Passion

“จากลา…เพื่อเติบโต”
WS Band กับแรงใจ
ที่อยู่เคียงข้างตลอดไป

ศรัณย์ เสมาทอง 12 Apr 2022
Views: 485

…คำเตือน เรื่องนี้อาจไม่เหมาะสำหรับคนอ่านที่อ่อนไหวง่าย

เพราะเต็มไปด้วยเรื่องเล่าของความรู้สึก…

 

เสียงขลุ่ยครวญแทรกความเงียบสงัดของมิวสิกฮอลล์ สะกดทุกคนรวมถึงผมให้นั่ง…นิ่ง…รอฟังสรรพสำเนียงที่จะเกิดขึ้นต่อไป

“พวกเราสูญเสียครูดนตรีอันเป็นที่เคารพรักของทุกคนไป แบบไม่มีวันหวนกลับมา แต่ความทรงจำดีๆ จะอยู่ในใจของเราเสมอ” นักร้องสาวเอ่ยแผ่วๆ

ถ้าความรู้สึกเศร้าในอากาศมีมวล ก็คงหนาหนักตรึงไม่ให้ทุกคนลุกจากเก้าอี้ไปไหน

นักร้อง-นักดนตรี 10 คน จากโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดลพบุรี มีทั้งที่เรียนอยู่และจบไปแล้ว มารวมตัวกันเป็นวง WS Band เพื่อลงแข่งขัน THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย กำลังส่งความรู้สึกที่เขามี ผ่านเสียงดนตรีมาบอกเล่าให้คนที่ได้ฟังรับรู้และรู้สึกไปพร้อมๆ กัน

“การสูญเสีย” ครั้งสำคัญ ทำให้พวกเขาเกือบไม่ได้มาแข่งขันในครั้งนี้  แต่ “การสูญเสีย” เดียวกันนั่นเอง ก็เป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตยืนอยู่บนเวทีนี้อย่างมั่นคง

“การซ้อมสำคัญที่สุด เราต้องหมั่นซ้อม

ต้องฟังคนอื่นด้วยว่าเขาก็ทำได้ยังไง

แล้วค่อยมาปรับปรุงตัวเรา”

พลอย-สุกัญญา คำชมภู
วง WS Band (ร้องนำ)

 

ลูกทุ่งวินิตศึกษา

“จริงๆ แล้วพวกเราเป็นวงลูกทุ่งของโรงเรียน จะเปลี่ยนสมาชิกเป็นรุ่นๆ ไป ก่อนรุ่นพี่จะจบก็จะต้องสอนน้องเพื่อให้เข้ามาแทนที่” ไผ่-จตุรพัตร แป้นณรงค์ชัย มือกลอง เริ่มต้นเล่าให้ฟังในฐานะพี่ใหญ่ของวงที่จบระดับมัธยมไปแล้ว อั้ม-พงศ์ภรณ์ โต๊ะเงิน มือเทนเนอร์ แซกโซโฟน และ พลอย-สุกัญญา คำชมภู นักร้องนำ ก็พยักหน้ายืนยันสิ่งที่รุ่นพี่พูด

หลายคนอาจคุ้นชื่อโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ กันมาบ้างแล้ว เพราะวงลูกทุ่งของที่นี่ไปวาดลวดลายในเวทีระดับประเทศมากมายหลายเวทีและเป็นเวลาร่วมสิบปีแล้ว “แรกสุดพระอาจารย์ที่เป็น ผอ. โรงเรียน ตั้งใจจะส่งวงดนตรีเข้าประกวดในรายการชิงช้าสวรรค์ ก็เลยตั้งวงลูกทุ่งขึ้นและเริ่มส่งเข้าแข่งขัน แล้วก็แข่งมาเรื่อยๆ นักเรียนก็สนุกกันด้วยนะ เลยถนัดเล่นเพลงที่มีกลิ่นอายลูกทุ่ง”

ในโรงเรียนมีวิชาดนตรีและชมรมดนตรีที่สอนการเล่นการร้องอยู่แล้ว แต่เมื่อหวังให้ออกไปสร้างประวัติศาสตร์ในระดับประเทศ จึงได้ควานหาคนมาช่วยประกอบรูปร่างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น “ครูพี่หนู” ของน้องๆ หรือ พลภัทร บูรณะชาติ (บุคคลในภาพต่อไป) ได้เข้ามาในตรงนี้ พี่หนูช่วยจัดการเรื่องโน้ตเพลงที่เหมาะกับวง ฝึกการร้อง เต้น…วงนี้มีแดนเซอร์ที่เต้นกันอย่างจริงจัง

“เขาไม่ได้เป็นแค่ครูดนตรี แต่สอนในการใช้ชีวิตด้วย” อั้มพูดถึงครูของเขา “ไม่ใช่แค่เล่นดนตรีให้เก่ง แต่ต้องมีจิตวิญญาณของตัวเองเข้าไปอยู่กับบทเพลงด้วย” ครูใส่ใจไปถึงการสื่อสารด้วยวิธีการทั้งหมด เพื่อส่งความรู้สึกไปให้ถึงผู้ชม

นี่ไม่ใช่แค่ Music แต่มุ่งให้เด็กไปไกลถึง Performance

นักร้องอย่างพลอยก็รับบทหนักมิใช่น้อย “อาจารย์จะช่วยปรับอารมณ์ว่าเพลงมันเป็นแบบไหน การร้องต้องค่อยๆ เพิ่มอารมณ์เข้า ไปเหมือนระเบิดเวลาที่ค่อยๆ เป็นไปจนถึงจุดที่จะระเบิด ให้คนดูรับได้แบบที่เรารู้สึก”

พูดง่าย…ทว่าช่างยากนัก แต่กระนั้น เด็กโรงเรียนนี้ก็คว้าชัยชนะในเวทีลูกทุ่งระดับประเทศมาแล้ว

สไตล์ VS ตัวตน

จากการฝึกปรืออย่างหนัก พร้อมทั้งครูพี่หนูเคี่ยวเข็ญให้ทุกคนต้องทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ที่สุด อาจเป็นปัญหาหนึ่งของนักเรียนที่ผ่านประสบการด้านดนตรีมาน้อย คือ ติดสไตล์ลูกทุ่ง!!

“เพลงลูกทุ่งที่พี่หนูทำมาให้เราเล่นเนี่ย มันจะต้องใช้ทักษะที่สูงอยู่ เพราะไม่ใช่เป็นลูกทุ่งธรรมดา แต่จะเป็นลูกทุ่งที่ผสมละตินหรือผสมแนวอื่นๆ ด้วย เป็นเพลงลูกทุ่งแบบไทยแต่เอาสไตล์ของต่างประเทศเข้ามาผสม เด็กที่จะเล่นได้ถึงต้องมีทักษะที่สูงหน่อย แล้วก็คัดคนที่มีความทุ่มเทเพราะต้องมีการฝึกเยอะ” ไผ่เล่าต่อ

เมื่อครั้งจะประกวด THE POWER BAND ที่ผ่านมา ก็ต้องมีการคัดตัวกันอีกครั้ง “เพลงสตริงแบบนี้ต้องคัดคนที่เหมาะสมมาเล่น ถือเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจ เฉพาะคนที่ถนัดการเล่นเพลงวงสตริง คนเล่นเครื่องเป่าบางคนไม่สามารถหนีสำเนียงเพลงลูกทุ่งได้ ก็ไม่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้” มือแซกโซโฟนที่ผ่านการคัดมาอย่างอั้มจะรู้เรื่องนี้ดี เพราะบางคนเล่นแนวอื่นก็ติดสไตล์ลูกทุ่งมาด้วยตลอด ก็ต้องยอมรับตัวตนในแง่นี้

