People

จากวิถีชุมชน สู่ผลงานดีไซน์ระดับโลก
LOYFAR ของอนุภาพ ลอยฟ้า

สุนทรี นิกรปกรณ์ 5 Apr 2022
Views: 531

งานหัตถศิลป์ชิ้นสวยประณีตที่ประดิษฐ์จากดีบุกเนื้อดีในชื่อ LOYFAR อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นบนโลกใบนี้ หากเด็กชายจากจังหวัดเชียงใหม่คนนี้ไม่รู้ใจตัวเองและยืนยันเดินตามเส้นทางที่เลือกอย่างแน่วแน่ไม่ลังเล

อนุภาพ ลอยฟ้า ในวัยมัธยมต้นต้องขัดความต้องการของพ่อที่อยากให้สืบทอดกิจการโรงน้ำแข็งในฐานะลูกชายคนเดียว คั่นระหว่างพี่สาวกับน้องสาว นั่นหมายถึงสาขาที่เรียนต่อต้องไม่ใช่ด้านการตลาดหรือบัญชี เพราะในใจของเขามีตัวเลือกเดียวเท่านั้น นั่นคือ “ศิลปะ”

ผมได้ทำในสิ่งที่ผมรักตั้งแต่เด็กจนโต ได้ใช้ชีวิตทุกวันให้มีความสุขกับการทำงาน ที่ตัวผมเป็นอยู่ทุกวันนี้มันอยู่ในยีนแล้วล่ะ”

อนุภาพ ลอยฟ้า เจ้าของแบรนด์ LOYFAR
เขามีความสุขทุกวันกับการถ่ายทอดศิลปะที่เขารัก ลงในผลงานประดิษฐ์จากดีบุก

 

คุณอนุภาพ จบปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ศิลปะอุตสาหกรรม ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (เกียรตินิยมอันดับสอง) ที่เขาบอกเล่าถึงเกรดเฉลี่ยนั้นเพื่อจะเน้นว่าการได้เรียนในสิ่งที่ชอบย่อมทำได้ดียิ่งกว่าฝืนเรียนในสิ่งที่ไม่ถนัด

“ข้อสอบพื้นฐานทางด้านการเรียนศิลปะการออกแบบ ทั้งเรื่องการคำนวณ เรื่องมิติของสินค้า ทุกวิชาเป็นสิ่งที่เราชอบเราสนใจก็เลยทำได้ดี การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องเรียนรู้สินค้า เรื่องวัตถุดิบ เรื่องความสามารถของวัสดุนั้นๆ ว่าจะออกแบบเป็นรูปร่างอะไรได้ สอนให้คิดคำนวณเรื่องฟังก์ชันและประโยชน์ใช้สอย และการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตลาดและลูกค้า”

สำหรับคุณอนุภาพ ผลที่ได้คือความภาคภูมิใจ ภูมิใจในผลการเรียนที่น่าพึงพอใจ และภูมิใจที่สุดคือการทำให้พ่อยอมรับได้ เพราะตลอดเวลาหลายปีที่เขามาเอาดีด้านการเรียนออกแบบ ถึงพ่อจะไม่ต่อต้านแต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยเต็มร้อย จนถึงวันรับปริญญานั่นเองที่ต้องตื้นตันเมื่อเห็นพ่อแอบร้องไห้ด้วยความปลาบปลื้มกับผลสำเร็จของลูกชาย และเมื่อถามว่าใครสืบทอดกิจการโรงน้ำแข็งต่อ เขาตอบว่า “สุดท้ายพ่อก็ขายไปครับ เพราะพี่สาวกับน้องสาวไม่ได้ทำต่อ”

 

✔️ ความรักในสิ่งที่ทำ

เป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ

งานแรกก็…โกอินเตอร์

อันที่จริง คุณอนุภาพได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทต่างประเทศตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบเสียด้วยซ้ำ

“ตอนทำธีสิสผมเลือกออกแบบให้บริษัทเครื่องกรองน้ำของออสเตรเลียครับ เขามีสาขาอยู่ในประเทศไทย มีโปรเจกต์อยู่แล้วว่าต้องการเครื่องกรองน้ำสำหรับใช้ในบ้านที่เหมาะสมกับเมืองไทย ผมเข้าไปเสนอว่าต้องการออกแบบตัวนี้ เขาให้คอนเซปต์มาว่าอยากได้ราคาประมาณไหน คนไทยใช้น้ำยังไง ใช้น้ำดื่มวันละกี่ลิตร แล้วให้เราดูเครื่องกรองน้ำของเขาว่าเป็นระบบนี้นะ สามารถกรองน้ำได้ดียังไง เราต้องเอากลไกที่เขามีอยู่มาคำนวณเพื่อออกแบบบอดี้ ใส่ฟังก์ชันเข้าไป โดยที่ต้องให้เข้ากับระบบน้ำของบ้านเรา ที่สำคัญต้องต่อถังพักน้ำเผื่อน้ำประปาไม่ไหลด้วย” สิ่งที่สัมผัสได้จากความตั้งใจคือความละเอียดในการออกแบบที่เขาเติมลงไป

แล้วจุดพลิกผันที่สำคัญก็มาถึงเมื่อเขาเรียนจบ “ตอนเรียนผมฝึกงานที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย อยู่แผนกออกแบบกระเบื้อง ยุคนั้นใครได้ทำที่ปูนซีเมนต์ไทยถือว่าสุดยอด แล้วคิดว่าถ้าเรียนจบน่าจะเข้าทำงานได้ไม่ยากเพราะเคยฝึกงานมาแล้ว พอถึงวันที่เรียนจบผมก็กลับไปเที่ยวพักผ่อนที่บ้านที่เชียงใหม่ อยู่ว่างๆ เพื่อนก็ชวนไปสมัครงาน

ตอนนั้นนิคมอุตสาหกรรมลำพูนเพิ่งเปิด มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน เราก็ไปสมัครงานกัน มีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น โรงงานผลิตอุปกรณ์สำหรับเขียนภาพของอเมริกา แล้วก็บริษัทออกแบบผลิตจิวเวลรีของฝรั่งเศสซึ่งผมปิ๊งบริษัทนี้มาก ด้วยเหตุผลที่ว่าขนาดไม่ใหญ่ เป็นของต่างชาติ และเคยออกแบบและผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำของฝรั่งเศสมากมาย

 

✔️ ประสบการณ์ในการทำงานกับต่างชาติ

ช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ ได้

 

“ยุคนั้นโรงงานผลิตต้องขึ้นแบบด้วยช่าง แล้วช่างฝีมือด้านจิวเวลรีของเมืองไทยดังมาก โรงงานนี้มาใช้ฐานผลิตในการทำต้นแบบตามออร์เดอร์ที่เป็นงานฝีมือให้ฝรั่งเศส ซึ่งผมเห็นแล้วก็ปิ๊งมาก แล้วคิดไปไกลว่าวันหนึ่งเราเป็นเจ้าของธุรกิจนี้ได้นะ เพราะมันไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะทำ และที่สำคัญมันมีศิลปะอยู่ตรงนั้น

ผมเห็นงานเขา สมองผมแตกความคิดไปอีกเยอะเลย เห็นดอกไม้ น่าจะเป็นดอกไม้ชนิดนี้ ทรงนี้ ผมมักจะครีเอทงานศิลปะอยู่ในหัวตลอดมาตั้งแต่เด็ก กลับมานั่งที่บ้านมาคิดอยู่หนึ่งวัน จะเอายังไงดี ปูนซีเมนต์ไทยก็ดี มั่นคง แต่งานด้านจิวเวลรีนี่ชอบมากๆ มั่นคงหรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) เพิ่งก่อตั้งไม่นาน แล้วก็ตัดสินใจว่า เอาละ เราอยากเติบโตด้านศิลปะ ซึ่งอันนี้ตรงมาก เราจะได้สนุกกับมัน และได้ใช้ความรู้เต็มที่”

สำหรับงานแรกในบริษัท ‘ไม่ใหญ่’ แต่ความรับผิดชอบใหญ่พอดูทีเดียวสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องรับตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายผลิต

“ผ่านโปรฯ แล้วทางบริษัทให้ทำงานส่วน corporate พูดง่ายๆ คือผมเป็นคนกลางที่ต้องประสานงานเรื่องการออกแบบสินค้าและการผลิต รวมถึงประสานงานกับดีไซน์เนอร์ เอาภาพสเกตช์ที่เขาออกแบบมาดูว่าผลิตได้ไหม มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ตกลงกันได้เรื่องของราคาเรื่องของงานดีไซน์ที่ลงตัว แล้วเอาภาพสเกตช์มาทำชิ้นงานต้นแบบให้เป็นสินค้าตัวอย่างสำหรับการผลิตจำนวนมาก และไปพรีเซนต์งานให้เขาฟัง รับแบบใหม่กลับมา โปรเจกต์เล็กจะไปอยู่ที่โน่น 1-2 อาทิตย์ โปรเจกต์ใหญ่จะแวะเที่ยวด้วย”

เขาบอกว่าเป็นงานที่สนุกมาก แต่ยอมรับว่าช่วงแรกนั้นท้ออยู่บ้าง “ผมอายุแค่ 23 แต่งานเกินตัว ต้องไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่ม เรียนศัพท์เทคนิค ไปทำงานแต่เช้า ประชุม เลิกงานก็ยังไม่ได้กลับเพราะบ้านเขากับเราเวลาต่างกัน บางทีทางฝรั่งเศสจะโทรมาคุยงาน” และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเช่นนี้ จึงส่งผลให้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภายในสองปีเท่านั้น

ได้เวลาสร้างแบรนด์ แรงบันดาลใจได้จาก ‘สินค้าไทย’

จากที่คิดไว้ว่าจะทำงานเพียง 2-3 ปี มารู้ตัวอีกทีก็ย่างเข้าปีที่ 10 เมื่อชัดเจนว่าอิ่มตัวกับงานแล้ว ได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจพร้อมกับเรียนรู้เรื่องจิวเวลรีอย่างลึกซึ้ง ถึงเวลาเสียทีที่จะค้นหาสิ่งใหม่ และควรเริ่มทันทีขณะยังอยู่ในวัยที่ยังมีพลัง คุณอนุภาพจึงตัดใจจากบริษัทที่รัก ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 1 ปี รอจนบริษัทได้คนใหม่มาแทนจึงบอกลา

ระหว่างที่ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอะไรต่อดีเพราะมีข้อตกลงกับบริษัทว่าจะไม่ทำจิวเวลรีแบบเดียวกัน ก็มาถึงจุดเปลี่ยนในวันที่เขาเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

“ผมเดินไปตรงโซนที่เป็นสินค้าไทย เจองานดีบุกที่ทำเป็นเหยือก แก้วเบียร์ จานกลมๆ ลายช้างลายพญานาค รู้สึกว่ามันไม่เคยเปลี่ยนเลย เมื่อก่อนก็เห็น วันนี้ก็เห็น กลับมานั่งคิดที่บ้านก็เห็นแสงสว่างเล็กๆ ว่าถ้าทำให้แตกต่างจะทำอะไรได้เยอะมาก ผมก็เลยเอาความรู้ด้านจิวเวลรีกับที่เรียนออกแบบนำมาคิดใหม่กลายเป็นสิ่งที่คนไม่เคยเห็น”

 

✔️ หากมองตลาดต่างประเทศ

ให้นำ “ความเป็นไทย” ไปใช้ต่อยอดงานออกแบบที่มี

 

ความสวยงามตรึงตาผู้คนจากชิ้นงาน มาจากมุมมองของการดีไซน์ล้วนๆ ผลงานชิ้นแรกของได้มาจากการนำดีบุกหล่อเป็นกิ่งปะการัง แล้วนำมาเชื่อมเข้าด้วยกันให้เป็นถาดใส่ผลไม้ สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือช่าง 5 คนในโรงงานที่เป็นห้องแถวเช่าขนาด 2 ห้อง กับเครื่องจักรมือสอง เมื่อได้ชิ้นงานชุดแรกประมาณสิบแบบ คุณอนุภาพนำไปฝากวางกับบูทขายเซรามิกของรุ่นพี่ในงาน BIG & BIH ผลตอบรับดีเกินคาด และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ลอยฟ้า’ ชื่อแบรนด์ที่มาจากนามสกุลของเขา

เมื่อผลตอบรับจากการออกงานดี เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก การขยายงานจึงเกิดขึ้นภายในสองปี จากห้องแถวเล็กๆ ย้ายไปสู่ที่ดินซึ่งซื้อเอาไว้ เป็นพื้นที่กว้างในแวดล้อมธรรมชาติสดสะอาด พนักงานเพิ่มเป็น 15 คน โดยได้ช่างฝีมือคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่เชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมประเภทจักสานมาเป็นเรี่ยวแรงประดิษฐ์ต้นแบบ ร่วมกับช่างขึ้นแบบที่ส่วนหนึ่งชำนาญด้านงานประติมากรรม แล้วก่อตั้งเป็นบริษัทเมื่อปี พ.ศ.2539

เด่นด้วยดีไซน์ที่แตกต่าง

คุณอนุภาพกล่าวถึงอัตลักษณ์ของงานดีไซน์ของเขาว่า “คิดต่าง ครีเอทสินค้าที่เป็นแนวคิดของเรา เน้นแนวคิดธรรมชาติ ผสานเสน่ห์งานฝีมือด้านจิวเวลรีเข้าไปในงานของแต่งบ้าน เช่น เทคนิคการฝังพลอยงาน งานลงยา งานลงรักปิดทอง จากงานช่างฝีมือไทย”

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของเราสิ่งสำคัญนอกเหนือจากงาน ดีไซน์ อันดับแรกที่เราให้ความสำคัญคือ “วัตถุดิบ” ที่ใช้ในการผลิต เราจะเน้นการใช้ “ดีบุก” ที่บริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์ นำมาผ่านกรรมวิธีการหลอมและผสมโลหะอื่น เช่น เงิน และ ทองแดง “เงิน” จะเป็นตัวช่วยให้ชิ้นงานของเรามีความสวยงามและช่วยเพิ่มมูลค่า “ทองแดง” ช่วยเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจุดนี้เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะวัตถุดิบของเราจะไม่มีโลหะหนักอื่นเจือปน เพราะเราเน้นคุณภาพสินค้าเพื่อการส่งออกและความประณีต ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเราได้รับมาตรฐาน EU.Food contact มาตรฐานสำหรับนำไปเป็นภาชนะใส่อาหารเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด

อันดับต่อมาคืองานฝีมือที่เป็น ‘หัตถศิลป์’ โดยแท้ “หัวใจสำคัญของงานคือการออกแบบและการทำต้นแบบ Wax Carving เป็นการแกะสลักขี้ผึ้งเพื่อทำแม่พิมพ์สำหรับนำไปหล่อเป็นชิ้นงาน เพราะงานของผมเป็นศิลปะ จะไม่ใช้เทคโนโลยีพวกเครื่องพิมพ์แบบสามมิติ”

 

✔️ ธุรกิจงานดีไซน์ แข่งขันกันที่ความต่าง

 

ด้วยปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้จึงปรากฏเป็นชิ้นงานงดงามตั้งแต่ของแต่งบ้าน ของใช้บนโต๊ะทำงาน ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้สำหรับครัว เครื่องประดับ จนถึงของขวัญชิ้นเล็กๆ ในรูปลักษณ์ความมหัศจรรย์ของพืชพรรณ สรรพสัตว์ วัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ผลงานที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากต่างชาติและนักเดินทาง จะเป็นผลงานที่มีรูปแบบความเป็นไทยอย่างเรือสุพรรณหงส์ ช้าง ยักษ์ ดอกกล้วยไม้ ปลากัด หรือรถตุ๊กตุ๊กอันน่ารักน่าเอ็นดู ที่เน้นเป็นพิเศษสำหรับลูกค้า คิง เพาเวอร์ เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์ของประเทศบ้านเกิด กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อกลับไปฝากหรือเป็นของที่ระลึกจากเมืองไทย หรือคนไทยตั้งใจซื้อไปสร้างมิตรภาพในต่างแดน

ถึงแม้ในยามวิกฤตการณ์ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทั่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนล่าสุด ต่างสร้างผลกระทบให้เส้นกราฟยอดขายที่เคยพุ่งขึ้นสูงกลับดิ่งลงราวตกเหว ร้านหลายสาขาต้องปิดตัวลงหรือชะลอการเปิด ออร์เดอร์ลดลงโดยเฉพาะในยุโรป อาศัยการขายในห้างสรรพสินค้าและออนไลน์จึงพอหล่อเลี้ยงยอดขายได้บ้าง ถึงกระนั้นนักออกแบบอย่าง อนุภาพ ลอยฟ้า ก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ ‘งานศิลปะที่มีประโยชน์ใช้สอย’ ของเขาแม้สักวันเดียว

รางวัลที่ได้ คือความภูมิใจ

สิ่งที่คุณอนุภาพภูมิใจที่สุดต้องยกให้ การเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ‘สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์’ (The Design & Objects Association) “สมาคมนี้เป็นสมาคมที่รวบรวมนักออกแบบชั้นนำของประเทศไทย และเป็นสมาคมที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นักออกแบบออกแบบมานั้นต้องเป็นดีไซน์ที่โดดเด่น ไม่ซ้ำใคร ไม่ลอกเลียนแบบใคร”

ส่วนรางวัลที่การันตีความเป็นเลิศระดับโลกที่ถึงพร้อมด้านคุณภาพ ความเป็นธรรมในการใช้แรงงาน ความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมที่ Thailand Trust Mark มอบให้เพื่อเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเมื่อใดที่อุดหนุนสินค้าของลอยฟ้าเท่ากับสนับสนุนการบริหารกิจการที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม เพราะนอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรระดับโลกที่มอบใบรับประกันให้

 

“ผมเป็นคนโชคดี”

อนุภาพ ลอยฟ้าเน้นคำนี้เมื่อถามถึงปรัชญาการใช้ชีวิตของเขา “ผมได้ทำในสิ่งที่ผมรักตั้งแต่เด็กจนโต ได้ใช้ชีวิตทุกวันให้มีความสุขกับการทำงาน ที่ตัวผมเป็นอยู่ทุกวันนี้มันอยู่ในยีนแล้วล่ะ”

เช่นเดียวกับตอนที่พูดถึง ‘ลมใต้ปีก’ เขาตอบทันทีว่า “ภรรยาครับ เขาเป็นสถาปนิก เราเรียนมาคล้ายๆ กัน ได้แชร์ความรู้ ประสบการณ์ให้กัน บางอย่างผมคิดไม่ออก คิดไม่ถึง ความที่เขาเป็นผู้หญิง เป็นเพศที่มีความอ่อนโยน เขาให้ทางที่ถูกต้องและนิ่มนวลในการแก้ปัญหาทุกครั้งทั้งเรื่องโรงงาน ดีไซน์ คอยสนับสนุนผมในเรื่องของไอเดีย ผมโชคดีในชีวิตอย่างมาก”

ความโชคดียังรวมไปถึงตัวตนของเขาเองที่เป็นคนง่ายๆ ไม่ยึดติด มีเพื่อนเยอะและชอบอยู่กับเพื่อนพอกับรักงานและครอบครัว “ชีวิตผมลงตัวระหว่างความเป็นศิลปินกับครอบครัว”

เรียนรู้การสร้างผลงานด้วยความรัก ฉบับคุณอนุภาพ Loyfar

✔️ ความรักในสิ่งที่ทำ เป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ

✔️ ประสบการณ์ในการทำงานกับต่างชาติ ช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ ได้

✔️ ธุรกิจงานดีไซน์ แข่งขันกันที่ความต่าง

✔️ หากมองตลาดต่างประเทศ ให้นำ “ความเป็นไทย” ไปใช้ต่อยอดงานออกแบบที่มี

 

LOYFAR

ที่ตั้ง : 150 หมู่ 7 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 50140

 

Website: LOYFAR

 

Instagram: LOYFAY

 

Facebook: LOYFAR

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: LOYFAR

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

สุนทรี นิกรปกรณ์

Author

ทำงานที่ต้องเดินทางและเขียนหนังสือมาตั้งแต่เรียนจบ สนใจเรื่องท่องเที่ยว อาหาร ดีไซน์ ศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรมที่ทำให้มีชีวิตดีๆ