People

คมกฤชและกฤติยา ตระกูลทิวากร
หนึ่งชิ้นเพื่อหนึ่งของเล่น…เพื่อเด็กด้อยโอกาส

โยธิน อยู่จงดี 24 Jan 2022
Views: 585

กล้องของเล่นไม้สไตล์เรโทร หนึ่งในสินค้าขายดีของ คิง เพาเวอร์ ของเล่นปลายเปิดช่วยสร้างความเบิกบานต่อโลกและสังคมชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในชุดของเล่นไม้ของสองสามีภรรยาผู้ก่อตั้ง 141 Social Enterprise  มุ่งเน้นการผลิตของเล่นไม้

“ผมกับภรรยาต่างเป็นนักออกแบบทั้งคู่ ส่วนหนึ่งเคยทำงานเป็นอาจารย์สอนออกแบบ ผมสอนให้นักศึกษาออกแบบสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิต แต่สุดท้ายแล้วผมกลับมองว่า นั่นไม่ใช่แนวคิดการออกแบบเพื่อความสุขที่ยั่งยืนอย่างที่เราอยากจะทำ” คมกฤช ตระกูลทิวากร เล่าถึงความคิดเสี้ยวหนึ่งในช่วงแรกก่อนตั้ง 141 Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ ๑4๑ โดยมีภรรยา กฤติยา ตระกูลทิวากร และลูกๆ เป็นแรงใจ ผลักดันให้ธุรกิจของเล่นไม้ ของใช้ตกแต่งบ้านสุดแสนจะน่ารักออกสู่สายตาชาวโลก

 

✓ ธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่ตอบโจทย์ความสุขของชีวิต

และทำเพื่อสังคมในเวลาเดียวกัน

 

คมกฤช เคยเป็นนักออกแบบ เป็นเจ้าของสตูดิโอออกแบบ และเป็นอาจารย์สอนออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วน กฤติยา ภรรยาคู่ชีวิตก็เป็นนักออกแบบเช่นเดียวกัน

วันหนึ่งเมื่อทั้งคู่มีลูกแฝดที่น่ารัก ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ตอบโจทย์ความสุขของชีวิต พวกเขาจึงตั้งบริษัท 141 Social Enterprise ซึ่งจะอ่านว่า “หนึ่งสี่หนึ่ง” หรือ “วันโฟร์วัน” ก็ได้ เพราะในอีกความหมายที่แอบแฝงในชื่อนี้คือ One for Another One เพื่อสะท้อนแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ของของเล่นไม้ ของตกแต่งบ้าน เป็นสินค้าหนึ่งชิ้นเพื่อลูกค้า และอีกหนึ่งชิ้นให้เด็กด้อยโอกาสอีกหนึ่งคน

ของเล่นเพื่อลูกและเพื่อนของลูก

แนวคิดเรื่องการทำของเล่นไม้ของ 141 ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนปัญโญทัย กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใช้ระบบการศึกษาแนววอลดอร์ฟ เน้นให้เด็กเล่นและเรียนรู้เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เร่งรัดเรื่องการเรียน ตามหลักการเรียนการสอนของที่โรงเรียนนี้คุณครูได้ขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง ไม่ให้ซื้อของเล่นให้ลูก แต่เน้นให้ทำของเล่นให้ในโอกาสสำคัญแทน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ คมกฤช เริ่มทำของเล่นให้ลูกเป็นครั้งแรกในชีวิต

ไม้พาเลทราคาไม่แพง ถูกตัดเลื่อยออกมาเป็นตัวรถและล้อ เจาะรูพอให้วิ่งได้ เขาทำขึ้นมา 2 ชิ้น เพื่อลูกแฝดที่น่ารักทั้ง 2 คน หน้าตาของของเล่นต้นแบบสองชิ้นนั้นอาจไม่สวยเหมือนสินค้า 141 ที่เห็นในชั้นวางขายสินค้าของ คิง เพาเวอร์ ในปัจจุบัน

แต่สำหรับคนที่เขียนแบบกราฟิกมาเกือบตลอดชีวิต การจับเลื่อยและสว่านครั้งแรกเพื่อลูก ก็ถือว่าทำได้สวยงามตามท้องเรื่อง มีรอยยิ้มตั้งแต่เริ่มตัด จนถึงมือลูกที่กำลังตื่นเต้นจะได้ของเล่นใหม่จากฝีมือของคุณพ่อ เป็นความสุขที่พวกเขาไม่มีวันลืม

 

✓ ของเล่นที่สนุกที่สุดสำหรับลูก

คือของที่ได้เล่นด้วยกันทั้งครอบครัว

 

“ถึงของเล่นชิ้นแรกที่ผมทำให้ลูกจะดูไม่สวยงามสมบูรณ์ แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจ เป็นความสุขร่วมกันของทุกคนในครอบครัว ผมจึงนำเอาแนวคิดนี้มาทำเป็นสินค้าของแบรนด์ 141 เพราะอยากให้ทุกครอบครัวมีความสุขกับการประกอบของเล่น ความสุขที่เกิดจากการลงมือทำกับลูก แล้วเล่นด้วยกันเมื่อสำเร็จ เป็นผลงานอันน่าภูมิใจ ความทรงจำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า ลูกจะได้หยิบไปใช้ในอนาคตข้างหน้า ในวันที่เขาจะต้องพึ่งพาตัวเอง” คมกฤช เล่าด้วยน้ำเสียงเต็มไปด้วยความสุข

นำมาสู่แนวคิดการออกแบบ ที่กั้นหนังสือ เก้าอี้ กล่องใส่ของ นาฬิกา และของเล่น จึงถูกออกแบบให้มีลายฉลุ เป็นรูปร่างต่างๆ เช่น กวาง นก กระต่าย ต้นไม้ ฯลฯ คมกฤชเรียกสิ่งนี้ว่า ช่องว่างแห่งการให้ “the giving space”

ชิ้นไม้ที่หายไปในสิ่งของเหล่านี้ จะถูกนำไปทำเป็นของเล่นให้เด็กด้อยโอกาส เท่ากับว่าเมื่อลูกค้าของเขาซื้อสินค้า 1 ชิ้น จะมีของเล่นอีก 1 ชิ้นถูกส่งไปให้กับเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ตามชายขอบด้วย 141 เริ่มและลงมือทำสิ่งนี้มานานแล้ว โดยในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา 141 เป็นตัวแทนลูกค้าทุกคน มอบของเล่นไม้ ถึงมือเด็กด้อยโอกาสแล้วกว่า 5,000 ชิ้น

“ไม้หนึ่งแผ่นถ้าวางแผนออกแบบดีๆ

สามารถนำส่วนเกินของไม้ ไปทำของเล่นเพื่อเด็กผู้ด้อยโอกาสได้”

คมกฤช ตระกูลทิวากร 141

ออกแบบสินค้าเพื่อชีวิตยั่งยืน

ย้อนกลับไปก่อนหน้า 10 กว่าปีที่แล้ว ทั้งสองคนใช้ชีวิตวิถีมนุษย์เงินเดือน ทำงานเป็นอาจารย์สอนออกแบบ และเปิดสตูดิโอออกแบบไปพร้อมๆ กัน ใครเห็นก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่านั่นเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่พอทำไปเรื่อยๆ พวกเขากลับพบว่ามีบางสิ่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาได้

คมกฤช สอนวิชาออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ทำให้สวยขึ้น ผลิตได้มากขึ้น ลดต้นทุน และคุ้มค่า ทุกอย่างออกแบบมาอย่างดีตามโจทย์ที่ได้รับ แต่พอของขายหมดรุ่นก็ทิ้งไปแล้วออกแบบใหม่ ซึ่งนี่คือแนวคิดของวัตถุนิยม เป็นความสวยงามที่ถูกทิ้งขว้างเมื่อหมดเวลาของมัน

จนกระทั่งเขาได้อ่านหนังสือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จึงได้รู้จักกับคำว่า “โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์” แล้วเริ่มรู้สึกว่าถ้ายังดำเนินชีวิตแบบนั้นต่อไป จะขัดแย้งกับแนวทางที่ตัวเองอยากออกแบบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีคุณค่ากับชีวิต

เขาอยากทำธุรกิจ และช่วยเหลือสังคมในเวลาเดียวกัน เขาบอกกับภรรยาถึงความคิดนั้น และเริ่มเขียนแผนธุรกิจเข้าประกวด จนได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ Winner of UnLtd Thailand 2010 (Social Enterprise Incubation programme) และได้รับทุนจากโครงการดำเนินธุรกิจ 141 Social Enterprise ให้ออกมาเป็นรูปธรรมจนถึงทุกวันนี้

นับจากนั้นเป็นต้นมาของเล่นไม้จาก 141 ก็ได้เปิดตัวเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ไม้ทุกชิ้นถูกขัด ตัด แต่ง อย่างประณีต ของตกแต่งบ้านและของเล่นสำเร็จรูป อย่างก้อนไม้ เป็นของเล่นปลายเปิด ที่ให้เด็กสามารถนำกิ่งไม้ต่างๆ มาต่อเป็นขาและเขา เมื่อเด็กๆ เปลี่ยนกิ่งไม้ก้านใหม่ ก็จะได้เป็นสัตว์ตัวใหม่ที่ดูสวยแปลกตาจากเดิม

ส่วนสินค้าที่ขายดีที่สุดของ 141 อย่างกล้องถ่ายภาพของเล่น ถูกขัดตกแต่งอย่างดี เคลือบผิวไม้ด้วยขี้ผึ้งออร์แกนิก ปลอดภัยไร้สารพิษต่อเด็กและผู้ใหญ่ ถึงไม่ได้หยิบจับเอามาเล่น แค่วางไว้ในตู้โชว์ โต๊ะรับแขก โต๊ะทำงาน ก็ดูสวยงาม แปลกตา น่าจับต้อง

บางชุดเป็นของเล่นดี.ไอ.วาย ที่ให้พ่อ แม่ ลูก ช่วยกันขัดแต่งให้เรียบลื่นก่อนเล่นด้วยกัน ซึ่งเป็นชุดที่ทาง 141 บอกว่าเป็นชุดที่อยากให้ทุกคนลองใช้เวลาสร้างของเล่นร่วมกันเหมือนที่ คมกฤช ได้เคยทำให้ลูกของเขา

 

✓ การออกแบบที่ดีไม่ใช่เพียงออกแบบให้สวยเท่านั้น

แต่ต้องสวยอย่างยั่งยืน

โอกาสใหม่จาก คิง เพาเวอร์

หลังจากของเล่นไม้ 141 เป็นที่พูดถึงในกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมได้ไม่นานนัก 141 ก็ได้รับการติดต่อขอนำสินค้าไปจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์  กฤติยา บอกเล่าถึงช่วงเวลาครั้งนั้นว่า “เป็นความดีใจที่เกินความคาดคิดของเรามาก ไม่คิดว่าจะมีวันนี้เพราะสินค้าของเราเป็นสินค้า Niche market เฉพาะกลุ่มที่เห็นคุณค่าของตัวสินค้า Handmade เลยทำให้เรารู้สึกภูมิใจ ว่าแนวคิดที่เราพยายามจะสื่อสารออกไป จะถึงกลุ่มผู้คนที่กว้างออกไป

สินค้าทุกชิ้นของ 141 ไม่ใช่เป็นแค่เพียงของเล่นไม้ที่มีดีไซน์สวยงาม แต่เป็นเครื่องมือสื่อสารความรักความเข้าใจระหว่างพ่อ แม่ ลูก และจาก 141 ไปถึงลูกค้าทุกคน”

เพราะแนวคิดของ 141 นอกจากจะเป็นสินค้าเพื่อสังคมแล้ว พวกเขายังอยากให้เด็กๆ หันมาเล่นของเล่นไม้ แทนการเล่นสมาร์ตโฟน กล้องของเล่นไม้นั้นเปิดให้เด็กเล่นกับจินตนาการในการถ่ายภาพ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว เวลาที่เขาเรียกให้พ่อแม่หันมาถ่ายรูป พ่อแม่ก็หันมาเล่นด้วยความเต็มใจ

แม้กระทั่งเด็กร้องเรียกผู้คนแปลกหน้าให้ถ่ายรูปด้วยกัน ทุกคนก็จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ กล้องของเล่นไม้สไตล์วินเทจ เป็นของที่เด็กและผู้ใหญ่ชื่นชอบ ราวกับว่ากล้องถ่ายรูปมีแรงดึงดูดทุกคนให้เข้าหา แม้จะเป็นแค่ของเล่นไม้ก็ตาม

ภาพที่เด็กน้อยได้ถ่ายเอาไว้ จะถูกเก็บอยู่ในจินตนาการความทรงจำของเด็ก เป็นเมมโมรีที่ไม่มีวันเต็ม แค่นึกถึงช่วงเวลานั้นภาพก็ปรากฏขึ้นมา

 

✓ ในทุกวันจะมีประตูหนึ่งบานเปิดอยู่ รอเพียงแค่เราก้าวผ่านประตูบานนั้น

และปล่อยให้เส้นทางหลังประตูนำพาการเปลี่ยนแปลงชีวิตเข้ามา

 

ประตูบานนั้น นำมาสู่ความสุขในวันนี้

ทุกอย่างที่เห็นในวันนี้ดูเหมือนพวกเขาได้ออกแบบหรือวางแผนเอาไว้ตั้งแต่ต้น แต่จริงๆ ทั้งสองสามีภรรยาบอกกับทุกคนเสมอว่า เขาอาจจะออกแบบสินค้าทุกอย่างด้วยแนวคิด แต่ชีวิตของพวกเขาไม่ได้ออกแบบอะไรเลย รู้เพียงแค่ว่าอยากจะลองทำดู อยากจะใช้ชีวิตที่มีเวลาอยู่กับลูก มีคำกล่าวว่า ในทุกวันจะมีประตูบานหนึ่งเปิดอยู่ เราแค่ลองก้าวผ่านประตูบ้านนั้นไป แล้วเส้นทางต่อจากประตูบานนี้ ก็จะค่อยๆ นำพาวิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงเข้ามา

แค่เริ่มต้นหลังก้าวผ่านประตูบานนั้น ทั้งคู่ก็พบความสำเร็จและความสุขที่ได้รับจากการทำธุรกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่ปีแรกที่ลงมือทำ หลายคนอาจนึกภาพ 141 เป็นโรงงานผลิตของเล่นไม้ขนาดใหญ่ มีลูกน้องมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งคู่ เริ่มทำเองทั้งหมดตั้งแต่ออกแบบ ผลิต ขาย แพ็กของ จนถึงเปิดบูธในงานแสดงสินค้า ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือลดต้นทุนชีวิตให้น้อยที่สุด

ก่อนเริ่มทำของเล่นไม้ 141 พวกเขามีต้นทุนชีวิตต่อเดือน อยู่ที่ประมาณแสนกว่าบาท  แต่พอตัดทุกอย่างออกไปไม่ใช้แอร์ ปลดหนี้สินให้หมด ใช้แรงงานเพียงแค่ 2 คนสามีภรรยา ต้นทุนชีวิตต่อเดือนของพวกเขาก็เหลือเพียง 1 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น แม้จะมีปัญหาโควิดเข้ามาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเขาเลย

“สินค้าทุกชิ้นของ 141 ไม่ใช่เป็นแค่เพียงของเล่นไม้ที่มีดีไซน์สวยงาม แต่เป็นเครื่องมือสื่อสารความรักความเข้าใจระหว่างพ่อ แม่ ลูก และจาก 141 ไปถึงลูกค้าทุกคน”

กฤติยา ตระกูลทิวากร 141

 

เมื่อให้สิ่งที่ดีกับสังคม เราจะได้สังคมที่ดีกลับมา

คมกฤช ทิ้งท้ายถึงธุรกิจ 141 ว่า ก่อนหน้านี้ผมทำธุรกิจรับออกแบบดีไซน์ สมมติว่ามีคนจ้างให้เงินมา 10,000 บาท แต่เขาคาดหวังสิ่งที่ได้รับ 20,000 บาท เหมือนกับว่าเขาต้องการความคุ้มค่าทุกอย่างในเม็ดเงินนี้ ต้องการแม้กระทั่งเวลาในชีวิตของเรา บางทีเราดีไซน์เสร็จแล้วตรงตามโจทย์ทุกอย่าง แต่เขาจะขอให้ลองแก้ดูเพราะยังมีเวลาเหลือ แต่สุดท้ายเขาก็กลับไปเลือกอันแรก เจอแบบนี้เราก็รู้สึกอึดอัดและเครียด

แต่พอเราทำธุรกิจเพื่อสังคม ทำสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่น ไม่ใช่เฉพาะกับตัวเอง สิ่งที่ได้กลับมานั้นต่างกันลิบลับ เวลาเราไปขายตามบูธ ลูกค้าที่รู้ว่าซื้อของเราแล้วจะมีของเล่นไม้อีกชิ้นส่งถึงเด็กๆ เขาก็ซื้อขนมมาให้ บางคนซื้อแล้วใส่กล่อง บอกฝากไปให้เด็กเลย ไม่เอากลับบ้าน นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา

ในงานออกแบบมีแต่คนจ้องจะหาข้อตำหนิในผลงานนั้น แต่กับของเล่นไม้ที่มีตำหนิบนเนื้อไม้เห็นแบบชัดๆ ลูกค้าของผมทุกคน กลับมองข้ามรอยตำหนินั้นไปหมดเลยไม่มีใครพูดถึง ทุกคนมองเห็นเป็นความสวยงาม ชื่นชมว่าตำหนินั้นคือเรื่องธรรมชาติของเนื้อไม้แท้ เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อน

วิถีชีวิตที่มีความสุข มีแต่การให้ และการให้ก็ดึงคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเราเข้าหากัน เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน ถ้าไม่ได้เริ่มทำ 141 ในวันนั้น ผมกับครอบครัวก็คงไม่ได้พบกับความสุขอันแสนเรียบง่ายเช่นนี้

 

เรื่องเล่าของ “ของเล่น”… แรงบันดาลใจจาก 141

✓ การออกแบบที่ดีไม่ใช่เพียงออกแบบให้สวยเท่านั้น แต่ต้องสวยอย่างยั่งยืน

✓ ธุรกิจที่ยั่งยืนคือธุรกิจที่ตอบโจทย์ความสุขของชีวิต และทำเพื่อสังคมในเวลาเดียวกัน
✓ ในทุกวันจะมีประตูหนึ่งบานเปิดอยู่ รอเพียงแค่เราก้าวผ่านประตูบานนั้น และปล่อยให้เส้นทางหลังประตูนำพาการเปลี่ยนแปลงชีวิตเข้ามา

✓ ของเล่นที่สนุกที่สุดสำหรับลูก คือของที่ได้เล่นด้วยกันทั้งครอบครัว

 

141 Social Enterprise

ที่ตั้ง : 141 ซอยสุขาภิบาล 5 แยก 10 สายไหม กรุงเทพฯ 10220

 

Facebook: 141

Author

โยธิน อยู่จงดี

Author

อ่านความรู้ทุกอย่างในโลกใบนี้ ชอบการสัมภาษณ์และขีดเขียนเรื่องราวชีวิต ในอีกมุมหนึ่งก็มองชีวิตผ่านรูปแบบดวงชะตาของผู้คนที่เข้ามาปรึกษาด้วยเช่นกัน