แต่ถ้ามองในด้านดี สิ่งที่หล่อหลอมพวกเขามานั้นทำให้เครื่องเป่าค่อนข้างมีศักยภาพสูง และมีลีลาการใช้เพอร์คัชชันที่แพรวพราว โดยเฉพาะเพลงที่สนุกสนานยิ่งเหมาะ นักดนตรีหลายคนอย่างมือคีย์บอร์ดและมือแซกโซโฟนตอนแรกก็ฝึกเล่นเพอร์คัชชันมาก่อน

“เพลงที่เราแต่งมาประกวดจะผสมหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน” มือกลองผู้ควบคุมจังหวะหลักของเพลงพูดถึงความยากของเพลงให้ฟัง “ปกติเราเล่นเพลงลูกทุ่งกันเลยมีลักษณะคล้ายเพลงโซลนิดหนึ่ง ผมก็เริ่มตีกลองเป็นเพลงโซล พอท่อนแยกก็มีความร็อก มันกลายเป็นเพลงร็อก สรุปได้เป็นเพลงโซลผสมร็อก ส่วนเนื้อหาเพลงจะไปทางป็อป แต่ว่าซาวนด์ของทุกคนที่เล่นออกมาก็มีกลิ่นอายลูกทุ่งที่ทุกคนคุ้นชิน…นี่แหละครับพวกเรา”

ไม่ว่าจะมาแนวไหน อารมณ์ที่ส่งมาต่างหากที่ WS Band ใส่ใจ

 

เพลงของครู

“ภาพของเธอคงสวยงาม

ตราบนานเท่านาน ไม่จางจากใจฉัน

เสียงหัวเราะเมื่อเธอสุขใจ

ไม่เคยจะหายไปไหน เป็นความทรงจำที่ดี”

เสียงหวานๆ ของพลอยกลับระคนความเศร้าในเพลงชื่อ “พลภัทร” ที่ทีมนักร้องช่วยกันเขียนเนื้อเพลงขึ้นมาเอง “คิดถึงภาพที่พี่หนูเคยสอนเรา” พลอยพูดช้าๆ เหมือนทบทวนภาพในความทรงจำก่อนจะเล่าออกมา “เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราเคยอยู่ด้วยกัน คือ อยากจะให้ครูหนูกลับมาสอนเราอีกครั้งหนึ่ง พอได้ยินเสียงแซกโซโฟนขึ้นมาแล้วทุกคนรู้สึกเลยว่าคิดถึง” นั่นเพราะครูพี่หนูเป็นมือแซกโซโฟนนั่นเอง ที่แม้แต่คนในวงเองก็บอกว่าเวลาฟังครูเล่นช่างให้ความรู้สึกมากมาย

พลอยและทีมนักร้องใช้เวลาเขียนเพลงเพียงสองวัน และมาประกอบกับดนตรีพร้อมซ้อมอีกแค่สิบสามวันก็ขึ้นเวที THE POWER BAND เลย “เป็นประสบการณ์ใหม่ค่ะ ทุกทีเราไม่เคยซ้อมต่ำกว่าเดือนเลย แต่พี่หนูบอกเสมอว่า เราอย่ากดดันตัวเอง เรามาเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ให้ทุกคนฟัง ไม่ต้องมีความรู้สึกว่ากำลังแข่งขันกับคนอื่น”

ผมว่า…นั่นยิ่งกดดันกว่าเดิมอีกนะ

“น่ากลัวสุดก็คำว่า ‘พี่ว่าดีได้กว่านี้อีก’ ของพี่หนูนั่นล่ะครับ” ไผ่บอกกับผม “ก็ไม่ได้เกร็งนะ แค่มีคำถามในหัว ว่าเราต้องเหนื่อยไปอีกเท่าไรกันนี่” เพราะถ้ายังไม่ดี ครูจะไม่ปล่อยผ่านไปแน่

จากทุกครั้งที่มีเสาหลักคอยมอง คอยบอกว่าอะไรดี อะไรขาด ต้องแก้ไขอย่างไร วง WS Band ก่อนขึ้นเวทีล่าสุดก็รู้สึกเคว้งคว้างกันพอสมควร “พี่เขามาวางรากฐานให้วงน่ะครับ ให้เรามีการฝึกฝนอย่างได้มาตรฐาน ให้รุ่นพี่ได้ฝึกสอนรุ่นน้อง แล้วเวลาออกงานหรือแข่งก็ทำงานอย่างมืออาชีพ เช่น เวลาซาวนด์เช็กก็ทำให้เป็นระบบ ทีละคน ทีละส่วน ไม่เสียงดังสะเปะสะปะ ให้ภาพลักษณ์วงดนตรีเด็กต่างจังหวัดเปลี่ยนไปจากเดิม”

ผมเชื่อว่า พี่หนูไม่ได้คิดว่าดนตรีมี “ในเมือง-นอกเมือง” แต่ดนตรีมี “มาตรฐาน” ซึ่งถ้าสามารถฝึกฝนและปฏิบัติได้อย่างลงตัว จะอยู่ ณ ดินแดนแร้นแค้นแสนไกลแค่ไหน ก็เล่นได้ดีเสมอกัน

แต่…ครูพี่หนูก็จากไปด้วยโรคร้าย ก่อน WS Band จะได้ขึ้นเวที THE POWER BAND แค่เพียงไม่นาน

“แม้ตัวเธอจะจากไป

แต่วิญญาณไม่ไร้หัวใจ มองลงมาได้ไหม

แต่เธอจะต้องภูมิใจ กับสิ่งที่เธอสร้างไว้

ฉันจะไม่ให้ตายไปกับเธอ”

เนื้อเพลงแต่ละวรรคที่ลูกศิษย์เขียนถึงเขาอาจส่งข้ามมิวสิกฮอลล์ไปถึง “ครูพี่หนู” ไปแล้วก็เป็นได้

ความห่างไกล ไม่ใช่สิ่งสำคัญ

การที่น้องๆ ได้ฉายแววดนตรี แม้ว่าตัวเขาเองจะถ่อมตัวว่าอยู่ในเมืองห่างไกล มีปัจจัยหลายสิ่งประกอบกัน สิ่งสำคัญคือ การเข้าใจและกำลังใจจากสังคม ตั้งแต่ผู้อำนวยการที่มีวิสัยทัศน์ ครูดนตรีที่สอนทักษะมาดี มีคนเก่งที่เป็นแรงบันดาลใจคอยผลักดันชี้แนะ และครอบครัวที่ให้โอกาสต้นกล้าดนตรีได้เติบโตเป็นไม้ใหญ่

“การสื่อสารให้คนฟังเข้าใจมันค่อนข้างเป็นศิลปะที่ใช้อารมณ์

ตีกลองให้รู้สึกมันยากนะครับ คือทุกวันนี้ผมก็ยังพยายามอยู่”

ไผ่-จตุรพัตร แป้นณรงค์ชัย
วง WS Band (กลองชุด)

“ไม่ใช่แค่เล่นดนตรีให้เก่ง แต่ต้องมีดนตรีในจิตวิญญาณ

ต้องเข้าไปอยู่กับบทเพลงแล้วถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมา”

อั้ม-พงศ์ภรณ์ โต๊ะเงิน
วง WS Band (เทนเนอร์ แซกโซโฟน)

 

“พ่อแม่ผมสนับสนุนสิ่งที่ผมชอบ ผมเลยได้เล่นดนตรีตั้งแต่ ป.3 ที่เข้าโรงเรียนวินิตศึกษาก็เพราะเห็นพี่ๆ ในทีวีนะครับ พ่อเปิดรายการที่เขาแข่งขันแล้วถามผมว่าจะมาสมัครที่โรงเรียนนี้ไหม” อั้มยิ้มกว้าง คงไม่ต่างกับพลอย “หนูอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นนักร้อง ชอบแนวลูกทุ่งอีสานนี่ล่ะค่ะและที่บ้านก็สนับสนุน”

ส่วนไผ่พี่ใหญ่ของวงก้าวไกลหลังจากเรียนจบมัธยม มาเรียนกลองที่วิชาเอกดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล “บ้านผมสนับสนุนเต็มที่ครับ แต่เพื่อนบางคนเขาก็ไม่ได้รับการสนับสนุน หลายคนเล่นเก่งนะ แต่ที่บ้านก็ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าเทอมได้ก็มี มันประกอบกันหลายอย่างครับ”

เมื่อมีโอกาสได้เดินบนถนนสายดนตรีแล้ว ก็คงต้องเดินไปให้สุดทาง

จากลา…เพื่อเติบโต

“อยากรู้ว่าเธอคนดีอยู่ที่ไหน

ยืนมองเธอ มองภาพเดิมๆ ที่เธอจากฉันไป

ไม่รู้เราจะได้พบกันอีกไหม

ฉันขอเพียงครั้งสุดท้าย ได้พูดได้ลากันก่อนคนดี”

บทเพลงท่อนสำคัญพาความรู้สึกดำดิ่ง ประกอบกับคำพูดของน้องๆ ที่พูดถึงครูของเขา “ถ้ามีอะไรจะให้บอกกับพี่หนูก็อยากจะบอกว่า ตอนนี้พวกเราก็ดูแลตัวเองดูแลกันเองได้ดีขึ้น เราภูมิใจว่าในวันที่พี่หนูไม่อยู่ เราก็สามารถดูแลกันได้แบบที่พี่ปลูกฝังมาตลอด”

การสูญเสีย” ในครั้งนี้ คงแปรเป็นพลังที่ทำให้ทุกคนเข้มแข็งและเติบโตเป็นนักดนตรีด้วยตัวตนของตนเอง อย่างที่ตั้งใจเสมอมา

 

🎵 WS Band วงนี้ไม่ธรรมดา 🎵

🎵 หลายคนคุ้นชื่อวง WS Band หรือ โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดลพบุรี กันแน่ ๆ เพราะเขาลงแข่งขันระดับประเทศและเข้ารอบอยู่เรื่อย ๆ ที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็นการประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง รายการชิงช้าสวรรค์ ซึ่งคว้าแชมป์ประจำฤดูกาลหลายครั้ง  และได้เป็น แชมป์ ออฟ เดอะ แชมป์ ในการแข่งขัน ปีที่ 9 (2557-2558)

🎵 เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการประกวดวงดนตรี (คอมโบ) พร้อมหางเครื่อง งานมหกรรมดนตรี “เทิดไท้คีตราชัน” ประจำปี 2556  ชนะเลิศการประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง งานมหกรรมเจ้าพระยา-ป่าสัก EXPO 2015 (ปี 2558) และอีกหลายเวที

🎵 เวทีใหญ่ล่าสุด ได้รับรางวัล Popular Vote จากการประกวดวงดนตรีสากลร่วมสมัยในโครงการ “บทเพลงรักแห่งแผ่นดิน” ปีที่ 10 ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษร้องบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์” ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

🎵 และในเวที “บทเพลงรักแห่งแผ่นดิน” ปีที่ 10 นี่เอง พลอย-สุกัญญา คำชมภู ก็ได้รับรางวัล นักร้องยอดเยี่ยม มาครอง รับประกันเสียงร้องคุณภาพ

ย้อนติดตามผลงานเพลง “พลภัทร” จากขอบเวที THE POWER BAND ที่ผ่านมาโดยเฉพาะ ได้ที่

 

YouTube: วง WS Band จ.ลพบุรี

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี