเพลงและดนตรีดวงเดียวที่พวกเขาต่างมีร่วมกัน

 

วงต่างวัย หัวใจเดียวกัน

เนิ่นนานมาแล้วที่อาจารย์ทั้งสองไม่ได้จับเครื่องดนตรีเล่นจริงจัง แต่ในเมื่อโอกาสมาถึง ครูอาร์ตและครูเบิร์ดก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองตกขบวน เฟ้นหานักดนตรีจากคนรอบตัว แม้จะต่างวัยก็ตาม “ผมกับครูเบิร์ดจะเป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมนักดนตรีทั้งหมด มือเบสเป็นน้องชายแท้ๆ ของผม ส่วนทรอมโบนก็เป็นลูกศิษย์ที่เคยสอน เราพยายามให้คนที่อยู่ในโรงเรียนเดียวกันมาทำด้วยกัน นักร้องของเรา น้องแชมพูจะได้มีพอร์ตสำหรับการเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วย” ครูอาร์ตอธิบายถึงจุดเริ่มต้นการรวมวง ส่วนชื่อ SRV ก็มาจากตัวย่อของโรงเรียน และคำว่า HUB คือการที่วงดนตรีนี้จะเป็นส่วนเชื่อมระหว่างคนแต่ละคนมารวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

 “โอกาสที่ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย มอบให้ มันคือโอกาสที่ทำให้คนที่ไม่ได้รู้จักกันมาเจอกัน คนต่างวัยกันมาเล่นด้วยกัน มันทำให้เกิดปาฏิหาริย์ได้”

ครูเบิร์ด วง SRV HUB (แซกโซโฟน)

 

แม้ว่า SRV HUB จะเป็นวงร่วมใจ รวมการเฉพาะกิจอย่างกะทันหันแบบที่รวมวงกันได้เพียงวันเดียวก็เจอกับสถานการณ์ล็อกดาวน์ แต่สมาชิกทุกคนกลับเข้าขากันได้ดีในเรื่องการทำดนตรี

“ตอนที่เราเลือกเพลง Stay with Me ทำเป็นคลิปส่งเข้าประกวด ในช่วงนี้ซาวนด์ City Pop มีศิลปินหลายท่าน เป็น

ซาวนด์แบบย้อนยุคหน่อย เราชอบดนตรีประมาณนี้ เลยลองถามกับคนอื่นๆ ในวงว่าลองทำวงดนตรีที่เป็นซาวนด์ประมาณนี้ดีไหม จากนั้นส่งเข้ามาประกวดดู” ครูอาร์ตเล่าถึงการทำเดโมส่งประกวดซึ่งมีดนตรีสไตล์ในแบบที่ตัวเองสนใจและคิดว่าน่าจะแตกต่างจากวงอื่น โดยมีความเห็นของสมาชิกที่สนับสนุนไปในทางเดียวกันจนได้ออกมาเป็นเพลงแนว เจ ฟิวชัน ในสไตล์ญี่ปุ่น

“ถ้าในเรื่องการผลิตเพลงออกมา หลักๆ จะเป็นครูอาร์ต แต่ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากความชอบ ในสไตล์ดนตรี ศิลปินคนเดียวกัน และอยากที่จะทำเพลงแนวฟิวชัน ญี่ปุ่นๆ”

เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกันถึงแนวเพลง การฝึกซ้อมก็เริ่มต้นขึ้น แม้จะมีเวลาให้ฝึกฝนกันเพียงเล็กน้อย ที่น้อยถึงขั้นมีเวลาทำงานรวมกันจริงๆ แบบนับชั่วโมงทั้งหมดได้แค่หนึ่งวันถ้วน…หรือ 24 ชั่วโมง “ณ วันที่เราใกล้แข่งแล้วเรายังปรับโน้ตกันอยู่เลย” ครูเบิร์ดเล่าต่อ แต่ทุกอย่างก็สามารถผ่านมาได้ด้วยพลังใจของสมาชิกทุกคน

“ไม่เป็นไร” เพลงอกหักจากหัวใจ

“หนูเขียนเนื้อเพลงนี้จากประสบการณ์การอกหักในอายุ 18 ของตัวเอง หนูเคยอกหักก็มาคิดว่าตอนนั้นรู้สึกยังไง หนูรู้สึกว่าเพลงนี้ควรจะเป็นเพลงอกหักที่มีความสุข”

แชมพู วง SRV HUB (นักร้องนำ)

 

“หนูรู้สึกว่าเพลงนี้จะเป็นเพลงของหนู” เสียงแชมพูนักร้องนำของวงพูดขึ้น เกริ่นนำความคิดในการแต่งเพลงของเธอพร้อมขับเคลื่อนการพูดคุยในครั้งนี้ต่อ…ชมพู คือสมาชิกของวงที่มีอายุน้อยที่สุด แต่เมื่อถึงเวลาต้องขึ้นเวที เธอต้องรับหน้าที่ “ผู้นำ” ของวงในการ “แสดง” ผลงานเพลงของวง

ในการประกวดครั้งนี้ทุกวงได้รับโจทย์ให้ขึ้นแสดงสองเพลง โดยมีเพลงบังคับคือรางวัลแด่คนช่างฝัน ที่ครูอาร์ตนำมาทำทำนองใหม่ให้มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นตามแนวทางของวง และเพลงที่สองมีชื่อว่า ไม่เป็นไร เพลงที่ครูอาร์ตเป็นผู้แต่งทำนอง และเนื้อเพลงเขียนโดยแชมพู นักร้องสาวคนเดียวของวง ซึ่งนี่เป็นครั้งแรก…ที่เธอเขียนเพลง แต่เธอใช้ความรู้สึกที่ได้รับจากตัวโน้ต ถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำให้กับเพลง

“หนูเขียนเนื้อเพลงนี้จากประสบการณ์อกหักในอายุ 18 ของตัวเอง เราจะไม่นั่งเทียนเขียนเพลง เพลงรักเราก็ต้องเคยรักมาก่อนถึงจะรู้ว่ารักเป็นยังไง หนูเคยอกหักก็มาคิดว่าตอนนั้นรู้สึกยังไง หนูรู้สึกว่าเพลงนี้ควรจะเป็นเพลงอกหักที่มีความสุข” แชมพูเล่าถึงการแต่งเพลงที่สองในการแข่งขันอย่างมีความสุข โดยมีครูทั้งสองคนและสมาชิกสนับสนุนให้เธอทำ

“ผมคิดว่านักร้องต้องการร้องอะไรก็ให้เขาเป็นคนเขียนมาดีกว่า” ครูอาร์ตเสริมทัพ เพลงนี้ไม่เป็นไร จึงกลายเป็นเพลงที่สองที่ทั้งวงจะได้โชว์ศักยภาพในตัวเองได้อย่างเต็มที่ “ทุกคนที่ประกวดในรายการสกิลทุกคนเท่ากันอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณแต่งเพลงมา เพลงจะเป็นตัววัดได้ว่าวงคุณมีสกิล” ครูอาร์ตยังคงเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำเพลงที่มีตัวเองเป็นผู้แต่งทำนอง

 

เพราะรักในเสียงเพลง จึงมีวันนี้

ไม่เพียงแค่ความรักและความสามัคคีของสมาชิกในวงทุกคนเท่านั้น แต่เมื่อย้อนกลับมาถามถึงความรักในเสียงดนตรีของพวกเขา จึงได้รู้ว่าทุกตัวโน้ตที่ได้เล่น เสียงที่ร้องออกไปคือเสียงสะท้อนถึงความรักในด้านดนตรีของทั้งสามคน

“ตัวผมเรียนสาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จริงๆ ตอนที่ผมจบมาใหม่ๆ ผมตั้งใจอยากทำงานเบื้องหลัง อยากจะเป็นนักแต่งเพลง” แต่เมื่อวันเวลาพัดผ่านจึงทำให้ครูอาร์ตเลือกทางเดินมาเป็นครูสอนดนตรี และการประกวดในครั้งนี้ก็เป็นเหมือนบทพิสูจน์ที่อยากให้คนเห็นว่าครูดนตรีก็เล่นดนตรีได้

“ผมได้ยินคนพูดมานะว่าคุณเป็นครูสอนมัธยม คุณจะมีทักษะที่จะเล่นดนตรีที่ดีได้เหรอ คุณแค่สอนดนตรีเด็ก จริงๆ แล้วครูดนตรีก็สามารถเล่นดนตรีได้ดีเท่ากับศิลปินเหมือนกัน”

ทางด้านครูอาร์ตเองก็เคยเป็นอดีตเด็กวงโยธวาทิตเป่าแซกโซโฟนมาตั้งแต่มัธยม “ตอนนั้นครูเป็นคนเลือกให้ พอเล่นไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเล่น ผมเล่นทุกอย่างในตระกูลแซกโซโฟนมาหมดแล้ว จนเกิดเป็นความรัก ความชอบ นอกจากนั้นมันก็ยังให้เพื่อน ให้อาชีพ” นอกจากฝีมือเป่าแซกโซโฟนแล้ว ครูเบิร์ดเองยังชอบร้องเพลง เลียนแบบศิลปินฝึกเทคนิคเรื่อยมา จนเกือบจะได้รับหน้าที่ร้องนำในการประกวดครั้งนี้ด้วย “จริงๆ ครูอาร์ตบอกให้ครูร้อง แต่เราบอก ไม่เอา เราจะเป่าแซก” ครูเบิร์ดพูดในขณะที่หันไปหาแชมพู นักร้องนำตัวจริงบนเวทีนี้

“หนูเป็นนางรำ มันไม่มีความเข้ากันในตัวหนูเลย” แชมพูเปิดประเด็นแนะนำตัวเธอเองว่า เธอเป็นเด็กกิจกรรมที่อยู่ในกลุ่มงานรำมาตลอดและ “ใหม่” กับการร้องเพลงมาก แต่ครูอาร์ตเคยเห็นแววนักร้องจากครั้งหนึ่งที่เธอเคยประกวดร้องเพลง และนี่ยังสะท้อนถึงความแตกต่างและหลากหลายของการรวมวงสำหรับ SRV HUB ให้เราฟัง

บนเวที…เธอคือนักร้องนำของวง แต่เมื่อลงจากเวทีเข้าห้องเรียน…เธอคือเด็กสายวิทย์-คณิต กับเป้าหมายอยากเป็นหมอ ขณะเดียวกันก็มีความสามารถในด้านศิลปะและดนตรี จนครูทั้งสองเห็นและเปิดโอกาสให้เข้ามารับหน้าที่นักร้องให้กับวง “คนอื่นเขามีตัวช่วย แต่ว่าหนูเป็นหนู เราก็บ่นครูอาร์ตในใจแล้วว่าทำไมถึงแต่งเพลงยากแบบนี้ แต่มันมีแรงผลักดันที่ครูอาร์ตบอกหนูว่า… ถ้าแกร้องเพลงนี้ได้ แกเทพนะ เนี่ยแหละคือแรงฮึดที่ทำให้หนูสู้ขึ้นมา”

ด้วยแรงฮึดนี้ทำให้เธอสามารถขึ้นร้องเพลงที่แต่งใหม่ได้โดยที่ไม่เพี้ยน เสียงไม่หลงในชุดขนนกสีชมพูที่แชมพูสั่งซื้อเพื่องานนี้โดยเฉพาะ แม้วงจะแบ่งปันความฝันและความรักดนตรีร่วมกัน ชมพูไม่ลืมที่จะแบ่งปันภาพฝันในความคิดของตัวเองให้ฟังว่าการที่ได้ใส่ชุดนี้…ชุดแบบเจ้าหญิงดิสนีย์ขึ้นเวที คือความฝันสำหรับตัวเธอเอง

“หนูอยากขึ้นเวทีแล้วเหมือนคอนเสิร์ตพวกนักร้องฝรั่งที่เขาใส่ชุดอลังการ ฟิลชุดของหนูมาจากข้างใน หนูไม่ห่วงคนอื่นเพราะพวกเขาเล่นดีอยู่แล้ว ทุกคนไว้ใจหนู หนูก็ไว้ใจทุกคน” บนเวทีเธอใส่เต็มสุดพลัง และการได้ทำหน้าที่นักร้องในครั้งนี้ก็ทำให้เธอพัฒนาฝีมือการร้องเพลงของตัวเองไปได้ไกลกว่าเดิมจนถึงขั้นหลงรัก ไม่แน่ในวันข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นแชมพูในชุดกาวน์ ร้องเพลงให้คนไข้ฟัง เป็นคุณหมอที่มีดนตรีในหัวใจ

 “เราพยายามทำให้ทุกอย่างครบร้อยเปอร์เซ็นต์ วางแนวคิดว่าเมื่อคุณสะดุดอะไร คุณต้องไปต่อ จบมาให้คนดูประทับใจ”

ครูอาร์ต (กีตาร์และผู้เรียบเรียงดนตรี)

จากคนที่มีบทบาทในชีวิตต่างกัน เป็นครู เป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน นักศึกษาฝึกสอน SRV HUB ไม่เพียงให้ประสบการณ์แต่ดึงคนจากหลากรุ่น หลายหน้าที่เข้ามาสวมบทบาทเดียวกัน ด้วยความรักในสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าผลการประกาศผลจะเป็นยังไง แต่วันนี้สมาชิกทุกคนทำสำเร็จอย่างหนึ่งคือได้ลงมือทำแล้ว

“ความสำเร็จของผมคือการมาเล่นวันนี้” ครูเบิร์ดเล่า บนเส้นทางของการทำวงดนตรีมีขวากหนามเหมือนอย่างเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันกล่าวไว้ แต่สมาชิกในวงก็พากันข้ามผ่านไปได้โดยมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมหัวใจ “เราคุยกันเป็นภาษาเดียวกัน มันสนิทใจและไปด้วยกันได้ ถ้าคนไม่ได้ชอบตรงนี้ก็ไม่มีใครมาทำหรอกครับ” ครูอาร์ตเล่าต่อ “เราไม่ได้วิ่งอยู่คนเดียว แต่มันวิ่งไปพร้อมกัน” เสียงครูเบิร์ดเล่าเสริม “ใครล้มก็ลากไปค่ะ” เสียงแชมพูพูดส่งท้าย

 

ถอดรหัสเส้นทางสู่สำเร็จของความพยายาม
จาก 3 สมาชิกวง SRV HUB

🎶ครูอาร์ต : คว้าโอกาสและพิสูจน์ตัวเอง ลงมือทำด้วยความตั้งใจและใช้ความรักในเสียงดนตรีนำทาง

🎶ครูเบิร์ด : ฝึกฝน เลียนแบบ เรียนรู้เทคนิคจากศิลปินคนอื่นๆ ท้าทายตัวเองด้วยสิ่งที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ

🎶แชมพู : เปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นแรงผลักดัน ท้าทายตัวเองอยู่เสมอเพื่อพัฒนาศักยภาพ ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยการฝึกฝนที่ถูกต้องและความตั้งใจที่มากพอ

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