People

“โตมา…จะไม่ทำเซรามิก”
พนาสิน ธนบดีสกุล
ทายาท ‘ชามตราไก่’ ในตำนาน

ศรัณย์ เสมาทอง 10 Feb 2022
Views: 857

คนที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำธุรกิจอะไร ส่วนใหญ่โตมามักไม่อยากจะรับช่วงต่อ”

ฟังคำ คุณอั๋น-พนาสิน ธนบดีสกุล แล้วไม่อยากจะเชื่อ เพราะเขาเป็นเจ้าของงานเซรามิกสวย ๆ ในชื่อที่รู้จักกันดีว่า “ธนบดี” (DHANABADEE) ที่สำคัญเขาเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของคนทำ ‘ชามตราไก่’ คนแรกของจังหวัดลำปาง

แม้จะเกิดมาไม่ทันยุคที่พ่อแม่ทำชามตราไก่ แต่โรงงานธนบดีสกุลที่คุณอั๋นคุ้นเคยตั้งแต่เด็กก็ผลิตถ้วยตะไลหรือถ้วยขนมเล็กๆ ที่ขายดีมาตลอด เด็กๆ ในบ้านจะถูกปลูกฝังเรื่องการทำงาน จะมาแบมือขอเงินง่ายๆ นั้น ไม่มีทาง!!!

“เป็นลูกคนเล็กด้วยก็เลยเอาแต่ใจตัวเอง อยากไปเล่นกับเพื่อนก็ไม่ค่อยมีเวลา อยากซื้อขนมก็ต้องทำงานก่อน คิดมาตลอดเลย ว่าโตขึ้นเนี่ย ไม่ทำเซรามิกแน่ๆ”

เขาฉีกแนวไปเรียนนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วทำงานออกแบบทั้งลายผ้าและกระเบื้อง แต่ในที่สุดก็คืนมาสู่การทำเซรามิกที่ลำปางบ้านเกิด “แต่ผมไม่ได้เข้าไปดูงานที่บ้านนะครับ จนถึงบัดนี้เลย 32 ปีละ พี่โตด้วยตัวของพี่เอง”

อ้าว…แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไรกันล่ะครับ

 

“เราควรทำสิ่งที่เรามีความสุข ทำสิ่งที่พอเหมาะกับตัวเอง”

พนาสิน ธนบดีสกุล ผู้ก่อตั้ง ธนบดีอาร์ตเซรามิคและธนบดีเดคอร์เซรามิค

 

 

เจ้าชาย…ตกม้าขาว

ชามตราไก่ที่ครอบครัวคุณอั๋นเป็นผู้เริ่มต้นมานั้น ผลิตอยู่ในช่วง 5 ปีแรก ประมาณปี พ.ศ. 2500-2505 เท่านั้น พอเกิดไม่ทันก็เลยไม่มีความทรงจำใดๆ กับชามที่เป็นรูปไก่เลย รู้จักแต่ถ้วยตะไล ถ้วยขนมถ้วยฟู ไม่มีความสนใจที่จะกลับมาทำงานที่บ้านเลย ตั้งใจจะไปทำงานออกแบบที่ประเทศอิตาลีมากกว่า

“ช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย กระทบกับโรงงานถ้วยขนมที่บ้านด้วย” เขาเล่าถึงสมัยปี 2533 ที่บ้านประสบปัญหา คุณอั๋นตัดสินใจว่ายังไม่ไปอิตาลีขอไปช่วยงานที่บ้านก่อน “เราก็ทำเท่เลยนะครับ กะเป็นแบบขี่ม้าขาวเข้าไปเท่ๆ เพราะเราว่าเราเก่ง กลับไปถึงปุ๊บ ที่บ้านก็ไม่ให้ช่วยงานธุรกิจที่บ้านเลย เขาบอกว่าถ้าเก่งจริงก็ลองทำเซรามิกเองดูหน่อย ถ้าทำได้และรุ่งได้ ค่อยมาช่วยคนอื่นเขา”

แม้จะพูดติดตลก…แต่ในวันนั้นเขาคงตลกไม่ออก ด้วยวัยหนุ่มเพิ่งเรียนจบได้ไม่นานย่อมไม่มีเงินเก็บ ทางบ้านจึงให้เงินเพียง 4 หมื่นบาท บอกให้พิสูจน์ตนเองด้วยการทำเซรามิก ซึ่งทำได้เพียงโรงงานก่ออิฐบล็อกธรรมดาผนังเปลือยไม่ฉาบปูน ห้องน้ำยังเป็นสังกะสี รั้วไม้ไผ่สานขัดแตะ พร้อมเตาเผาเซรามิกเล็กๆ เพียงเตาเดียว

“ทำงานเซรามิคอาร์ต เป็นของตกแต่งบ้านเซรามิกนั่นล่ะ แต่อารมณ์แฮนด์เมดเป็นงานฝีมือ มันจะกลายเป็นศิลปะ ไม่ใช่งานในเชิงธุรกิจ มีแค่ผมคนเดียวที่ทำได้ ลูกน้องที่มาทำด้วยกันอีก 2 คนก็ทำไม่ได้” นำไปขายโดยตรงตามบริษัทในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีใครสนใจ “ไม่ท้อแต่มันเครียด จริงๆ ผมเองก็ค้าขายมาตั้งแต่สมัยอยู่ประถม อย่างเวลามีหนังกลางแปลงในหมู่บ้าน ก็จะเตรียมทำหวานเย็นที่กัดตรงก้นถุงกิน เอาน้ำมะพร้าว น้ำหวานใส่ถุงแล้วไปแช่ในช่องแข็ง ไปตระเวนขาย มันก็เลยกลายเป็นเหมือนมีเลือดนักสู้อยู่ในตัว ถ้าอันนี้ขายไม่ได้ มันต้องมีอะไรที่ขายได้บ้างล่ะ ก็ลองทำของใหม่ขึ้นไม่ได้เลิกกลางคัน”

 

✔️ การลงมือทำจริงเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความสามารถที่แท้ของเรา

 

จากที่คิดว่า “ของสวย ของดี ของถูก” จะต้องขายได้ เขาคิดผิด ต้องมาเริ่มเรียนรู้เรื่องการตลาด แรงจูงใจ และปัจจัยที่ทำให้สินค้าขายได้ใหม่อีกครั้ง  ในปีถัดมาเริ่มสร้างชื่อ ออกงานแสดงสินค้าให้คนรู้จัก สินค้าเริ่มขายได้ จึงได้นำข้อมูลว่าตลาดสนใจอะไร ราคาควรเป็นอย่างไร มาพัฒนางานเซรามิกให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

“พอหมดสภาวะสงครามธุรกิจที่บ้านก็อยู่ของเขาได้ ถ้วยตะไลที่ขายพ่อค้าแม่ค้าขนมนั้นไม่ต้องการดีไซน์มากมาย แต่จะให้ผมไปทำงาน mass production ผมก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะพี่ชอบงานดีไซน์ จึงไม่ได้เข้าไปช่วยงานโรงงานของที่บ้านเลย”

จากที่เคยคิดจะเป็นเจ้าชายขี่ม้าขาวมากู้วิกฤต กลายเป็นว่าวิกฤตนั้นทำให้เขาหาเส้นทางเดินของตัวเองเจอแทน

อัตลักษณ์ VS เทรนด์

เป็นธรรมดาของงานออกแบบที่จะต้องสนใจเรื่องเทรนด์โลก ปกติจะมี Trendsetter บอกกันมาว่า ปีไหน สีสัน หรือการออกแบบจะมาในรูปแบบใด เมื่อคนทำตามเทรนด์โลกกันหมด สุดท้ายก็เกิดการแข่งขันกันอยู่ดี เพราะว่าสินค้ามันคล้ายกันก็จะเต็มท้องตลาดไปหมด

“เราก็ต้องลุกมาเป็นคนกำหนดเอง แสวงหาสิ่งที่แตกต่าง ไม่ตามเทรนด์โลก”

อัตลักษณ์ของงานคุณอั๋น คือ ใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ทั้งรูปร่าง ลวดลาย และสีสัน เช่น นำลักษณะของเมล็ดข้าวมาเป็นต้นแบบ ลวดลายมาจากเปลือกหอย กิ่งไม้ ตอไม้ เวลาตั้งชื่อชิ้นงานหรืออธิบายถึงที่มาให้ลูกค้าฟัง เขาจะเข้าถึงได้ง่าย และสามารถนำไปบอกเล่าคนอื่นๆ ต่อได้ด้วย

“ถ้าสังเกตดีๆ งานของเราจะเป็นแบบผิวด้าน เพราะเราทำเซรามิกเนื้อพอร์ซเลน คือเผาด้วยอุณหภูมิสูง มันจะมีความแกร่งไม่ดูดซึมน้ำ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องเคลือบด้านนอก เราจึงสามารถโชว์ผิวด้านนอกได้ เป็นการโชว์ความดิบของเนื้อดิน มีทั้งโทนขาวและเนื้อดินที่สีออกหม่นๆ สีน้ำตาลจากสนิมเหล็ก หรือจะใช้สีโคบอลต์บลูในการตกแต่ง แต่หลักๆ เลยจะเป็น เทา-ขาว-ดำ สีที่ vivid หรือสีสดใสทั้งหลาย พวกส้ม-แดง-เขียว มีน้อยมาก”

คุณอั๋นไม่ได้ฝันไว้ว่าจะทำโรงงานขนาดใหญ่ แต่อยากทำโรงงานขนาดกลางๆ แล้วมีงานดีไซน์แปลกใหม่มีสไตล์ของตัวเอง  โดยผลงานของธนบดีส่วนใหญ่จะเป็นของแต่งบ้าน อาทิ แจกัน โคมไฟ เชิงเทียน กรอบรูป งาน Tableware หรือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจะมีน้อย  ในปัจจุบันแบ่งเป็น 5 สายงานผลิต เริ่มจาก Dhanabadee” ที่เป็นของแต่งบ้านที่คุณอั๋นเป็นคนออกแบบและลงมือทำมาตั้งแต่แรกเริ่ม ถัดมาเป็น King Coaster” จานรองแก้วที่สามารถดูดซับน้ำได้ เป็นนวัตกรรมที่นำมารวมกับงานดีไซน์อย่างลงตัว จนได้รับรางวัล ‘ไทยเท่’ ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นรางวัลของหอการค้าไทยร่วมกับสภาหอการค้าไทย และ ททท. สายการผลิตที่ขาดไม่ได้ Chicken Bowl” ชามตราไก่ที่ร่วมสมัยมากขึ้น มีสองวานการผลิตที่ทำเพื่อสังคม คือ Bucha-d” ชุดบูชาพระเซรามิก และ White Elephant” เซรามิกรูปช้างเผือกน่ารักๆ

“งาน White Elephant เกิดขึ้นอยากทำบุญกับโรงพยาบาลช้างที่ลำปาง ก็เลยทำของที่ระลึกซึ่งเกี่ยวข้องกับช้างทั้งหมดไปขายกับ คิง เพาเวอร์ แล้วก็มอบเงินให้กับโรงพยาบาลช้างทุกปี เป็นสิ่งที่เราผูกพันกับ คิง เพาเวอร์ ถือเป็นพันธมิตรที่ร่วมงานกับเรามาตลอดกว่า 20 ปีแล้ว  ส่วน Bucha-d (บูชาดี) เป็นชุดบูชาพระ มีเชิงเทียน กระถางธูป แจกัน พาน เป็นการหารายได้เพื่อช่วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก คนชรา และพระพุทธศาสนา”

 

✔️ “อัตลักษณ์” หรือสิ่งที่เราเป็นแบบไม่เหมือนใคร

จะทำให้เราเป็นที่ต้องการ

“ไก่” ตัวนั้น ที่ฉันฝันใฝ่

วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2539 หลังจากทำธุรกิจเซรามิกไปได้ประมาณ 6 ปี คุณอั๋นบังเอิญไปเจอชามตราไก่ใบเก่าแก่ อยู่ลึกสุดในตู้กับข้าว ที่คนในบ้านไปได้ล้วงลึกไปหยิบมาใช้นานแล้ว

“ผมว่ามันเท่ดี ผมเลยถามที่บ้านว่ามันนี่ถ้วยอะไร ก็เลยรู้ว่ามันมีเรื่องราวมากมาย พ่อเราเองนี่เป็นคนเริ่มต้นทำ ก็เลยเก็บเรื่องราวสารพัด ที่เกี่ยวข้องกับชามตราไก่ เรื่องการพบดินขาวครั้งแรกที่ลำปาง แล้วผลิตชามตราไก่แบบต้นฉบับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปโชว์ในงานแฟร์ กะจะทำเป็นโพรไฟล์เก๋ๆ ให้ลูกค้าฝรั่งเห็นว่าเราก็มีประวัติศาสตร์”

ปรากฏว่าปีนั้นของแต่งบ้านขายไม่ได้ เพราะคนมาแห่ซื้อชามตราไก่กันหมด!!!

เมื่อก่อนชามตราไก่เป็นสินค้าส่งออกของจีน ส่งไปขายทั่วเอเชีย คนที่เกิดยุคหลังสงครามโลกจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ตอนหลังโรงงานไม่ค่อยผลิตแล้ว พอเจอของธนบดีที่ทำออกมาหน้าตาเหมือนต้นตำรับ แต่เนื้อชามเป็นพอร์ซเลนที่แกร่งกว่าโรงงานที่เผาแบบทั่วไป จึงได้รับความนิยม

“ปี 2540 ฟองสบู่แตก โรงงานเซรามิกทั้งหลายแทบจะล้มหายตายจาก แต่ธนบดีสวนกระแสทำชามตราไก่แล้วขายดิบขายดี โรงงานเซรามิกอื่นๆ ก็หันทำชามตราไก่ตามกันทั้งลำปางเลย”

ตัวคุณอั๋นสมัยเด็กๆ ไม่เคยรู้ว่าที่บ้านทำชามตราไก่ แต่คุณยุพิน-พี่สาวคนโต สมัยนั้นอายุประมาณ 12 ปี ที่บ้านยังไม่มีฐานะดีนัก ต้องเสียสละมาทำงานช่วยพ่อแม่ เพื่อให้น้อง 4 คนได้เรียนหนังสือ หน้าที่คือเป็นลูกมือช่างวาดชามตราไก่ แต่ด้วยความเยาว์วัยจึงได้เขียนแค่ต้นหญ้าหรือใบไม้เท่านั้น ส่วนตัวไก่ที่เขียนยากที่สุดยังไม่มีสิทธิ์เขียน จนที่บ้านเลิกทำชามตราไก่ไป คุณยุพินก็ยังไม่เคยวาดไก่เลยสักตัว

“เธอใฝ่ฝันว่าโตขึ้นเธอจะเป็นศิลปินที่เขียนตัวไก่เสียที แต่ชามตราไก่มันล้มหายตายจากไปก่อนแกจะได้เขียน พอผมคิดรื้อฟื้น พี่สาวมีความสุขมากความฝันเป็นจริงเสียที วันแรกที่เริ่มเขียนก็สามารถเขียนได้ทันที เหมือนองค์ลงน่ะ เขียนตั้งแต่ 6 โมงเช้ายัน 6 โมงเย็น แปลกนะผมเรียนอาร์ตมาแต่ว่าเขียนแบบพี่ไม่ได้ ยุคแรกพี่ก็เลยเป็นคนเขียนคนเดียว หลักแสนใบก็เขียนคนเดียว”

ทุกวันนี้อายุคุณยุพินมากขึ้น ต้องฝึกทีมช่างเขียนชามตราไก่มาวาดแทน แต่วันไหนที่อารมณ์ดีก็จะลงมือเองบ้าง คุณอั๋นจึงขอให้พี่สาวเซ็นชื่อที่ก้นชามด้วย เป็นคอลเลกชันพิเศษ ชื่อ Hand Painted by Khun Yupin ขายในราคาพิเศษเพื่อแฟนคลับ

“แต่ของจะขาดเป็นระยะๆ นะครับ แล้วแต่ศิลปินมีอารมณ์จะเขียน”

 

ลดยอดขาย!! เพื่อกำไรชีวิต

ถ้าถามถึงความพอใจใน 30 กว่าปีที่ผ่านมา คุณอั๋นพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ตั้งใจคือการทำงานแบบมีความสุข “เราก็ประเมินว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่ง อยู่แค่ระดับกลางๆ ครอบครัวลูกหลานก็ไม่ได้เป็นคนเก่ง เพราะฉะนั้นเราก็ประเมินว่าควรทำสิ่งที่เรามีความสุข ทำสิ่งที่พอเหมาะกับตัวเอง”

บางช่วงธุรกิจขาขึ้น ขายดีมาก ได้เงินเยอะมาก แต่ทีมงานดูไม่มีความสุข เวลาพักผ่อนน้อยลง เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง จึงต้องหันมาคิดใหม่อีกครั้ง

“เราต้องขายให้น้อยลง…ทำน้อยให้ได้มาก เลือกทำสินค้าตัวที่ทำกำไรจริงๆ ไม่เน้นปริมาณ ช่องทางการตลาดที่เมื่อก่อนเราเหวี่ยงแหไปหมดทุกช่องทาง ก็เริ่มตัดออกให้เหลือแค่พอดีกับธุรกิจ แล้วความสุขเริ่มกลับมา คือ พอขายเยอะ กำไรต่อหน่วยมันน้อยลง เราก็ต้องผลิตจำนวนมาก ของเสียก็เยอะ งานโอทีก็เยอะ มันทำให้กำไรลดลง แต่พอเราลดขนาดธุรกิจลงปุ๊บ กำไรเราก็เพิ่มขึ้น และความสุขของเราก็กลับมา

 

✔️ ปรับสมดุลระหว่างความสุขและเงินตราเสมอ

เพื่อชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง

 

ช่วงสภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่คนอื่นกำลังวิกฤต ธนบดีสวนกระแสอีกแล้ว อยู่ๆ ก็มีคำสั่งซื้อมากขึ้นผิดปกติ จนต้องกลับไปพิจารณาเพื่อปรับสมดุลอีกครั้ง

“เฉพาะคนงานของพี่ 2 บริษัทรวมกันก็ประมาณ 250 คน ก็ถือว่าเยอะนะ เรามองถึงความสุขของคนงานทุกคน คือถ้าเรามีเงินเยอะ แล้วไม่มีโอกาสใช้เงิน หรือต้องใช้เงินไปเพื่อรักษาพยาบาล มันไม่น่าจะเป็นชีวิตที่ดี”

เห็นว่ายอดขายสวนกระแสวิกฤตจนต้องมาทำการปรับสมดุลกันหลายครั้ง ใช่ว่าไม่เคยประสบปัญหาหนักกันเลย ในช่วงปี พ.ศ. 2555 เศรษฐกิจโลกทรุดไปทั่ว ผลกระทบส่งมาถึงลำปาง “ค่าจ้างขั้นต่ำที่ลำปางปรับขึ้นจาก 165 เป็น 300 บาท นั่นคือต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น 83 เปอร์เซ็นต์ ค่าแก๊สก็เพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดีเราขึ้น ราคาสินค้าก็ไม่ได้ ก็เลยเห็นว่าน่าจะปิดกิจการ!! แต่ก็ยังบอกทีมงานว่าลองสู้ดูอีกครั้ง ถ้าเราเพิ่มจำนวนการผลิตหรือลดต้นทุนได้สัก 30 เปอร์เซ็นต์ เราจะอยู่กันต่อไป”

ตอนนั้นได้พิจารณาทำสินค้าใหม่ๆ เพิ่มโอกาสทางการขาย และพร้อมกันนั้นก็คิดสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชามตราไก่ให้ประวัติศาสตร์การทำงานของคุณพ่อได้อยู่เป็นสมบัติของคนลำปาง และของประเทศไทยด้วย

อาจด้วยผลจากการทำบุญสม่ำเสมอ การปรับธุรกิจเป็นผลสำเร็จ และพิพิธภัณฑ์ก็ประสบผลสำเร็จ เป็นที่ชื่นชอบของทุกคน เป็นหน้าเป็นตาของวงการเซรามิกและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปางมาร่วม 10 ปีแล้ว

 

✔️ สิ่งที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ร่วมกันกับผู้คน

ยังเป็นที่น่าสนใจเสมอ

เซรามิก ฤา จะสิ้นลมหายใจ

เมื่อเศรษฐกิจยังทรุด และโควิด-19 ยังทรงพลัง  ถ้ามองถึงอนาคตงานเซรามิกโดยรวมว่าจะพังพับหรือจะพุ่ง คุณอั๋นบอกว่าเซรามิกมีมาแล้วเป็นพันปี ยังไงก็คงไม่หายไปจากโลก แต่ผู้ประกอบการคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าใครไม่ปรับตัวตามโลกโอกาสเติบโตก็จะน้อย ส่วนที่จะเป็นประเด็นปัญหาอีกอย่าง คือการสืบต่อธุรกิจของลูกหลานจะน้อยลง

“ทัศนคติการทำงานของคนเปลี่ยนไป งานหนัก งานเยอะ งานซับซ้อนจะไม่ค่อยสนใจ ชอบงานที่อยู่สบายๆ หน้าคอมพิวเตอร์ กลายเป็นว่าลูกหลานไม่มาสืบทอดโรงงานเซรามิกต่อจากพ่อแม่”

แต่ทุกวันนี้ คุณอั๋นได้ส่งต่อธนบดีอาร์ตเซรามิคและธนบดีเดคอร์เซรามิค ไปสู่รุ่นลูกและหลาน ที่เรียกว่าเป็นทายาทรุ่นที่สามของ ‘ชามตราไก่’ ไปเรียบร้อยแล้ว

“การทำงานควรเริ่มจากหาสิ่งที่ตนเองทำแล้วมีความสุข อย่าเริ่มต้นจากการคิดว่าจะต้องได้เงินมากหรือเงินน้อย ถ้าใครเริ่มต้นธุรกิจด้วยเรื่องเงินเป็นหลัก ในที่สุดคุณจะไปติดกับดักเงิน คืออาจได้เงินเยอะก็จริงแต่คุณจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณทำอะไรที่มีความสุข คุณจะสนุกกับมัน แล้วก็พร้อมที่จะสู้กับมัน เหมือนได้ 2 ต่อ ได้เงินแล้วก็ได้ความสุขในขณะที่ทำงานด้วย”

นี่คือแนวคิดของคนที่ปลุกชีวิต ‘ชามตราไก่’ หากจะลองนำไปปรับใช้…ไม่สงวนลิขสิทธิ์

ถอดรหัสผู้ต่อลมหายใจ “ชามตราไก่”

✔️ การลงมือทำจริงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความสามารถที่แท้ของเรา

✔️ “อัตลักษณ์” หรือสิ่งที่เราเป็นแบบไม่เหมือนใคร จะทำให้เราเป็นที่ต้องการ

✔️ สิ่งที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ร่วมกันกับผู้คนยังเป็นที่น่าสนใจเสมอ

✔️ ปรับสมดุลระหว่างความสุขและเงินตราเสมอ เพื่อชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง

 

 

Website: DHANABADEE

 

Facebook : DHANABADEE

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: DHANABADEE

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี